25 Trendy Words You Should Know in 2025 คีย์เวิร์ดเทรนด์โลกควรรู้ต้อนรับศักราชใหม่
ก้าวต่อไปของโลกในปี 2025 จะเป็นอย่างไร เมื่อโลกยังคงประสบกับ “ยุคแห่งวิฤตซ้อนวิกฤต” ทั้งเรายังต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางความโกลาหลและไม่แน่นอน… จะดีแค่ไหน หากเราได้เรียนรู้เทรนด์และความเป็นไปของโลกที่กำลังจะมาถึงอย่างเท่าทัน เพื่อรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นซึ่งอาจเกินกว่าใครจะจินตนาการ…
พบกับ 25 คีย์เวิร์ดสำคัญจากหนังสือ เจาะเทรนด์โลก 2025 (TREND 2025: BEYOND IMAGINATION) โดย “คิด” Creative Thailand แพลตฟอร์มองค์ความรู้สร้างสรรค์ภายใต้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่คัดมาอย่างครอบคลุม ตั้งแต่มิติของผู้คน สังคม วัฒนธรรม อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไลฟ์สไตล์ เทคโนโลยี ตลอดจนสิ่งแวดล้อม มาสร้างความเข้าใจภาพรวมของทั้งปีเพื่อให้ทุกคนได้เตรียมความพร้อม ก้าวเข้าสู่ปี 2025 อย่างมั่นใจ สปาร์กแรงบันดาลใจ รีเซ็ตมุมมอง และร่วมสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ทั้งตัวเอง สังคม และโลก ที่อาจเปลี่ยนเราและโลกได้เกินกว่าจะนึกถึง
1. Ageism (การเหยียดอายุ)
คำที่หมายถึงพฤติกรรมการเลือกปฏิบัติตามอายุรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีพื้นฐานมากจากทัศนคติแบบเหมารวม (Stereotype) ที่มองเพียงภาพรวมว่าคนในแต่ละช่วงวัย จะมีพฤติกรรมหรืออุปนิสัยแบบนี้เท่านั้น ซึ่งเป็นการเหมารวมโดยขาดความรู้ด้านวิถีชีวิต บริบทสังคม และภูมิหลังของคนในแต่ละช่วงวัยจนนำไปสู่อคติทางอายุ การเหยียดอายุมาจากการมองโลกในยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของแต่ละกลุ่มช่วงวัยที่แตกต่างกัน สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงอายุ โดยเฉพาะในกลุ่มคนเจนเอ็กซ์ (Generation X) ที่มีแนวโน้มถูกเหยียดอายุได้ทั้งในสังคมการทำงาน การใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงในโลกออนไลน์
2. Tri-life Crisis (วิกฤตชีวิตวัยสามสิบ)
สภาวะกดดันของกลุ่มคนในช่วงวัย 30 ปีขึ้นไป สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งชายและหญิง ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุ 34-37 ปี โดยมีอาการเครียดและวิตกกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและทิศทางของชีวิต ทั้งเรื่องการทำงาน การเงิน สถานะทางสังคม ภาระการผ่อนบ้านและหนี้สินอื่น ๆ การมีคู่ การแต่งงานและมีลูก ตลอดจนเป้าหมายในชีวิตที่ยากเกินกว่าจะทำให้สำเร็จภายในอายุ 30 ปีได้ นำไปสู่สภาวะความสงสัยในตัวเอง การเปรียบเทียบกับกลุ่มคนอายุเท่ากัน และความผิดหวังกับเส้นทางชีวิตของตนเองที่อาจไม่ได้เหมือนกับที่วางแผนไว้
3. MZ (กลุ่มผู้บริโภคมิลเลนเนียลและเจนซี)
เป็นคำเรียกกลุ่มผู้บริโภคที่รวมชาวมิลเลนเนียลและเจนซี (Millennials and Gen Z) เข้าไว้ด้วยกัน เป็นจุดรวมของช่วงอายุที่มีอิทธิพลทำให้เทรนด์ใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้รับความนิยมและความสนใจเป็นวงกว้าง โดยกลุ่ม MZ ในเอเชียจะมีพฤติกรรมที่ชอบการช้อปปิ้งออนไลน์มากกว่าการเลือกซื้อสินค้าจากหน้าร้าน เนื่องด้วยความสะดวกฉับไวและการให้ส่วนลดที่คุ้มค่ามากกว่า ทั้งยังมีพฤติกรรมการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าอย่างรวดเร็วเช่นกัน นอกจากนี้ชาว MZ ยังมักใช้ความชื่นชอบในแบรนด์ต่าง ๆ ของตนมาเป็นเสมือนเครื่องชี้วัดความเป็นตัวตนอย่างอิสระอีกด้วย
4. JOLO (ความสุนทรีย์เมื่อได้ออฟไลน์)
JOLO ย่อมาจากคำว่า Joy of Logging Off ซึ่งหมายถึงพฤติกรรมของเจนซีที่รู้สึกว่าโซเชียลมีเดียไม่ได้ทำให้รู้สึกเหงาน้อยลงแต่อย่างใด ตรงกันข้าม กลับเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกเหงาและมีเวลาพักผ่อนน้อยลง จนเกิดเป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้ชาวเจนซีจึงแสวงหาวิธีการต่อสู้กับความรู้สึกเหล่านั้น โดยการล็อกเอาต์จากโลกโซเชียลแล้วไปใช้ชีวิตในโลกจริงมากขึ้น เช่น คิดแพลนท่องเที่ยว หรือเข้าร่วมกิจกรรมและเข้าถึงวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมออฟไลน์เหล่านี้ตอบโจทย์เจนซีในแง่ของการไม่ต้องพยายามสร้างตัวตนเพื่อให้ได้การยอมรับจากเพื่อนบนโลกออนไลน์ ทั้งยังมีอิสระและกล้าที่จะเป็นตัวเองมากขึ้น โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้าที่เพิ่งทำความรู้จักโดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเปรียบเทียบหรือวิพากษ์วิจารณ์
5. Sharenting (การแชร์เรื่องลูกบนโซเชียล)
ปรากฏการณ์พฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของพ่อแม่ยุคใหม่ ที่มักแชร์เรื่องราวของลูกผ่านรูปภาพหรือวิดีโอลงบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งการแชร์เรื่องราวของลูกนี้ บางครั้งอาจไม่ได้รับการยินยอมหรืออนุญาตจากลูก จนอาจส่งผลกระทบ สร้างความเสี่ยงและความเสียหายอื่น ๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต หรือการระบุตัวตนของผู้ปกครองและเด็ก นอกจากนี้ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อเด็กเจนอัลฟา (Generation Alpha) ที่เติบโตท่ามกลางสังคมออนไลน์และคอนเทนต์ที่พ่อแม่อัปโหลดตลอดเวลาในแง่ของความเป็นส่วนตัว รวมถึงการนำรูปหรือวิดีโอไปใช้ในทางที่เสื่อมเสีย ซึ่งอาจกลายเป็นร่องรอยดิจิทัลที่ติดตัวไปจนโตได้
6. Alphluencer (อินฟลูเอนเซอร์เจนอัลฟา)
Alphluencer เป็นคำที่เรียกกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ที่อยู่ในช่วงเจนอัลฟ่า ซึ่งเป็นผลพวงจากปรากฏการณ์การแชร์เรื่องลูกผ่านโซเชียลของพ่อแม่ (Sharenting) โดยกลุ่มอัลฟลูเอนเซอร์นั้นเติบโตมาในโลกออนไลน์ ที่เข้าถึงสื่อต่าง ๆ ได้อย่างง่ายดายด้วยเวลาอันรวดเร็ว ทำให้มีความคุ้นเคยกับการใช้โซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ อย่างคล่องแคล่ว รวมไปถึงการซึมซับพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของพ่อแม่ ตลอดจนเนื้อหาของคอนเทนต์บนโลกออนไลน์ที่เต็มไปด้วยอินฟลูเอนเซอร์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ทำให้เกิดพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ จนเกิดอัลฟลูเอนเซอร์มากขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
7. RaaS (วิทยาการหุ่นยนต์ในฐานะการบริการ)
RaaS ย่อมาจาก Robotics-as-a-Service หรือวิทยาการหุ่นยนต์ในฐานะการบริการ เป็นคำที่พัฒนามาจาก Ransomware-as-a-Service หรือระบบแรนซัมที่แฮ็กเกอร์สร้างขึ้นเพื่อปล้นข้อมูลบริษัท ซึ่งเป็นคำสำคัญในประเด็นเรื่องการคุกคามไซเบอร์ในปี 2023 โดยคำว่า RaaS ในปี 2025 นั้นจะหมายถึงโมเดลธุรกิจซึ่งดำเนินการโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์ ที่สามารถควบคุมคุณภาพและลดความผิดพลาดของสินค้าในระดับที่น่าไว้วางใจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับการใช้อย่างแพร่หลายในทุกแวดวงที่ต้องการยกระดับความสามารถทางธุรกิจ
8. Polarized Internet (กระแสแบ่งขั้วทางสังคมบนอินเทอร์เน็ต)
เป็นกระแสการแบ่งขั้วทางสังคมที่เกิดขึ้นในทุกมุมโลกที่มีการใช้งานอินเทอร์เน็ต เนื่องด้วยข้อมูลที่เผยแพร่บนหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของแต่ละคน ต่างถูกประมวลผลตามอัลกอริทึมที่กรองข้อมูลเพื่อสนับสนุนความคิดเห็นของผู้ใช้ ทั้งการเก็บข้อมูลการกดไลก์ การแชร์โพสต์ และการค้นหาข้อมูลบนเสิร์ชเอ็นจิน จนกลายเป็นการส่งเสริมความคิดเห็นอิงกลุ่ม บ่มเพาะแนวคิดที่มีเพียงขาวกับดำ ถูกหรือผิด โดยผู้ที่มีความคิดเห็นต่างจะกลายเป็นคนกลุ่มน้อยที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ก่อให้เกิดอคติและความไม่เท่าเทียมกันบนสังคมออนไลน์
9. Persuasion Fatigue (อาการเหนื่อยล้าจากการโน้มน้าวใจผู้อื่น)
อาการเหนื่อยล้าจากการโน้มน้าวใจผู้อื่นอย่างต่อเนื่องของผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ชีวิตดี การคิดคอนเทนต์เพื่อลงบนสื่อตลอดเวลา การแข่งขันเพื่อให้ได้ยอดชมหรือยอดขายจำนวนมาก นำไปสู่ปัญหาการใช้สื่อออนไลน์โดยเฉพาะกับกลุ่มเจ้าของธุรกิจออนไลน์และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่อาจประสบกับอาการกลัวคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย (Diaphobia) ในเวลาต่อมาได้
10. Diaphobia (อาการกลัวคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย)
คำที่เรียกอาการกลัวคอนเทนต์บนโซเชียลมีเดีย ที่นักจิตบำบัดอย่างฟิลลิปปา เพอร์รี่ (Philippa Perry) ต้องการให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะในโลกยุคสังคมออนไลน์อย่างปัจจุบัน ผู้ที่มีอาการดังกล่าวนี้มักวิตกกังวลกับคอนเทนต์ของผู้อื่นได้ง่าย ซึ่งมีผลต่อการคิดคอนเทนต์ใหม่ ๆ ของตนเอง จนสามารถนำไปสู่ปัญหาภาวะการหมดไฟในธุรกิจออนไลน์ในอนาคตได้
11. Planetary Empathy (ความเห็นอกเห็นใจต่อโลก)
แนวคิดที่สนับสนุนความเห็นอกเห็นใจต่อโลก เป็นแนวคิดที่ช่วยให้ธุรกิจสร้างความเคารพต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมถึงพัฒนาขีดความสามารถในการดึงดูดลูกค้า และสร้างผลกำไรได้ในระยะยาว โดยแนวทางปฏิบัติต้องมีการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักชีววิทยา นักออกแบบ สถาปนิก นักเคลื่อนไหว ฯลฯ เพื่อลดรอยเท้าคาร์บอนให้ได้มากที่สุด นับเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่แสดงจุดยืนต่อการสนับสนุนความยั่งยืนของธุรกิจในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์สินค้าที่ผู้บริโภคเลือกใช้มากขึ้น และไม่ใช่สินค้าเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป
12. Queer Ecology (นิเวศวิทยาแบบเควียร์)
เป็นการผสมผสานของสองแนวคิด คือวัฒนธรรมแห่งความหลากหลายทางเพศ เข้ากับนิเวศวิทยาทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อจุดประกายแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ ให้กับปัญหาที่ซับซ้อน เช่น ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นิเวศวิทยาแบบเควียร์จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่าง ๆ ยอมรับแนวคิดที่ยืดหยุ่นและพึ่งพาซึ่งกันและกันมากขึ้น ท้าทายแนวคิดกระแสหลักอย่างการแบ่งประเภทในรูปแบบเดิม ๆ ที่จะกลายเป็นเรื่องตกยุค เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอบริหารให้กับผู้บริโภคยุคใหม่ได้อย่างเหมาะสมและตรงใจ
13. New Nihilism (สุญนิยมแนวใหม่)
แนวคิดที่เกิดจากการปรับมุมมองสุญนิยม (Nihilism) ให้เป็นเชิงบวกมากยิ่งขึ้น ด้วยการเปลี่ยนความคิดที่เคยมองการปฏิเสธคุณค่าของระบบหรือบรรทัดฐานที่สังคมยึดถืออย่างหดหู่ สิ้นหวัง ให้กลายมาเป็นโอกาสในการปลดปล่อยตัวเองจากกรอบความสำเร็จเดิม ๆ เพื่อสร้างชีวิตที่เรียบง่าย มีความสุขกับปัจจุบัน และมีความหมายในแบบของตัวเองมากที่สุด เป็นการหันกลับมาให้ความสำคัญกับตนเอง แต่ก็ยังคงคำนึงถึงผู้อื่น และพร้อมจะร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับสังคมควบคู่กันไป นับเป็นหนึ่งในแนวคิดชีวิตที่สร้างความผ่อนคลาย ท่ามกลางโลกที่วุ่นวายและเต็มไปด้วยวิกฤตการณ์ในทุกมิติ
14. Q-Commerce (ว่องไวพาณิชย์)
ย่อมาจาก Quick Commerce ซึ่งหมายถึงรูปแบบการซื้อของออนไลน์แบบขายด่วน เกิดขึ้นในยุคโลกดิจิทัล ที่สร้างประสบการณ์ของผู้บริโภคให้รู้สึกสะดวกสบาย รวดเร็วทันใจ และสามารถเข้าถึงได้ง่ายมากขึ้น จนเพิ่มความคาดหวังและทำให้บริการแบบเดิมอย่าง E-Commerce อาจไม่รวดเร็วทันใจพออีกต่อไป Q-Commerce มีจุดเด่นอยู่ที่ความรวดเร็วในการส่งมอบสินค้าภายในระยะเวลาตั้งแต่ 30 นาทีและช้าที่สุดไม่เกิน 1 วัน โดยกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เห็นได้บ่อยครั้งในบริการประเภทนี้ มักเป็นอาหาร ของชำ ยา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้สำนักงานที่จำเป็นต้องใช้อย่างเร่งด่วนนั่นเอง
15. Polychronic (โพลีโครนิก)
ในบริบทของเวลาและวัฒนธรรม โพลีโครนิกคือลักษณะของกลุ่มบุคคลที่มีรูปแบบการทำงานหลาย ๆ สิ่งในเวลาเดียวกัน ซึ่งจะให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และผู้คนมากกว่าผลลัพธ์ รวมถึงมีความยืดหยุ่นในการจัดการเวลาและการทำงานมากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มโมโนโครนิกที่เน้นตารางเวลาและผลสำเร็จเป็นสำคัญ วัฒนธรรมแบบโพลีโครนิกมักพบได้ในแถบละตินอเมริกา แอฟริกา ตะวันออกกลาง รวมถึงบางประเทศในเอเชีย แต่กำลังจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคที่มองหารูปแบบการใช้ชีวิตที่ยืดหยุ่น ผ่อนคลาย จัดสรรเวลาได้ และมีความสมดุลระหว่างการทำงานกับการใช้ชีวิตมากขึ้น
16. Bleisure (ทำงานได้ พักผ่อนด้วย)
เกิดมาจากคำว่า Business (ธุรกิจ) ผสมกับ Leisure (การพักผ่อน) สื่อถึงเทรนด์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ซึ่งหมายถึงการเดินทางที่ผสมผสานระหว่างการไปทำงานกับการพักผ่อนในทริปเดียวกันอย่างลงตัว โดยมีกลุ่มมิลเลนเนียลเป็นผู้ผลักดันเทรนด์นี้เป็นหลัก ด้วยการเพิ่มวันสำหรับพักผ่อนในทริปธุรกิจแต่ละทริปเพื่อสร้าง Work-Life Balance ให้ชีวิตมากขึ้น เทรนด์ดังกล่าวกลายเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจโรงแรมในการปรับตัวและเสนอบริการของตัวเอง เช่น การเพิ่มพื้นที่ทำงานที่ยืดหยุ่น หรือบริการที่เหมาะสมสำหรับครอบครัวและผู้ร่วมทริปที่มาพักผ่อนโดยเฉพาะได้
17. Well-topia (แดนสุขภาวะดี)
หนึ่งในแนวทางการพัฒนาเมืองแห่งอนาคตที่เน้นออกแบบให้ตอบโจทย์ความ “อยู่ดีมีสุข” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มในสังคมผ่านการเข้าถึงสุขภาพที่ดีที่สุด แนวคิดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากโซนสีน้ำเงิน (Blue Zones) ซึ่งหมายถึงพื้นที่ต่าง ๆ ในโลกที่มีประชากรอายุยืนมากที่สุด ทั้งยังมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรงบนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมที่ดี โดยเราสามารถถอดบทเรียนได้จากลักษณะร่วมสำคัญของโซนสีน้ำเงิน และนำมาพัฒนาเมืองอื่น ๆ ให้ผู้คน “สูงวัยอย่างมีสุขภาวะที่ดี” ได้ เช่น การสร้างสวนขนาดเล็กเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การตั้งตำแหน่งร้านค้าให้เป็นมิตรต่อการเดินเพื่อสนับสนุนให้ผู้คนเคลื่อนไหวร่างกายสม่ำเสมอ ฯลฯ
18. Glimmer (แสงสว่างเล็ก ๆ)
อีกหนึ่งมุมมองการใช้ชีวิต บัญญัติโดยเดบ ดานา (Deb Dana) นักจิตบำบัด ที่ชี้ให้เห็นถึงช่วงเวลาสั้น ๆ ของการคิดบวกที่ช่วยให้แต่ละคนสามารถต่อสู้กับอารมณ์เชิงลบได้ Glimmer มักเป็นเหตุการณ์เล็ก ๆ ในชีวิตประจำวัน เช่น การได้ฟังเพลงโปรด การได้ลิ้มรสไอศกรีมที่ชอบ หรือการได้เพลิดเพลินกับทิวทัศน์รอบข้าง ที่ทำให้เกิดความสุข ความสงบ และความหวัง จึงนับเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่หลายคนเลือกใช้ผ่อนคลายอารมณ์ ลดความเครียด และรับมือกับสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ผ่านการเฉลิมฉลองให้กับสิ่งเล็ก ๆ ในแต่ละวัน และเดินหน้าสู่วันพรุ่งนี้ที่สดใสยิ่งขึ้น
19. Funemployment (บันเทิงใจในระหว่างว่างงาน)
คำสแลงที่เกิดจากการผสมระหว่างคำว่า Fun (ความสนุก) และ Unemployment (การว่างงาน) หมายถึงช่วงเวลาที่บุคคลตัดสินใจที่จะรู้สึกเพลิดเพลินกับเวลาว่างที่มาพร้อมกับการว่างงานของตน เปลี่ยนช่วงเวลาที่ดูวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสแห่งอิสระ ที่จะใช้ท่องเที่ยว ผจญภัย หรือทำอะไรก็ตามที่ตอนทำงานไม่มีโอกาสได้ทำ พร้อมเติมเต็มประสบการณ์ชีวิตด้านอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากมิติของงาน ทั้งการทำจิตอาสา การค้นหางานอดิเรกที่ชอบ ตลอดจนการหันมาออกกำลังกายดูแลตัวเองอย่างเต็มที่ โดยกลุ่มคนที่จะมีช่วงเวลาแบบนี้มักเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงวัย 20-30 ปี ผู้ยังไม่มีภาระต้องรับผิดชอบ และมีเงินสำรองเพียงพอให้อยู่ได้โดยไม่ต้องกังวลกับการหางาน
20. Fluidity (ความลื่นไหล)
ในปี 2025 นี้ ขอบเขตการกำหนดอัตลักษณ์ด้านตัวตนจะยิ่งพร่าเลือน สร้างให้เกิดโอกาสแห่งความลื่นไหลในสังคม โดยเฉพาะกับชาวเจนซีที่มีตัวตนที่หลากหลายทั้งด้านเพศและเพศวิถี ผู้คนในสังคมปัจจุบันจะไม่ผูกติดอยู่กับสถานที่เกิด ชนชั้นทางสังคม เพศสภาพ หรือความเชื่อทางศาสนา แต่จะให้อิสระกับตัวเองในการพัฒนาอัตลักษณ์ของตนอยู่ตลอด จนเกิดเป็นความหลากหลายที่ซับซ้อนขึ้น เช่น Heteroromantic Bisexual หมายถึง บุคคลที่มีแรงดึงดูดทางเพศต่อหลายเพศ แต่มีแรงดึงดูดทางความรักต่อเพศตรงข้ามเป็นหลักหรือเพียงเพศเดียว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าความดึงดูดทางเพศและความดึงดูดทางความรักสามารถแตกต่างกันได้ในบางบุคคล เป็นต้น
21. Inclusive Design (การออกแบบที่นับรวมคนทุกกลุ่ม)
การออกแบบเมืองในอนาคต จะเน้นการออกแบบที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เป็นการออกแบบและพัฒนาเมืองที่มุ่งสร้างบริการและแนวทางที่มีความครอบคลุม ให้คนทุกกลุ่มสามารถใช้งานได้ โดยไม่มีเงื่อนไขอย่างเรื่องเพศ รูปร่าง หรือความบกพร่องทางร่างกายใด ๆ มาเป็นข้อจำกัดต่อการเข้าถึง นอกจากนี้เมืองที่เอื้อต่อทุกคนยังต้องคำนึงถึงมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการออกความเห็น เพื่อสร้างเมืองที่รองรับกับความต้องการที่หลากหลาย ลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ และเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของคนทุกกลุ่ม
22. Lo-Fi Strategy (หย่อนใจไปกับโลกแอนะล็อก)
ความตระหนักรู้ถึงผลกระทบเชิงลบจากโลกออนไลน์ ส่งผลให้ชาวเจนซีเลือกที่จะหันหลังให้กับโซเชียลมีเดีย และกลับมาสนใจประสบการณ์แบบออฟไลน์ ขณะที่ชาวมิลเลนเนียลก็โหยหาโลกแอนะล็อกในฐานะช่วงวัยเด็กที่เรียบง่ายและงดงามเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้งานอดิเรกแบบแอนะล็อกกลับมาได้รับความนิยม ทั้งการสะสมแผ่นเสียงไวนิล การเข้าร่วมชมรมต่าง ๆ และการเล่นเกมยุคเรโทร ทั้งยังทำให้หลายธุรกิจเริ่มปรับเปลี่ยน สร้างตัวเองให้กลายเป็นคอมมิวนิตี้เล็ก ๆ สำหรับคนที่มีความสนใจหรือความชอบแบบเดียวกัน ได้มาใช้พื้นที่พบปะและแบ่งปันความสนุกสนานร่วมกันแบบออฟไลน์
23. Impactainment (ความบันเทิงเพื่อสร้างผลเชิงบวก)
แนวคิด Impactainment เป็นการสร้างความบันเทิงที่แตกต่างจากเดิมในด้านผลลัพธ์ ผ่านการผสานความบันเทิงเข้ากับการกระทำเชิงบวก รังสรรค์ประสบการณ์ที่ไม่เพียงให้ความรู้หรือความสนุก แต่จะต้องสร้างแรงบันดาลใจ กระแทกอารมณ์ และกระตุ้นให้ผู้คนที่เข้าร่วมเกิดการลงมือทำด้วย โดยกลยุทธ์การสื่อสารประเภทนี้มีวิทยาศาสตร์เชิงพฤติกรรมและจิตวิทยาเป็นรากฐานอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการโน้มน้าวให้ผู้คนมาร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลง เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคาม เช่น วิกฤตสภาพภูมิอากาศหรือวิกฤตสุขภาพจิตที่ดูจะหนักข้อขึ้นทุกวัน
24. Brand Fiction (จักรวาลแห่งเรื่องเล่า)
หนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดที่จะมาแรงในปีหน้า เมื่อแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มสร้างโลกแห่งเรื่องราวของตัวเอง เป็นจักรวาลสมมติที่มีรายละเอียดเจาะลึกไปถึงระดับพันธุกรรม เพื่อสร้างความตื่นเต้นในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ดึงดูดใจผู้บริโภคให้คอยติดตามไปเรื่อย ๆ ราวกับเป็นซีรีส์ขนาดยาว ทั้งยังเป็นกลยุทธ์ที่ช่วยยกระดับคุณค่าด้านความบันเทิง ขยายการรับข้อมูลและประสบการณ์ของแบรนด์ให้กว้างมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างของการทำ Brand Fiction เช่น การสร้างโลกที่มีกฎเกณฑ์ สัญลักษณ์ และเรื่องราวเบื้องหลังเป็นของตัวเอง แล้วดีไซน์ไอเท็มที่มีความเฉพาะตัวและอิงกับเนื้อเรื่องเหล่านั้นนั่นเอง
25. ilco (อิลโค)
โลกของวัฒนธรรมแฟนด้อมหรือกลุ่มแฟนคลับที่รวมตัวด้วยจริตความชอบเดียวกันยังคงเติบโต แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนที่เป็น ilco (일코) เพิ่มขึ้นมาด้วยเช่นกัน คำศัพท์นี้ย่อมาจากวลีภาษาเกาหลี ที่แปลได้ว่า “การคอสเพลย์เป็นคนธรรมดา” หมายถึงเหล่าแฟนคลับที่ไม่ได้เปิดเผยตัวเองว่าอยู่แฟนด้อมไหนอย่างโจ่งแจ้ง เพราะกลัวสายตาจากคนรอบข้าง แต่ก็ยังแอบแสดงออกอยู่บ้าง ผ่านการใช้สินค้า DIY ที่ซ่อนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ว่าตัวเองนั้นเป็นสมาชิกของแฟนด้อมไหน เช่น การตั้งวอลล์เปเปอร์โทรศัพท์ที่แฝงคาแรกเตอร์ตัวการ์ตูน สัญลักษณ์ สีประจำแฟนด้อม หรือเนื้อเพลงของศิลปินวงโปรด แทนที่จะใช้รูปหน้าจอเป็นรูปหน้าของศิลปิน ดังนั้นหากแบรนด์ต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจกลุ่มแฟนคลับได้ครอบคลุม ก็จะสามารถสร้างสินค้าที่มอบประสบการณ์พิเศษที่กลุ่มแฟนคลับมองตากันก็เข้าใจได้แน่นอน
Read More About TREND 2025: BEYOND IMAGINATION
ยังมีอีกหลายคีย์เวิร์ดและข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับเทรนด์อุตสาหกรรมสร้างสรรค์และความเป็นไปของโลกในปี 2025 ให้ได้ติดตามอีกเพียบ ผู้สนใจสามารถอ่านต่อได้ที่อีบุ๊ก เจาะเทรนด์โลก 2025 (TREND 2025: BEYOND IMAGINATION) ได้ที่ www.cea.or.th/th/single-research/trend-2025-free-e-book ดาวน์โหลดฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย