Creative Skillup by OVEC x CEA โครงการประกวดงานวิจัยอาชีวศึกษา เปิดรับสมัครแล้ววันนี้ - 20 กุมภาพันธ์ 2568
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) หรือ OVEC ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดทำ Creative Skillup by OVEC x CEA โครงการยกระดับซอฟต์พาวเวอร์อาชีวศึกษาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการวิจัยนวัตกรรมและทักษะสร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศด้านการวิจัยนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์อาชีวศึกษา (OVEC Creative Research & Innovation Ecosystem) โดยเปิดโอกาสให้อาจารย์และนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาภาครัฐ ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ได้แสดงศักยภาพทางด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทย
Creative Skillup by OVEC x CEA เปิดรับข้อเสนอโครงการจากสถานอาชีวศึกษาภาครัฐทั่วประเทศ เพื่อมาคัดเลือกให้เหลือ 20 ข้อเสนอเพื่อมอบทุนวิจัย พร้อมกับเชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้องมาร่วมให้คำปรึกษาในการพัฒนางานวิจัย จากนั้นจึงนำผลงานวิจัยจำนวน 20 ผลงานไปจัดแสดงในงาน “มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2568” และ TCDC กรุงเทพฯ เพื่อสร้างโอกาสในการนำเสนอผลงานแก่ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจที่จะพัฒนาผลงานไปสู่ผลิตภัณฑ์ในอนาคต โดยโครงการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม - 30 กันยายน 2568
คุณสมบัติและเงื่อนไขในการเข้าร่วมโครงการ
1. เป็นครูหรือบุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน - นักศึกษา ในสถานศึกษา (ภาครัฐ) ภายใต้สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
2. มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ทักษะการทำงานเป็นทีม ทักษะการทำงานแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) และทักษะการทำงานเชิงพื้นที่
3. มีความสนใจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ บริการสร้างสรรค์ ตลอดจนผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการในพื้นที่ ทุนชุมชน อัตลักษณ์ชุมชน และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)
4. คณะนักวิจัยที่จะสมัครเข้าร่วมโครงการ จำกัดจำนวนไม่เกิน 10 คน/ทีม โดยแต่ละทีมจะต้องประกอบด้วยครูและนักเรียน - นักศึกษา ร่วมอยู่ในทีมเดียวกัน
5. คณะนักวิจัยในทีมควรประกอบด้วยครูและนักเรียน - นักศึกษาจากหลากหลายสาขาวิชา (ขึ้นอยู่กับการออกแบบโจทย์วิจัยของแต่ละทีม) เพื่อทำงานร่วมกันแบบบูรณาการข้ามศาสตร์
6. หากหัวหน้าโครงการวิจัยหรือผู้ร่วมวิจัย เคยมีประสบการณ์การทำงานวิจัยด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่หรือด้านที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทุนชุมชน จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ (โดยแนบหลักฐานประวัติการทำงานวิจัยหรือผลงานที่เกี่ยวข้องตามแบบฟอร์มที่กำหนดให้)
7. หากโครงการวิจัยที่เสนอขอรับทุนวิจัยในครั้งนี้ทำร่วมกับเครือข่ายคนทำงานสร้างสรรค์ ศิลปิน นักออกแบบ ปราชญ์ท้องถิ่น สื่อมวลชน ฯลฯ ในพื้นที่ จะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ (โดยแนบหลักฐานตามแบบฟอร์มที่กำหนดให้)
8. โครงการวิจัยต้องสามารถดำเนินการให้เสร็จสิ้น ภายใน 30 กันยายน 2568
แนวทางการพิจารณาสนับสนุนทุนวิจัย
1. เป็นโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการในพื้นที่ ทุนชุมชน อัตลักษณ์ชุมชน และซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power)
2. เป็นโครงการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในลักษณะบูรณาการข้ามศาสตร์ (Interdisciplinary) โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นซอฟต์พาวเวอร์สาขาใดสาขาหนึ่ง
3. เป็นโครงการวิจัยที่สร้าง Outcome/Impact ต่อพื้นที่ ชุมชน สังคม และภาค Demand Side/User/Stakeholders ในพื้นที่เป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
4. เป็นโครงการวิจัยที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมิติ เช่น มิติเชิงวิชาการ มิติเชิงชุมชน/สังคม มิติเชิงพาณิชย์ ฯลฯ
5. ในกรณีที่ภายในจังหวัดเดียวกันส่งข้อเสนอโครงการวิจัยมาหลายโครงการ แต่ต่างสถานศึกษากัน เน้นพิจารณาโครงการวิจัยที่ตอบโจทย์ทุนชุมชนและสร้าง Outcome/Impact ต่อพื้นที่มากที่สุดเป็นหลัก
6. ในกรณีที่โครงการวิจัยมีศักยภาพเชื่อมโยงกันได้ อาจพิจารณายุบรวมกันเป็นหนึ่งโครงการใหญ่ ภายใต้การบูรณาการงบประมาณร่วมกันภายในสถานศึกษาหรือระหว่างสถานศึกษา
7. สนับสนุนทุนวิจัยไม่เกิน 100,000 บาท/โครงการวิจัย
วิธีการสมัครเข้าร่วมโครงการ
สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ - 20 กุมภาพันธ์ 2568
(ปิดรับสมัครภายในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568)
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครร่วมโครงการและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://shorturl.at/k7owM
การประกาศผล
1. ประกาศผล 50 โครงการวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกรอบแรก ภายใน 1 - 2 สัปดาห์หลังจากสิ้นสุดเวลาการรับสมัครแล้ว โดยผลงานที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับสิทธิ์ในการอบรมเเละร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อป เพื่อพัฒนาผลงานให้ตรงตามโจทย์การวิจัยที่ได้รับ เเละพร้อมเข้าสู่การพิจารณาคัดเลือกเพื่อรับทุนสนับสนุนในรอบสองต่อไป
2. ประกาศผล 20 โครงการการวิจัยที่จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรรค์ ภายใน 1 สัปดาห์หลังจากกระบวนการพิจารณาคัดเลือกเสร็จสิ้นแล้ว โดยผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนจะได้รับโอกาสในการเผยแพร่ในพื้นที่สื่อชั้นนำ ตลอดจนจัดเเสดงในงานนิทรรศการสร้างสรรค์ต่าง ๆ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
3. ประกาศผลผ่าน 3 ช่องทาง ดังนี้
3.1 ทำหนังสือแจ้งไปยังแต่ละสถานศึกษา
3.2 แจ้งผลการคัดเลือกไปยัง E-mail ของหัวหน้าโครงการที่ได้รับทุนวิจัย
3.3 ประกาศผลผ่านเพจเฟซบุ๊กของสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา (สวพ.): www.facebook.com/research.vec
ระยะเวลาการดำเนินงาน
มกราคม - กุมภาพันธ์: เปิดรับสมัครผู้รับทุนวิจัยจากสถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ
มีนาคม - เมษายน: คัดเลือกข้อเสนอโครงการเพื่อให้ได้ 20 ข้อเสนอที่ผ่านการคัดเลือก
พฤษภาคม - กันยายน: ดำเนินการวิจัยและเข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กช็อปเพื่อพัฒนาทักษะ
กันยายน - ตุลาคม: จัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัย
มาร่วมยกระดับศักยภาพการวิจัยนวัตกรรมและงานสร้างสรรค์อาชีวศึกษา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยไปด้วยกัน!
Posted in news on Jan 17, 2025