เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย หรือ Thailand Creative District Network (TCDN) คือ ช่องทางสนับสนุนให้ตัวแทนพื้นที่จากทุกจังหวัดที่มีความพร้อม และต้องการพัฒนาย่านของตน ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาเมืองทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันค้นหา พัฒนา และต่อยอดสินทรัพย์ในท้องถิ่น ปลุกปั้นให้พื้นที่นั้นๆ ก้าวสู่การเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน
การพัฒนาจะไม่จบแค่พื้นที่เล็ก ๆ แต่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงถึงกันเป็น “เครือข่ายความร่วมมือ” ระหว่างย่าน ไปจนถึงระหว่างเมือง เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สู่การขับเคลื่อนจังหวัดต่าง ๆ ให้กลายเป็น “เมืองสร้างสรรค์” ในเวทีโลกต่อไป
เป้าหมาย
เพิ่มจำนวนเมือง ชุมชน หรือย่านสร้างสรรค์ จำนวนไม่ต่ำกว่า 30 พื้นที่ ภายในปี 2565
วัตถุประสงค์
ด้านคน (People)
● เพื่อเป็นช่องทางเชื่อมโยงและรวมตัวคนจากภาคส่วนต่างๆ และคนหลากหลายวัย ให้มาร่วมกันพัฒนาย่านและเมืองให้ดีขึ้นทั้งในสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรม การสร้างอาชีพและรายได้ ไปจนถึงเศรษฐกิจท้องถิ่น
● เพื่อบ่มเพาะ ส่งเสริมศักยภาพ และดึงดูดการรวมตัวของกลุ่มคนสร้างสรรค์ ทั้งที่อยู่ในย่านและนอกย่าน นำไปสู่การต่อยอดพื้นที่ในแง่มุมต่างๆ
ด้านธุรกิจ (Product)
● เพื่อสร้างตัวอย่างในการอนุรักษ์ ต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ ที่มีพื้นฐานมาจากมรดกทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่
● เพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการและธุรกิจดั้งเดิม ผ่านการสร้างโอกาสทางอาชีพ และรายได้
● เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรม
ด้านพื้นที่ (Place)
● เพื่อให้เกิดการวางแผนการพัฒนาย่านอย่างเป็นรูปธรรมและจับต้องได้ ผลักดันสู่แผนพัฒนาจังหวัดในระยะยาว
● เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้าสู่จังหวัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับภูมิภาค และระดับประเทศ
● เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในระดับจังหวัดและภูมิภาค เพื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ นำไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับประเทศในองค์รวม
● เพื่อผลักดันจังหวัดสู่เมืองสร้างสรรค์ระดับสากล
ปัจจุบันมีสมาชิกเครือข่าย (2563-2565) จำนวนมากกว่า 30 พื้นที่ ใน 33 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย
1. ระดับเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN)
เป้าหมาย จำนวนไม่ต่ำกว่า 30 พื้นที่ ใน 30 จังหวัด (บางจังหวัดมีมากกว่า 1 พื้นที่)
ภาคเหนือ: 7 จังหวัด
ตั้งแต่ 2563 - เชียงราย (ย่านในเวียง) พะเยา (ย่านระเบียงกว๊าน) น่าน (ย่านเมืองเก่าน่าน) ลำพูน (ย่านเมืองเก่าในคูเมือง)
ตั้งแต่ 2564 - แพร่ (*ย่านเจริญเมือง) อุตรดิตถ์
ตั้งแต่ 2565 - ลำปาง
ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก: 9 จังหวัด
ตั้งแต่ 2563 - สุโขทัย (ย่านเมืองเก่าสุโขทัย) สุพรรณบุรี (ย่านโรงละครแห่งชาติภาคตะวันตก) นครปฐม (ย่านเมืองนครปฐมและย่านศาลายา) ระยอง (ย่านเมืองเก่าระยอง)
ตั้งแต่ 2564 - พิจิตร
ตั้งแต่ 2565 - พิษณุโลก เพชรบุรี ชลบุรี (พัทยา) จันทบุรี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ: 8 จังหวัด
ตั้งแต่ 2563 - นครราชสีมา (ย่านบ้านดู่-บ้านจะโปะ) เลย (ย่านบ้านเดิ่น-บ้านด่านซ้าย) สกลนคร (ย่านเมืองเก่าสกลนคร) อุบลราชธานี (ย่านเมืองเก่าในอำเภอเมืองและอำเภอวารินชำราบ)
ตั้งแต่ 2564 - ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สระแก้ว
ตั้งแต่ 2565 - อุดรธานี
ภาคใต้: 6 จังหวัด
ตั้งแต่ 2563 - นครศรีธรรมราช (ย่านท่าวัง-ท่ามอญ) สงขลา (*ย่านเมืองเก่าสงขลา) ปัตตานี (ย่านอา-รมย์-ดี)
ตั้งแต่ 2564 - ภูเก็ต
ตั้งแต่ 2565 - ตรัง พัทลุง
*ย่านเครือข่ายที่มีเป้าหมายยกระดับเพื่อเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ
2. ระดับย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ ซึ่งจะได้รับการพัฒนาในทุกมิติ (ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน) ผ่านสาขา CEA ในทุกภูมิภาค เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ให้กับย่านอื่นๆ ในเครือข่าย TCDN
เป้าหมาย จำนวน 5 พื้นที่
กรุงเทพฯ (ย่านเจริญกรุง) เชียงใหม่ (ย่านช้างม่อย) ขอนแก่น (ย่านศรีจันทร์) สงขลา (ย่านเมืองเก่าสงขลา) แพร่ (ย่านเจริญเมือง)
ขั้นตอนการดำเนินงาน
1. Health Check ตรวจสุขภาพย่าน/ เมือง - เปิดรับสมัครให้พื้นที่ที่สนใจ กรอกข้อมูลในแบบฟอร์มประเมินความพร้อมของย่านเบื้องต้น (Pre-Application) โดยจะมีคณะกรรมการเป็นผู้คัดเลือกเบื้องต้น (Pre-screening) จากข้อมูลที่กรอกมาใน Pre-Application
พื้นที่ที่ได้รับการคัดเลือกเบื้องต้น จะได้รับการพิจารณาศักยภาพเพิ่มเติมร่วมกับคณะกรรมการ ผู้เชี่ยวชาญ และคณะทำงานของจังหวัด เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการคัดเลือกขั้นสุดท้าย เพื่อเลือกย่านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพเหมาะสมที่สุดในการผลักดันเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่องของจังหวัดต่อไป
2. Research & Development วิจัยและพัฒนา
ย่านที่ได้รับการคัดเลือกขั้นสุดท้าย จะได้รับการเข้าถึงหลักสูตรเตรียมความพร้อม (TCDN Intensive Program) เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่เหมาะสมกับความพร้อมและบริบทของย่าน และผลักดันให้เป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่องของจังหวัด ผ่าน 5 ด้านหลัก ดังนี้
A. Knowledge & Skills ด้านความรู้และทักษะ
ได้รับชุดความรู้ เข้าร่วมการอบรมและแลกเปลี่ยนความรู้กับผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมถึงเพิ่มศักยภาพและพัฒนาฝีมือให้ช่างท้องถิ่น
B. Communication & Activities ด้านการประชาสัมพันธ์ และจัดกิจกรรมสร้างสรรค์
ประชาสัมพันธ์กิจกรรมและเรื่องราวของย่านและจังหวัด ผ่านช่องทางต่างๆ และรับคำแนะนำการจัดกิจกรรม หรือ เทศกาลสร้างสรรค์
C. Development Model ด้านกลยุทธ์และแนวทางพัฒนา (*พิจารณาตามระดับความพร้อม)
● ร่วมศึกษา รวบรวมสินทรัพย์ วิเคราะห์จุดเด่นและศักยภาพ ความพร้อม ปัญหา ความต้องการของย่านและจังหวัด เพื่อเป็นฐานข้อมูลตั้งต้นของพื้นที่
● กำหนดแนวทางการพัฒนา และทดสอบแนวคิดการพัฒนาย่าน ในรูปแบบที่เหมาะสม ตอบโจทย์ตามบริบทของแต่ละย่าน (Customized development model & prototype) ผ่านโครงการความร่วมมือกับ CEA อาทิ เทศกาล กิจกรรม พื้นที่สร้างสรรค์ เส้นทางท่องเทียว เรื่องราวของย่านและจังหวัด ต้นแบบสินค้าและบริการจากอัตลักษณ์ท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อสร้างตัวอย่าง ให้เห็นทิศทางความเป็นไปได้ ในการพัฒนาในอนาคต
● รับคำปรึกษา และคำแนะนำแนวทางในการสมัครเข้าร่วม เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ระดับสากล อาทิ เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN)
D. Networking ด้านเครือข่าย
โอกาสเข้าถึงความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน นักสร้างสรรค์ที่เกียวข้อง และความร่วมมือระหว่างย่านเครือข่าย รวมถึงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์สากล
E. Policy ด้านนโยบายสร้างสรรค์
โอกาสและช่องทางเข้าถึงสิทธิพิเศษในเชิงเศรษฐกิจและธุรกิจที่ตรงกับความต้องการของย่าน
3. Actual Implementation การพัฒนาจริงในอนาคต (*พิจารณาตามระดับความพร้อม)
ผลักดันให้เกิดการต่อยอดที่เป็นรูปธรรมในมิติต่างๆ ที่จะนำไปสู่การเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่จับต้องได้ อาทิ การตั้งคณะกรรมการ/คณะทำงาน และกลไกงบประมาณของย่านที่เป็นกิจลักษณะ การทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Blueprint) โครงการต้นแบบ (Pilot Project) การสร้างแนวทาง City Branding การสร้างเครือข่ายต่อยอดระยะยาว ไปจนถึง การผลักดันให้แผนพัฒนาย่านฯ ถูกบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาของจังหวัด เป็นต้น
4. Retention & Expansion การประเมินผลและขยายผล (*พิจารณาตามระดับความพร้อม)
การประเมินผลและปรับปรุงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ไปจนถึงการขยายผลสู่ย่านอื่นๆ ในจังหวัด หรือ เครือข่ายภูมิภาค เช่น เชื่อมโยงการพัฒนา เป็นที่ปรึกษาให้กับย่านอื่นๆ ไปจนถึง การยกระดับเป็นต้นแบบย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์
การดำเนินงานจนถึงปัจจุบัน
1. พัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต้นแบบ 5 พื้นที่ ผ่าน CEA และ TCDC สาขา ต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพฯ ขอนแก่น เชียงใหม่ สงขลา เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ให้กับย่านอื่นๆ ในเครือข่าย ผ่านรูปแบบต่างๆ อาทิ Bangkok Design Week, Chiang Mai Design Week, Isan Creative Festival, Made in เป็นต้น
2. ค้นหาย่านอื่นๆ ในอีกกว่า 30 จังหวัด เพื่อเข้าร่วมเครือข่ายฯ โดยย่านที่มีความพร้อมและมีศักยภาพจะได้รับการผลักดันเป็นย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์นำร่องของจังหวัดต่อไป โดยอยู่ระหว่างการการดำเนินการดังนี้
2.1. ขั้นตอน Health Check เพื่อคัดเลือกย่านที่เหมาะสมที่สุด จำนวน 8 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง/ พิษณุโลก/ ชลบุรี (พัทยา)/ จันทบุรี/ อุดรธานี/ ตรัง/ พัทลุง
2.2. ขั้นตอน Research & Development ด้านกลยุทธ์และแนวทางการพัฒนา จำนวน 22 จังหวัด
ผ่านการสำรวจศักยภาพและคัดเลือกย่านเป้าหมายเบื้องต้นแล้ว กำลังกำหนดแนวทางพัฒนา และนำร่องจัดโครงการทดสอบแนวทางการพัฒนาย่าน ในโมเดลที่แตกต่างกัน เช่น เทศกาลสร้างสรรค์ (Creative Festival) พื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) กิจกรรมและเส้นทางท่องเที่ยว เรื่องราว ต้นแบบสินค้าและบริการจากอัตลักษณ์ (City Storytelling to creative products/services) การยกระดับอุตสาหกรรมเด่นของท้องถิ่น (Local Hero Industry) ฯลฯ
- ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 8 จังหวัด: สงขลา/ สุโขทัย/ อุบลราชธานี/ เลย/ พะเยา/ นครศรีธรรมราช/ สกลนคร/ โคราช
- อยู่ระหว่างการดำเนินงาน จำนวน 14 จังหวัด: เชียงราย/ น่าน/ ลำพูน/ ระยอง/ นครปฐม/ สุพรรณบุรี/ ปัตตานี/ แพร่/ พิจิตร/ อุตรดิตถ์/ สระแก้ว/ ร้อยเอ็ด/ ศรีสะเกษ/ ภูเก็ต
2.3. ย่านอื่นๆ ในจังหวัดภายใต้เครือข่ายฯ จะได้เข้าร่วมกิจกรรมและได้รับชุดความรู้ ที่ได้จากการถอดบทเรียนการทดสอบแนวทางการพัฒนาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การผลักดันร่วมกับพื้นที่นำร่องของจังหวัดต่อไป