Research & Report

ก้าวแรกสู่เส้นทางสายอาชีพ คนทำหนังและซีรีส์ในภาคกลาง

กว่าจะมาเป็นผลงานหนังและซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จสักเรื่องหนึ่ง ผู้ที่อยู่เบื้องหลังทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนักเขียนบทนั้นต้องทำงานอย่างไร ก้าวแรกสู่เส้นทางสายอาชีพของพวกเขาเริ่มต้นกันแบบไหน เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่นักทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่หลายคนคงอยากรู้

ร่วมสำรวจกระบวนการคิดและวิธีทำงานการเขียนบทและการกำกับ ผ่านประสบการณ์จริงของนักเขียนบท และผู้กำกับภาพยนตร์และซีรีส์มืออาชีพ จากงานเสวนา “เส้นทางสู่อาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทย” กิจกรรมในโครงการ Content Lab: Newcomers  ภาคกลาง ภายใต้โครงการใหญ่ Content Lab 2024 โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 24 สิงหาคม 2567 พร้อมวิทยากรมืออาชีพในวงการทั้ง 3 ท่าน นำทีมโดยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี โปรดิวเซอร์และผู้กำกับภาพยนตร์มากประสบการณ์ ด้วยผลงานมาสเตอร์พีซล่าสุด Hunger คนหิว เกมกระหาย ซีรีส์ Netflix Originals ของไทยที่ยอดวิวขึ้นอันดับ 1 ของโลก, คุณทศพล ทิพย์ทินกร ผู้เขียนบทภาพยนตร์เรื่องดังที่สร้างปรากฏการณ์และกระแสไวรัลไปทั่วเอเชียจากภาพยนตร์ทัชใจ หลานม่า และนักทำหนังรุ่นใหม่ไฟแรงอย่างคุณวรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง สาธุ ดำเนินการเสวนาและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ โดยอาจารย์นิธิศ ศิวดลธรากุล รองคณบดีคณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่เอื้อเฟื้อสถานที่ในการจัดงานเสวนาในครั้งนี้

เส้นทางคนทำหนังที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

เริ่มต้นด้วยคุณคงเดช จาตุรันต์รัศมี นักเขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ซึ่งมีประสบการณ์กว่า 20 ปีในวงการ ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ทั้งสำเร็จและล้มเหลวมาหลายครั้ง แต่ก็ยังยืนหยัดสร้างสรรค์ผลงานมาโดยตลอด คุณคงเดชได้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานให้ฟังว่า เขาเริ่มต้นจากความฝันที่อยากทำหนังมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้น ม. 5 ที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนได้มาเรียนต่อทางด้านภาพยนตร์ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หลังจากเรียนจบเขาจึงเริ่มเข้ามาทำงานในวงการโฆษณาและภาพยนตร์นับแต่นั้น

จากภาพยนตร์ สยิว (2546) เรื่องราวของนักศึกษาสาวเวอร์จิ้นที่เขียนเรื่องเสียวไปลงนิตยสาร, หนังที่มีตัวเอกเป็นคนขับรถแท็กซี่กับสาวขายบริการใน เฉิ่ม (2548), แอน (2565) และ ปุจฉาพาเสียว (2567) ที่สร้างข้อถกเถียงเรื่องเพศศึกษาในสังคมไทย มาจนถึงซีรีส์เรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย ที่โด่งดังเป็นพลุแตกบนแพลตฟอร์มออนไลน์ Netflix Originals เมื่อถูกถามว่าตลอด 20 ปีในวงการ ผลงานเรื่องไหนเป็นเรื่องที่เขารู้สึกอยากพูดถึงมากที่สุด คุณคงเดชบอกว่าคือเรื่อง กอด ซึ่งเป็นผลงานในยุคแรก ๆ สมัยที่เขาเป็นผู้กำกับอยู่ในค่าย GTH ถึงแม้ว่าจะเป็นหนังที่ทำรายได้น้อยที่สุดของสตูดิโอก็ตาม 

“คำว่าประสบความสำเร็จของแต่ละคนแตกต่างกัน ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องของรายได้อย่างเดียว แต่ว่าคือการได้ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำหรือเชื่อกับมันจริง ๆ ดังนั้นถ้าหากผมจะต้องเลือกเรื่องที่เรารู้สึกว่าผูกพันเป็นพิเศษจริง ๆ คือเรื่องนี้ เพราะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราไม่เหมาะกับวงการนี้หรือเปล่า หนังทั้ง 3 เรื่องที่ทำกับสตูดิโอก่อนหน้านั้นก็ได้ตังค์นะ แต่พอเรื่องกอดเจ๊ง เราก็รู้สึกมีคำถามกับตัวเองว่าจุดที่เรายืนอยู่เป็นแบบไหนกันแน่ คือเราไม่แมส แต่เราก็ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นพวกอินดี้เลยด้วยซ้ำ” 

จากนั้นคุณคงเดชจึงตัดสินใจผันตัวออกจากการทำหนังในระบบสตูดิโอ มาเป็นผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ โดยประเดิมด้วยผลงานหนังอินดี้เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว ซึ่งนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตคนทำหนังของเขา

“เป็นครั้งแรกที่เราทำหนังอิสระ เราต้องดูแลเองหมดทุกอย่าง รวมถึงการหาทุนและการจัดฉายด้วย แล้วเราก็ท้าทายตัวเองในแบบที่โครงสร้างของเรื่องมันจะไม่ถูกเล่าเป็น 1-10 แต่ว่ามันจะกระจัดกระจายมาก คือเราเช็กขอบเขตของทุกสิ่งเท่าที่เราจะทำได้ด้วยหนังเรื่องนั้น แล้วปรากฏว่ามันเวิร์กมาก” 

(ที่มา: ภาพยนตร์เรื่อง แต่เพียงผู้เดียว พ.ศ. 2554)

เมื่อมีโอกาสได้นำผลงานไปฉายตามเทศกาลภาพยนตร์ต่าง ๆ ในต่างประเทศ จึงทำให้เขาค้นพบตัวเองว่าผลงานของเขาเหมาะกับกลุ่มไหน ในที่สุดคุณคงเดชก็สามารถกำหนดทิศทางในการทำงานในฐานะคนทำหนังของเขาได้ในเวลาต่อมา 

“เราค้นพบว่าคำว่าประสบความสำเร็จมีหลากหลายรูปแบบมาก และหนังแต่ละเรื่องมีคนดูในแบบของมัน หมายความว่าคุณเป็นคนทำหนังต้องเข้าใจว่าหนังมีหลากหลายตลาดมาก มีทั้งเรื่องของเทศกาลหนัง มีตลาดของต่างประเทศและในประเทศ แม้กระทั่งกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดก็ยังมีกลุ่ม Segment ของตลาดไม่เหมือนกัน แม้แต่แพลตฟอร์มสตรีมมิงหรือโรงหนังก็ตาม เพียงแค่คุณอาจจะต้องหาให้เจอว่าหนังที่คุณทำเหมาะกับตรงไหน แล้วทำไปให้สุดทางของมัน”

ถึงแม้ปัจจุบันคุณคงเดชจะกลับมาทำงานกับสตูดิโออีกครั้ง แต่ประสบการณ์ในครั้งนั้นก็เหมือนกับเป็นการเปิดโลกที่ทำให้เขาได้ทดลองก้าวไปสู่พื้นที่การเล่าเรื่องใหม่ ๆ ในแบบที่สตูดิโออาจจะไม่ได้แตะไปถึง

(ตารางฉายหนังเเละโปสเตอร์ภาพยนตร์ เเต่เพียงผู้เดียว ที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองเวนิส อิตาลี ในปี 2011)

จากความเปลี่ยนแปลงในยุคที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มมาถึงยุคดิจิทัล จนเข้าสู่ยุคของสตรีมมิงแพลตฟอร์ม คุณคงเดชบอกว่าสิ่งที่ทำให้อยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ได้ คือต้องเป็นคนที่มีแพสชัน เพราะว่าเส้นทางในอาชีพนี้เต็มไปด้วยความเจ็บปวด จึงต้องขับเคลื่อนด้วยความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ทุกวันนี้เขาเองก็ยังปรับตัวและเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อย่างหนัก ทั้งเรื่องการเรียนรู้พฤติกรรมคนดูที่เปลี่ยนไปหลังจากโควิด-19 หรือการมีสตรีมมิงแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ชมใจร้อนมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้คนทำคอนเทนต์ต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยในปัจจุบัน

“ปัจจุบันนี้มีคอนเทนต์เยอะมาก ไม่ใช่แค่ซีรีส์หรือภาพยนตร์เท่านั้น แต่ยังมีคอนเทนต์ภาพเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่น ๆ เราอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรทางเลือกที่หลากหลาย ทำให้งานที่เราทำมีอายุสั้นลง เราทำหนังเรื่องหนึ่งใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี แต่พอเวลาถูกฉายกลายเป็นสิ่งที่อยู่ในความสนใจของคนไม่นาน เพราะมีคอนเทนต์ใหม่ ๆ เยอะมาก เราจึงต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา”

จากอดีตเด็กวิศวะ สู่คนเขียนบทมืออาชีพ

จากมุมมองของผู้กำกับ สลับมาทางฝั่งของนักเขียนบทกันบ้าง กับเรื่องราวการเดินทางของคุณทศพล ทิพย์ทินกร ผู้ที่อยู่เบื้องหลังของบทภาพยนตร์ชื่อดังมากมาย เช่น SuckSeed ห่วยขั้นเทพ, คิดถึงวิทยา, เมย์ไหนไฟแรงเฟร่อ, Friend Zone ระวัง…สิ้นสุดทางเพื่อน, อ้าย…คนหล่อลวง, บุพเพสันนิวาส 2 The Movie และล่าสุดกับภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ที่สร้างกระแสให้วงการหนังไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง

กว่าจะมาเป็นนักเขียนบทมือทองทุกวันนี้ คุณทศพลเคยเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์มาก่อน จนกระทั่งรู้สึกว่าไม่ใช่ตัวเอง กอปรกับเวลานั้นเขาอยากทำหนัง เมื่อรู้ว่าคณะนิเทศศาสตร์มีเรียนวิชาภาพยนตร์และมีกล้องให้ยืม จึงเปลี่ยนสายมาเรียนคณะใหม่ และเป็นจุดเริ่มต้นที่ได้ทดลองทำอะไรหลาย ๆ อย่าง ทั้งถ่ายภาพ กำกับ ตัดต่อ เขียนบท แต่เขารู้สึกว่ามีแค่อย่างเดียวที่เขาอยากพัฒนาฝีมือ นั่นคือการเขียนบท ตอนนั้นคณะของเขายังไม่ได้มีสอนการเขียนบทอย่างจริงจัง จนกระทั่งขึ้นชั้นปี 4 ที่ต้องทำหนัง เขาจึงเลือกทำแอนิเมชัน ต่อมารุ่นพี่ที่อยู่บริษัท GTH ได้ดูผลงานของเขา แม้จะได้รับฟีดแบ็กว่า “วาดห่วยมาก” แต่ว่าชอบบทที่อยู่ในผลงานชิ้นนั้น จึงชักชวนให้คุณทศพลมาเขียนบทด้วยกัน นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเข้าสู่วงการนักเขียนบทภาพยนตร์ตั้งแต่นั้นมา

“บทหนังเรื่องแรกคือเรื่อง SuckSeed ตอนนั้นเรารวมทีมกัน 5 คน โดยไม่รู้เรื่องการเขียนบทอะไรเลย มาเจอกันแล้วก็นั่งคุยกัน เล่าเรื่องวัยเด็กแต่ละคนว่าเกี่ยวข้องกับดนตรีและความรักยังไง แล้วมีฉากไหนที่ชอบเราก็หยิบมาเขียน พอคนดูเอนจอยกับมันแล้วทำให้รู้สึกว่าเราเอาเรื่องชีวิตของตัวเองกับเพื่อนมาใส่ในหนัง แล้วทุกคนก็สนุกกับมันได้ ตอนนั้นเป็นโมเมนต์ที่ทำให้รู้ว่า อ๋อ มันทำอย่างนี้ได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องเขียนตามทฤษฎีอะไรเลย เรื่องแรกทำให้เรารู้สึกมั่นใจว่าสามารถใช้วิธีนี้ได้”

หลังจากทำงานในวงการนักเขียนบทมานับ 10 ปี แม้จะเคยผ่านการเขียนบทหนังมาแล้วหลายเรื่องก่อนหน้านี้ แต่คุณทศพลบอกว่าปกติแล้วเขาจะทำงานโดยมีไอเดียตั้งต้นมาจากโปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับ จนกระทั่งได้รับโจทย์ให้ลองไปคิดไอเดียของตัวเองมาว่าอยากจะเล่าเรื่องอะไร ทำให้เขานึกถึงเรื่องราวของครอบครัวเมื่อ 10 ปีก่อน ที่อาม่าของเขาป่วยเป็นมะเร็งแล้วไม่มีใครดูแล จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนบทภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า ในที่สุด

คุณทศพลยอมรับว่าตอนที่เขียนบทเสร็จแล้วรู้สึกว่าเรื่องมันธรรมดาไปไหม โปรดิวเซอร์หรือผู้กำกับ หรือแม้กระทั่งคนดูจะอินหรือเปล่า แต่ยังไม่ได้คิดไปไกลถึงกลุ่มเป้าหมายชาติอื่น ๆ คิดเพียงแต่ว่าคนดูรู้สึกอะไร คนดูจะเชื่อในสิ่งที่ตัวละครทำหรือเปล่า เพราะทันทีที่เราทำแล้วคนดูไม่เชื่อในการกระทำของตัวละคร จะเหมือนผลักคนดูให้ออกมาจากหนังทันที ในการเขียนบทเขาจึงพยายามที่จะตั้งคำถามกับการกระทำของตัวละคร เพื่อที่จะเช็กว่าคนดูเข้าใจอย่างที่คนทำต้องการจะสื่อหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ อาจารย์นิธิศเสริมว่าเวลาทำหนังอย่าทำแบบคนนอกมองเข้าไป แต่ควรสะท้อนจากมุมมองของตัวละคร

เส้นทางของนักทำหนังรุ่นใหม่

มาถึงนักทำหนังรุ่นใหม่อย่างคุณวรรธนพงศ์ วงศ์วรรณ ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง สาธุ ที่สะท้อนประเด็นเรื่องพุทธพาณิชย์จนเกิดกระแสถกเถียงในสังคมอย่างกว้างขวาง นับเป็นความกล้าหาญของผู้กำกับรุ่นใหม่ ที่กล้าหยิบยกประเด็นที่เป็นเรื่องอ่อนไหวในสังคมไทยมาตีแผ่ในรูปแบบสื่อบันเทิง

จุดเริ่มต้นของคุณวรรธนพงศ์นั้นน่าสนใจไม่น้อย เพราะเขาไม่ได้เรียนจบมาทางด้านภาพยนตร์โดยตรง แต่เรียนมาทางด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์ หลังเรียนจบแล้วก็เริ่มทำงานในบริษัททางด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่พักหนึ่ง ก่อนจะเบนเข็มออกมาทำหนังตามความฝันในวัยเด็ก ที่เขาชอบวาดการ์ตูนและอยากผลิตภาพยนตร์ แต่เนื่องจากว่าไม่ได้มีคอนเน็กชัน จึงต้องพยายามเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในวงการ โดยเริ่มต้นทำงานที่บริษัทโปรดักชันเฮาส์ พร้อมพยายามเรียนรู้งานในทุกแผนก หลังจากทำงานได้สักระยะหนึ่งก็เริ่มลองผลิตหนังสั้นส่งประกวดตามเพจต่าง ๆ จากนั้นจึงเริ่มเรียนรู้เรื่องเอเจนซีเพราะว่าอยากรู้ว่าวิธีการขายงานเป็นอย่างไร ก่อนจะผันตัวออกมาเป็นผู้กำกับฟรีแลนซ์ โดยเริ่มต้นจากมิวสิกวิดีโอก่อนและเป็นผู้กำกับโฆษณา กระทั่งมีโอกาสได้นำเสนอคอนเทนต์กับทาง Netflix จึงได้ทำซีรีส์เรื่องแรกในที่สุด

(ที่มา: ภาพจากซีรีส์เรื่อง สาธุ

เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจของเรื่อง สาธุ คุณวรรธนพงศ์บอกว่าประเด็นนี้เป็นสิ่งที่เขารู้สึกและอยากทำจริง ๆ โดยเริ่มมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ถูกเลี้ยงดูมาแบบชาวพุทธ ทั้งเรียนวิชาพุทธศาสนาตั้งแต่ชั้น ป.1-ม.6 และมีโอกาสตามครอบครัวไปวัดป่า เลยเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าแต่ละวัดมีวิธีการจัดการเรื่องการบริจาคอย่างไรบ้าง หากว่าสุดท้ายมันมีช่องโหว่ในการหาผลประโยชน์เข้าตัวจะเป็นอย่างไร

“ผมรู้สึกว่าแค่ได้เริ่มต้นทำซีรีส์เรื่องแรก ตอนนั้นก็รู้สึกดีใจแล้ว แถมเป็นคอนเทนต์ที่เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างยากที่จะเล่า เพราะมีความเซนซิทีฟ ก็ยิ่งทำให้เรารู้สึกว่าถ้าได้เล่าให้คนทั่วไปฟังก็น่าจะดี เราคิดว่าคนไทยส่วนใหญ่ก็น่าจะรู้จักหรืออยู่กับศาสนาพุทธ น่าจะเป็นสิ่งที่ทำให้เชื่อมโยงกับคนหมู่มากได้ง่าย ๆ รู้สึกว่ามันท้าทายที่ได้นำเรื่องที่เรียกว่าเป็นพื้นที่สีเทา หรือ Grey Area ของสังคมมาเล่าผ่านวิธีการถ่ายทอดในเชิง Entertainment และเราจะนำเสนอออกมาแบบไหน สิ่งที่ยากอย่างหนึ่งคือเราต้องบาลานซ์มัน เราคงไม่ได้เล่าทุกอย่างร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนในข่าวหรือสารคดี เพราะสุดท้ายแล้วหนังก็ต้องเป็นความบันเทิง จึงต้องพยายามเล่าคอนเทนต์ออกมาตาม Story ที่อยากให้เป็นให้ได้”

หัวใจสำคัญของครีเอเตอร์ คือการรีเสิร์ชข้อมูล

ในฐานะนักเล่าเรื่องมืออาชีพ คุณทศพลบอกว่าเวลาเขาอยากจะเล่าเรื่องไหน ต้องรู้จักเรื่องนั้นดีเสียก่อน ถามตัวเองว่าเรารู้จักมันดีหรือเปล่า โดยเฉพาะในยุคนี้หากเขียนอะไรในสิ่งที่เราไม่รู้จริงแบบที่เรียกว่า “นั่งเทียน” ออกไปแล้ว จะรู้ทันทีว่ามีคนที่เขารู้จริงอยู่ ดังนั้น จึงต้องระวังเรื่องนี้ให้มาก 

คุณคงเดช เสริมประเด็นนี้ว่า ต่อให้เป็นเรื่องที่ไม่ได้ใกล้ตัวหรือเป็นเรื่องที่เราไม่รู้มาก่อน แต่เมื่อได้รับโจทย์มาแล้ว ก็ต้องมีการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ฉะนั้นการรีเสิร์ชจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก อย่างเช่นตอนที่เขาทำซีรีส์เรื่อง Hunger คนหิว เกมกระหาย เขาก็ต้องไปรีเสิร์ชข้อมูลเกี่ยวกับ Fine Dining และร้านอาหารต่าง ๆ รวมทั้งมีที่ปรึกษาอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะทำให้คนทำคอนเทนต์คิดแค่เรื่องที่รู้จักอย่างเดียว จนอาจจะทำให้ตีกรอบตัวเองในการทำงานได้ 

“สิ่งที่สำคัญคือ การที่รีเสิร์ชจนรู้ว่าในที่สุดแล้วมันเชื่อมโยงหรือ Relate กับเรายังไง คือในที่สุดแล้วต่อให้เรากำลังทำหนังเรื่องสวนทุเรียน แต่ว่าคนมาดูหนังเรื่องนั้นเขาไม่ได้อยากมาดูสารคดีการปลูกทุเรียน ดังนั้นส่วนที่จะต้องรีเสิร์ชก็ทำไป แต่ว่าเราจะดึงมันกลับมาสู่ความเป็นมนุษย์ยังไง เพราะว่าสุดท้ายแล้วเราก็เล่าเรื่องของความเป็นมนุษย์อยู่ดี”

ด้านคุณวรรธนพงศ์ แชร์มุมมองว่า สิ่งสำคัญสำหรับครีเอเตอร์ คือการบอกเล่าเรื่องที่เรารู้สึกกับมันจริง ๆ บางครั้งอาจเป็นแค่คำพูดประโยคหนึ่ง แต่ทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะเข้าไปสำรวจ และกลายเป็นวัตถุดิบที่ดีที่เราจะนำมาสร้างผลงาน ทั้งนี้อาจไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องที่รู้ดีที่สุดก็ได้ ตอนที่เขาทำซีรีส์เรื่อง สาธุ ก็ได้มีการรีเสิร์ชข้อมูลเก็บสะสมไว้มาตลอดด้วยเช่นกัน 

“การรีเสิร์ชทำให้เราสามารถถ่ายทอดออกมาได้ถูกต้องที่สุด ซึ่งระหว่างรีเสิร์ชอาจเจอเกร็ดหรือมีรายละเอียดบางอย่างที่ช่วยผลักดันให้บทของเราไปต่อได้ อาจจะเริ่มจากมุมมองของการเป็นคนนอก หรือ Outsider ก็ได้ครับ เช่น เราไปเจอคอนเทนต์นี้มาแล้วรู้สึกว่ามันทำอย่างนี้ได้ด้วยหรือ เราควรต้องไปดูในฐานะคนนอกหน่อยไหมว่ามันเกิดอะไรขึ้น ส่วนสุดท้ายแล้วพอจะลงมือทำ เราจะรีเช็กเรื่องความถูกต้อง เราก็ต้องทำการบ้านหนักมาก ๆ ทั้งการทำรีเสิร์ช ไปพูดคุย หรือสัมภาษณ์กลุ่มแบบ Group Interview จำพวกนี้ ผมคิดว่ามันอาจจะต้องเริ่มจากตรงนั้นก่อน”

เส้นทางสายอาชีพคนทำหนัง ไม่ได้มีแค่ผู้กำกับ

สำหรับคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ในกลุ่ม Newcomers หลายคนอาจมีความฝันอยากจะเป็นผู้กำกับเป็นส่วนใหญ่ แต่ความจริงแล้วในวงการนี้ยังมีอีกหลายตำแหน่งที่มีบทบาทสำคัญ ในฐานะนักเขียนบทมืออาชีพ คุณทศพลจึงอยากจะเชียร์ให้มาเป็นคนเขียนบท ซึ่งข้อดีของคนเขียนบทคือเป็นงานที่ทำที่ไหนก็ได้ อาจมีช่วงที่นั่งอยู่ในห้องแอร์ในออฟฟิศตลอด ไม่ต้องไปออกกอง หรือมีช่วงที่ต้องออกไปรีเสิร์ชเพื่อเก็บข้อมูลในพื้นที่ตามต่างจังหวัด อย่างเช่นตอนที่คุณทศพลเขียนบทหนังเรื่อง คิดถึงวิทยา เขาก็ต้องไปใช้ชีวิตกินนอนอยู่ที่โรงเรียนซึ่งเป็นเรือนแพกลางน้ำนานนับสัปดาห์ เพื่อเก็บข้อมูลนำมาเขียนบทหนัง เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เขาเข้าถึงตัวละครจริง ๆ

(ที่มา: ภาพยนตร์เรื่อง คิดถึงวิทยา พ.ศ. 2557)

ทั้งนี้การทำหนังหรือซีรีส์เรื่องหนึ่งก็เหมือนกับการวิ่งผลัด เมื่อเขียนบทเสร็จแล้วก็ส่งไม้ต่อไปให้ผู้กำกับ คุณคงเดชบอกว่าการออกไปถ่ายทำจริงจะมีสิ่งที่ต้องจัดการเฉพาะหน้า ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ นักเขียนบทและผู้กำกับจึงต้องทำงานและแก้ไขปัญหาร่วมกัน บางครั้งบทที่เขาเขียนถูกแก้ไขใหม่โดยผู้กำกับ แม้เขาอาจไม่ได้รู้สึกเห็นด้วย แต่ก็เข้าใจเหตุผล จนสุดท้ายเมื่อถ่ายทำออกมาแล้วกลายเป็นว่าคนดูชื่นชอบฉากนั้นมากก็มี

ในฐานะที่เป็นทั้งคนเขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ คุณคงเดชมองว่าทุกตำแหน่งมีความสำคัญหมด นับตั้งแต่ฝ่ายที่ดูแลเครื่องแต่งกาย หรือ Costume ไปจนถึงตากล้อง การทำหนังจึงเป็นงานกลุ่มที่ต้องอาศัยผู้คนและองค์ประกอบหลายภาคส่วนช่วยกัน จึงจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกมาได้สำเร็จ

ในขณะที่คุณวรรธนพงศ์กล่าวว่า จากประสบการณ์ของเขาแล้ว การทำงานเป็นทีมสำคัญมาก ถึงแม้ว่าเขาจะเป็นคนคิด Story เรื่อง สาธุ ขึ้นมา แต่เมื่อลองเขียนบทจริง ๆ แล้วก็ยังต้องอาศัยทีมงานที่ช่วยสะท้อนความคิดเห็นอีกครั้งเช่นกัน เพราะมิติความคิดนั้นมาจากมุมมองของเขาคนเดียว ในขั้นตอนของการทำ Treatment หรือโครงเรื่องที่ขยายพล็อต เขาอาจสามารถทำคนเดียวได้ แต่พอเป็น Screenplay หรือบทภาพยนตร์จริง ๆ แล้วก็ต้องอาศัยทีมงานช่วยพัฒนาบทอีกที รวมไปถึงทีมงานส่วนอื่น ๆ ทั้งฝ่าย Casting คัดเลือกนักแสดง ไปจนถึงทีมอาร์ตที่ช่วยพัฒนาให้ไอเดียที่เขาคิดขึ้นมานั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง จึงสำคัญมากที่ทุกฝ่ายจะต้องเห็นภาพการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน

คิดนอกกรอบ ค้นหาตัวเองให้เจอ แล้วลงมือทำ

ในฐานะคนทำหนังรุ่นพี่ที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน คุณคงเดชบอกว่านอกจากต้องเรียนรู้และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลาแล้ว คนทำหนังหน้าใหม่ควรต้องรู้จักคิดนอกกรอบด้วย

