Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล
ความสำเร็จและเสียงตอบรับเชิงบวกของโครงการ “Content Lab 2023 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2566 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เพื่อพัฒนานักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และดิจิทัลคอนเทนต์ ให้มีทักษะและความรู้ในการผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ และดิจิทัลคอนเทนต์ ให้มีศักยภาพและตอบโจทย์ตลาดทั้งประเทศและระดับสากล นำมาสู่การจัดทำโครงการ “Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล” โครงการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านคอนเทนต์เพื่อตอบโจทย์ตลาดสากล ขึ้นเป็นปีที่ 2 ในปี 2567
ปีนี้ CEA ยังคงเดินหน้ายกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมในกลุ่ม “คอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์” (Creative Content & Media) ได้แก่ ภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันให้เป็น “อุตสาหกรรมเรือธง” ที่จะสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โครงการมุ่งเป้าบ่มเพาะทักษะและองค์ความรู้ ยกระดับศักยภาพนักสร้างสรรค์สายภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันของไทย เพื่อพัฒนาผลงานของตนเองให้ได้มาตรฐานในเชิงพาณิชย์ ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ นับเป็นการเพิ่มโอกาสทางการแข่งขัน ต่อยอดอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เติบโต พร้อมทั้งส่งเสริมนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาล
สำหรับปี 2567 โครงการ Content Lab 2024 ขยายโครงการให้ใหญ่ขึ้น โดยจัดโครงการย่อย 5 โครงการ ที่หลากหลายและครอบคลุมกลุ่มนักสร้างสรรค์สายคอนเทนต์ 4 กลุ่ม ประกอบด้วยโครงการบ่มเพาะ (Incubation Programs) จำนวน 4 โครงการ และโครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Business Program) จำนวน 1 โครงการ ระยะเวลาการดำเนินโครงการต่าง ๆ คือระหว่างเดือนมีนาคม - ธันวาคม 2567 ดังนี้
โครงการบ่มเพาะ (Incubation Programs) จำนวน 4 โครงการ ได้แก่
(1) Content Lab: Newcomers
แคมป์สำหรับคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่
(2) Content Lab: Mid-Career
เวิร์กช็อปพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ในกลุ่ม Mid-Career
(3) Content Lab: Animation
เวิร์กช็อปพัฒนาซีรีส์โปรเจ็กต์สำหรับชาวแอนิเมชันในกลุ่ม Mid-Career
(4) Content Lab: Advanced Scriptwriting
เวิร์กช็อปพัฒนาการเขียนบทระดับมืออาชีพโดยวิทยากรจากไทยและต่างประเทศ
โครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ (Business Program) จำนวน 1 โครงการ ได้แก่
(5) Content Project Market ตลาดซื้อขายและเวที Pitching คอนเทนต์ ต่อยอดผลงานสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์
ข่าวประชาสัมพันธ์หรือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ Content Lab 2024
- CEA ยกระดับอุตสาหกรรมดนตรีและคอนเทนต์ไทย ส่งเสริมศักยภาพสร้างสรรค์ ปั้นผลงานคุณภาพให้ตอบโจทย์ตลาดสากล ภายใต้โครงการ Music Exchange และ Content Lab 2024
- เจาะลึกอินไซต์อุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซีรีส์ และแอนิเมชันไทย ผ่านโครงการ Content Lab 2024 ปีที่ 2 กับโอกาสครั้งสำคัญในการผลักดันคอนเทนต์ไทยอย่างรอบด้านสู่ตลาดสากล
- จาก Local สู่ Global ฝันไกลไปได้จริงหรือไม่
(1) Content Lab: Newcomers
Content Lab: Newcomers แคมป์สำหรับกลุ่มคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ เพื่อฝึกการพัฒนาโปรเจ็กต์เบื้องต้น และนำองค์ความรู้ไปใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดสู่การเป็นมืออาชีพ โดยเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์คอนเทนต์ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ ได้เรียนรู้และบ่มเพาะทักษะการผลิตผลงานภาพยนตร์และซีรีส์ต่อไปในอนาคต
ระยะเวลาโครงการ: เดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567
ความพิเศษของ Content Lab: Newcomers คือการเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นมือใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์หรือซีรีส์มาก่อน สามารถสมัครเข้าร่วมได้ จึงมีผู้สมัครจากหลากหลายสาขาอาชีพและช่วงวัยให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก โดยมี คุณพิมพกา โตวิระ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ Content Lab: Newcomers พร้อมด้วยเมนเทอร์ของแต่ละภูมิภาค ภาคละ 4 ท่าน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมนเทอร์ประกอบด้วย คุณชาญชนะ หอมทรัพย์, คุณวาสุเทพ เกตุเพ็ชร์, คุณก้อง พาหุรักษ์ และคุณสุพัชา ทิพเสนา ภาคกลาง ประกอบด้วย คุณปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ, คุณพงศ์เศรษฐ์ ลักษมีพงศ์, คุณฐานิกา เจนเจษฎา และคุณพัฒนะ จิรวงศ์ ภาคเหนือ ประกอบด้วย คุณทศพล เหรียญทอง คุณแดง ภัทรนาถ คุณจตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ และคุณกนกพร บุญธรรมเจริญ
นอกจากผู้เข้าร่วมโครงการจะได้อบรมการทำภาพยนตร์และซีรีส์ตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน หัวใจสำคัญของการเขียนบทภาพยนตร์ ไปจนถึงเทคนิคการเล่าเรื่องอย่างเข้มข้นแล้ว ยังได้รับฟังข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ชั้นแนวหน้าของไทยอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
กิจกรรมบ่มเพาะของโครงการ Content Lab: Newcomers จัดขึ้นใน 3 ภูมิภาค ทั้งภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือตามลำดับ ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตร และโอกาสในการชิงทุนสำหรับพัฒนาโปรเจ็กต์ ภูมิภาคละ 5 รางวัล รางวัลละ 20,000 บาท
- การอบรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จัดที่ขอนแก่น) วันที่ 3 - 10 สิงหาคม 2567
- การอบรมภาคกลาง (จัดที่กรุงเทพฯ) วันที่ 17 - 24 สิงหาคม 2567
- การอบรมภาคเหนือ (จัดที่เชียงใหม่) วันที่ 31 สิงหาคม - 7 กันยายน 2567
รายชื่อ 5 โปรเจ็กต์ที่ได้รับทุนในการพัฒนาผลงานต่อ จากโครงการ Content Lab: Newcomers ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
1. หวย
2. คะลำ
3. his gone
4. กาฬคีรี
5. ศพสการ
รายชื่อ 5 โปรเจ็กต์ที่ได้รับทุนในการพัฒนาผลงานต่อ จากโครงการ Content Lab: Newcomers ภาคกลาง
1. The Edutainment
2. สำราญ
3. Landscape of Masquerade
4. มนต์รักเห็ดเพาะ
5. A little love in the cliché soap opera / ละครน้ำเน่า แต่เรารักกัน
รายชื่อ 5 โปรเจ็กต์ที่ได้รับทุนในการพัฒนาผลงานต่อ จากโครงการ Content Lab: Newcomers ภาคเหนือ
1. รักลื่นล้ม !
2. ASMR
3. Dead Company (บริษัท-จำกัด-ความตาย)
4. คนผีปีศาจ
5. Cicadas Memorial (หริ่งหรีดเรไร)
ข่าวประชาสัมพันธ์หรือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ Content Lab: Newcomers
- เปิดประตูสู่เส้นทางสายอาชีพ คนทำหนังและซีรีส์ในภาคอีสาน
- ก้าวแรกสู่เส้นทางสายอาชีพ คนทำหนังและซีรีส์ในภาคกลาง
- ก้าวแรกสู่เส้นทางสายอาชีพ คนทำหนังและซีรีส์ไทย
- Content Lab: Newcomers โอกาสของคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ บนเส้นทางอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย
(2) Content Lab: Mid-Career
ขยับเลเวลขึ้นไปอีกขั้น กับ Content Lab: Mid-Career โครงการพัฒนาโปรเจ็กต์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ในกลุ่ม Mid-Career หรือบุคลากรวิชาชีพระดับกลาง สำหรับมืออาชีพทางด้านภาพยนตร์และซีรีส์โดยเฉพาะ ปีนี้โครงการกลับมาสานต่อความสำเร็จของ Content Lab 2023 ในปีที่ผ่านมาอีกครั้ง โดยมุ่งฝึกฝนและพัฒนาทักษะของผู้เข้าร่วมโครงการ ให้มีความพร้อมในการผลิตคอนเทนต์เข้าสู่ตลาดสากล โดยมีปลายทางคือการผลิต Pitch Package และตัวอย่างเนื้อหาแบบสั้น (Video Pilot) รวมทั้งการนำเสนอโปรเจ็กต์กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
ระยะเวลาโครงการ: เดือนมีนาคม - มิถุนายน 2567
Content Lab: Mid-Career รับสมัครทีมนักทำหนังหรือซีรีส์มืออาชีพที่ต้องการพัฒนาโปรเจ็กต์ 3 คน เช่น นักเขียน ผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ ฯลฯ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์จริงในการทำงานด้านภาพยนตร์หรือซีรีส์ไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ละทีมจะมาพร้อมโปรเจ็กต์ภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่กำลังพัฒนาอยู่ โดยมีเนื้อหาไปในทางกระแสหลักและตอบโจทย์กลุ่มคนดูในวงกว้าง ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับคัดเลือกทั้ง 18 ทีม ได้เรียนรู้กระบวนการเขียนบทและแนวทางการพัฒนาโปรเจ็กต์ของแต่ละทีม ผ่านคลาสเรียนเข้มข้นจำนวน 11 คลาส โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และการให้คำปรึกษาจากเมนเทอร์ของโครงการ
โครงสร้างของหลักสูตรในปีนี้จึงมุ่งเน้นให้แต่ละทีมสามารถพัฒนาโปรเจ็กต์ให้ออกมาดีที่สุด สำหรับการนำเสนอเพื่อการเจรจาธุรกิจ Business Matching ที่ปฏิบัติจริงในระดับสากล โดยมี คุณพิมพกา โตวิระ รับหน้าที่หัวหน้าโครงการ Content Lab: Mid-Career คุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ เป็นผู้จัดทำหลักสูตร และเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ 6 ท่าน ได้แก่ คุณอมราพร แผ่นดินทอง, คุณฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์, คุณเกรียงไกร วชิรธรรมพร, คุณอดิสรณ์ ตรีสิริเกษม, คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ และ คุณธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
หลังจากทีมผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 18 ทีมได้ผ่านการอบรมอย่างเข้มข้นจากคลาสเรียนแล้ว จึงได้นำเสนอโปรเจ็กต์ที่ได้บ่มเพาะและพัฒนามาตลอดระยะเวลา 2 เดือน เพื่อชิงทุนสนับสนุนการผลิตตัวอย่างเนื้อหาแบบสั้น (Pilot Video) จำนวน 150,000 บาท ทั้งหมด 10 ทุน
รายชื่อ 10 โปรเจ็กต์ที่ได้รับทุนสนับสนุนการผลิตตัวอย่างเนื้อหาแบบสั้น (Pilot Video) ในโครงการ Content Lab: Mid-Career ได้แก่
ภาพยนตร์ขนาดยาว
• ไฟต์นี้เพื่อเธอ (Fight For You)
• ยายซิ่ง!
• ร้านผีคลั่ง (Open Deadly)
• Pretty (Trans)woman คําสารภาพรักของสาวประเภทสวย
• คลึงค์
• ปีชงของธงไชย (Bangkok Enigma)
• คมศาสตรา ผ่าแผ่นดิน
ซีรีส์
• ตราบรัตติกาล (If There Is Tomorrow)
• คนหนีตาย ผีหนีเกิด
• Office SINdrome
10 ทีมสุดท้ายนี้ยังได้เข้าร่วมกิจกรรม Final Pitch เพื่อนำเสนอโปรเจ็กต์กับแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Streaming Platform ผู้ผลิตภาพยนตร์ ผู้ผลิตซีรีส์ ฯลฯ เพื่อสร้างโอกาสการต่อยอดโปรเจ็กต์ในเชิงพาณิชย์ กับนักธุรกิจตัวจริงจากวงการภาพยนตร์ ซีรีส์ และละคร ในโครงการ Content Project Market ภายใต้ร่มของโครงการใหญ่ Content Lab 2024 ในเดือนตุลาคม 2567
นับได้ว่านอกจากโครงการ Content Lab: Mid-Career จะเปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์สายภาพยนตร์และซีรีส์ได้พัฒนาโปรเจ็กต์ของตนเองให้ดียิ่งขึ้นผ่านการบ่มเพาะทักษะแล้ว CEA ยังมอบการเชื่อมต่อโอกาสในการต่อยอดผลงานระหว่างนักสร้างสรรค์ กับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและแพลตฟอร์มผู้ผลิตภาพยนตร์และซีรีส์ชั้นนำของไทยอีกด้วย
ข่าวประชาสัมพันธ์หรือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ Content Lab: Mid-Career
- เปิด Landscape วงการภาพยนตร์และซีรีส์ไทย จากงาน Content Lab 2024 Open House
(3) Content Lab: Animation
Content Lab: Animation โครงการพัฒนาซีรีส์โปรเจ็กต์สร้างสรรค์สำหรับสายงานด้านแอนิเมชันโดยเฉพาะ โดยมุ่งเน้นกลุ่ม Mid-Career หรือบุคลากรวิชาชีพระดับกลาง เนื่องจากเป้าหมายของโครงการนี้ออกแบบมาเพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์แอนิเมชันไทยที่มีศักยภาพ ให้สามารถนำไปเสนอต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งต่อยอดไปสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง
ระยะเวลาโครงการ: เดือนมีนาคม - ธันวาคม 2567
ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจำนวน 33 คน ได้เข้าร่วมอบรมกับเหล่าวิทยากรมืออาชีพตลอด 9 สัปดาห์ เพื่อยกระดับทักษะและพัฒนาโปรเจ็กต์ร่วมกับวิทยากรและเมนเทอร์ นำทีมโดย คุณเอมสินธุ รามสูต หัวหน้าโครงการ Content Lab: Animation, คุณสุภอร รัตนมงคลมาศ, คุณอัมภฤณ บุญสินสุข, คุณอมราพร แผ่นดินทอง, คุณพีรพัฒน์ กิตติวัชร, คุณปกรณ์ ทองขวัญใจ, คุณกวิน เตรัตนชัย, คุณ Silas Hickey, คุณ Gary Sparkes และ คุณ Aron Warner โดยทุกท่านล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในวงการแอนิเมชัน
Content Lab: Animation เปิดรับสมัครทีมแอนิเมชันมืออาชีพที่ต้องการพัฒนาโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นผู้มีประสบการณ์จริงในการทำงานด้านการทำแอนิเมชันไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ละทีมจะมาพร้อมโปรเจ็กต์ที่กำลังพัฒนาอยู่ ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับคัดเลือกได้เรียนรู้กระบวนการเขียนบทและแนวทางการพัฒนาโปรเจ็กต์ของแต่ละทีม ผ่านคลาสเรียนเข้มข้นจำนวน 8 คลาส โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และการให้คำปรึกษาจากเมนเทอร์ของโครงการ
ทั้ง 10 ทีมที่เข้าร่วมอบรมจะได้รับประกาศนียบัตร พร้อมทุนสำหรับการพัฒนา Pitch Deck จำนวน 100,000 บาท สิทธิ์ในการนำเสนอโปรเจ็กต์กับนักลงทุนในงาน Content Project Market ในเดือนตุลาคม 2567 และทุนสนับสนุนค่าเดินทางเพื่อสร้างเครือข่ายและนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในตลาดคอนเทนต์ในต่างประเทศช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567 เช่น Kre8tif ที่มาเลเซีย, Taiwan Creative Content Fest (TCCF) และ Asian Animation Summit (AAS) ที่ไต้หวัน ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสชิงทุนเพิ่มเติมสำหรับการพัฒนาโปรเจ็กต์ รางวัลละ 125,000 บาท จำนวน 3 ทุนอีกด้วย
รายชื่อ 10 ทีมที่ได้รับทุนทีมละ 100,000 บาท สำหรับการพัฒนา Pitch Deck
1. Worldbot
2. Teewa
3. Boba Cafe
4. Manii
5. Tete The Food Journal
6. Peace Delivery
7. Little Paws Explorer
8. Locked Out of Heaven
9. Playmondo
10. The Night Writer
รายชื่อ 3 ทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมทีมละ 120,000 บาท สำหรับการพัฒนาโปรเจ็กต์
1. Worldbot
2. Teewa
3. Boba Cafe
รายชื่อทีมที่ได้รับทุนสนับสนุนค่าเดินทางเพื่อสร้างเครือข่ายและนำเสนอผลงานกับนักลงทุนในเทศกาลต่างประเทศ
Kre8tif, มาเลเซีย, 1 - 4 ตุลาคม 2567
1. Boba Cafe (Stage Pitching)
2. Tete: The food Journal (Stage Pitching)
3. Peace Delivery (Stage Pitching)
4. Little Paws Explorer
5. Manii
Taiwan Creative Content Fest (TCCF), ไต้หวัน, 5 - 8 พฤศจิกายน 2567
1. Teewa (Stage Pitching)
2. Worldbot (Stage Pitching)
3. The Night Writer
4. Locked Out of Heaven
Asian Animation Summit (AAS), ไต้หวัน, 19 - 21 พฤศจิกายน 2567
1. Playmondo (Stage Pitching)
2. Teewa (Stage Pitching)
3. Worldbot (Stage Pitching)
ข่าวประชาสัมพันธ์หรือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ Content Lab: Animation
- ส่องภาพรวมตลาดแอนิเมชัน สร้างสรรค์คอนเทนต์อย่างไรให้ตอบโจทย์สากล
- 5 เรื่องที่ครีเอเตอร์ต้องรู้ ในการดูแลลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ และการนำไปต่อยอด
(4) Content Lab: Advanced Scriptwriting
Content Lab: Advanced Scriptwriting เวิร์กช็อปอบรมการเขียนบทระดับมืออาชีพ โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการเขียนบททั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมหลักสูตร Master Class ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาและต่อยอดบทในเชิงพาณิชย์ โดยมีเมนเทอร์มือโปรในวงการเขียนบทมาให้คำแนะนำเรื่องการพัฒนาบทของผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อยกระดับทักษะให้แก่นักเขียนบทมืออาชีพของไทย ให้สามารถต่อยอดผลงานของตนเองไปสู่บทภาพยนตร์หรือซีรีส์ในอุตสาหกรรมคอนเทนต์ในระดับสากล
สำหรับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการนี้ ต้องมีประสบการณ์การทำงานนักเขียนบทภาพยนตร์หรือซีรีส์ หรือนักเขียนบทละคร เว็บตูน นิยายออนไลน์ หรือนิยายที่ได้รับการตีพิมพ์ ไม่น้อยกว่า 2 ผลงาน โดยได้รับการเผยแพร่มาก่อนหน้านี้
ระยะเวลาโครงการ: เดือนสิงหาคม - กันยายน 2567 โดยมีคลาสเรียน ได้แก่
- Intensive Class คลาสเรียนเข้มข้นที่ส่งตรงหลักสูตรมาจาก Korea Screen Writers Association (KSWA) ระหว่างวันที่ 28 - 30 สิงหาคม และ 2 - 5 กันยายน 2567
- Special Class คลาสพิเศษที่เสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาบทและการนำเสนอผลงานเชิงพาณิชย์ จำนวน 3 คลาส ในวันที่ 1 กันยายน 2567
- Master Class คลาสระดับมาสเตอร์โดยวิทยากรจากต่างประเทศ ที่มาแบ่งปันมุมมองและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเขียนบท ในวันที่ 7 กันยายน 2567
นอกจากผู้ที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 50 คน จะได้อบรมเวิร์กช็อปเข้มข้นสำหรับนักเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์ระดับมืออาชีพแล้ว ยังได้รับประกาศนียบัตร และชิงสิทธิ์ในการนำเสนอโปรเจ็กต์กับนักลงทุนในงาน Content Project Market จำนวน 20 โปรเจ็กต์ ในเดือนตุลาคม 2567 อีกด้วย
รายชื่อ 20 ทีมที่ได้ผ่านการคัดเลือกเพื่อนำเสนอผลงานในงาน Content Project Market
1. Mission พริก 10 เม็ด มันเผ็ชมากแม่!!!
2. 7 Curses Village (7 คำสาป หมู่บ้านมรณะ)
3. แต้มบุญ
4. LOVER (UN)FORECAST
5. มรดกตกกระไดพลอยโจร
6. เกมล่าเจ้าชาย (The Wanted Prince)
7. ไม่อยากตายยินดีคืนเงิน Don’t want to die be kind refund
8. ช่องลับสับฆ่า
9. Sneak Out
10. ตรึง
11. ปริศนา…นักล่าเว็บตูน (The Webtoon Murders)
12. แสงกระสือ ปฐมบท
13. The Silence of the dead
14. In Mind อ่าน/จิต/ล่า
15. RoomMate เพื่อนมากกว่าเพื่อน
16. Under the Mask
17. Escape หนี
18. กฎใหม่ของบ้านหลังเก่า
19. โรงกบฏ
20. Daddy E-sports… คุณพ่อหัวใจเกมเมอร์
(5) Content Project Market
ปิดท้ายด้วย Business Program โครงการสร้างโอกาสทางธุรกิจ ในชื่อ Content Project Market ตลาดซื้อขายและเวที Pitching คอนเทนต์ของไทย ที่เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Mid-Career, Content Lab: Animation และ Content Lab: Advanced Scriptwriting รวมถึงนักสร้างสรรค์คอนเทนต์มืออาชีพจากการเปิดรับสมัครจากภายนอกรวมกว่า 60 โปรเจ็กต์ ได้นำโปรเจ็กต์ที่พัฒนาแล้วหรือบทภาพยนตร์หรือซีรีส์ของตนเอง มานำเสนอกับนักธุรกิจทางด้านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ นักลงทุนจากสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศ รวมกว่า 50 ราย ผ่านเวที Pitching และการเจรจาธุรกิจ Business Matching เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดผลงานสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป
ระยะเวลาโครงการ: วันที่ 24 - 25 ตุลาคม 2567 ณ True Digital Park ชั้น 6
นับว่า Content Project Market เป็นโครงการที่ช่วยผลักดันและต่อยอดผลงานของนักสร้างสรรค์สายคอนเทนต์จากโครงการย่อยต่าง ๆ ของโครงการ Content Lab 2024 ข้างต้นให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม จากการพัฒนาทักษะเพื่อยกระดับคุณภาพของผลงานสร้างสรรค์ให้ดียิ่งขึ้น ไปสู่การนำเสนอโปรเจ็กต์ให้เกิดการผลิตขึ้นได้จริงในตลาดคอนเทนต์ระดับสากล
ข่าวประชาสัมพันธ์หรือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการ Content Project Market
- Content Project Market ครั้งแรกกับการจัดตลาดซื้อ-ขายคอนเทนต์ที่รวมทั้งภาพยนตร์ ซีรีส์ แอนิเมชัน และการเขียนบทกว่า 59 โปรเจ็กต์
ติดตามรายละเอียดของโครงการ Content Lab 2024 เพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Content Lab
Project Update
[Advanced Scriptwriting] Master Class การเขียนบทกับ Choi Ran
Master Class สุดเข้มข้น กับวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศอย่างคุณ Choi Ran นักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน เจ้าของผลงานซีรีส์ชื่อดังมากมาย เช่น Mouse (2021) ที่เคยสร้างกระแสฮือฮาจากแฟนซีรีส์เกาหลีอย่างถล่มทลาย และ Black (2017) ซีรีส์แนวลึกลับแฟนตาซีของยมทูตล่าวิญญาณ โดยนักเขียนบทมืออาชีพชาวเกาหลี ได้แชร์มุมมองและประสบการณ์ แรงบันดาลใจ เทคนิคการเขียนบท และเคล็ดลับการสร้างตัวละครที่น่าจดจำ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมคลาสได้พัฒนาการเขียนบทระดับมืออาชีพและนำความรู้ไปปรับใช้ในการพัฒนาผลงานต่อไป
[Newcomers] Final Pitch ภาคเหนือ
หลังจากอบรมและเตรียมความพร้อมมาตลอด 8 วัน ผู้เข้าร่วมได้รับความรู้แบบจัดเต็มเพื่อนำไปใช้พัฒนา Pitch Deck ของตนเอง มาถึงเวที Pitching ทุกทีมต้องใช้เวลาที่มีจำกัดในการนำเสนอโปรเจ็กต์ภายใน 7 นาที เพื่อให้กรรมการได้เห็นพัฒนาการและความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาโปรเจ็กต์ให้มีคุณภาพระดับมืออาชีพ ซึ่งทุกทีมสามารถทำได้อย่างที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดย 5 ทีมสุดท้ายที่ได้รับการคัดเลือกนั้น มีความหลากหลายและความแข็งแรงใน Big Idea รวมทั้งความท้าทายที่น่าสนใจหากได้รับการพัฒนาต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยแต่ละทีมได้รับทุนพัฒนาโปรเจ็กต์ 20,000 บาท เรียกได้ว่าเวทีนี้เป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้คนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ได้มีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในอนาคต
[Animation] Internal Pitching
หลังจากที่เวิร์กช็อปอย่างเข้มข้นกับ 7 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งจากในและต่างประเทศ พร้อมผ่านการให้คำปรึกษาจาก 3 เมนเทอร์ และที่ปรึกษาโครงการผู้ทรงคุณวุฒิจากสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชันและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย (TACGA) ก็มาถึงการนำเสนอผลงานของแต่ละทีมเป็นครั้งแรกบนเวที Internal Pitching ผู้เข้าร่วมโครงการทั้ง 10 ทีมต่างแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของผลงาน และทักษะการ Pitch ที่มีความโดดเด่นพร้อมบุกสู่ตลาดสากล โดยทั้ง 10 ทีมได้รับทุนสนับสนุนให้พัฒนา Pitch Deck ทีมละ 100,000 บาท เพื่อพัฒนาโปรเจ็กต์ให้พร้อมสำหรับการนำเสนอต่อนักลงทุนและต่อยอดในเชิงพาณิชย์ และคณะกรรมการยังได้เฟ้นหา 3 ทีม ที่จะได้รับทุนสนับสนุนทีมละ 120,000 บาท เพื่อไปผลิตทีเซอร์ตัวอย่างสำหรับการไปเสนอผลงานในเวทีต่างประเทศ
[Animation] กิจกรรม International Pitching Workshop
คลาสสุดเข้มข้นที่ได้วิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศ คุณ Aron Warner โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์แอนิเมชันชื่อดังระดับโลก อย่าง Shrek, The Book of Life และ Antz มาร่วมพูดคุยในหัวข้อ “Animation Pitching in International Stage” ดำเนินการเสวนาโดย คุณพันธุ์ธัมม์ ทองสังข์ และร่วมแปลภาษาโดย คุณจรรยา เหตะโยธิน โดยคุณ Aron ได้นำประสบการณ์และความรู้ที่สั่งสมมาแชร์ให้ผู้เข้าร่วมได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ เช่น การค้นหาและปั้นเรื่องให้สามารถตอบโจทย์ผู้ชม โดยยังคงมีมุมมองของโปรดิวเซอร์และนักลงทุน ซึ่งจะช่วยให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำเสนอโครงการของตนให้ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังแชร์เคล็ดลับต่าง ๆ ในการนำเสนอผลงานบนเวทีระดับนานาชาติ ทั้งเรื่องการสร้าง ‘ฮุก’ หรือหมัดเด็ดของผลงาน การนำเสนอแก่นเรื่องหรือสิ่งที่ต้องการบอกผู้ชม และการออกแบบการนำเสนอที่แตกต่าง แต่ยังสอดคล้องกับเรื่องที่ตนนำเสนอ
ช่วงบ่าย ทุกทีมได้นำเสนอโปรเจ็กต์เบื้องต้นของตนเอง เพื่อรับคำแนะนำและเตรียมตัวสู่ Internal Pitching ที่จะตัดสินและคัดเลือก 3 ทีม ผู้ได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มเติมอีก 120,000 บาท เพื่อไปผลิตทีเซอร์ตัวอย่างสำหรับการไปเสนอผลงานในเวทีต่างประเทศต่อไป
[Advanced Scriptwriting] Special Class Wrap-Up
กิจกรรม Special Class สุดพิเศษ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความรู้และเทคนิคเฉพาะด้านที่ถูกนำมาถ่ายทอดอย่างเข้มข้น โดยผู้เชี่ยวชาญในวงการ ได้แก่ คุณโชค วิศวโยธิน ที่มาแบ่งปันวิธีการใช้เครื่องมือ AI ร่วมกับการเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์, คุณเกรียงไกร วชิรธรรมพร กับการแนะนำวิธีการพัฒนาเนื้อหาอย่างไรให้เป็น Pitch Deck ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมดึงดูดใจนักลงทุนและผู้ร่วมงาน และ คุณสุภอร รัตนมงคลมาศ (Soupy) ได้มาถ่ายทอดเคล็ดลับการ Pitching ให้ทรงพลังภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[Newcomers] คลาสการอบรม Content Lab: Newcomers ภาคเหนือ
คลาสการอบรมโดยเมนเทอร์ผู้เชี่ยวชาญ ได้แก่ โครงสร้างการเขียนบท 3 องก์ (3 Act Structure) โดย คุณทศพร เหรียญทอง, การสร้างตัวละครและปมขัดแย้งในเรื่องเล่า (Character and Conflict) โดย คุณแตง ภัทรนาถ, การเล่าเรื่องด้วยภาพในภาพยนตร์และซีรีส์ (Visual Storytelling) โดย คุณจตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ และการทำ Pitch Deck ให้น่าดึงดูด และเทคนิคการนำเสนอโปรเจ็กต์ในระดับมืออาชีพ (How to Pitch & Pitch Practice) โดย คุณกนกพร บุญธรรมเจริญ เพื่อเป็นแนวทางสำคัญให้ผู้เข้าร่วมนำไปวิเคราะห์ ปรับปรุง พร้อมพัฒนาจุดแข็งและกลบจุดอ่อนของเรื่อง โดยใช้เวลาระหว่าง 8 วันนี้ให้คุ้มค่ามากที่สุด ก่อนที่ผู้เข้าร่วมแต่ละทีมจะต้องเตรียมความพร้อมในการ Pitching โดยนำคอมเมนต์ที่ได้ไปปรับปรุง Pitch Deck เพื่อนำเสนอผลงานแบบมืออาชีพในกิจกรรม Final Pitch วันสุดท้ายของแคมป์
[Newcomers] การอบรม Content Lab: Newcomers ภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่
ภูมิภาคสุดท้ายของโครงการ Content Lab: Newcomers กับการจัดกิจกรรมอบรมบ่มเพาะขึ้นที่อุทยานวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กิจกรรมวันแรกที่ผู้เข้าร่วมทุกคนได้แนะนำตัวเอง และทำความรู้จักเพื่อนร่วมแคมป์ทั้ง 50 คน 16 โปรเจ็กต์ โดยภูมิภาคนี้ทางโครงการได้รับเกียรติจาก คุณอิ่มหทัย กันจินะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและนำเสนอวิสัยทัศน์และพันธกิจของ CEA ที่ดำเนินงานในระดับภูมิภาค จากนั้นผู้เข้าร่วมแคมป์ได้พบกับเมนเทอร์ประจำทีมที่เป็นตัวจริงของวงการทั้ง 4 ท่าน นำทีมโดย คุณทศพร เหรียญทอง, คุณแตง ภัทรนาถ, คุณจตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ และคุณกนกพร บุญธรรมเจริญ ซึ่งจะให้คำปรึกษาตลอดโครงการ
[Advanced Scriptwriting] กิจกรรม Intensive Class: 1/2 Wrap-Up
คลาสอบรมนักเขียนระดับมืออาชีพในช่วงครึ่งแรก จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 - 30 สิงหาคม 2567 นำเสนอหลักสูตรที่เข้มข้น อัดแน่นด้วยคุณภาพ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเทคนิคการเขียนบทที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของอาจารย์ Kim Hyomin นักเขียนบทที่มีชื่อเสียงในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ของประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งช่วยเปิดมุมมองใหม่ ๆ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าอบรมในการยกระดับคุณภาพผลงานให้นำไปใช้ได้จริง
[Newcomers] Final Pitch ภาคกลาง
หลังจากผ่านการอบรมอย่างเข้มข้น ถึงวันที่ผู้เข้าร่วมทุกทีมต้องขึ้นเวที Pitching โดยเมนเทอร์และคณะกรรมการได้ให้ความเห็น ว่าทุกโปรเจ็กต์ที่นำเสนอมีความน่าสนใจและมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาต่อ และสุดท้ายมีเพียง 5 โปรเจ็กต์ที่ได้รับการคัดเลือก ซึ่งมีจุดเด่นทั้งความหลากหลายของเรื่อง และคอนเทนต์ที่มีศักยภาพในการพัฒนาต่อได้ในเชิงอุตสาหกรรม โดยแต่ละทีมที่ได้รับการคัดเลือกยังได้รับทุนพัฒนาโปรเจ็กต์ 20,000 บาท เพื่อสร้างโอกาสต่อยอดไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ต่อไป
[Newcomers] คลาสการอบรมภาคกลาง
หลังจากเปิดโครงการ ผู้เข้าร่วมได้รับการแนะนำจากเมนเทอร์ประจำทีมทั้ง 4 ท่านในคลาสอบรม ได้แก่ โครงสร้างการเขียนบท 3 องก์ (3 Act Structure) โดย คุณปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ, การสร้างตัวละครและปมขัดแย้งในเรื่องเล่า (Character and Conflict) โดย คุณพงศ์เศรษฐ์ ลักษมีพงศ์, การเล่าเรื่องด้วยภาพ (Visual Storytelling) โดย คุณฐานิกา เจนเจษฎา, การทำ Pitch Deck และการนำเสนอเพื่อการผลิตเชิงพาณิชย์ (How to Pitch and Pitch Practice) โดย คุณพัฒนะ จิรวงศ์ เพื่อนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้พัฒนาในระหว่าง 8 วันของค่ายบ่มเพาะ พร้อมปูทักษะด้านการทำงานเป็นทีม โดยมีเป้าหมายคือการทำ Pitch Deck เพื่อ Pitch โปรเจ็กต์แบบมืออาชีพ
[Newcomers] การอบรม Content Lab: Newcomers ภาคกลางที่จังหวัดปทุมธานี
กิจกรรมวันแรกที่ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้ง 16 โปรเจ็กต์ จำนวน 50 คนจากหลากหลายจังหวัด ได้มาพบกันเป็นครั้งแรก เพื่อแลกเปลี่ยนไอเดียร่วมกันในค่ายบ่มเพาะตลอด 8 วัน โดยได้รับเกียรติจาก คุณอิศรา เปี่ยมพงศ์สานต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านส่งเสริมเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA กล่าวต้อนรับ และบอกเล่าวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของ CEA ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยคุณพิมพกา โตวิระ หัวหน้าโครงการ Content Lab: Newcomers บรรยายภาพรวมหลักสูตรโครงการและเนื้อหาของแต่ละรายวิชาที่ผู้เข้าร่วมทั้งหมดจะได้เรียนรู้ พร้อมแนะนำ 4 เมนเทอร์ที่ดูแลโปรเจ็กต์ภาคกลาง ได้แก่ คุณปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ, คุณพงศ์เศรษฐ์ ลักษมีพงศ์, คุณฐานิกา เจนเจษฎา และคุณพัฒนะ จิรวงศ์ พร้อมทีมรองหัวหน้าโครงการ ดร. อภิรักษ์ ชัยปัญหา, คุณณัฐ นวลแพง และคุณดวงแข บัวประโคน ร่วมปฐมนิเทศ
[Newcomers] Final Pitch ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
หลังจากการอบรมอย่างเข้มข้นตลอด 8 วันในเดือนสิงหาคม ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Newcomers ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 16 ทีม ได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาโปรเจ็กต์และนำเสนอผลงานบนเวที Final Pitch กับเมนเทอร์ของโครงการและบุคลากรจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ เพื่อชิงทุนพัฒนาโปรเจ็กต์ 20,000 บาท จำนวน 5 ทุน ผู้เข้าร่วมทุกทีมต่างงัดไม้เด็ดมานำเสนอผลงานกันอย่างเต็มที่ จนได้ผลงานที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 5 โปรเจ็กต์
[Animation] Music Scoring and Theme Song Workshop
คุณพีรพัฒน์ กิตติวัชร นักแต่งเพลงและนักเขียนเพลงประกอบแอนิเมชัน ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Animation ได้เรียนรู้บทบาทและความสําคัญของเสียงและเพลงในงานแอนิเมชัน ตลอดจนเทคนิคต่าง ๆ ที่จะใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาโปรเจ็กต์ ในเวิร์กช็อปที่เน้นเรื่องดนตรีประกอบ (Music Score) และเพลงที่สร้างเอกลักษณ์ให้กับหนังและตัวละคร (Theme Song) โดยเฉพาะ นอกจากนี้ ทุกทีมยังได้รับคำแนะนำจากวิทยากรในการใช้ธีมเพลงให้เหมาะกับผลงาน พร้อมที่จะต่อยอดผลงานสู่การผลิตจริงต่อไป
[Animation] Production Plan Workshop
เวิร์กช็อปการเตรียมวางแผนการผลิตจริงสำหรับทีมผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Animation โดย คุณกวิน เตรัตนชัย แอนิเมชันโปรดิวเซอร์ระดับแนวหน้า ได้มาให้ความรู้และแบ่งปันประสบการณ์อย่างเข้มข้นกับทีมผู้เข้าร่วมโครงการ ทั้งการวางแผนการทำโปรดักชัน เพื่อกำหนดทิศทางและระยะเวลาการทำงาน รวมถึงการวางแผนงบประมาณเพื่อควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และตอบโจทย์การนำเสนอผลงานต่อนักลงทุน
[Newcomers] การอบรม Content Lab: Newcomers ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่น
เริ่มแล้วกับกิจกรรมอบรมของโครงการ Content Lab: Newcomers ที่จัดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดขอนแก่นเป็นที่แรก โดย คุณพิมพกา โตวิระ หัวหน้าโครงการ Content Lab: Newcomers ได้บรรยายภาพรวมหลักสูตรของโครงการ พร้อมแนะนำเมนเทอร์ทั้ง 4 ท่าน ได้แก่ คุณชาญชนะ หอมทรัพย์, คุณวาสุเทพ เกตุเพ็ชร์, คุณก้อง พาหุรักษ์ และคุณสุพัชา ทิพเสนา ที่จะมาช่วยติวเข้มวิชาการสร้างสรรค์ภาพยนตร์และซีรีส์ ให้แก่ผู้ที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 50 ท่าน
[Animation] กิจกรรม Pitching Workshop
กิจกรรม Pitching Workshop เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการนำเสนอผลงานในเวทีระดับสากล โดย คุณ Gary Sparkes หนึ่งในเมนเทอร์ของโครงการ Content Lab: Animation ได้แนะนำเทคนิคการนำเสนอผลงานเป็นภาษาอังกฤษให้น่าสนใจ พร้อมทั้งเคล็ดลับการเล่าเรื่องผ่าน Pitch Deck การเตรียมสคริปต์การพูดนำเสนอผลงานบนเวที โดยแต่ละทีมจะได้นำเทคนิคที่เรียนรู้จากวิทยากรและเมนเทอร์ไปฝึกซ้อม และเตรียมความพร้อมก่อนการนำเสนอผลงานบนเวทีจริงทั้งในและต่างประเทศต่อไป
[Animation] เวิร์กช็อปการทำบทแอนิเมชันซีรีส์
เวิร์กช็อปการทำบทแอนิเมชันซีรีส์ โดย คุณอมราพร แผ่นดินทอง นักเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์ ได้ติวเข้มเทคนิคการพัฒนาบทเพื่อให้สามารถวิเคราะห์แก่นและแกนเรื่อง ที่สามารถดึงดูดผู้ชมกลุ่มเป้าหมายได้ โดยแต่ละทีมมีโอกาสนำสิ่งที่เรียนมาปรับปรุงและพัฒนาโปรเจ็กต์ ทั้งยังได้นำเสนอผลงานและโครงเรื่องกับวิทยากรโดยตรงเป็นรายโปรเจ็กต์อีกด้วย
[Animation] Character Design Workshop
เวิร์กช็อปการออกแบบตัวละคร โดย คุณปกรณ์ ทองขวัญใจ นักออกแบบ Character และ Key Visual ได้มาถ่ายทอดเทคนิคและกระบวนการออกแบบตัวละครให้สอดคล้องกับบุคลิกและเรื่องราว โดยออกแบบคาแรกเตอร์กันแบบสด ๆ เพื่อฝึกพัฒนาทักษะการออกแบบตัวละครให้ตอบโจทย์ต่าง ๆ ทั้งยังมีเซสชั่นให้คำปรึกษาเพื่อช่วยให้คอมเมนต์และถามตอบปัญหาที่แต่ละทีมกำลังแก้ไขอยู่
[Animation] Concept and Character Development Workshop
เวิร์กช็อปการพัฒนาคาแรกเตอร์ของตัวละครให้ชัดเจนสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Animation เพื่อการนำเสนอให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย โดยวิทยากรรับเชิญจากต่างประเทศ คุณ Silas Hickey จาก Custom Nut Studio ได้มาถ่ายทอดประสบการณ์การสร้างแอนิเมชันระดับสากล ไฮไลต์คือเคล็ดลับการนำเสนอผลงานแก่ผู้ผลิตรายใหญ่ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถพัฒนา Pitch Deck ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
[Animation] International Market Workshop
เซสชั่นแรกของโครงการ Content Lab: Animation โดยวิทยากร คุณสุภอร รัตนมงคลมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดจำหน่ายและการตลาดภาพยนตร์แอนิเมชัน ได้มาให้คำแนะนำแต่ละทีมในการทำความเข้าใจแก่นของโปรเจ็กต์ พร้อมทั้งวิเคราะห์ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเป้าหมาย นอกจากนี้ แต่ละทีมยังได้เรียนรู้กรณีศึกษาผลงานแอนิเมชันที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงของสตูดิโอชื่อดังจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ทีมสามารถพัฒนาคอนเทนต์และพร้อมนำเสนอโปรเจ็กต์ให้เข้าถึงตลาดสากลได้มากขึ้น
[Animation] กิจกรรม Open House Content Lab: Animation
กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Animation ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ประสบการณ์เกี่ยวกับการสร้างสรรค์ผลงานแอนิเมชันในหัวข้อต่าง ๆ ร่วมกับเมนเทอร์ของโครงการและวิทยากร ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในวงการแอนิเมชันทั้งในและต่างประเทศ
[Mid-Career] กิจกรรม Internal Pitching
หลังจากผ่านการฝึกอบรมมาอย่างเข้มข้น ก็ถึงเวลาที่ทีมผู้เข้าร่วมโครงการ Content Lab: Mid-Career ทุกทีม จะได้นำความรู้ที่เรียนในคลาสต่าง ๆ มาทดลองขึ้นเวทีจริง เพื่อนำเสนอโปรเจ็กต์ของแต่ละทีมต่อหน้าเมนเทอร์และคณะกรรมการ ในกิจกรรม Internal Pitching เพื่อชิงทุนสนับสนุนการผลิตตัวอย่างเนื้อหาแบบสั้น (Pilot Video) จำนวน 150,000 บาท หลังจบโครงการ Content Lab: Mid-Career ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับประกาศนียบัตร และ 10 ทีมที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับโอกาสในการนำเสนอผลงานจริงกับนักลงทุนในงาน Content Project Market ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567
[Mid-Career] คลาส Business Deal and Intellectual Property
ปิดท้ายโครงการ Content Lab: Mid-Career กับคลาส Business Deal and Intellectual Property โดยวิทยากร คุณกนกพร บุญธรรมเจริญ ที่ได้มาถ่ายทอดความรู้แบบจัดเต็ม ทั้งเรื่องการเข้าถึงการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงวิธีการเจรจาต่อรองธุรกิจที่จะเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวและสำคัญที่นักสร้างสรรค์ทุกคนควรรู้ ก่อนจะต่อยอดไปสู่การเจรจาทางธุรกิจในการผลิตผลงานเชิงพาณิชย์ต่อไป
[Mid-Career] กิจกรรม Mentor 1 on 1
คลาสอบรมกลุ่มย่อยแบบเข้มข้นที่เมนเทอร์ทั้ง 6 ท่านของโครงการ Content Lab: Mid-Career มาช่วยกันระดมไอเดียและข้อเสนอแนะอย่างละเอียดเป็นรอบสุดท้าย เพื่อพัฒนาผลงานโปรเจ็กต์ของทีมที่เข้าร่วมโครงการทั้ง 18 ทีมให้พร้อมและสมบูรณ์ที่สุด ก่อนการเฟ้นหา 10 ทีมสุดท้ายที่จะได้รับทุนสำหรับผลิตตัวอย่างเนื้อหาแบบสั้น (Pilot Video) และได้เข้าร่วมเสนอผลงานกับนักลงทุนตัวจริงในวงการ ภายในงาน Content Project Market ที่จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2567
[Mid-Career] คลาส Sales and Distribution
นอกจากการเรียนรู้วิธีปั้นโปรเจ็กต์ให้ปังและมีคุณภาพแล้ว ความเข้าใจด้านการตลาดก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน จึงเป็นที่มาของคลาส Sales and Distribution โดยวิทยากร คุณภาณุ อารี ได้มาถ่ายทอดมุมมองและประสบการณ์ในการซื้อขายภาพยนตร์ และการคิดกลยุทธ์การจัดจำหน่ายภาพยนตร์แต่ละประเภท ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมโครงการเห็นภาพช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
[Mid-Career] คลาส Project Development for Producers
หนึ่งในคลาสสำคัญของโครงการ Content Lab: Mid-Career คือคลาส Project Development for Producers โดย คุณเกรียงไกร วชิรธรรมพร โปรดิวเซอร์ ผู้กำกับ และนักเขียนบทชาวไทย ได้มารับหน้าที่เป็นเมนเทอร์และวิทยากรในคลาสที่ให้ความสำคัญเรื่องบทบาทหน้าที่ของโปรดิวเซอร์ นับตั้งแต่การเริ่มพัฒนาโปรเจ็กต์ การหาทุนผ่านการนำเสนอผลงาน การทำ Pitch Deck รวมทั้งการควบคุมการผลิตและงบประมาณในกระบวนการ Pre-During-Post Production
[Mid-Career] กิจกรรม International Film Case Study II
กิจกรรม International Film Case Study วันที่สอง โดยวิทยากร คุณ Tanya Yuson นักเขียนบทและโปรดิวเซอร์จากประเทศฟิลิปปินส์ ผู้ที่ได้นำนิยายรักอิงประวัติศาสตร์ชื่อดังของอินโดนีเซียเรื่อง Cigarette Girl มาถ่ายทอดในรูปแบบซีรีส์ โดยคุณทันยาได้แชร์มุมมองและประสบการณ์การทำงานที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนำไปสู่การผลิตและ Post-Production ที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็นที่นิยมและประสบความสำเร็จในที่สุด
[Mid-Career] กิจกรรม Master Class Lecturer
กิจกรรม Master Class Lecturer การอบรมอย่างเข้มข้นโดยวิทยากร คุณชินโฮลี (Shinho Lee) นักเขียนบทภาพยนตร์จากประเทศเกาหลีใต้ ในคลาส International Film Case Study I ภาพยนตร์เรื่อง The Chaser ภาพยนตร์ทริลเลอร์ระดับขึ้นหิ้งของเกาหลีใต้ โดยคุณชินโฮลีได้ให้แนะนำเรื่องเทคนิคและเล่าประสบการณ์การพัฒนาบทแบบเจาะลึกให้ทุกคนได้เรียนรู้กัน
สำหรับกิจกรรมในช่วงบ่ายคือ คลาส Mentor 1 on 1 ที่แต่ละทีมต้องนำเสนอผลงานกับเมนเทอร์หลังจากเข้าร่วมโครงการไปแล้วครึ่งทาง โดยจะได้โอกาสในการรับคำเสนอแนะและไอเดียที่เป็นประโยชน์ เพื่อเตรียมปั้นผลงานไปสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของโครงการในเดือนมิถุนายน 2567 ต่อไป
[Mid-Career] คลาส Meet and Greet & Project Introduction
โครงการ Content Lab: Mid-Career จัดคลาส Meet and Greet & Project Introduction กิจกรรมแนะนำภาพรวมโครงการ โดยคุณพิมพกา โตวิระ หัวหน้าโครงการ และ คุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้จัดทำหลักสูตร นอกจากนี้ ทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการทั้ง 18 ทีม ยังได้พบกับเมนเทอร์ตัวจริงในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ ผู้ที่จะคอยให้คำแนะนำและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อช่วยพัฒนาโปรเจ็กต์ของทั้ง 18 ทีมให้ดียิ่งขึ้น สู่เป้าหมายในการต่อยอดผลิตผลงานเชิงพาณิชย์ได้จริงในอนาคต