Research & Report

5 กลยุทธ์สร้างแบรนด์สุดปังบน TikTok

TikTok กลายเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและการตลาดมวลชนที่สามารถเปลี่ยนผู้เสพคอนเทนต์ทั่วไป ให้กลายเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงประสิทธิภาพ ด้วยจำนวนผู้ใช้ที่ลงทะเบียนแล้วมากกว่า 2 พันล้านคน TikTok มอบโอกาสที่ไม่เคยมีมาก่อนให้กับแบรนด์ต่าง ๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภค บทความนี้จะนำเสนอ 5 กลยุทธ์เพื่อใช้ประโยชน์จาก TikTok ในการปั้นแบรนด์ให้เติบโต

TikTok ยังคงรักษาสถานะเป็นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดในโลก คาดการณ์จำนวนผู้ใช้งานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะ 2.249 พันล้านคนภายในปี 2027 ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นความนิยมอย่างต่อเนื่องของ TikTok โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ผู้ใช้ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งใช้เวลาเล่น TikTok เฉลี่ย 53.8 นาทีต่อวัน นอกเหนือจากความบันเทิงและการสร้างเนื้อหาแล้ว TikTok กำลังเติบโตไปเป็นพื้นที่ค้าปลีกออนไลน์ที่สำคัญ โดยได้เปิดตัว TikTok Shop ซึ่งเป็นช่องทางที่ช่วยให้แบรนด์ต่าง ๆ สามารถขายสินค้าได้โดยตรงกับผู้เสพคอนเทนต์ ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดและการขายใหม่ ๆ สำหรับธุรกิจบนแพลตฟอร์มนี้

สิ่งที่ควรรู้และกลยุทธ์การสร้างแบรนด์บน TikTok

1. พึงระลึกไว้เสมอว่ายังมีโอกาสที่รัฐบาลในแต่ละประเทศอาจสั่งห้ามหรือควบคุมการใช้งาน TikTok ตัวอย่างมีให้เห็นในอินเดียและสหรัฐอเมริกา แบรนด์จึงควรเตรียมการรับมือให้พร้อม โดยกระจายวิดีโอคอนเทนต์ไปยังแพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น YouTube Shorts หรือ Instagram Reels 

2. การโปรโมตสินค้าโดยตรงผ่าน TikTok Shop จะช่วยดึงดูดความสนใจจากกลุ่มผู้ชมที่มีส่วนร่วมสูง แบรนด์จึงควรใช้ประโยชน์จากอัลกอริทึมที่แข็งแกร่งของแพลตฟอร์มเพื่อเพิ่มการรับรู้และขับเคลื่อนยอดขาย นอกจากนี้ยังควรสร้างสีสันให้กับ TikTok Shop ด้วยการจัดกิจกรรมแบบกายภาพ เช่น Pop-Up งานนิทรรศการแบบมีปฏิสัมพันธ์ หรือกิจกรรมสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ เช่น การสาธิตสินค้า หรือการผลิตสินค้ารุ่นพิเศษที่วางจำหน่ายเฉพาะบนแพลตฟอร์มนี้เท่านั้น ตัวอย่างเช่น แบรนด์ e.l.f. Cosmetics (สหรัฐอเมริกา) เปิดตัวสเปรย์พ่นผงแป้งรองพื้น Power Grip ให้วางจำหน่ายแบบจำกัดเวลาบน TikTok Shop เท่านั้น หรือ แบรนด์ Rare Beauty (สหรัฐอเมริกา) ได้เปิดร้านค้า Pop-Up ในลอสแอนเจลิส โดยเชิญแขกให้มาร่วมกิจกรรมกับแบรนด์ เช่น Photo Booth ให้ลูกค้ามีโอกาสได้ทดลองสินค้า และซื้อสินค้าผ่าน TikTok Shop 

3. แบรนด์ควรสร้างกลยุทธ์การ Live Streaming เพื่อแบ่งปันความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ให้กับผู้บริโภคได้รับทราบ นำมาซึ่งยอดขายในอนาคต วิธีการได้แก่ การสร้างความรู้สึกพลาดไม่ได้และความเป็นส่วนตัว ด้วยเนื้อหาที่จะเผยแพร่เฉพาะในช่วงการ Live Streaming เช่น โปรโมชันและส่วนลด หรือการถาม-ตอบแบบมีปฏิสัมพันธ์กับแบรนด์แอมบาสเดอร์ 

4. การจับกระแสความนิยมเรื่องแฟชั่นบน TikTok ซึ่งมีฐานผู้ชมจำนวนมากที่สนใจในเรื่องนี้ โดยเข้าร่วมกับชุมชนในแอปพลิเคชันที่มีความหลงใหลในแฟชั่น สื่อสารผ่าน Comment หรือร่วมมือกับกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ เพื่อสร้าง Niche Content อาศัยประโยชน์จากอัลกอริทึมเพื่อเจาะกลุ่มผู้ชมเฉพาะ ตัวอย่างเช่น นักสเกตบอร์ดและช่างทอผ้าชาวนาวาโฮชื่อ Naiomi Glasses ได้เข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ระยะยาวกับ Polo Ralph Lauren (สหรัฐอเมริกา) ทำคลิปนำเสนอคอลเล็กชันที่เป็นการสดุดีเทคนิคและลวดลายการทอผ้าแบบดั้งเดิม หรือ Guess (สหรัฐอเมริกา) ได้เปิดตัวแคมเปญ #GUESSJEANSCompound ปี 2024 และเชิญดาราดังจาก TikTok อย่าง Bretman Rock, Devon Lee Carlson และ Rickey Thompson มาร่วมสนุกกับเทศกาลดนตรี Coachella พร้อมใส่เสื้อผ้าล่าสุดของ Guess และพักผ่อนในพื้นที่ที่แบรนด์จัดไว้ให้ กลายเป็นฉากหลังที่สมบูรณ์แบบสำหรับการโปรโมตแบรนด์

5. การใช้ AI ช่วยสร้างวิดีโอคอนเทนต์ เริ่มตั้งแต่ช่วยวิเคราะห์เทรนด์และปรับเนื้อหาให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย ไปจนถึงการสร้างภาพเสมือนด้วย AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตเนื้อหา ตัวอย่างเช่น TikTok กำลังทดสอบคุณสมบัติ AI Song เปิดโอกาสให้ผู้ใช้งานสามารถป้อนคำสั่ง แล้ว AI ของ TikTok จะสร้างเพลงต้นฉบับขึ้นมาให้เหมาะสมกับเนื้อหา นอกจากนี้ TikToker ชื่อดังอย่าง Melissa Becraft ได้ใช้เครื่องมือ Rembrandt ซึ่งเป็น AI ที่ช่วยสร้างวีดีโอเสมือนจริงสำหรับโปรโมตเครื่องดื่มแบรนด์ Bubly เครื่องมือนี้ช่วยให้เธอสามารถนำเนื้อหาที่มีอยู่แล้วมาปรับใช้ใหม่ และสร้างรายได้จากแบรนด์ต่าง ๆ ได้อย่างไม่จำกัด