Research & Report

สิ่งทออิตาลีสำคัญกับโลกอย่างไร และภาพอนาคตที่หนีไม่พ้น ตอบโจทย์ความยั่งยืน

ภารกิจเยือนอิตาลีของนายกฯ เศรษฐา ให้ความสำคัญกับการสร้างความร่วมมือกับอุตสาหกรรมสิ่งทอและแฟชั่นของอิตาลี ซึ่งมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและดีไซน์ การเยือนครั้งนี้สร้างความหวังให้กับการผลิตสิ่งทอไทย หลังจากเผชิญกับความท้าทายหลายประการ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มถือเป็นอุตสาหกรรมรากฐานสำคัญของไทย ด้วยมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบวงจร ตั้งแต่การผลิตเส้นด้าย การทอผ้า การพิมพ์ผ้า การตกแต่งสำเร็จ จนถึงการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาอุตสาหกรรมนี้ต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำกว่า รวมถึงการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างแรงงาน และการขาดแคลนแรงงานฝีมือในประเทศ

เหตุที่นายกฯ สนใจสิ่งทออิตาลี น่าจะเป็นเพราะอุตสาหกรรมนี้มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 54,000 ล้านยูโร หรือคิดเป็น 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ทำให้อิตาลีเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก โดยอุตสาหกรรมนี้ประกอบด้วยโรงงานผลิตสิ่งทอกว่า 56,000 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จ้างงานประมาณ 420,000 คน คิดเป็น 7% ของการจ้างงานในภาคการผลิตทั้งหมด โดยมีแบรนด์สิ่งทอชั้นนำอย่าง Ermenegildo Zegna และ Loro Piana สร้างยอดขายรวมให้ประเทศกว่า 3,000 ล้านยูโรต่อปี

การส่งออกสิ่งทอไม่เพียงเพิ่มรายได้ให้แก่อิตาลี แต่ยังสร้างความสัมพันธ์ทางการค้ากับหลายประเทศ โดยประมาณ 60% ของผลิตภัณฑ์ถูกส่งออกไปยังตลาดสำคัญ เช่น เยอรมนี ฝรั่งเศส สหรัฐอเมริกา สเปน และสวิตเซอร์แลนด์ สิ่งทออิตาลีได้รับการยอมรับในระดับสากลด้านคุณภาพ ความประณีต และนวัตกรรม จึงเป็นส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของแบรนด์สินค้าหรูหราระดับโลกอย่าง Louis Vuitton, Chanel และ Hermès แบรนด์เหล่านี้ใช้สิ่งทออิตาลีในการผลิตเสื้อผ้าคุณภาพสูง ด้วยเพราะมีวัตถุดิบคุณภาพเยี่ยมและกระบวนการผลิตที่ประณีต ซึ่งเป็นปัจจัยสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสิ่งทออิตาลี

กว่า 40% ของโรงงานสิ่งทอของอิตาลีใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เช่น ฝ้าย ไหม และลินิน เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน รวมถึงมีการนำเทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิมมาผสมผสานกับกระบวนการผลิตสมัยใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้สีย้อมธรรมชาติ การรีไซเคิลและนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ ตลอดจนการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่

ในอนาคตอันใกล้ คาดว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอของอิตาลีจะเดินหน้าพัฒนาความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ทั้งการใช้วัสดุรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และใช้พลังงานทดแทนจากทั้งแสงอาทิตย์หรือลม ควบคู่ไปกับการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดของเสีย และพัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่อง

อีกมิติที่สร้างเสน่ห์ให้กับสิ่งทออิตาลี คือ การสืบสานและส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้วยการนำเทคนิคการย้อมผ้าแบบดั้งเดิม เช่น การใช้สีย้อมจากพืชสมุนไพร หรือการใช้เทคนิคการทอผ้าที่สืบทอดกันมายาวนานหลายชั่วอายุคนมาใช้ ซึ่งเป็นการรักษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนานของอิตาลี พร้อมทั้งส่งต่อภูมิปัญญาเหล่านี้สู่คนรุ่นต่อไป

แนวโน้มสำคัญในอนาคตของอุตสาหกรรมนี้ คือการผสมผสานระหว่างการออกแบบที่ทันสมัยกับการใช้เทคนิคการผลิตแบบดั้งเดิม เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และดึงดูดใจผู้บริโภคทั่วโลก ด้วยอิตาลีมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่เข้มแข็งในการผลิตสิ่งทอมาช้านาน การผสมผสานเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดสิ่งทอระดับโลกได้ การรักษาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้ในผลิตภัณฑ์ จะช่วยตอกย้ำให้สิ่งทออิตาลีมีเอกลักษณ์และคุณค่า เป็นจุดขายสำคัญในการดึงดูดผู้บริโภค

การเยือนอิตาลีครั้งนี้ของนายกฯ จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอไทยในการสร้างความร่วมมือกับแบรนด์สิ่งทอชั้นนำของอิตาลี ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไทยในตลาดสากล