ISAN MUSIC NEVER DIE วิวัฒนาการเพื่ออยู่รอดของดนตรีอีสาน
จำนวนคณะหมอลำไทย (คณะ)
จากคำสอนในลำไม้ไผ่ กลายเป็นเรื่องเล่าในชุมชนอีสาน และขับกล่อมผ่านหมอลำ ดนตรีพื้นบ้านอีสานมีวิวัฒนาการคล้ายกับต้นไม้ที่หยั่งรากแข็งแรงและเติบโตไปไม่สิ้นสุด แต่คำถามสำคัญ ก็คือ ต้นไม้ต้นนี้จะเติบโตไปในทิศทางใด ในวันที่โลกเปลี่ยนเร็วเช่นนี้
รูปแบบเพลงลาวโบราณในประเทศลาวและภาคอีสานหรือที่เรียกกันว่า ‘หมอลำ’ เป็นวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตผู้คนมาอย่างยาวนาน หมอลำมีเสน่ห์เฉพาะตัว ซึมเข้าไปในหัวใจและวิถีชีวิตของคนได้อย่างเป็นธรรมชาติ ในยุคสมัยหนึ่งผู้คนใช้หมอลำในการถ่ายทอดเรื่องราวทางศาสนาหรือวรรณคดี แต่เดิมคำสอนและนิทานเหล่านี้จารึกไว้ในใบลานที่เก็บรักษาไว้ในลำไม้ไผ่ คนที่หยิบเอาเรื่องราวเหล่านี้ไปเล่าจึงถูกขนานนามว่า ‘หมอลำ’
ในระยะเริ่มแรก หมอลำมักใช้เล่าเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อความสนุกสนาน เช่น คลายความโศกเศร้าในงานศพ ออกโรงในเทศกาลประจำหมู่บ้าน หรือ งานเกี่ยวข้าวทำนา เป็นต้น จังหวะการเล่าเรื่องของหมอลำเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย มีการใช้เสียงแคนเข้าไปเพื่อเพิ่มอรรถรสและดึงความสนใจจากผู้ฟัง พัฒนาต่อยอดจนสามารถแตกแขนงออกเป็นหมอลำหลายประเภท ทั้งลำกลอน ลำเพลิน ลำชิงชู้ ฯลฯ นอกเหนือจากความสนุกสนานแล้ว หมอลำยังถูกใช้ไปกับการเล่าความลำบากทุกข์ยาก หรือแม้กระทั่งใช้เพื่อการต่อต้านผู้ปกครอง ผ่านทำนองอันไพเราะที่ซ่อนเนื้อหาสาระหนัก ๆ ไว้อย่างแนบเนียน
สิ่งสำคัญที่ทำให้หมอลำยังอยู่ได้ คือการปรับตัวเข้ากับเพลงแนวสมัยใหม่อยู่เสมอ ผ่านฝีมือของคนรุ่นต่อรุ่น ในพื้นถิ่นอีสานเองก็มีคณะหมอลำที่ประยุกต์เครื่องดนตรีและการแสดงสมัยใหม่เพื่อให้ตรงใจผู้ชม ที่สำรวจได้มีอยู่ประมาณ 60 คณะ แม้จะสลับกันล้มหายปิดตัวไป แต่ก็มีคณะใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาอยู่เสมอ และแม้จำนวนจะน้อยลงอย่างเทียบไม่ติดกับสมัยก่อน แต่ก็ใช่ว่าจะร้างไร้คนสานต่อ ท่ามกลางวัฒนธรรมป๊อปที่คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้และชื่นชอบ คณะหมอลำก็ยังมีลมหายใจของตัวเอง โดยมีหัวหอกสำคัญ เช่น รัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์, ประถมบันเทิงศิลป์, ระเบียบวาทศิลป์, เสียงอิสาน ฯลฯ ยังได้รับความนิยมระดับประเทศไม่เสื่อมคลาย มีคิวเดินสายข้ามปี ผู้คนมาเพื่อรอดูความม่วน ‘หน่าฮ่าน’ โดยมีคนหลายร้อยหลายพันชีวิตเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมนี้อยู่เบื้องหลัง
วิวัฒนาการของหมอลำนี้เคลื่อนตัวไปพร้อม ๆ กับการอนุรักษ์วิถีเก่า สอดประสานควบคู่กันไป ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เกิดศิลปินดนตรีพื้นบ้านที่ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดงพื้นบ้าน ตั้งแต่ผู้ประพันธ์เพลง หมอลำเรื่องต่อกลอน ขับลำท้องถิ่น ไปจนถึงนักดนตรีพื้นบ้านพิณ-แคน กว่า 100 ชีวิต แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ในแต่ละปีมีจำนวนศิลปินเพิ่มขึ้นไม่ถึง 10 คน ถ้าเทียบกับศิลปินที่เกิดใหม่ในสาขาอื่นๆ จึงนำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่าเราจะเพิ่มจำนวนศิลปินดนตรีพื้นบ้านรุ่นใหม่ได้อย่างไร เพื่อให้เกิดการสืบสานเชื่อมโยงเอาภูมิปัญญาของคนรุ่นเก่ามาประยุกต์เข้ากับวัฒนธรรมสมัยใหม่ได้ต่อไป
วิวัฒน์ไปตามกาล
จากหมอลำ สู่ ‘ลูกทุ่งอีสานร่วมสมัย’
ดาวน์โหลดภาพ Infographic ดนตรีพื้นบ้านอีสาน
- ปี 2500 - ในช่วงสงครามเวียดนาม กระแสเพลงสากลเริ่มได้รับความนิยมในไทย เมื่อมีนักดนตรีจากสหรัฐฯ เข้ามาเล่นดนตรีในค่ายทหารหลากหลายแนวทั้ง ป๊อป แจ๊ซ เฮฟวี่เมทัล ร็อกแอนด์โรล และค่อย ๆ กระจายออกจากค่ายทหารสู่สังคมภายนอก สังเกตได้จากบาร์และไนต์คลับที่ขับกล่อมเพลงแนวนี้ ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี
-
ปี 2501-2510 - เกิดการขยายตัวของระบอบเศรษฐกิจทุนนิยมในช่วงหลังสงคราม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตในสังคมชนบท ผู้คนเริ่มมีความสัมพันธ์กับเมืองมากขึ้น วงการดนตรีไทยก็มีการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับโดยรับอิทธิพลจากดนตรีโลกตะวันตก เกิดเป็นแนวเพลงไทยสากล หรือ วงสตริงคอมโบ ขึ้น
"เพลงลูกทุ่ง" คำนี้ถูกคิดประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี 2507 โดย อาจารย์จำนง รังสิกุล เพื่อใช้นิยามการประยุกต์นำการร้องรำทำเพลงของไทยดั้งเดิม มาดัดแปลงใส่ดนตรีที่ใช้กับวงสตริงคอมโบ ผสมผสานท่วงทำนองเพลงสากลเข้ากับทำนองพื้นบ้าน โดยในเนื้อเพลงจะสอดแทรกอัตลักษณ์ความเป็นท้องถิ่นเพื่อสะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ในชนบท ปรากฏอยู่ในคำร้อง ทำนอง และการใช้ลูกเอื้อน รวมถึงเทคนิคการแต่งเนื้อเพลงที่มีลูกเล่นในเชิงเกี้ยวพาราสีโต้ตอบกัน - ปี 2511-2530 - เพลงลูกทุ่งกลายเป็นแนวเพลงที่มีคนฟังจำนวนมาก แพร่หลายเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตผู้คน โดยเฉพาะคนชนบท เกิดการประกวดประขันเพลงลูกทุ่งและเพลงพื้นเมืองในหลายเวที สถานีวิทยุเพลงลูกทุ่งก็เป็นสื่อที่ประชาชนทั่วไปติดตามฟังไม่น้อยกว่าแนวเพลงอื่น ๆ เมื่อเพลงลูกทุ่งสร้างความนิยมกระจายไปทั่วประเทศ ก็เริ่มมีระบบนายทุนเข้ามาจัดการวงการเพลงลูกทุ่งมากขึ้น มีการคัดเลือกนักร้อง สร้างวงดนตรี เดินสายทั่วประเทศ และมีกระบวนการผลิตเพลงอย่างชัดเจน เกิดเป็นระบบอุตสาหกรรมเพลงขึ้นมา
- ปี 2535-2550 - วงการเพลงลูกทุ่งเริ่มปรับตัวด้วยการผสมผสานให้เข้ากับแนวเพลงสากลสมัยใหม่ทั้งป๊อปและร็อก จนกลายเป็นเพลง ‘ลูกทุ่งร่วมสมัย’ และได้รับความนิยมในวงกว้าง สอดรับกับการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมที่ทำให้คนอีสานจำนวนมากอพยพเข้าเมืองเพื่อหางานทำในเมืองหลวง การกระจายตัวของคนอีสานทำให้เพลงลูกทุ่งอีสานได้รับความนิยมและขยายตัวตามไปด้วย นักร้องจากต่างจังหวัดมีโอกาสทำเพลงกับค่ายใหญ่ เกิดเป็นแนวเพลงลูกทุ่งอีสาน ที่จำแนกแยกย่อยออกจากเพลงลูกทุ่งทั่วไป จุดเด่น คือ การบอกเล่าชีวิตที่ต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สร้างศิลปินหน้าใหม่เจิดจรัสให้กับวงการเพลงจำนวนมาก ตัวอย่างศิลปิน อาทิ ศิริพร อำไพพงษ์, ไมค์ ภิรมย์พร, จินตหรา พูนลาภ, ต่าย อรทัย, พี สะเดิด, ตั๊กแตน ชลดา และ ไผ่ พงศธร
- ปี 2563 - การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อวงการเพลงลูกทุ่งอีสานและคณะหมอลำเป็นลูกโซ่ทั้งวงการ ตั้งแต่วงขนาดเล็กไปจนถึงวงขนาดใหญ่ แพลนงานทุกอย่างต้องระงับ โลกเปลี่ยนจาก ‘ออฟไลน์’ เข้าสู่ ‘ออนไลน์’ ในวิกฤตนี้เราจะเห็นทักษะในการปรับตัวของคนในวงการ โดยพัฒนารูปแบบการแสดงทางออนไลน์ผ่านทางไลฟ์เฟซบุ๊ก หรือ ตัดต่อเป็นคลิปลงยูทูบ แต่ก็ยังไม่ทิ้งรูปแบบการแสดงสดที่เป็นหัวใจและเสน่ห์ของวงลูกทุ่งอีสานและคณะหมอลำ
‘ห้องแห่งความลับ คณะหมอลำ’ เปิดเผยเพื่อสืบสาน
ที่มาภาพ : Facebook หมอลำม่วนแลนด์ มิวสิคเฟสติวัล
สิ่งที่สำคัญต่อการรักษาดนตรีพื้นบ้านอีสานโดยเฉพาะหมอลำให้ดำรงอยู่ต่อไป คือการส่งไม้ต่ออย่างมีคุณภาพ นั่นหมายถึง การจัดรวบรวมข้อมูล การเรียนการสอนหมอลำอย่างจริงจัง พร้อมปรับรูปแบบการแสดงที่เข้ากับผู้ชมรุ่นใหม่ และหนึ่งในคลังข้อมูลที่สำคัญที่สุด คือ องค์ความรู้ที่สั่งสมอยู่ใน ‘คณะหมอลำ’
คณะหมอลำที่โด่งดังในระดับประเทศ เช่น เสียงอิสาน ของนกน้อย อุไรพร ถือกำเนิดขึ้นมาช่วงประมาณปี 2518 สร้างศิลปินนักร้องรุ่นใหม่ให้โด่งดังขึ้นมาหลายคน เช่น ไหมไทย หัวใจศิลป์ (ใจตะวัน), ปอยฝ้าย มาลัยพร, ศิริพร อำไพพงษ์ และ เบล ขนิษฐา ในอดีตเรื่องราวหรือวิธีการบริหารจัดการวงหมอลำเปรียบเสมือน ‘ห้องแห่งความลับ’ ที่จัดเก็บคลังข้อมูลสำคัญทั้งการประพันธ์เนื้อร้อง การออกแบบท่าเต้น การฝึกซ้อม เทคนิคมัดใจคนดู การฝึกร้องเอื้อน ลำเรื่องต่อกลอน ถูกส่งต่อและถ่ายทอดให้รู้กันเฉพาะชาวคณะเท่านั้น เพราะเกรงว่าข้อมูลเหล่านี้จะหลุดรอดไปสู่คณะคู่แข่งอื่น ๆ คล้ายเป็นอาหารสูตรลับที่บอกใครไม่ได้
ทว่าเมื่อวันเวลาผันผ่าน ศิลปินหมอลำอีสานมีแนวโน้มไร้คนสืบทอด ศิลปินรุ่นบุกเบิกจึงค่อย ๆ ออกมาถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ เช่น นกน้อย อุไรพร ที่ออกมาเปิดช่องยูทูบ ‘นกน้อยปีกเหล็ก Official’ และ ‘บ้านนกน้อย Official’ อัดคลิปวิดีโอเล่าเรื่องตั้งแต่สัพเพเหระ ทักทายแฟนคลับ เบื้องหลังงานแสดงเวทีเสียงอิสาน หรือ แม้กระทั่งการตามติดแม่นกน้อยก่อนขึ้นเวที เหล่านี้กลายมาเป็นแหล่งความรู้ที่ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ได้จากศิลปินโดยตรง นอกจากนี้ยังมีการเผยแพร่บันทึกการแสดงสดทั้งของเสียงอิสานและหมอลำอีกหลายวง ที่ศิลปินรุ่นใหม่สามารถไปตามแกะรูปแบบการลำเรื่องต่อกลอน และเทคนิคลำดับการแสดง พร้อมแสงสีเสียงได้โดยง่าย
นอกจากองค์ความรู้พื้นฐานแล้ว การสร้างงานและผลักดันระบบนิเวศของดนตรีอีสานให้สมบูรณ์ก็ถือเป็นอีกบทบาทหนึ่งของคณะหมอลำ เพราะเบื้องหลังการขึ้นแสดงของคณะหมอลำในหนึ่งวันนั้น เต็มไปด้วยรายละเอียดการทำงานที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงความสามารถที่หลากหลายของผู้คนไว้ด้วยกัน เริ่มต้นจากการเขียนเพลงบนกระดาษหนึ่งแผ่น ถูกหยิบไปปรุงแต่งจนกลายเป็นเพลง ใส่ท่วงทำนอง อัดเสียงดนตรี ซักซ้อมจนพอใจ จากนั้นส่งต่อไปให้คนคิดท่าเต้น เมื่อได้ท่าเต้นที่เข้ากับเพลงแล้ว ก็เชื่อมต่อไปกับการออกแบบชุดการแสดงทั้งเสื้อผ้า เครื่องหัว และพร็อพประกอบฉาก เมื่อถึงวันจัดงานจริง ทุกองคาพยพก็ทำงานสอดประสานขับเคลื่อนไปพร้อมกันทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ยังไม่นับรวมร้านรวงที่พ่อค้าแม่ขายต่างรอคอยที่จะได้ขายของให้ผู้ชมคณะหมอลำ สร้างให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมชาติ จากจุดเริ่มต้นเพียง ‘กระดาษแผ่นเดียว’
Music Streaming สร้าง ‘อีสานป๊อป’ ดังได้เองชั่วข้ามคืน
หากเราไม่จำกัดขอบเขตให้ดนตรีพื้นบ้านอีสานถูกจดจำไว้เพียงแค่วัฒนธรรมพื้นถิ่น แต่สามารถพัฒนาต่อยอดให้ไปไกลกว่าเดิมได้ การปรับเปลี่ยนตัดแต่งดนตรีให้ร่วมสมัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น เครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดการวิวัฒน์ผลงานเหล่านี้ได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ ‘Music Streaming Platforms’ เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในวงการนี้ อำนาจการออกเผยแพร่ผลงานก็เปลี่ยนมือจากค่ายหรือสื่อกระแสหลักไปสู่คนทั่วไปมากขึ้น การผลิตชิ้นงานดนตรีจากศิลปินหน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างมากมายในช่วงที่ผ่านมา เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับราคาอุปกรณ์ผลิตเพลงที่ถูกลง ทำให้กลุ่มคนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้ นักร้องศิลปินจากต่างจังหวัดไม่ต้องเข้ามาแสวงหาโอกาสที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป แต่สามารถแต่งเพลงและอัดเสียงได้เอง พร้อมเผยแพร่ผลงานผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ในภาวะการเปลี่ยนแปลงของสื่อเช่นนี้ จึงทำให้เกิดศิลปินอีสานคลื่นลูกใหม่ ที่ทำเพลงเองโดยไม่อิงกับนายทุน ช่วยให้เกิดความหลากหลายของเนื้อหา รูปแบบดนตรี ภาษา เกิดการผสมผสานใหม่ ๆ โดยไม่ยึดติดกับรูปแบบเดิม ๆ ตัวอย่างศิลปินที่โด่งดังจากกระแสนี้ เช่น ก้อง ห้วยไร่, แซ็ค ชุมแพ, ลำไย ไหทองคำ, รัสมี อีสานโซล, Paradise Bangkok, VKL, จุลโหฬาร และ Taitosmith ซึ่งวิวัฒน์ผลงานจนเกิดเป็น ‘ยุคอีสานใหม่’ ที่เพิ่มความ ‘ป๊อป’ เข้าไปในดนตรีอีสานแบบดั้งเดิม
ภาพการแสดงสดของวง Taitosmith
ที่มาภาพ : youtube.com
นักร้องยุคใหม่ปรับเอาวิธีเอื้อนแบบหมอลำ และเนื้อหาภาษาลาว ไปประยุกต์เข้ากับดนตรีแนวป๊อป แร็ป ร็อก โซล อาร์แอนด์บี ทั้งยังผสมผสานภาษาอังกฤษ ภาษาเขมร เข้ามาในเนื้อเพลง กลายเป็นรสชาติแบบใหม่ที่ไม่ยึดติดกับกรอบขนบเดิม ๆ การปรับเปลี่ยนรูปแบบเหล่านี้ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘อีสานฟีเวอร์’ ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง กระจายไปสู่คนภาคอื่น ทั้งยังมีการประยุกต์ดัดแปลงเนื้อหาไปเป็นสำเนียงภาคอื่น และใส่เครื่องดนตรีสากลเข้ามาร่วมกับเสียงพิณแคนด้วย วิวัฒนาการดนตรีพื้นบ้านอีสานจึงเดินทางมาไกลกว่าจุดตั้งต้น บางบทเพลงในปัจจุบัน เราแทบจะได้กลิ่นของเพลงร็อกมากกว่าเพลงหมอลำลูกทุ่งด้วยซ้ำ แต่ขณะเดียวกันเสียงพิณแคนที่แซมมาในเพลงกลับทำให้เสน่ห์หวนคิดถึงความเป็นอีสานเด่นชัดขึ้นมาด้วยเช่นกัน
‘ISAN MUSIC NEVER DIE’
ดนตรีไม่มีเส้นแบ่ง ม่วนอย่างไทย ก็โกอินเตอร์ได้
‘ดนตรีไม่มีเส้นแบ่ง’ การผสมผสานกลิ่นอายดนตรีข้ามวัฒนธรรมและรูปแบบสื่อ กลายเป็นภาพที่เราจะได้เห็นกันบ่อยมากขึ้น เช่น การหยิบบางคอร์ดของกีตาร์มาใส่กับลูกเอื้อนหมอลำ หรือเอานักร้องหมอลำไปอยู่ปรากฏบนหนังฮอลลีวูด เหล่านี้น่าจะสร้างความคึกคักให้กับวัฒนธรรมที่แทงรากเติบโตมาอย่างยาวนาน ‘รัสมี อีสานโซล’ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “หมอลำคือรากเหง้า คือวัฒนธรรม เพลงอีสานมีความเป็น Improvisation จับอะไรไปใส่ก็ได้ ง่ายต่อการทดลอง มีจังหวะที่น่าค้นหา” เมื่อนำประโยคนี้ไปเชื่อมโยงกับเพลงที่รัสมีรังสรรค์ขึ้นแล้ว ก็ยิ่งทำให้เราเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่า เอกลักษณ์สำคัญของหมอลำคือการปรับเปลี่ยนตัวเอง เลื่อนไหลไปตามวิถีชีวิตและวิธีคิดของคน หมอลำจะไม่มีคำว่าหยุดนิ่ง เคยมีคอมเม้นต์หนึ่งในเพลง ‘เมืองชุดดำ’ ของ รัสมี อีสานโซล บอกว่า “ฟังแล้วเหมือนกินส้มตำที่ลอนดอน” ประโยคนี้ทำให้เราระลึกได้ว่าหมอลำนั้นเดินทางมาไกลจากเดิมแค่ไหน และหมอลำแปลงร่างเป็นอะไรได้มากกว่าที่เราคิด การออกแบบความเป็นไปได้ใหม่ ๆ จึงเป็นเรื่องน่าสนุก และน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับก้าวต่อไปของดนตรีพื้นบ้านอีสาน
จะเป็นอย่างไร ถ้าเสียงพิณเสียงแคนถูกนำไปใช้ในงานแฟชั่นวีค หนังรักวัยรุ่นใช้เพลงกันตรึมขับขานเป็นฉากหลัง หรือร้านดาดฟ้าใจกลางกรุงเล่นเพลงหมอลำตลอดคืน เรื่องราวเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป
วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ปี 2013 เสียงแคนคมใสดังขึ้นในกลางลานคอนเสิร์ตที่ยุโรป เมื่อวง ‘Paradise Bangkok Molam International Band’ ได้มีโอกาสแสดงสดให้ผู้ชมที่ยุโรปได้ชื่นชม รวมไปถึงวงพิณประยุกต์ของญี่ปุ่นที่หยิบเอาพิณ แคน กลอง เบส ฉิ่ง ไปเล่นเฉิดฉายที่โตเกียว รู้จักกันในนาม ‘Monaural Mini Plug’ เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่า ดนตรีพื้นบ้านอีสานจะไม่มีวันตาย การผสมผสานเครื่องดนตรี เนื้อหา ท่วงทำนอง โดยไม่หวงวัฒนธรรมของตัวเองไว้ จะทำให้ความ ‘วัฒนะ’ เกิดขึ้นกับดนตรีพื้นบ้านอีสานอยู่เสมอ และคงอยู่ชั่วลูกสืบหลาน ‘ISAN MUSIC NEVER DIE’
ภาพการแสดงสด วงพิณประยุกต์ญี่ปุ่น Monaural Mini Plug
ที่มาภาพ : fujirockexpress.net
ภาพการแสดงสด วง THE PARADISE BANGKOK MOLAM INTERNATIONAL BAND ในงาน OFF FESTIVAL, KATOWICE ณ ประเทศ POLAND ปี 2013
ที่มาภาพ : youtube.com และ heretoday.dk
แม้กาลเวลาจะหมุนผ่าน โลกจะเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การปรับตัวของคนในทุกวงการ ไม่พ้นแม้วงการดนตรี ศิลปินสมัยใหม่หันมาอยู่ในโลกออนไลน์ สิ่งที่เราจะเห็นในอนาคตคือ รูปแบบการแสดงที่เปลี่ยนไป และอาจมีอะไรน่าสนใจอีกมากเกิดขึ้นในโลกที่เทคโนโลยีดิจิทัลปรับเปลี่ยนทุกวัน และโซเชียลมีเดียกลายเป็นหัวใจสำคัญต่อการสื่อสาร
ในหน้าเฟซบุ๊กของศิลปินหมอลำปัจจุบัน จะเห็นภาพของนักร้องสวมชุดระยิบระยับ จัดไฟในห้องให้อลังการไม่แพ้เสื้อผ้า ใช้ไมค์และลำโพงคุณภาพดี ร้องเพลงตามคำขอของคนที่มาคอมเมนต์ บางคลิปมียอดคนดูกว่า 1 ล้านวิว เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า หมอลำจะไม่มีคำว่าหยุดนิ่ง หมอลำยังจะเชื่อมความสัมพันธ์ผ่านกาลเวลาระหว่าง ‘มนุษย์’กับ ‘มนุษย์’ ดนตรีพื้นบ้านอีสานที่ส่งต่อกันมานี้จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่หล่อหลอมความคิดและค่านิยมของคนในสังคม รวมถึงเป็นตัวเชื่อมผู้คนเข้าด้วยกัน ซึ่งนั่นย่อมนับเป็นคุณค่าทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่ง และเมื่อวัฒนธรรมนี้แทงรากไว้แน่นแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้นไม้ต้นนี้จะไม่แตกยอดออกกิ่งต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
อ้างอิง
1. รายชื่อคณะหมอลำของไทย จาก http://toplinediamond.com/ รวบรวมข้อมูลจาก ลูกทุ่งหมอลำดอทคอม (https://www.facebook.com/luktungmohlum)
2. ฐานข้อมูลศิลปินมรดกอีสาน : ศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ปี 2548 - 2557
3. กำเนิดเพลงไทยสากล สตริงคอมโบ และเพลงลูกทุ่ง จาก Wikipedia
4. วิทยานิพนธ์ อัตลักษณ์ของเพลงอีสานประยุกต์ในยุคอีสานใหม่ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย
5. วิทยานิพนธ์ วิวัฒนาการของเพลงลูกทุ่งในสังคมไทย พ.ศ.2481-2535 บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ศิริพร กรอบทอง
6. 45 ปี ตำนานเสียงอีสาน นกน้อย อุไรพร เผยพิษโควิดหนักที่สุด ทำหนี้ท่วมกว่า 20 ล้าน จาก มติชนออนไลน์
7. รัสมี อีสานโซล : ม่วนกุ๊บอย่างงดงาม