Research & Report

สร้างสปอตไลต์ให้ Thai Music Wave ดันดนตรีไทย ไปไกลกว่าที่เคย

2023 ถือเป็นปีที่วงการดนตรีทั่วโลกเติบโต โดยเฉพาะในฝั่งเอเชีย แม้ไทยจะเพิ่งเริ่มต้น แต่ฝันที่อยากจะพาวงการดนตรีไทยสู่เวทีโลก ก็ใกล้เป็นจริง ด้วยแรงหนุนจากนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ 

รายงาน The IFPI Global Music Report 2024 จากสมาคมผู้บันทึกเสียงนานาชาติ หรือ International Federation of the Phonographic Industry (IFPI) ได้ชี้ให้เห็นถึงปีแห่งการเติบโตในวงการดนตรี ซึ่งสตรีมมิงยังคงเป็นผู้นำตลาดโลก รายงานระบุว่ารายได้จากธุรกิจเพลงบันทึกเสียงทั่วโลกในปี 2023 อยู่ที่ 2.86 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2022 ถึงร้อยละ 10.2 โดยการเติบโตดังกล่าวมาจากภาคสตรีมมิงเป็นหลัก ครองสัดส่วนร้อยละ 67.3 ของรายได้รวมทั้งวงการ สะท้อนให้เห็นแนวโน้มการบริโภคดนตรีแบบดิจิทัลที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เอเชียมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรม สร้างรายได้เพิ่มขึ้นกว่า 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศที่ขับเคลื่อนหลักในภูมิภาคนี้ ได้แก่ เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย ปฏิเสธได้ยากว่าวงการ K-Pop มีบทบาทสำคัญต่อการเติบโตของเอเชีย นอกจากจะสร้างรายได้มหาศาลแล้ว ยังช่วยสร้างฐาน "ซูเปอร์แฟน" ในระดับโลก ซึ่งแฟนคลับกลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการโปรโมตและสนับสนุนศิลปินอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะผ่านการซื้ออัลบั้ม การเข้าชมคอนเสิร์ต หรือการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้ศิลปิน K-Pop มีอิทธิพลอย่างมากในระดับนานาชาติ รายงานยังระบุว่ามีศิลปิน K-Pop ถึง 6 วง ติดอันดับใน IFPI Global Artist Chart Top 20 เช่น วง Seventeen, Stray Kids, Tomorrow X Together และ NewJeans 

นอกจากนี้รายงาน The IFPI Global Music Report 2024 ยังเน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตและสร้างประสบการณ์การฟังเพลงที่น่าตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค เทคโนโลยี VR และ AR จะถูกนำมาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์คอนเสิร์ตเสมือนจริง ช่วยให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับการแสดงสดได้ทั่วโลก ขณะที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะเข้ามาช่วยเรื่องการปรับปรุงคุณภาพเสียง ผลิตเพลง พร้อมวิเคราะห์แนวโน้มและความชื่นชอบของผู้ฟัง เพื่อให้ศิลปินและผู้ผลิตเพลงสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ตรงใจผู้ฟังได้อย่างแม่นยำ รวมถึง Blockchain ยังถูกวางให้นำมาใช้เพื่อสร้างความโปร่งใสและความยุติธรรมเรื่องการแบ่งปันรายได้และการคุ้มครองลิขสิทธิ์ ทำให้การบันทึกข้อมูลและธุรกรรมมีความโปร่งใส ปลอดภัย และไม่สามารถแก้ไขได้ ส่วนแพลตฟอร์มสตรีมมิงก็มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มฟีเจอร์ เช่น การสร้างเพลย์ลิสต์อัตโนมัติ การแนะนำเพลงใหม่ตามความสนใจ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ฟังสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่ายยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดกิจกรรมออนไลน์เพื่อเชื่อมต่อระหว่างศิลปินและแฟนเพลง นวัตกรรมเหล่านี้ช่วยให้อุตสาหกรรมดนตรีสามารถปรับตัวเข้ากับยุคดิจิทัล เปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้ทั้งศิลปิน ผู้ผลิต และผู้บริโภคทั่วโลก

กลับมามองที่ไทย แม้ว่าจะเป็นตลาดขนาดเล็กเมื่อเทียบกับประเทศยักษ์ใหญ่อื่น ๆ ในเอเชีย แต่ก็แสดงให้เห็นถึงศักยภาพอันน่าประทับใจ โดยปี 2023 วงการเพลงไทยทำรายได้อยู่ที่ 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.6 จากปีก่อนหน้า ด้วยแรงหนุนที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมดนตรีในฐานะองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์ซอฟต์พาวเวอร์ ขับเคลื่อนงานผ่านคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนด้านดนตรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เร่งออกนโยบายผลักดันดนตรีไทยไปในระดับสากล ผ่านกลไกความร่วมมือระหว่างรัฐ เอกชน และพันธมิตรระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น โครงการ Music Exchange มีแผนดำเนินการใน 2 เป้าหมายสำคัญ ได้แก่ Push & Pull โดย Push จะเน้นการส่งออกศิลปินไปแสดงในงานเทศกาลดนตรีต่างประเทศ และ Pull เป็นการชักจูงผู้จัดงานเทศกาลดนตรีในประเทศเป้าหมาย มาคัดเลือกนักดนตรีไทยไปแสดงในต่างประเทศ หวังให้ศิลปินไทยได้มีชื่อเป็นหนึ่งใน Line-up ของงานเทศกาลดนตรีระดับนานาชาติ จุดกระแส Thai Music Wave ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง