CEA เปิดพื้นที่ยกระดับศักยภาพนักเขียนบทมืออาชีพ ผ่านการ ‘เรียนจริง’ จาก ‘ตัวจริง’ กับโครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting
ปฏิเสธไม่ได้ว่ารากฐานสำคัญของเรื่องเล่าและเรื่องราวที่มีโอกาสเติบโตและประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์นั้นก็คือ ‘บท’ ทว่าการผลักดันและสนับสนุนอาชีพ ‘นักเขียนบท’ ในประเทศไทยกลับยังมีไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ผู้ชมบางส่วนเกิดการตั้งคำถามถึงคุณภาพและศักยภาพของคอนเทนต์ไทย และหันเหไปบริโภคคอนเทนต์จากต่างประเทศที่ผ่านการปลุกปั้นและได้รับเงินทุนสนับสนุนให้เกิดการยกระดับศักยภาพของบทให้มีคุณภาพและชวนให้ติดตามมากกว่า อีกทั้งปัจจุบันทางเลือกในการรับชมและเข้าถึงคอนเทนต์ต่าง ๆ นั้นง่ายมากขึ้น และมีหลากหลายช่องทางให้เลือกสรร จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ชมก็มีสิทธิ์ในการเลือกชมคอนเทนต์คุณภาพที่ตนเองสนใจเช่นกัน
เมื่อต้องเผชิญกับการแข่งขันจากการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์และกระแส Digital Disruption นักเขียนบทไทยจึงควรได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างจุดแตกต่าง และการส่งเสริมเพื่อผลักดันศักยภาพของบทภาพยนตร์และซีรีส์ไทยให้ก้าวสู่ระดับสากลได้ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย จึงได้จัดทำ ‘Content Lab: Advanced Scriptwriting’ โครงการพัฒนาทักษะการเขียนบทสำหรับมืออาชีพ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 เพื่อสร้างโอกาสให้นักเขียนบทในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ ที่ต้องการพัฒนาผลงานและศักยภาพด้านการเขียนบทโดยเฉพาะ พร้อมบ่มเพาะทักษะที่สำคัญและจำเป็นในการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ตอบรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยและคอนเทนต์โลกที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting จัดทำขึ้นระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 7 กันยายน 2567 โดยผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 37 ทีม 51 คน มีโอกาสได้เรียนรู้จากนักเขียนบทระดับมืออาชีพทั้งในไทยและต่างประเทศ เรียนจริง ทำจริง จาก ‘ตัวจริง’ ของวงการ จากทั้ง 3 คลาสเรียน ได้แก่ Intensive Class คลาสเรียนเข้มข้นที่ส่งตรงหลักสูตรมาจาก Korea Screen Writers Association (KSWA) โดยคุณคิมฮโยมิน (Kim Hyomin) นักเขียนบทคุณภาพที่มาพร้อมประสบการณ์สอนเขียนบทในวงการภาพยนตร์และซีรีส์ของเกาหลีใต้กว่า 20 ปี ต่อด้วย Special Class คลาสพิเศษที่เสริมทักษะที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาบทและการนำเสนอผลงานเชิงพาณิชย์ ที่ได้วิทยากรคุณภาพ 3 ท่านมาร่วมบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ ได้แก่ คุณโชค วิศวโยธิน กับการแบ่งปันวิธีการใช้เครื่องมือ AI ร่วมกับการเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์ คุณเกรียงไกร วชิรธรรมพร กับการแนะนำวิธีการพัฒนาเนื้อหาอย่างไรให้เป็น Pitch Deck ที่สมบูรณ์แบบ พร้อมดึงดูดใจนักลงทุนและผู้ร่วมงาน และ คุณสุภอร รัตนมงคลมาศ (Soupy) ที่มาถ่ายทอดเคล็ดลับการ Pitching อย่างไรให้ทรงพลังภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมสามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคลาสเรียนสุดท้ายกับ Master Class ที่เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมโครงการได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคจากผู้เชี่ยวชาญโดยคุณชเวรัน (Choi Ran) นักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน เจ้าของผลงานซีรีส์ชื่อดัง Mouse (2021) ที่เคยสร้างกระแสฮือฮาจากแฟนซีรีส์เกาหลีอย่างถล่มทลาย และ Black (2017) ซีรีส์แนวลึกลับแฟนตาซีของยมทูตล่าวิญญาณ ที่มาแบ่งปันและแลกเปลี่ยนมุมมอง ก่อนที่ช่วงท้ายของโครงการ แต่ละทีมจะได้นำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการในรอบ Internal Pitch เพื่อคัดเลือก 20 ผลงานที่จะได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานกับผู้ผลิตคอนเทนต์ใน Content Project Market ตลาดซื้อขายคอนเทนต์ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 ซึ่งจัดขึ้นในเดือนตุลาคมต่อไป
