Research & Report

เปิดศักยภาพ “MENA Region” เศรษฐกิจสร้างสรรค์ยังเติบโตได้แม้เผชิญความขัดแย้ง

เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ยังคงเติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายทางภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์สงครามในหลายภูมิภาค ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ไม่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากนัก คือการขับเคลื่อนผ่านบริการสตรีมมิ่งและ AI

ในประเทศกำลังพัฒนา เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง โดยสร้างรายได้ประจำปีสูงถึง 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็น 3.1% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของโลก นอกจากนี้ ยังมีส่วนสำคัญในการจ้างงาน คิดเป็น 6.2% เมื่อเทียบกับทั่วทั้งโลก ในแง่ของการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจสร้างสรรค์มีบทบาทโดดเด่น โดยเฉพาะการส่งออกบริการสร้างสรรค์ ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์เกือบ 2 เท่า สถิติเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและศักยภาพของระบบเศรษฐกิจนี้ในการขับเคลื่อนการค้าและการเติบโตทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (ที่มา: Creative Economy Outlook 2024, UNCTAD)

จีน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ยังคงเป็นผู้นำในเศรษฐกิจสร้างสรรค์โลก

  • จีนเป็นผู้นำการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ทั่วโลก ด้วยมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 250 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสามารถสร้างรายได้มากถึงประมาณ 2.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ
  • สหรัฐอเมริกาครองตำแหน่งตลาดใหญ่ที่สุดสำหรับสินค้าและบริการสร้างสรรค์ โดยมีจุดแข็งในภาคส่วนภาพยนตร์ ดนตรี และสื่อดิจิทัล ซึ่งคิดเป็น 42% ของยอดขายตลาดครีเอทีฟทั่วโลก
  • สหราชอาณาจักรโดดเด่นด้านดนตรี แฟชั่น และสื่อดิจิทัล ส่วนประเทศอื่น ๆ ในยุโรปอย่างฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลีก็มีบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์เช่นเดียวกัน
  • ไทยถือเป็นผู้เล่นหนึ่งในระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์โลก โดยมีส่วนร่วมที่โดดเด่นในภาคการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ ข้อมูลจาก UNCTAD Statistics ระบุว่าในปี 2022 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ถึง 7.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็น 4.7% ของการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ทั่วโลก 

MENA ภูมิภาคที่โดดเด่น น่าจับตา

ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (Middle East and North Africa: MENA) กำลังแสดงศักยภาพที่น่าสนใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แม้จะเผชิญความท้าทายหลายประการ ทั้งการขาดแคลนทุนสนับสนุน SME และความไม่มั่นคงทางการเมืองที่ส่งผลต่อการลงทุน อย่างไรก็ตาม หลายประเทศกำลังพยายามสร้างกรอบกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา เช่น การปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์และการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุนและสนับสนุนการเติบโตในระยะยาว โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ ตัวอย่างประเทศที่น่าสนใจเช่น โมร็อกโก มีการจ้างงานในภาคหัตถกรรมถึง 1.1 ล้านคน และเลบานอนมีการส่งออกสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมคิดเป็น 2.8% ของ GDP

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลกำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรม (CCIs) ทั่วทั้งภูมิภาค MENA โดยมีการเติบโตอย่างชัดเจนในบริการสตรีมมิ่งทั้งหนังและเพลง ขณะเดียวกันก็ยังคงให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมและส่งเสริมงานหัตถกรรมดั้งเดิม ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Tounes Wijhatouna ในตูนิเซีย นอกจากนี้ ยังมีการจัดเทศกาลภาพยนตร์สำคัญอย่างเทศกาลภาพยนตร์ไคโรและคาร์เธจ ซึ่งเป็นเวทีสำคัญในการนำเสนอภาพยนตร์อาหรับและแอฟริกา เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ ภูมิภาคนี้ยังแสดงให้เห็นถึงนวัตกรรมที่น่าสนใจ เช่น Anghami แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงที่ใหญ่ที่สุดในตะวันออกกลาง หรือ Dubai Design District (d3) ศูนย์กลางการออกแบบที่ดึงดูดนักสร้างสรรค์จากทั่วโลก และการใช้ AI ในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมในอียิปต์

MENA ยังให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสสำหรับกลุ่มคนชายขอบ โดยเฉพาะผู้หญิงและเยาวชน ผ่านโครงการเช่น Ebda mn Masr ในอียิปต์ ที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อช่างฝีมือกว่า 10,000 คนทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีโครงการฝึกอบรม Arts and Culture Entrepreneurship (ACE) และ Fantasmeem โดยสถาบันเกอเธ่ในเลบานอน ที่ส่งเสริมการประกอบการสร้างสรรค์และความร่วมมือในการออกแบบ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า นโยบายรัฐและการลงทุนที่เหมาะสม จะทำให้ภูมิภาค MENA มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างความสามัคคีทางสังคม และการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้ในระยะยาว (ที่มา: www.iemed.org)

เศรษฐกิจสร้างสรรค์กำลังเปิดโอกาสใหม่สำหรับการเติบโต ประเทศที่สามารถส่งเสริมภาคส่วนนี้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับตัวตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง มีแนวโน้มจะได้รับประโยชน์มากในการกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ การสร้างงาน และเพิ่มอิทธิพลทางวัฒนธรรม