Creative Industry Database: Design
ฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา: อุตสาหกรรมการออกแบบ
สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ดำเนินการจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industry Database) เป็นรายสาขา โดยมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวบรวมข้อมูลในส่วนของ 1) มูลค่าทางเศรษฐกิจ 2) ข้อมูลผู้ประกอบการนิติบุคคล และ 3) ข้อมูลด้านแรงงาน จากนั้นได้ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจำแนกรายอุตสาหกรรม เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง สามารถนำข้อมูลที่ได้นี้ไปวิเคราะห์ต่อยอด พร้อมวางนโยบายและกลยุทธ์เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมของประเทศไทยต่อไป
ECONOMIC VALUE
1) มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการออกแบบ ณ ราคาประจำปี (Current Price) ตามรหัส TSIC 4 หลัก
CEA รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจจาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยพิจารณาเลือกข้อมูลมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการออกแบบ จากรหัส TSIC 4 หลัก แบบไม่นับซ้ำ จำนวน 3 รหัสธุรกิจ ประกอบด้วย
TSIC 4 หลัก | กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : อุตสาหกรรมการออกแบบ |
1411 | การผลิตเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ยกเว้น การรับจ้างตัดเย็บเสื้อผ้า |
1511 | การฟอก และการตกแต่งเครื่องหนัง การตกแต่ง และการย้อมสีหนังขนสัตว์ |
1520 | การผลิตรองเท้า |
ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 อุตสาหกรรมการออกแบบของไทย มีมูลค่าอยู่ที่ 189,934 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.99 ของมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งหมด ซึ่งอยู่ที่ 1,461,788 ล้านบาท
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 5 ปี ระหว่างปี 2557 – 2561 พบว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมการออกแบบ มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง และหากเปรียบเทียบอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมการออกแบบ กับค่าเฉลี่ยของ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ระหว่างปี 2557 - 2561 พบว่า มีอัตราการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในทุกปี
COMPANY STATISTICS
2) สถิติกิจการประเภทนิติบุคคล ในอุตสาหกรรมการออกแบบ
• จำนวนกิจการจำแนกตามขนาด
ข้อมูลนิติบุคคลของ “อุตสาหกรรมการออกแบบ” CEA ดำเนินการรวบรวมข้อมูลจากรหัสธุรกิจ (TSIC) ที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 2 รหัสธุรกิจ (TSIC 5 หลัก) ประกอบด้วย
TSIC 5 หลัก | กิจกรรมทางเศรษฐกิจ : อุตสาหกรรมการออกแบบ |
74101 | กิจกรรมการออกแบบและตกแต่งภายใน |
74109 | กิจกรรมการออกแบบเฉพาะด้านอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น |
นิติบุคคลที่อยู่ในอุตสาหกรรมการออกแบบ มีจำนวนทั้งสิ้น 6,273 ราย (ข้อมูล ณ สิ้นเดือนกันยายน 2563) เมื่อพิจารณาจำแนกตามขนาดกิจการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นกิจการขนาดเล็ก (S) มากที่สุด จำนวน 6,065 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 96.68 จากจำนวนกิจการทั้งหมด
ทั้งนี้หากจำแนกเชิงพื้นที่ในระดับภูมิภาค พบว่า กิจการส่วนใหญ่จัดตั้งอยู่บริเวณกรุงเทพมหานคร สูงที่สุดเป็นอันดับที่ 1 จำนวน 3,517 ราย คิดเป็นร้อยละ 56.07 ของจำนวนกิจการทั้งหมด อันดับที่ 2 คือ ภาคกลาง 1,630 ราย คิดเป็นร้อยละ 25.98 และอันดับที่ 3 คือ ภาคตะวันออก 325 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.18 ตามลำดับ
• ข้อมูลทางการเงิน
TSIC | รายได้รวม (ล้านบาท) |
กำไรสุทธิ (ล้านบาท) |
จำนวนตัวอย่าง (ราย) |
74101 | 42,300.81 | 1,842,24 | 3,180 |
74109 | 9,936.14 | 371.74 | 1,141 |
รวม | 52,236.95 | 2,213.98 | 4,321 |
ข้อมูลทางการเงินของกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมการออกแบบ รายได้รวมของนิติบุคคล มีจำนวนทั้งสิ้น 52,236.95 ล้านบาท หากจำแนกสัดส่วนของรายได้ตามขนาดกิจการและประเภทธุรกิจ พบว่า
• กิจการขนาดเล็ก (S) มีสัดส่วนรายได้สูงที่สุดอยู่ในกลุ่มธุรกิจ 74109 กิจกรรมการออกแบบเฉพาะด้านอื่นๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ ในที่อื่น
• กิจการขนาดกลาง (M) และขนาดใหญ่ (L) มีสัดส่วนรายได้สูงสุดอยู่ในกลุ่ม 74101 กิจกรรมการออกแบบและตกแต่งภายใน
จากข้อมูลรายได้รวมสะท้อนมาสู่กำไรสุทธิ จะพบว่า อุตสาหกรรมการออกแบบมีกำไรสุทธิเป็นบวกอยู่ที่ 2,213.98 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ทำกำไรสูงที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจรหัส 74101 กิจกรรมการออกแบบและตกแต่งภายใน กำไรอยู่ที่ 1,842.24 ล้านบาท
• ศักยภาพการดำเนินธุรกิจ
จากข้อมูลงบการเงินของนิติบุคคลในอุตสาหกรรมการออกแบบ สามารถนำมาวิเคราะห์ถึงศักยภาพการดำเนินธุรกิจได้ จากข้อมูลที่ดำเนินการวิเคราะห์ พบว่า กิจการในอุตสาหกรรมการออกแบบ มีศักยภาพการดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับแข็งแกร่ง (Strong) มากถึง 1,334 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 40.8 รองลงมา คือ ระดับปานกลาง (Regular) จำนวน 1,329 ราย คิดเป็นร้อยละ 40.6 และระดับอ่อนแอ (Weak) จำนวน 610 ราย คิดเป็นร้อยละ 18.6 ซึ่งเมื่อวิเคราะห์อัตราการอยู่รอดของธุรกิจในภาพรวม จะพบว่า เกือบทุกรหัสธุรกิจมีอัตราการอยู่รอดในระดับสูง มากกว่าร้อยละ 90
CREATIVE LABOUR STATISTICS
3) สถิติด้านแรงงานสร้างสรรค์
• จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ และลักษณะการทำงาน
CEA รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลสถิติด้านแรงงานสร้างสรรค์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ข้อมูล ณ ปี 2561 โดยอ้างอิงตาม ISCO-08 Codes สำหรับแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพการออกแบบ มีการจัดหมวดหมู่โดยรวบรวม Codes ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 3 รหัส ประกอบด้วย
ISCO-08 Codes | คำแปล : อุตสาหกรรมการออกแบบ |
2166 | นักออกแบบภาพกราฟฟิกและสื่อผสม |
2163 | นักออกแบบผลิตภัณฑ์และเครื่องแต่งกาย |
3432 | นักออกแบบตกแต่งภายในและมัณฑนากร |
โดยแรงงานในสาขาอาชีพการออกแบบ มีจำนวนทั้งสิ้น 70,226 คน คิดเป็นร้อยละ 7.79 เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ทั้งหมด (901,609 คน) ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบข้อมูลย้อนหลัง 3 ปี ระหว่างปี 2559 – 2561 พบว่า มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ประมาณ 6,000 คน หากพิจารณาในแง่ของลักษณะการทำงานจะพบว่า สัดส่วนของแรงงานในสาขาอาชีพการออกแบบ เป็นแรงงานในระบบมากกว่านอกระบบ สัดส่วนเฉลี่ย 3 ปี ประมาณร้อยละ 80
• จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามภูมิภาค
การกระจายตัวในแต่ละพื้นที่ของแรงงานในสาขาอาชีพการออกแบบ จากข้อมูลปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพมหานครมากที่สุด จำนวนทั้งสิ้น 36,844 คน คิดเป็นร้อยละ 52.46 รองลงมาคือ พื้นที่ภาคกลาง จำนวน 22,820 คน คิดเป็นร้อยละ 32.5 และจากการพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานตามพื้นที่ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางใกล้เคียงกันทั้ง 3 ปี
• จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามช่วงอายุ
ช่วงอายุของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพการออกแบบ จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40–49 ปี มากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 15,459 คน คิดเป็นร้อยละ 22.01 รองลงมา คือ ช่วงอายุ 25-29 ปี และช่วงอายุ 30-34 ปี ตามลำดับ สอดคล้องกับข้อมูลแรงงานสาขาอาชีพสร้างสรรค์ในภาพรวม ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 40-49 ปี มากที่สุดเช่นเดียวกัน และเมื่อพิจารณาการกระจายตัวของแรงงานตามช่วงอายุ เปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่า มีการกระจายตัวไปในทิศทางที่ใกล้เคียงกันทั้ง 3 ปี
• จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามรายได้
ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพการออกแบบ จากข้อมูลระหว่างปี 2559 - 2561 พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยรายได้ของสาขาอาชีพการออกแบบ เทียบกับ ค่าเฉลี่ยรายได้ของทั้ง 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์ จะพบว่า มีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และหากพิจารณาจัดอันดับตามค่าเฉลี่ยรายได้ของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่า ค่าเฉลี่ยรายได้ของแรงงานในสาขาอาชีพการออกแบบ จะอยู่ในอันดับที่ 7 จาก 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์
• จำนวนแรงงานสร้างสรรค์ จำแนกตามระดับการศึกษา
ระดับการศึกษาของแรงงานสร้างสรรค์ในสาขาอาชีพการออกแบบ จากข้อมูลในปี 2561 พบว่า ส่วนใหญ่มีการศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีมากที่สุด มีจำนวนทั้งสิ้น 48,017 คน คิดเป็นร้อยละ 68.38 สอดคล้องกับระดับการศึกษาของแรงงานทั้ง 12 สาขาอาชีพสร้างสรรค์ ที่ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีเช่นเดียวกัน และหากพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างช่วงปี 2559 – 2561 จะพบว่ามีการกระจายตัวไปในทิศทางเดียวกัน
ที่มา :
1. มูลค่าทางเศรษฐกิจของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2. แรงงานสร้างสรรค์ จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
3. สถานะนิติบุคคลของกิจการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์
4. รวบรวมและวิเคราะห์รายอุตสาหกรรม โดยคณะผู้วิจัยและสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)