“อย่างเราเองก็ไม่ค่อยอยู่ในกรอบมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว คือเราเขียนบทเองและกำกับเองมาตลอด ยังไม่เคยกำกับงานที่คนอื่นเขียนเลย เอาจริง ๆ 20 กว่าปีมานี้มีแต่เขียนบทให้คนอื่นกำกับ แต่ก็ทำให้เราได้เรียนรู้ในทุกด้าน เราเองเป็นทั้งครีเอเตอร์และเป็นโปรดิวเซอร์ด้วย จึงต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่สำคัญมากสำหรับเราก็คือ เราอยากจะพูดเรื่องที่ยังไม่เคยถูกพูดเท่านั้นเอง เช่น เราพูดเรื่องรำแก้บน เรื่องเด็กอยากออกนอกประเทศก่อนที่จะกลายเป็นกระแส หรือว่าไปจนถึงหนังไทยแนวระทึกขวัญผสมจิตวิทยาอย่างเรื่อง แอน เราเชื่อว่าสิ่งที่เราทำแล้วเรายังอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ อย่างน้อยก็ทำให้คนได้เห็นว่าสามารถเล่าเรื่องที่ยังไม่เคยถูกพูดถึงได้”

อาจารย์นิธิศเสริมว่า สำหรับคนทำหนังหน้าใหม่ หรือ Newcomers ควรเปิดกว้างในการเรียนรู้ และไม่ควรปิดกั้นตัวเอง มีความรู้จำกัดแค่ด้านเดียว เพราะอาจจะทำให้ขาดการพัฒนาและไปได้ไม่ไกลในวงการนี้

ด้านคุณวรรธนพงศ์ให้คำแนะนำสำหรับครีเอเตอร์มือใหม่ว่า ในการทำงานอาจเริ่มต้นจากการตั้งคำถามหรือสงสัยประเด็นบางอย่างก่อน และพยายามเอาตัวเองเข้าไปสู่จุดนั้นให้ได้มากที่สุด ถ้าอยากทำหนังสักเรื่องก็ลงมือทำเลย อาจจะเริ่มจากโปรเจ็กต์เล็ก ๆ อย่างใช้โทรศัพท์ก่อนก็ได้ เพราะเมื่อได้ลองทำจริง ๆ แล้วก็จะได้เรียนรู้ในสเตปต่อไปมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ควรทำ

เช่นเดียวกับคุณทศพลที่มองว่า สิ่งแรกที่สำคัญ คือการตั้งคำถามกับตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่าเราอยากจะทำอะไรในวงการนี้ อาจอยากเป็นโปรดิวเซอร์ ตากล้อง หรือผู้กำกับ เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ตั้งเป้าหมายเพื่อไปสู่ความฝันนั้นให้ได้

เรียนรู้จากความผิดพลาดและล้มเหลว

แน่นอนว่าเส้นทางในอาชีพนักทำหนังและซีรีส์นั้นไม่ได้มีแต่ความสำเร็จที่หอมหวานเท่านั้น แต่ยังมีอีกด้านที่เกิดความผิดพลาดและล้มเหลวเช่นกัน ซึ่งคุณคงเดชผู้เคยผ่านประสบการณ์ด้านลบ ทั้งคำวิจารณ์และความล้มเหลวทางด้านรายได้ของภาพยนตร์ บอกว่าสิ่งสำคัญคือต้องยืนหยัดในสิ่งที่เราเชื่อมั่นให้ได้

“สำหรับคนที่เป็นคนทำหนัง หรือ Filmmaker เราคิดว่าทุกคนก็อาจจะเป็น คือเมื่อได้เห็นบาดแผลในงานของเราแล้ว มันเป็นแรงผลักดันให้เราทำงานต่อไปให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เราอาจจะไม่กลัวคำวิจารณ์เพราะโดนด่ามาตลอด หรือเราล้มเหลวเรื่องรายได้มาไม่รู้กี่หนแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังมีชีวิตอยู่ได้ โดยที่เรายังเป็นเรา ยังทำหนังแบบที่เราเชื่อไปได้เรื่อย ๆ ด้วย”

(ที่มา: ภาพจากซีรีส์เรื่อง สาธุ)

คุณวรรธนพงศ์แชร์ประสบการณ์ว่า ตอนที่เขาทำซีรีส์เรื่อง สาธุ และได้รู้ว่าผลงานของเขาได้ฉายใน 190 ประเทศทั่วโลก ก็เกิดความคาดหวังว่าจะต้องดัง ทำให้คนต่างชาติได้เห็นวัฒนธรรมหรือประเด็นด้านศาสนาของคนไทย แต่ปรากฏว่าเมื่อฉายออกไปแล้ว กลับไม่ได้เป็นไปตามที่คิด ด้วยตัวแปรหรือปัจจัยความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมที่อาจจะทำให้ผู้ชมชาวต่างชาติไม่เข้าใจนัก จึงเป็นบทเรียนที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ และเก็บมาเพื่อใช้ในการพัฒนาผลงานโปรเจ็กต์ต่อไป

ด้านคุณทศพลเล่าว่าบางคนอาจคิดว่านักเขียนบทคือพระเจ้าที่สามารถเขียนอะไรก็ได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาจมีข้อจำกัดด้านความรู้และประสบการณ์ในการทำงาน บางครั้งเมื่อเขียนบทออกไปแล้ว พอไปดูหนังกลับพบบาดแผลในหนังเรื่องนั้นมากมาย แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้แล้ว คนเขียนบทจึงต้องศึกษาให้ดีอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะถ่ายทอดเรื่องราวในหนังออกไปทุกครั้ง

ทางออกของปัญหาคนทำหนังและซีรีส์ไทย

จากปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นในการทำงานอยู่ตลอดเวลา อาจารย์นิธิศตั้งคำถามว่าภาครัฐสามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างไรบ้าง

คุณวรรธนพงศ์กล่าวว่า ภาครัฐนับเป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนที่สำคัญ เขามีโอกาสได้พูดคุยกับเพื่อนนักทำหนังชาวเกาหลีใต้ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจนสุดทาง นับตั้งแต่การมีแคมป์ทำหนังสำหรับเด็กอายุแค่ 10 ขวบเท่านั้น เพราะฉะนั้น เขาคิดว่าวงการหนังไทยก็คล้ายกับสินค้าไทยอย่างอื่นที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดคนมาช่วยทำหีบห่อหรือ Packaging ที่สวยงามให้สามารถไปถึงตลาดระดับสากลได้เท่านั้น

คุณทศพลเสริมว่า สำหรับเขาแล้วรู้สึกว่าการมีโครงการที่ทำให้คนทำหนังและซีรีส์ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองและความคิดเห็นกัน เช่น โครงการ Content Lab: Newcomers นับเป็นเวทีที่จะช่วยเชื่อมคนในวงการให้เข้าถึงกันได้อีกทางหนึ่ง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจได้มีช่องทางในการเริ่มต้นสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานของตัวเองต่อไปในอนาคต

“ตั้งแต่ดูหนังและซีรีส์ไทยมา ผมชอบบรรยากาศในช่วงนี้มาก เพราะเรามีคอนเทนต์ที่หลากหลายแทบจะทุกแนวให้เราได้เสพ รวมทั้งการทำงานของคนในวงการที่เริ่มมีความเป็นสากลหรือมืออาชีพมากขึ้น มีค่าตอบแทนที่ดีขึ้น นับเป็นช่วงเวลาที่ดีของคนทำหนังและซีรีส์ไทย”

ปิดท้ายที่คุณคงเดช ซึ่งเคยผ่านโครงการสนับสนุนจากภาครัฐมาหลายยุคหลายสมัย กล่าวว่าแม้จะมีเป้าหมายที่ดี แต่สุดท้ายก็มักจะมีอุปสรรคจากระบบของภาครัฐและราชการเข้ามาเป็นตัวแปรอยู่เสมอ ผู้ที่จะเข้ามาผลักดันนโยบายในส่วนนี้ จึงจำเป็นต้องมีความรู้และความเข้าใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ไทยอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการวางแผนในการพัฒนาอย่างเป็นระบบและเป็นรูปธรรมมากขึ้น 

“สิ่งที่อยากเห็นคือความหลากหลาย เพราะเราคิดว่าการที่จะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรมได้ ผลิตภัณฑ์ในนั้นจะต้องมีความหลากหลายมากพอ และสำหรับคนที่ทำอาชีพในวงการนี้ ขอให้มีมาตรฐานในเรื่องการดูแลคนทำงานที่ไม่ควรเกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมทั้งทางด้านเนื้อหาที่มีความหลากหลาย สามารถพูดหรือบอกเล่าได้ในสิ่งที่ยังไม่เคยพูด นั่นถึงจะเรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม”

นี่คือเสียงสะท้อนจากนักทำหนังและซีรีส์ไทย ท่ามกลางความหวังของทั้งคนทำหนังมืออาชีพและกลุ่ม Newcomers หน้าใหม่ ที่จะเป็น “นิวเวฟ” หรือคลื่นลูกใหม่ ที่เข้ามาช่วยผลักดันให้กระบวนการซอฟต์พาวเวอร์ของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยเติบโตได้อย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต