Research & Report

เปิดฉากโอลิมปิกปารีส 2024 สุดแกลม ชูสินทรัพย์สร้างชื่อฝรั่งเศสครบเครื่อง

การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปารีส 2024 ไม่เพียงแต่เป็นมหกรรมกีฬาระดับโลก แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญของฝรั่งเศสในการแสดงศักยภาพด้านนวัตกรรม วัฒนธรรม และอิทธิพลของประเทศสู่สายตาชาวโลก ฝรั่งเศสได้ทุ่มเทการลงทุนอย่างมหาศาล เพื่อให้มั่นใจว่างานนี้จะเป็นที่จดจำในประวัติศาสตร์

ฝรั่งเศสจัดสรรงบประมาณสำหรับการเป็นเจ้าภาพไว้ที่ 8.9 พันล้านยูโร โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน เมื่อเทียบกับการจัดโอลิมปิกครั้งก่อนหน้าตั้งแต่ปี 2000 ถือว่าเป็นงานที่ใช้งบประมาณได้ต่ำที่สุด โดยส่วนใหญ่ถูกใช้ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการสร้างหมู่บ้านนักกีฬาที่รองรับผู้คนได้มากถึง 14,000 คน ซึ่งหลังจบการแข่งขัน จะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นย่านที่อยู่อาศัยแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเสริมด้วยการลงทุนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน Grand Paris Express ซึ่งเป็นรถไฟใต้ดินสายใหม่ที่จะช่วยปรับปรุงการเชื่อมต่อทั่วทั้งมหานครปารีส 

พิธีเปิดที่จัดขึ้นเมื่อ 26 กรกฎาคม 2567 ถือเป็นการแสดงความคิดสร้างสรรค์ของฝรั่งเศสอย่างชาญฉลาด โดยใช้ประโยชน์จากสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แบบเต็มสูบ สะท้อนความรุ่มรวยของประเทศสู่สายตาชาวโลก แม้จะมีความท้าทายก่อนหน้างาน เช่น การประท้วงเรื่องมลพิษในแม่น้ำแซน การลอบวางเพลิงเครือข่ายรถไฟฝรั่งเศส และสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แต่พิธีเปิดก็ประสบความสำเร็จในการดึงดูดความสนใจจากผู้ชมทั่วโลก 

เปิดฉากด้วยตำนานนักฟุตบอลฝรั่งเศส Zinedine Zidane วิ่งถือคบเพลิงโอลิมปิกผ่านถนนในกรุงปารีส จนมาถึงจุดไฮไลต์ที่แม่น้ำแซน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่พิธีเปิดโอลิมปิกจัดขึ้นนอกสนามกีฬา ขบวนเรือกว่า 85 ลำ บรรทุกนักกีฬาจาก 205 ประเทศ โดยมีหอไอเฟลเป็นฉากหลังอันงดงาม การแสดงในพิธีเปิดยังรวมถึงการร้องเพลงของศิลปินระดับโลกอย่าง Lady Gaga และ Celine Dion การผสานรวมโลกเก่าและใหม่ผ่านการแสดงของ Gojira วงเมทัลสัญชาติฝรั่งเศสที่ร่วมมือกับนักร้องโอเปราอย่าง Marina Viotti นำเสนองานในธีม Marie Antoinette สะท้อนให้เห็นความหลากหลายทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความเคารพต่อสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส เช่น พิพิธภัณฑ์ Louvre และมหาวิหาร Notre-Dame เชื่อมโยงอดีตอันรุ่งเรืองกับปัจจุบันที่มีชีวิตชีวา การจุดคบเพลิงโอลิมปิกในบอลลูนที่ลอยขึ้นเหนือเมือง เป็นสัญลักษณ์ของวิสัยทัศน์ที่มองไปข้างหน้าและจิตวิญญาณแห่งนวัตกรรมของฝรั่งเศส ท้ายที่สุดสุนทรพจน์ของเจ้าหน้าที่โอลิมปิกและประธานาธิบดีฝรั่งเศส Emmanuel Macron อันทรงพลัง ช่วยตอกย้ำความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสต่อคุณค่าของโอลิมปิก ในด้านความเป็นเลิศ มิตรภาพ และความเคารพซึ่งความแตกต่างหลากหลาย

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกส่งผลกระทบระยะยาวต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศผู้จัด โดยโอลิมปิกลอนดอน 2012 ถือเป็นต้นแบบความสำเร็จในการใช้ประโยชน์จากการแข่งขันเพื่อผลลัพธ์ระยะยาว กระตุ้นการฟื้นฟูเมืองครั้งใหญ่โดยเฉพาะในลอนดอนตะวันออก และสร้างรายได้ให้เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรถึง 9.9 พันล้านปอนด์ ส่วนโอลิมปิกโตเกียว 2020 แม้เผชิญความท้าทายจากโควิด-19 แต่ก็แสดงให้เห็นความยืดหยุ่นและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของญี่ปุ่น สำหรับโอลิมปิกปารีส 2024 ในแง่ของการจ้างงาน คาดว่าจะสร้างงานได้ราว 250,000 ตำแหน่งทั่วโลก ทั้งส่วนของการจัดงาน ภาคบริการ และการท่องเที่ยว รายงานของ The Centre for Economics and Business Research (CEBR) ประเมินผลผลิตทางเศรษฐกิจของงานนี้ ว่ามีโอกาสทำได้ถึง 10.7 พันล้านยูโร นอกจากนี้ฝรั่งเศสยังให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืนเป็นพิเศษ โดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนจากการจัดงานให้เหลือเพียง 1.75 ล้านตัน ซึ่งต่ำกว่าโอลิมปิกโตเกียว 2020 และโอลิมปิกรีโอ 2016 

โอลิมปิกปารีส 2024 เป็นโอกาสทองของฝรั่งเศสในการแสดงศักยภาพสู่เวทีโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และนวัตกรรม การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนและการใช้พิธีเปิดเป็นเวทีโชว์อิทธิพลทางวัฒนธรรม สะท้อนความมุ่งมั่นของฝรั่งเศสในการสร้างผลกระทบเชิงบวกระยะยาว นอกจากประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประเทศเจ้าภาพแล้ว การจัดงานครั้งนี้ยังอาจวางมาตรฐานใหม่ให้กับมหกรรมกีฬาระดับโลกในอนาคต โดยเฉพาะด้านความยั่งยืนและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม