Research & Report

Thai Music Wave: A Global Journey เปิดมุมมองขับเคลื่อนดนตรีของไทยให้ไกลสู่สากล จาก CEA และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดนตรี

หลังจากที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี ได้จัดทำโครงการ Music Exchange เพื่อส่งเสริมศิลปิน ธุรกิจค่ายเพลง และเทศกาลดนตรีของไทยสู่ตลาดสากลขึ้นในปี 2567 โครงการนี้ได้กลายเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดนตรีของไทยให้กลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในระดับนานาชาติ ซึ่งนอกจากหน่วยงานภาครัฐและองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่าง CEA จะเป็นผู้อยู่เบื้องหลังแล้ว ยังมีบุคลากรในวงการเพลงของไทยที่เข้ามาช่วยผลักดันให้โครงการนี้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม

ร่วมรับฟังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดนตรี ในการขับเคลื่อนวงการเพลงของไทยให้ก้าวไปสู่ระดับนานาชาติ ว่าประเทศไทยจะสามารถสร้างปรากฏการณ์คลื่นความนิยม Thai Music Wave ให้เกิดแรงกระเพื่อมสู่ตลาดโลกได้อย่างไร

การแสดงของศิลปินดาวรุ่ง Gabe Watkins ในงานแถลงข่าวโครงการ Music Exchange ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุฯ กรมประชาสัมพันธ์

ถึงเวลาอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ดันไกลสู่สากล

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แสดงมุมมองในปาฐกถาหัวข้อ “Time for Thai Tune: How to Globalize Thailand’s Music Industry ถึงเวลาอุตสาหกรรมดนตรีของไทย ดันไกลสู่สากล” ในงานแถลงข่าวโครงการ Music Exchange ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุฯ กรมประชาสัมพันธ์ โดยเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญของอุตสาหกรรมดนตรีในตลาดโลก ซึ่งนำมาจากรายงาน Global Music Report 2024 ของสมาพันธ์ผู้ผลิตสิ่งบันทึกเสียงระหว่างประเทศ (International Federation of the Phonographic Industry: IFPI) และสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจบันเทิงไทย (TECA) ในงานแถลงข่าว ว่าในปี 2023 ตลาดเพลงทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 10.2% และสร้างรายได้สูงถึง 28.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ดร. ชาคริต กล่าวต่อไปว่า สถิติที่รายได้ของอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกได้เติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 แสดงให้เห็นว่าตลาดเพลงมีศักยภาพที่จะเติบโตขึ้นได้อีกในปี 2024 และในอนาคต ปี 2023 รายได้จากตลาดเพลงเพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคทั่วโลกและครอบคลุมแทบทุกรูปแบบสื่อเพลง โดยเฉพาะรูปแบบสตรีมมิงที่ยังคงเติบโตขึ้นและได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ทั้งนี้รายได้จากการสตรีมเพลงมีการเติบโตมากที่สุดในปี 2023 และมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุดในจำนวนทั้งหมดถึงกว่า 67.3% เฉพาะการสตรีมแบบสมัครสมาชิกเพียงอย่างเดียวก็เติบโตขึ้นถึงกว่า 11.2% ซึ่งคิดเป็น 48.9% ของตลาดโลก

การแสดงของวงเกิร์ลกรุ๊ป Pretzelle ในงานแถลงข่าวโครงการ Music Exchange ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 8 ตุลาคม 2567 ณ อาคารศูนย์ปฏิบัติการแพร่ภาพออกอากาศการกระจายเสียงวิทยุฯ กรมประชาสัมพันธ์

สำหรับอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทยในตลาดโลกก็เติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นและน่าประทับใจเช่นกัน โดยเติบโตขึ้น 6.32% จากปี 2022 และมีรายได้อยู่ที่ 107.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของเอเชีย รองจากญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ และอินเดีย ทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำของตลาดเพลงในภูมิภาคอาเซียน โดยการสตรีมมิงคือรายได้หลักของอุตสาหกรรมเพลงของไทยในปี 2023 คิดเป็น 92.8% ของรายได้ทั้งหมด และศิลปินไทยยังคงครองตลาดเพลงไทย เห็นได้จาก 9 ใน 10 ของเพลงยอดนิยมส่งท้ายปี 2023 ในประเทศไทยที่เป็นเพลงของศิลปินในประเทศ “ด้วยศักยภาพของศิลปินไทย และการเติบโตของอุตสาหกรรมดนตรีของประเทศไทยในปัจจุบัน ถึงเวลาแล้วที่ศิลปินไทยจะไปเปิดตลาดโลก” ดร. ชาคริตกล่าว

ทั้งนี้ โครงการ Music Exchange ได้ส่งเสริมและผลักดันให้ศิลปินไทยไปแสดงผลงานในเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ จำนวน 48 ศิลปิน ทั้งหมด 46 เทศกาล รวมทั้งสิ้น 70 การแสดง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมที่มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายกับอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลก ด้วยการเชิญผู้จัด ผู้คัดเลือกศิลปิน เอเจนซีของเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ และบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีจากต่างประเทศ มาร่วมเทศกาลดนตรีในประเทศไทย รวมถึง 78 รายด้วยกัน ผลลัพธ์ความสำเร็จของโครงการ Music Exchange จึงช่วยสร้างโอกาสและเครือข่ายความร่วมมือเชิงธุรกิจให้กับศิลปิน ค่ายเพลงและธุรกิจดนตรีของไทย นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มกระแสความสนใจต่อประเทศไทยหรือปรากฏการณ์คลื่นความนิยม Thai Music Wave และอิทธิพลทางวัฒนธรรมของไทยในตลาดโลกอีกทางหนึ่ง ด้วยการแสดงที่เข้าถึงสายตาผู้ชมกว่า 34.9 ล้านคน

จาก Music Exchange สู่การผลักดันกระแส Thai Music Wave ในระดับโลก

หลังจากเห็นภาพรวมของโครงการ Music Exchange จากการดำเนินงานของ CEA แล้ว มาฟังมุมมองของผู้เชี่ยวชาญและศิลปินในอุตสาหกรรมดนตรีของไทยกันบ้าง จากการเสวนา “Music Exchange: Thai Music Wave to the World ขับเคลื่อนศิลปินไทยสู่เส้นทางสายอินเตอร์” ที่จัดขึ้นในงานแถลงข่าวโครงการ Music Exchange เช่นกัน ซึ่งทาง CEA ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในวงการดนตรีของไทย 4 ท่านมาร่วมงานเสวนาในครั้งนี้

เริ่มต้นด้วยมุมมองของคุณวิเชียร ฤกษ์ไพศาล ประธานและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เวย์-ที ครีเอชั่น จำกัด ผู้ก่อตั้ง จีนี่ เร็คคอร์ดส์ และอดีตผู้บริหารบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ได้แสดงทัศนะในฐานะที่เป็นประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านดนตรี โดยที่ผ่านมาเขาได้ร่วมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์และพัฒนาอุตสาหกรรมด้านดนตรีให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งโครงการ Music Exchange นับว่าเป็นโครงการแรกของรัฐที่ผลักดันและยกระดับศักยภาพวงการเพลงของไทยไปสู่ตลาดโลก

ตลาดเพลงต่างประเทศ โอกาสและทางรอดของอุตสาหกรรมดนตรีของไทย

“ปัจจุบันภาพรวมของอุตสาหกรรมดนตรีในประเทศไทยเปลี่ยนไป ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เช่น การเข้ามาของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อพฤติกรรมในการฟังเพลงของคนไทย รวมทั้งการที่มีช่องทางของผู้จัดจำหน่าย (Distributor) หรือแพลตฟอร์มในการฟังเพลงมากขึ้น จึงเป็นโอกาสในการส่งออกของอุตสาหกรรมเพลงไทยในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากตลาดเพลงในประเทศไทยตอนนี้มีการแข่งขันกันค่อนข้างสูง เป็นตลาดที่ Red Ocean มาก ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้ธุรกิจเพลงของไทยมีรายได้เพิ่มขึ้น คือการที่เราต้องขยายตลาดออกไปสู่ตลาดเพลงระดับโลก”

ทั้งนี้ คุณวิเชียรยอมรับว่าการที่ศิลปินและธุรกิจในอุตสาหกรรมดนตรีของไทยจะไปรอดได้ในยุคนี้เป็นเรื่องยาก โครงการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเช่น Music Exchange นี้จึงนับเป็นเรื่องที่ดีมาก และจะเป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมดนตรีของไทยต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ เพลงหรือดนตรียังนับว่าเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุดในแง่การสร้างซอฟต์พาวเวอร์ทางด้านวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับโลก 

นอกจากกิจกรรมหลักของโครงการ Music Exchange 2 ส่วน ได้แก่ กิจกรรม PUSH ที่มุ่งเน้นการส่งเสริมศิลปินไทยให้ได้ไปแสดงในผลงานบนเวทีในเทศกาลดนตรีระดับโลกในต่างประเทศ และกิจกรรม PULL ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงเครือข่ายและการเจรจาธุรกิจ Business Matching กับบุคลากรสำคัญในอุตสาหกรรมดนตรีระดับโลกแล้ว คุณวิเชียรกล่าวว่าในอนาคตเขายังอยากจะเห็นอุตสาหกรรมเพลงของไทยมีระบบนิเวศ (Ecosystem) หรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์ผลงานดนตรีในเชิงพาณิชย์ที่ดียิ่งขึ้น เช่น มีช่องทางมีเดียหรือแพลตฟอร์มที่ช่วยให้ศิลปินได้แสดงผลงานมากขึ้น รวมทั้งมีเวทีที่มอบรางวัลทางดนตรีให้แก่ศิลปิน เพื่อแสดงให้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมเพลงไทยที่ได้รับการยอมรับเรื่องคุณภาพของผลงานที่ได้มาตรฐานระดับสากล 

สร้างอาชีพและตลาดให้กับศิลปินไทยรุ่นใหม่ ก่อนโกอินเตอร์

ด้านคุณพงศ์นรินทร์ อุลิศ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แคทเรดิโอ จำกัด  ได้แสดงมุมมองต่ออุตสาหกรรมดนตรีของไทยในปัจจุบัน ว่าหากเปรียบเทียบกับเมื่อช่วง 10-20 ปีก่อน ไม่ได้มีความแตกต่างกันในเชิงปริมาณมากนัก แต่สิ่งที่เขาสังเกตเห็นคือศิลปินในยุคนี้ส่วนใหญ่เรียนมาทางด้านดนตรีโดยตรงมากขึ้น ดังนั้นในแง่ของคุณภาพเพลงในวงการดนตรีของไทยจึงมีการพัฒนาขึ้น ส่งผลให้ศิลปินไทยในยุคนี้มีคุณภาพไม่แพ้ศิลปินระดับโลก

“ปัจจุบันนี้มีศิลปินไทยรุ่นใหม่เยอะมาก เราเจอคนเก่ง ๆ เต็มไปหมด แต่น่าเป็นห่วงว่าในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า พวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป การทำเพลงยังคงสามารถเป็นอาชีพได้หรือเปล่า” คุณพงศ์นรินทร์ตั้งคำถามถึงประเด็นสำคัญของวงการเพลงไทยในอนาคต

คุณพงศ์นรินทร์แสดงมุมมองต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงของไทยสู่สากล ว่าการสร้างกระแส Thai Music Wave ในระดับโลกจะเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ไม่ใช่เพียงแค่การที่ศิลปินไทยมีโอกาสได้ไปแสดงในต่างประเทศเท่านั้น แต่ต้องมีการต่อยอดอย่างต่อเนื่องด้วย เขามองว่าหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนโครงการ Music Exchange ทั้ง CEA และสำนักงานส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (THACCA) ควรต้องทำให้เกิดการสื่อสารที่ชัดเจนกับกลุ่มเป้าหมายในตลาดต่างประเทศ เช่น มีงบประมาณในการช่วยประชาสัมพันธ์ศิลปินไทยให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ด้วย

“ตลาดเพลงของไทยยังมีโอกาสโตขึ้นได้อีกเยอะ ผมมองว่าสิ่งที่สำคัญคือเราควรชื่นชมศิลปินไทยของเราเองก่อน ไม่ใช่รอไปชื่นชมในวันที่เขาไปมีชื่อเสียงในต่างประเทศแล้ว เราจึงควรทำให้ศิลปินรุ่นใหม่สามารถทำเพลงอยู่ได้จนเป็นอาชีพ ประเทศไทยมีเด็กที่จบทางด้านดนตรีปีละนับพันคน แล้วพวกเขาจะไปอยู่ตรงไหนในอุตสาหกรรมดนตรี ดังนั้น เราต้องทำให้เกิดอาชีพและมีตลาดให้พวกเขา ก่อนที่จะขยายตลาดเพลงไทยไปตลาดโลกได้”

เปิดกลยุทธ์การบุกตลาดเพลงระดับโลก

ในขณะที่คุณเฉลิมพล สูงศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งค่ายเพลง NewEchoes ซึ่งเริ่มก่อตั้งในช่วงโควิด-19 พอดี จนปัจจุบันนี้สามารถเติบโตมีศิลปินในค่ายที่เป็นที่รู้จักในหมู่คนรุ่นใหม่ เช่น H 3 F, Salad, Ford Trio, Chucky Factory Land ฯลฯ กล่าวว่าตั้งแต่ตอนที่เริ่มต้นทำธุรกิจค่ายเพลง ทั้งเขาและศิลปินในสังกัดต่างก็มีความคิดเช่นเดียวกัน นั่นคืออยากจะมีโอกาสเติบโตในตลาดต่างประเทศ

“การที่เรามีเป้าหมายอยากจะไปเปิดตลาดต่างประเทศ ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้สนใจตลาดในประเทศ ตลาดเพลงในเมืองไทยก็สำคัญมากเช่นกัน แต่การไปเปิดตลาดต่างประเทศ ทำให้เรามี Mindset ว่าควรจะทำเพลงแบบไหน และควรสื่อสารออกไปอย่างไรให้เหมาะกับตลาดอินเตอร์”

เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนในการไปบุกตลาดในต่างประเทศแล้ว แนวทางการทำงานของค่ายเพลง NewEchoes จึงมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ นับตั้งแต่ขั้นตอนในการผลิตเพลงที่จะทำเป็นอัลบั้มเต็ม หรืออย่างน้อยต้องเป็นมินิอัลบั้ม หรือ EP ไม่ใช่เพลงเดี่ยวแบบซิงเกิล ส่งผลให้ผลงานของศิลปินในค่ายมีแนวทางที่ชัดเจน เอื้อต่อการทำการตลาดในต่างประเทศมากขึ้น นับเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับศิลปินและธุรกิจค่ายเพลงของไทยที่ต้องการไปบุกตลาดเพลงในต่างประเทศ

“ที่ผ่านมาเวลาเราส่งศิลปินไปโปรโมตทำการแสดงในเทศกาลต่าง ๆ ในต่างประเทศ ค่ายเพลงต้องลงทุนซัปพอร์ตศิลปินเอง แต่ปี 2567 นี้เมื่อได้ร่วมโครงการ Music Exchange ก็ได้รับการสนับสนุนที่ช่วยทำให้เราหายใจได้คล่องขึ้น ศิลปินที่เคยไปร่วมเทศกาลดนตรีในต่างประเทศอย่างวง H 3 F ในปีนี้สามารถต่อยอดได้ดี แต่ก็มีบางวงที่เพิ่งมีโอกาสไปแสดงในต่างประเทศเป็นครั้งแรก ซึ่งสำหรับเราการได้ไปแสดงในเวทีต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การไปเปิดตลาดหาคนฟัง แต่ศิลปินยังได้รับประสบการณ์และสิ่งใหม่ ๆ กลับมา การได้รับฟีดแบ็กจากการแสดงทำให้ศิลปินรู้ว่าการสื่อสารกับผู้ชมที่ไม่เข้าใจภาษาของเราควรจะเป็นอย่างไร ทำให้ศิลปินหลายคนที่กลับมาจากการแสดงในต่างประเทศ มีเป้าหมายและแนวทางในการทำงานเพลงเปลี่ยนไปด้วย”

การแสดงของ Ford Trio ศิลปินไทยจากค่าย NewEchoes ที่ได้รับเลือกให้ไปร่วมแสดงในเทศกาล ONE MUSIC CAMP 2024 ที่ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 24 - 25 สิงหาคม 2567

คุณเฉลิมพลยังบอกว่าภาษาไม่ใช่อุปสรรคในการแสดงของศิลปินไทยในเวทีต่างประเทศ เพราะคนฟังสามารถเชื่อมโยงกับบทเพลงได้ผ่านเสียงดนตรี ซึ่งปัจจุบันซาวนด์ดนตรีแบบเอเชียที่มีเอกลักษณ์กำลังเป็นที่พูดถึงในตลาดเพลงยุโรปและอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่ามีโอกาสที่วงการเพลงไทยจะสามารถเข้าไปเจาะตลาดเพลงในระดับโลกได้

ทั้งนี้ คุณเฉลิมพลย้ำว่าการไปตลาดต่างประเทศไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานของศิลปินไทย อีกประเด็นหนึ่งที่เขาอยากพูดถึงในฐานะคนในวงการดนตรีที่ทำค่ายเพลง คือเขาอยากเห็นวงจรในอุตสาหกรรมที่มีการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เพลงมีความสำคัญในชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกิดการสนับสนุนศิลปิน และผลักดันให้อุตสาหกรรมดนตรีของไทยเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต

ต่อยอดการแสดงในเทศกาลดนตรีต่างประเทศให้สร้างรายได้

ปิดท้ายด้วยมุมมองของคุณอนุชา โอเจริญ ผู้ก่อตั้งค่ายเพลง Rats Records ซึ่งนับว่าเป็นค่ายเพลงไทยที่บุกเบิกในการพาศิลปินไปแสดงในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ คุณอนุชาบอกเล่าถึงที่มาโดยย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน ที่เขาได้ตัดสินใจทดลองพาศิลปินไทยในสังกัดไปบุกตลาดต่างประเทศเป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นเรามีโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ศิลปินไทยไม่จำเป็นต้องทำการแสดงเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่สามารถไปทัวร์เอเชียหรือยุโรปได้ เราเริ่มต้นจากการแสดงในเทศกาลดนตรีในต่างประเทศ โดยแสดงเพลงทั้งอัลบั้มเป็นเวลา 1 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ เพราะในต่างประเทศเราไม่สามารถเล่นเพลงคัฟเวอร์ได้ เนื่องจากค่าลิขสิทธิ์แพง ตอนนั้นยังไม่มีการสนับสนุนจากทางภาครัฐ บางครั้งไปแสดงในต่างประเทศกลับมาแล้วขาดทุนก็มี”

การแสดงของวง Rocketman ศิลปินไทยจากค่าย Rats Records ที่ไปแสดงในเทศกาล Nakasu Jazz 2024 ญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 14 - 15 กันยายน 2567 

แม้ในช่วงแรกจะมีอุปสรรค แต่ด้วยความมุ่งมั่น คุณอนุชายังคงเป็นตัวแทนพาศิลปินไปร่วมแสดงในเวทีระดับนานาชาติ หลังจากนั้นเมื่อเอเจนซีและตัวแทนผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในต่างประเทศเริ่มเห็นศักยภาพของศิลปินไทย จึงได้ต่อยอดมาสู่การมีรายได้จากการแสดงในต่างประเทศมากขึ้น จนสามารถยึดเป็นอาชีพได้ในที่สุด

คุณอนุชาทิ้งท้ายว่า โครงการ Music Exchange ถือเป็นครั้งแรกที่อุตสาหกรรมด้านดนตรีของไทยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แม้อาจจะมีอุปสรรคหรือข้อจำกัดในบางด้าน เช่น การประชาสัมพันธ์หรือการทำการตลาดให้ศิลปินไทยเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ แต่ก็นับว่าเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ซึ่งทั้งหน่วยงานภาครัฐและบุคลากรในแวดวงดนตรีของไทยจะต้องร่วมมือเพื่อช่วยผลักดันกันต่อไป 

นั่นคือมุมมองและข้อเสนอแนะจากผู้เชี่ยวชาญในวงการเพลงของไทย ที่มีต่อการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงของไทยสู่สากล เชื่อมั่นว่าทุกคนต่างอยากเห็นวันที่ Thai Music Wave สามารถสร้างปรากฏการณ์และประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน