News Update

26.07.2567

พระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 10 เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ขอนำเสนอพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นและขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ขอพระองค์ทรงพระเจริญ 

พระราชกรณียกิจของในหลวง รัชกาลที่ 10 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจมากมายมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จนถึงปัจจุบัน เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทั้งยังพระราชทานความช่วยเหลือเพื่อทำนุบำรุงสุขให้แก่พสกนิกรชาวไทยทั่วประเทศเสมอมา 

ด้านการทหาร 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยในวิทยาการด้านการทหารมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ นอกจากจะทรงรับการศึกษาด้านการทหารจากประเทศออสเตรเลีย ยังทรงพระวิริยะอุตสาหะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ตลอดเวลา โดยเฉพาะในด้านวิทยาการการบิน พระองค์ทรงรับราชการทหารมาโดยตลอดตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2518 และทรงดำรงพระยศทางทหารของ 3 เหล่าทัพ คือ พล.อ. พล.ร.อ. และ พล.อ.อ. โดยทรงเข้าร่วมปฏิบัติการรบเพื่อต่อต้านการก่อการร้ายในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งการคุ้มกันพื้นที่ในบริเวณรอบค่ายผู้อพยพชาวกัมพูชา ที่เขาล้าน จังหวัดตราด 

นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีการด้านการบำรุงขวัญและกำลังใจทหาร อย่างการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงประกอบพิธีเจิมเรือหลวงช้าง เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี ณ ท่าเรือจุกเสม็ด ฐานทัพเรือสัตหีบ อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี เพื่อความเป็นสิริมงคล และเป็นขวัญกำลังใจแก่กำลังพลของกองทัพเรือไทย

ด้านการต่างประเทศ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปทรงเยือนมิตรประเทศทั่วทุกทวีป เช่น อิตาลี จีน ญี่ปุ่น อิหร่าน เนปาล ศรีลังกา เปรู ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ฯลฯ นอกจากจะมุ่งเจริญสัมพันธไมตรีอย่างการเสด็จทรงร่วมพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 และสมเด็จพระราชินีคามิลลา ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่  4 – 7 พฤษภาคม 2566 เพื่อเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างทั้งสองราชวงศ์และสองประเทศนี้ให้แน่นแฟ้นยั่งยืนสืบไป 

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสนพระราชหฤทัยในการทอดพระเนตรและศึกษากิจการต่าง ๆ ที่จะทรงนำประโยชน์มาใช้ในการพัฒนาประเทศไทย เช่น กิจการทหาร ศิลปวัฒนธรรม อุตสาหกรรม และความเป็นอยู่ของประชาชน ฯลฯ 

ด้านการศึกษา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานพระราชทรัพย์ร่วมสนับสนุนให้กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ก่อตั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาในถิ่นทุรกันดาร 6 แห่ง และทรงรับโรงเรียนมัธยมศึกษา 15 แห่งไว้ในพระราชูปถัมภ์ นอกจากนี้ยังมีพระราชดำริให้จัดตั้งมูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทานสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร (ม.ท.ศ.) เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 เพื่อสนับสนุนผู้ศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จนถึงปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยเป็นทุนให้เปล่า นับเป็นการสร้างบุคลากรคุณภาพในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เช่น ครู แพทย์ ตำรวจ ทหาร ที่จะช่วยกันขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จพระราชบิดาและพระราชมารดาไปทรงเยี่ยมราษฎรในชนบทเสมอ จึงมีพระราชประสงค์ให้ราษฎรได้รับการรักษาพยาบาลทั่วถึงและมีมาตรฐาน เป็นที่มาของการจัดตั้งโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชในท้องถิ่นห่างไกลและกันดารขึ้นใน พ.ศ. 2520 สำหรับเงินในการจัดตั้งมาจากการบริจาคของรัฐบาลและประชาชนทั่วไปผ่านมูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช ปัจจุบันมีโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสังกัดกระทรวงสาธารณสุขรวม 21 แห่ง

ปี พ.ศ. 2563 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน “ห้องตรวจหาเชื้อ (Modular Swab Unit)” ซึ่งเป็นหนึ่งใน “โครงการเครื่องช่วยหายใจและเครื่องมือแพทย์พระราชทาน” เพื่อรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 โดยได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้เอสซีจีดำเนินการก่อสร้างให้โรงพยาบาลต่าง ๆ 20 แห่งทั่วประเทศ

ด้านการเกษตร

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานที่ดินส่วนพระองค์ในพื้นที่สวนบ้านกองแห หมู่ที่ 4 ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 1,350 ไร่ ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการจัดตั้งคลินิกเกษตร เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ คลินิกดังกล่าวพระราชทานนามว่า "เกษตรวิชญา" แปลว่าปราชญ์แห่งการเกษตร ทำหน้าที่เผยแพร่ผลงานวิจัยและเทคโนโลยีการเกษตรจากศูนย์ฯ ในรูปแบบของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีชุมชน ทั้งยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมและวิจัยพัฒนาการเกษตรให้เหมาะสมกับพื้นที่

นอกจากนี้ยังทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อส่งเสริมกิจการด้านเกษตรกรรม เช่น เสด็จฯ เป็นองค์ประธานพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ที่ท้องสนามหลวง ซึ่งเป็นพิธีที่จัดขึ้นในเดือนหกของทุกปีหรือราวเดือนพฤษภาคม เพื่อความเป็นสิริมงคลและบำรุงขวัญเกษตรกร ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นระยะเหมาะสมที่จะเริ่มต้นการทำนาอันเป็นอาชีพหลักของประชาชนคนไทย

ด้านสังคม

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาห่วงใยการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนที่ด้อยโอกาส พระองค์เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมชุมชนแออัดของกรุงเทพฯ หลายแห่ง เช่น ชุมชนแออัดพระโขนง เขตคลองเตย เขตยานนาวา รวมทั้งพระราชทรัพย์เพื่อสนับสนุนโครงการของชุมชน เช่น โครงการพัฒนาเด็กเล็กที่ขาดแคลน โครงการปราบปรามยาเสพติด 

นอกจากนี้พระองค์ยังพระราชทานโครงการจิตอาสา “เราทำความดี ด้วยหัวใจ” เพื่อส่งเสริมให้พสกนิกรชาวไทยทุกคนมีความเสียสละ สมัครสมานสามัคคี สร้างสรรค์ความดีเพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน 

ด้านศาสนา 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจทางศาสนาเป็นประจำ เช่น ทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดารามตามฤดูกาล และทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในการตั้งเปรียญพระภิกษุและสามเณร เนื่องในพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวิสาขบูชา

ด้านกีฬา 

ปี พ.ศ. 2558 มีการจัดกิจกรรมปั่นจักรยานทั่วประเทศ ในชื่อกิจกรรม "ปั่นเพื่อแม่" (Bike for Mom) เฉลิมพระเกียรติพระราชมารดาของพระองค์ในวันที่ 16 สิงหาคม และกิจกรรม "ปั่นเพื่อพ่อ" (Bike for Dad) เฉลิมพระเกียรติพระราชบิดาของพระองค์ในวันที่ 11 ธันวาคม โดยระบุว่าเป็นไปตามพระราชดำริขอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ต้องการส่งเสริมการออกกำลังกาย ซึ่งทั้งสองกิจกรรมพระองค์ทรงร่วมปั่นจักรยานในกรุงเทพฯ ด้วย

นอกจากนี้ ยังทรงเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดสนามจักรยาน “สราญจิตมงคลสุข” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ณ บริเวณโครงการพัฒนาบึงสีไฟเฉลิมพระเกียรติฯ อำเภอเมืองพิจิตร จังหวัดพิจิตร เพื่อเป็นการส่งเสริมและเป็นแบบอย่างให้ประชาชนหันมาดูแลรักษาสุขภาพโดยกิจกรรมนี้มีพระราชานุญาตให้จัดขึ้นเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่าสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีความใกล้ชิดกัน อีกทั้งผู้ที่ร่วมกิจกรรมปั่นจักรยานยังแสดงให้เห็นการรวมพลังความสามัคคีของคนไทยทั้งชาติ และเห็นความสำคัญในการออกกำลังกายและส่งเสริมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์

ขอพระองค์ทรงพระเจริญ 

ที่มาบทความ: 
บทความ “10 พระราชกรณียกิจน่ารู้ ของในหลวงรัชกาลที่ 10” จาก sdo.rtarf.mi.th 
บทความ “จิตอาสาเราทำความดี ด้วยหัวใจ โครงการพระราชทานของในหลวง ร.10” จาก thansettakij.com
บทความ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” จาก th.wikipedia.org

ที่มารูปภาพ: 
royaloffice.th, matichon.co.th, mgronline.com

Posted in news on ก.ค. 26, 2024