Creative Districts

การพัฒนาย่านสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่

ย่านเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่ (คูเมืองด้านใน) ในเขตพื้นที่บางส่วนของแขวงศรีวิชัย นครพิงค์ และเม็งราย เทศบาลนครเชียงใหม่ ขนาดพื้นที่ 2.56 ตร.กม. เป็นพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ อาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ และงานประเพณีที่แสดงถึงเอกลัษณ์วัฒนธรรมอันหลากหลาย รวมทั้งมีชุมชนท้องถิ่น ผู้ประกอบการธุรกิจ นักออกแบบ และช่างฝีมือเป็นจำนวนมาก ซึ่งผลิตสินค้าและบริการโดยใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดมาจากศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมท้องถิ่น ทำให้พื้นที่นี้มีองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมาะสมต่อการพัฒนาไปสู่ย่านสร้างสรรค์และสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ท้องถิ่นได้

การสำรวจและทำความเข้าใจสถานภาพปัจจุบันด้านพื้นที่และด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ โดยจัดทำข้อมูลและสถิติพื้นฐาน (Baseline) มาใช้วางแผนกรอบการพัฒนา (Framework) ย่านสร้างสรรค์ และเป็นข้อมูลที่ใช้ในการทำดัชนีชี้วัดสำหรับการประเมินผลการพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้น ซึ่งจะสนับสนุนการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ของผู้ประกอบวิชาชีพสร้างสรรค์ การบ่มเพาะนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ เพื่อเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งผลให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในท้องถิ่นขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

สำรวจข้อมูลและรวบรวมสถิติที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 12 สาขา ตามที่กำหนดในแผนส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปี 2561 - 2565 ในย่านเมืองเก่าจังหวัดเชียงใหม่ จากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและแหล่งข้อมูลทุติยภูมิ โดยแบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่

(1) องค์ประกอบด้านพื้นที่กายภาพ

  • ลักษณะทางกายภาพ
  • ประเภทการใช้งาน
  • คุณภาพทางเท้า

(2) องค์ประกอบด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์

  • ธุรกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ จำนวนธุรกิจสร้างสรรค์
  • การจ้างงานนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ จำนวนการจ้างงานในธุรกิจสร้างสรรค์ ลักษณะแรงงาน แบ่งตามทักษะของแรงงาน ธุรกิจบริการในพื้นที่ ครอบคลุมที่พัก ร้านอาหาร คาเฟ่

(3) องค์ประกอบด้านพลวัตทางศิลปวัฒนธรรม

  • สถานที่ทางศิลปวัฒนธรรม ประเภทและจำนวนสถานที่
  • การเข้าร่วมกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม จำนวนกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม จำนวนผู้เข้าชม ความพึงพอใจ

(4) องค์ประกอบด้านสภาพแวดล้อมสร้างสรรค์

  • การยอมรับความแตกต่างเชื้อชาติของผู้อาศัย ผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ
  • การคมนาคมและขนส่งมวลชน ระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่ ช่องทางการเชื่อมต่อกับนานาชาติ

การสำรวจข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือและวางระบบการจัดเก็บ ประมวลผล และการแบ่งปันข้อมูลสำหรับบุคลากร องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลที่ตรงกันในการพัฒนาพื้นที่ย่านสร้างสรรค์และด้านอื่นๆ ในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ในอนาคต การนำแนวความคิดด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเฉพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ส่งเสริมด้านวัฒนธรรมท้องถิ่นถือเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่ไปสู่ความยั่งยืนในอนาคต เพื่อให้เมืองได้ขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ให้เป็นไปตามกลไกทางธรรมชาติของวัฒนธรรมท้องถิ่น และเป็นพื้นที่ที่แสดงออกถึงพลังแห่งการสร้างสรรค์ตามบริบททางวัฒนธรรมของเมืองเชียงใหม่