คุณคิมฮโยมิน (Kim Hyomin) กล่าวถึงความรู้สึกของการได้เป็นหนึ่งในวิทยากรของโครงการนี้ว่า “รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสมาร่วมงานและพบปะกับบุคลากรในวงการอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย เพราะในช่วงไม่นานมานี้ได้มีโอกาสรับชมผลงานจากประเทศไทยบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ และรู้สึกว่าวงการภายนตร์และซีรีส์ไทยมีความน่าสนใจและมีศักยภาพที่จะสามารถเติบโตได้อย่างสดใส โดยตลอดการอบรมกว่า 1 สัปดาห์ ได้มีโอกาสนำประสบการณ์กว่า 20 ปีมาถ่ายทอดให้กับนักเขียนบทชาวไทยที่เข้าร่วมโครงการ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และเคล็ดลับที่ช่วยให้การเขียนบทน่าสนใจและน่าติดตามมากขึ้น ผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านมีความสนใจและใส่ใจในการเรียนและการพัฒนาผลงานของตนเอง หวังว่าการอบรมในครั้งนี้ผู้เรียนจะนำความรู้และประสบการณ์ไปปรับใช้กับผลงานของตัวเองได้ รวมถึงเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจและแรงผลักดันให้กับนักเขียนชาวไทยทุกท่านในการพัฒนาอาชีพของตนเองและอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เติบโตมากยิ่งขึ้น”
ทางด้านคุณชเวรัน (Choi Ran) นักเขียนบทสายสืบสวนสอบสวน เจ้าของผลงานซีรีส์ชื่อดัง Mouse (2021) อีกหนึ่งวิทยากรที่ได้บอกเล่าและถ่ายทอดแรงบันดาลใจ รวมถึงเทคนิคการเขียนบท กล่าวถึงประสบการณ์การเขียนบทไว้ว่า “แหล่งข้อมูลสำคัญในการเริ่มต้นการเขียนบทมาจากการดูข่าว หรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั่วไปในชีวิตประจำวัน สารคดี รวมถึงการศึกษาเชิงลึกจากผู้รู้จริงในเรื่องนั้น ๆ และนำข้อมูลมาต่อยอดดัดแปลง โดยเมื่อเรื่องราวนั้นมีพื้นฐานมาจากเหตุการณ์จริงก็จะทำให้ผู้ชมสามารถรู้สึกไปกับเรื่องราวและตัวละครได้ไม่ยาก นอกจากนี้อีกหนึ่งสิ่งที่จำเป็นในการเขียนบทคือต้องรู้และเข้าใจกลุ่มคนดูหรือกลุ่มเป้าหมายว่าเป็นใคร เพราะกลุ่มเป้าหมายคนดูที่ได้รับสารก็จะมีผลต่อการพัฒนาเรื่องด้วยเช่นกัน”
นอกจากนี้คุณชเวรันยังแบ่งปันแนวทางและประสบการณ์การทำงานของอาชีพนักเขียนบทที่ยาวนานกว่า 20 ปี ว่าการทำงานที่ถนัดนั้นจะเป็นการทำงานแบบเดี่ยว เพราะเป็นพื้นฐานมาจากการทำงานสารคดีที่ต้องทำงานให้จบในคนเดียว และมองว่าถึงแม้จะใช้เวลาในการทำงานที่นานกว่าทำงานเป็นทีม แต่หนึ่งสิ่งที่เป็นข้อดีของการทำงานรูปแบบนี้ คือเรื่องราวและทิศทางการดำเนินเรื่องที่จะมีความชัดเจนและแน่นอน โดยส่วนตัวคุณชเวรันมีการทำงานที่ค่อนข้างละเอียด ยกตัวอย่างเช่น การเขียนเรื่องย่อ (Synopsis) ที่โดยทั่วไปนักเขียนจะเริ่มต้นจากการเขียนเรื่องย่อด้วยความยาว 1-3 หน้า แต่สำหรับคุณชเวรันเริ่มต้นเขียนขั้นต่ำอยู่ที่ 100 หน้า เพราะรายละเอียดทั้งหมดนี้จะช่วยให้การทำงานในขั้นตอนต่อไปราบรื่น และทำให้ผู้ที่ได้อ่านเรื่องย่อเข้าใจเรื่องราวอย่างเป็นรูปธรรมได้มากยิ่งขึ้น
หลังการอบรมกว่า 1 สัปดาห์ที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหา ความรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และมุมมอง ทั้งจากอาจารย์ผู้สอนและผู้เข้าร่วมทุกท่าน แต่ละทีมก็สามารถพัฒนาผลงานและทักษะที่จำเป็นต่อการนำเสนอในเชิงพาณิชย์ได้ดียิ่งขึ้นอย่างชัดเจน นับเป็นการตอกย้ำเป้าหมายของโครงการ Content Lab 2024 ในปีนี้ที่ได้ขยายขอบเขตการยกระดับและพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์สายคอนเทนต์ให้กว้างขึ้น โดยรวมถึงทักษะการเขียนบท ในโครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting ที่มุ่งมั่นพัฒนาและผลักดันนักเขียนบทภาพยนตร์และซีรีส์ไทย ให้สามารถรังสรรค์ผลงานการเขียนบทที่สร้างสรรค์ จับใจ น่าจดจำ มีมาตรฐานระดับสากล รวมทั้งตอบโจทย์กลุ่มผู้ชมในประเทศเป้าหมายมากขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยให้เติบโตได้ในระดับสากล
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024 ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th
Posted in news on พ.ย. 19, 2024