CEA จัดพิธีเปิดเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Children’s Picture Book Festival 2024) ณ TCDC กรุงเทพฯ
ในช่วงเวลาที่เราเป็นเด็ก หลายคนคงเคยออกเดินทางไปในโลกแห่งจินตนาการพร้อมกับนิทานเล่มโปรด และหลงรัก “ตัวละครในหนังสือนิทาน” เหล่านั้นจนก่อเกิดเป็นความผูกพัน บางตัวละครจึงเป็นเสมือน “เพื่อนรัก” และ “เพื่อนคนแรก” ที่ยังคงฝังอยู่ในใจและภาพความทรงจำ พร้อมร่วมเดินทางเคียงข้างไปด้วยกันกับเราเสมอ
TCDC กรุงเทพฯ ภายใต้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ สำนักพิมพ์แซนด์คล็อค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอพาทุกท่านออกเดินทางสู่โลกมหัศจรรย์ของเรื่องเล่าในหนังสือภาพไปด้วยกันอีกครั้ง กับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Children’s Picture Book Festival 2024) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Gallery ชั้น 1 สำหรับพิธีเปิดเทศกาลฯ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 โดยได้รับเกียรติจาก H.E. Mrs. Anna Hammargren เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย พร้อมด้วย คุณกัญญชลา เดชานุภาพฤทธา กรรมการผู้จัดการมูลนิธิไทยคม คุณเลอชาติ ธรรมธีรเสถียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA คุณวิไล เจริญชัยสกุล รองผู้อํานวยการสํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว และ คุณสุภลักษณ์ อันตนนา บรรณาธิการบริหาร สํานักพิมพ์แซนด์คล็อคบุคส์ ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Gallery ชั้น 1
H.E. Mrs. Anna Hammargren เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ขอแสดงความยินดีกับการจัดเทศกาลฯ ในครั้งนี้ ที่ได้สร้างความตระหนักรู้เรื่องหนังสือให้เกิดขึ้นเป็นวงกว้างในสังคมของเด็กเล็ก เพราะหนังสือภาพถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้เด็กได้เรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม รวมถึงการจัดการความซับซ้อนในชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ที่สื่อโซเชียลได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชิวิตและการเรียนรู้ แต่ก็ไม่สามารถทดแทนการอ่านหนังสือนิทานในรูปแบบเล่มได้ดังนั้นวงการวรรณกรรมเด็กในสวีเดนจึงยังคงค้นหาธีมใหม่ ๆ เพื่อให้เด็กได้เข้าใจโลกผ่านหนังสือได้ดียิ่งขึ้น และสำหรับการมีส่วนร่วมของสวีเดนในการจัดเทศกาลฯ นี้ คือนิทรรศการห้องสมุดน้อยที่จัดตามแบบห้องสมุดสาธารณะในสวีเดน และยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ผู้เข้าชมงานได้เข้าร่วมอีกมากมาย”
“ทางสวีเดนขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้ร่วมมือกันจัดงานนี้ขึ้นมา เพราะปัจจุบันยังมีเด็กไทยถึง 1 ใน 3 ที่บ้านมีหนังสือเด็กไม่ถึง 3 เล่ม การจัดงานจึงมีส่วนช่วยในการปิดช่องว่างดังกล่าว เพื่อสร้างอนาคตแห่งการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ ต่อไป”
คุณเลอชาติ ธรรมธีรเสถียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ CEA กล่าวว่า “CEA เป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และพัฒนาองค์ความรู้ให้บุคลากรสร้างสรรค์ทุกเพศทุกวัย เทศกาลฯ นี้จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักอ่านรุ่นเยาว์และนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ซึ่งเป็นในหนึ่งกลไกสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ จุดประกายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้แก่บุคลากรในวงการหนังสือ อันจะช่วยผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยให้เติบโตต่อไป”
คุณกัญญ์ชลา เดชานุภาพฤทธา Managing Director มูลนิธิไทยคม ในฐานะผู้ร่วมจัดเทศกาลฯ กล่าวว่า “ปัจจุบันเด็กไทยเน้นการเรียนรู้ด้วยวิธีท่องจำ ทำให้ไม่สามารถนำสิ่งที่เรียนรู้มาประยุกต์ใช้ต่อได้ และถึงแม้โลกจะเปลี่ยนไป แต่สื่อที่ยังคงมีบทบาทสำคัญในการเรียนรู้ในทุกยุคสมัยก็คือ “หนังสือ” ซึ่งสามารถสนับสนุนอ่านและการเรียนรู้ของเด็ก ๆ ไปพร้อมกัน”
“มูลนิธิไทยคมเชื่อว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ล้วนเกิดจากโลกในจินตนาการ จึงอยากสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ ทั้งในห้องเรียนและโลกภายนอก นำมาสู่การร่วมจัดเทศกาลฯ ในครั้งนี้ เพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ พร้อมจุดประกายจินตนาการให้แก่เด็ก ๆ ผ่านหนังสือภาพ”
คุณวิไล เจริญชัยสกุล รองผู้อํานวยการสํานักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ในฐานะผู้สนับสนุนการจัดเทศกาลฯ ได้กล่าวว่า “ปัจจุบัน กทม. มีห้องสมุดหลายแห่ง ทั้งยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้อยู่เสมอ โดยทาง กทม. พร้อมให้การสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ อย่างการจัดเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ 2567 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมแห่งการเรียนรู้ให้แก่เด็กและประชาชนทุกคน”
คุณสุภลักษณ์ อันตนนา บรรณาธิการบริหาร SandClock Books ได้กล่าวปิดท้ายว่า “ “หนังสือภาพ” คือสิ่งพิเศษที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ทั้งยังได้รับความสนใจจากกลุ่มวัยรุ่นและผู้ใหญ่อีกด้วย เพราะทำให้รู้สึกเหมือนได้ย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง”
“ทั้งนี้ สำนักพิมพ์ SandClock Books ไม่ได้เป็นเพียงธุรกิจ แต่ยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นมาจากการเรียนรู้หนังสือภาพไปพร้อมกับลูกสาว การร่วมจัดเทศกาลฯ ในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งต่อสิ่งพิเศษที่จะเชื่อมความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงช่วยให้ผู้ใหญ่หลาย ๆ ท่านได้ย้อนกลับไปยังโลกแห่งจินตนาการพร้อมกับนิทานเล่มโปรดอีกครั้ง”
กิจกรรมภายในพิธีเปิดยังมีการแสดงละครสำหรับเด็กเรื่อง “เพื่อนรักจากนิทาน” โดยคณะละครปู๊นปู๊น ที่มาเล่าเรื่องราวของตัวละครจากหนังสือภาพที่เด็ก ๆ มีความผูกพัน โดยตัวละครที่นำมาเล่านั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวละครที่จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ ที่ช่วยสร้างบรรยากาศแสนน่ารัก ชวนให้ผู้ร่วมงานสนุกสนานไปตาม ๆ กัน
เทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Children’s Picture Book Festival 2024) ตอน “เพื่อนรักจากนิทาน” ในครั้งนี้ จะพาทุกคนไปสำรวจโลกแห่งการสร้างสรรค์ตัวละคร รวมถึงการนำเสนอความเป็นไปได้จากการต่อยอด “เพื่อนรักในนิทาน” สู่สิ่งใหม่ที่สามารถสร้างมูลค่าในเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้ ผู้สนใจจะได้เรียนรู้กระบวนการออกแบบคาแรกเตอร์หรือตัวละครในหนังสือภาพสำหรับเด็ก และขั้นตอนการจัดทำหนังสือนิทานสำหรับเด็กของหลากหลายภาคส่วน ทั้งผู้เขียนเนื้อหา นักวาดภาพประกอบ นักแปล นักเล่านิทาน ฯลฯ รวมถึงการนำเทคนิคอื่น ๆ มาประยุกต์ใช้ในการสร้างความน่าสนใจให้กับหนังสือ และช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้และส่งเสริมจินตนาการผ่านหนังสือในหลากหลายมิติ นับเป็นอีกหนึ่งเทศกาลที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมหนังสือนิทานสำหรับเด็กในประเทศไทย และปลูกฝังนิสัยรักการอ่านให้แก่เด็ก ๆ ผู้ปกครอง และผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี
คุณมี “เพื่อนรักจากนิทาน” ไหม หรือถ้ายังไม่มี ขอชวนมาร่วมค้นหาเพื่อนรักคนนั้นไปด้วยกัน พร้อมกับปลุกจินตนาการสุดสร้างสรรค์ ในเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็ก กรุงเทพฯ 2567 ได้ตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน - 15 ธันวาคม 2567 เวลา 10.30 - 19.00 น. ทุกวันอังคาร - อาทิตย์ (ปิดทุกวันจันทร์) ณ TCDC กรุงเทพฯ Gallery ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Children's Picture Book Festival
และ Thailand Creative & Design Center(TCDC)
Posted in news on Dec 03, 2024