News Update

22.01.2568

เปิดประสบการณ์ “มองไม้มุมใหม่” ผ่านนิทรรศการจากประเทศฟินแลนด์ เมืองนวัตกรรมยั่งยืน ด้วยการออกแบบทุกสิ่งให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

หากเอ่ยถึงประเทศที่รักสิ่งแวดล้อม คงต้องยกให้ “ฟินแลนด์” เป็นอันดับต้น ๆ จากการที่รัฐบาลฟินแลนด์มุ่งเน้นสนับสนุนการลงทุนและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้วัสดุจากไม้สน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศนั้น ผู้ประกอบการฟินแลนด์สามารถนำไม้มาผสมผสานกับวัสดุใหม่ ๆ จนได้ผลลัพธ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถใช้ได้ในชีวิตประจำวัน ตั้งแต่ผ้าปิดแผล เฝือก ไปจนถึงวัสดุขึ้นรูปอย่างเฟอร์นิเจอร์ อ่างอาบน้ำ อ่างล้างหน้า ที่มีไม้เป็นส่วนประกอบ สร้างมุมมองใหม่ในการพัฒนาไม้เพื่อสิ่งแวดล้อมให้มีความหลากหลายมากขึ้น  

นิทรรศการ “มองไม้มุมใหม่ (UUSI PUU : NEW WOOD EXHIBITION)” โดยสถานเอกอัครราชทูตฟินแลนด์ประจำประเทศไทย และศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ หรือ MTEC ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงรวบรวม 28 นวัตกรรมแปรรูปวัสดุจากป่าสนสู่ของใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์ ได้ลองมองวัสดุไม้ในมุมมองใหม่และนำไปสู่การออกแบบเพื่อความยั่งยืน ภายใต้แนวคิด Circular Design ที่กำลังได้รับความสนใจจากผู้บริโภคยุคใหม่ 

“ไม้สน เมดอินฟินแลนด์” การค้าไม้สนแบบยั่งยืน 

ฟินแลนด์เป็นหนึ่งในผู้ผลิตไม้สนและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากไม้สนรายใหญ่ที่สุดในยุโรป ทั้งยังเป็นผู้ผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษแข็งรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ซึ่งการทำอุตสาหกรรม “ไม้สน เมดอินฟินแลนด์” มุ่งเน้นการใช้ไม้อย่างคุ้มค่าและไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยการใช้ทุกส่วนของต้นไม้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งเศษไม้ เส้นใย ขยะชีวภาพ ล้วนผ่านกระบวนการที่นำกลับมาใช้ใหม่ให้กลายเป็นของใช้ประจำวัน เช่น ยา อาหารเพื่อสุขภาพ พลาสติก เฟอร์นิเจอร์ สิ่งทอ หรือก๊าซพลังงานแก่รถขนส่งสาธารณะ เนื่องจากภาคเอกชนต่างแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมการใช้เส้นใยไม้เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ทำจากไม้ เช่น ไมโครไฟบริล เส้นใยนาโนเซลลูโลส ไบโอคอมโพสิต (Bio-composites) ที่ผสานไม้และเส้นใยเข้ากับวัสดุอื่น จึงทำให้ฟินแลนด์กลายเป็นต้นแบบด้านเศรษฐกิจชีวภาพด้านป่าไม้ (Forest bioeconomy) สำหรับประเทศอื่น ๆ ในการเข้ามาเรียนรู้การใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

“ฟินแลนด์คิด ฟินแลนด์ทำ” เจาะ 5 นวัตกรรม จากป่าสนสู่เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน 

นิทรรศการ “มองไม้มุมใหม่ (UUSI PUU : NEW WOOD EXHIBITION)” จะพาไปทำความรู้จัก 28 นวัตกรรมจากการแปรรูปวัสดุจากไม้สนให้เป็นเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ที่สะท้อนศักยภาพการแปรรูปไม้สนให้เป็นอะไรได้มากกว่าที่คิด ตั้งแต่วัสดุที่ช่วยรักษาอาการบาดเจ็บของมนุษย์และสัตว์เลี้ยง รวมถึงของตกแต่งภายในบ้าน เช่น  

1. ผ้าปิดแผลที่ทำจากต้นไม้ ใช้ง่ายไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย และหลุดเองเมื่อแผลหาย ไม้เบิร์ช ถือเป็นไม้เนื้อแข็งที่เป็นที่นิยมมากในยุโรป ส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตเฟอร์นิเจอร์ งานก่อสร้าง และของตกแต่งต่าง ๆ จนแบรนด์ FibDex® ได้นำมาผลิตเป็นผ้าปิดแผล โดยนำไม้เบิร์ชจากแหล่งเพาะปลูกป่าอย่างยั่งยืนมาสกัดเป็นเส้นใยนาโนเซลลูโลส ที่มีสารประกอบที่มีคุณสมบัติดีต่อสุขภาพ ทั้งช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ผิวหนังสมานตัวได้ดี ลดอาการปวด และไม่ระคายเคืองผิว ข้อดียิ่งกว่านั้นคือผลิตภัณฑ์นี้ลบภาพจำของพลาสเตอร์ยาที่ต้องเปลี่ยนบ่อยครั้งให้หมดไป เพราะสามารถใช้เพียงครั้งเดียว และจะหลุดออกไปเองเมื่อแผลหายสนิท จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการดูแลบาดแผล และลดขยะจากพลาสเตอร์ยาได้อีกด้วย 

2. เฝือกจากเส้นใยไม้ และพลาสติกย่อยสลาย ไร้ฝุ่น ไม่ระคายเคืองผิว แผ่นเฝือก หรืออุปกรณ์ที่ใช้ดามกระดูกและข้อ มักผลิตจากปูนปลาสเตอร์หรือพลาสติกสังเคราะห์ ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพราะต้องใช้แล้วทิ้ง ขั้นตอนการผลิตก่อให้เกิดฝุ่นและใช้น้ำในการผลิตอย่างมหาศาล จึงเกิดการพัฒนา Woodcast® วัสดุหล่อแบบใหม่ที่ผลิตจากไม้แท้และพอลิเมอร์ที่ย่อยสลายได้ทางชีวภาพ ซึ่งไม่มีสารพิษอันตราย สารก่อภูมิแพ้ หรือฝุ่น จึงช่วยลดปัญหาการระคายเคืองผิวและการก่อฝุ่นจำนวนมากไปได้ ถือเป็นวัสดุที่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วย เพราะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพราะสามารถนำวัสดุที่เหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ได้ อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนขนาดของแบบหล่อได้ตามความจำเป็น ทำให้โรงพยาบาล 1 แห่งสามารถลดขยะได้อย่างน้อย 500 กิโลกรัมและน้ำ 10,000 ลิตร 

3. เฟอร์นิเจอร์จากวัสดุคอมโพสิต ให้คุณเลือกผิวสัมผัสให้นุ่มคล้ายผ้าหรือแข็งคล้ายพลาสติกได้ตามต้องการ VTT Technical Research Centre of Finland เป็นสถาบันวิจัยชั้นนำของยุโรป ที่พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมอย่างยั่งยืนในฟินแลนด์ ล่าสุดสถาบันได้ผลิตวัสดุคอมโพสิตที่เรียกว่า HiPer ขึ้นมา โดยใช้เทคนิคการขึ้นรูป 3 มิติด้วยความร้อนและความดัน วัสดุนี้สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลายได้ เหมาะกับการใช้กับงานกับเฟอร์นิเจอร์ ข้อดีคือสามารถเลือกผิวสัมผัสให้มีความนุ่มคล้ายผ้าสักหลาด หรือผิวสัมผัสแข็งคล้ายพลาสติกได้ตามต้องการ ขึ้นอยู่กับการใช้งาน 

4. ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ ที่ผลิตจากไม้คอมโพสิตกันน้ำ 100% ชิ้นแรกของโลก ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำส่วนใหญ่มักผลิตจากเซรามิกและหิน จึงทำให้แบรนด์ Woodio ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำ และการออกแบบตกแต่งภายในชั้นนำ ตั้งใจผลิตวัสดุชีวภาพขึ้นมาทดแทน โดยคิดค้นวัสดุที่เรียกว่า Woodio® หรือวัสดุที่ทำจากไม้ผสมกับเรซิน จนกลายเป็นไม้คอมโพสิตกันน้ำ 100% ชิ้นแรกของโลก โดยสามารถนำมาผลิตเป็นอ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ ฝารองนั่งชักโครก และแผ่นวัสดุตกแต่งต่าง ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม้ที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมเป็นเศษไม้ที่มาจากแหล่งป่าไม้ยั่งยืน หรือเศษไม้ที่เหลือจากอุตสาหกรรมแปรรูป ดังนั้น สำหรับคนรักบ้าน การเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ในห้องน้ำจากวัสดุนี้ นอกจากจะได้ใช้งานผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ยังได้สนับสนุนการออกแบบบ้านที่เป็น Eco-House หรือบ้านรักษ์โลกอีกด้วย 

5. เครื่องทำน้ำอัดลมที่ใช้วัสดุชีวภาพแทนพลาสติก สำหรับคนรักเครื่องดื่มรสซ่าที่อยากเปลี่ยนภาพจำเครื่องทำน้ำอัดลมรูปแบบเดิม ซึ่งล้วนผลิตจากสแตนเลส พลาสติก (ผลิตจากฟอสซิล) อะลูมิเนียม หรือเหล็ก ขอชวนมาทำความรู้จักเครื่องทำน้ำอัดลมที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติจากแบรนด์ Mysoda วัสดุที่ใช้ผลิตเป็นวัสดุชีวภาพ ผลิตจาก UPM Formi EcoAce หรือเส้นใยไม้ผสมกับชีวพอลิเมอร์ที่ได้จาก UPM BioVerno หรือน้ำมันดิบชีวภาพ ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนจากธรรมชาติ วัสดุทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์นี้ล้วนมาจากการปลูกป่าอย่างยั่งยืน และบางส่วนจากเศษที่เหลือจากการผลิตเยื่อกระดาษ นับได้ว่าเป็นเครื่องผลิตของอร่อยที่ดีต่อใจ อร่อยปาก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย

สำหรับนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ นักวิจัยและนักพัฒนา ที่มีแนวคิดต่อยอดการผลิตวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถชมนิทรรศการ “มองไม้มุมใหม่ (UUSI PUU : NEW WOOD EXHIBITION)” เป็นครั้งแรกได้ที่ TCDC เชียงใหม่ ณ  Function Room ชั้น 2 ระหว่างวันที่ 28 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์) เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย!

และติดตามการจัดนิทรรศการนี้ที่จะหมุนเวียนไปจัดที่ TCDC ในภูมิภาคอื่น ๆ และสถานที่ของสถาบันการศึกษาภายใต้เครือข่าย mini TCDC ทั่วประเทศ ตลอดเดือนมีนาคม - พฤศจิกายน 2568 โดยสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่เพจเฟซบุ๊ก Creative Economy Agency, TCDC และ mini TCDC รวมถึงเว็บไซต์ www.cea.or.th 

Posted in news on ม.ค. 22, 2025