Research & Report

เปิดกลยุทธ์สร้างแบรนด์เมืองให้แข็งแกร่ง จาก 6 ผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองและผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก

หนึ่งในกิจกรรมที่น่าสนใจภายใต้งาน THACCA SPLASH : Soft Power Forum 2024 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 คืองานเสวนาหัวข้อ Culture and Creative Cities: Strategies for Impactful City Branding จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานที่ส่งเสริมการขับเคลื่อนย่านและเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย งานเสวนานี้ชวนผู้สนใจมาร่วมค้นพบกลยุทธ์สำคัญที่เมืองต่าง ๆ ใช้สร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งให้แก่เมือง (City Brand Identity) จาก 6 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเมืองและผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศ ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง แบ่งปันประสบการณ์ และค้นหาแนวทางในการขับเคลื่อนเมืองไปสู่ความสำเร็จ ผ่านการค้นหาสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ และการสร้างแบรนด์เมืองที่แข็งแกร่ง เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและการลงทุน รวมถึงยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ 

วิทยากรทั้ง 6 ท่านประกอบด้วย 

1. Mr. Feng Jing 
หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ

2. Dr.hab. Magdalena Florek 
คณะกรรมการสมาคมการสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่นานาชาติ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์
พร้อมด้วยตัวแทนจากสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) 4 เมือง 3 ประเทศ ได้แก่

3. Ms. Susan Finnegan 
ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ขององค์กรด้านวัฒนธรรมเมืองลิเวอร์พูล 
ลิเวอร์พูล สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านดนตรี สหราชอาณาจักร

4. Mr. Park Kiyong 
อดีตประธานสภาภาพยนตร์เกาหลี (KOFIC) และศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์แห่ง Dankook University School of Theatre and Film ปูซาน สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านภาพยนตร์ สาธารณรัฐเกาหลี

5. คุณวันเพ็ญ มังศรี 
รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี
เพชรบุรี สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านอาหาร ประเทศไทย 

6. คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ 
รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพฯ สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านการออกแบบ ประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ

โดย Mr. Feng Jing 
หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ

งานเสวนาเริ่มต้นด้วยปาฐกถาพิเศษเรื่องการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO) และแผนยุทธศาสตร์ในการทำให้เมืองต่าง ๆ มีซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) อันเป็นเอกลักษณ์ โดย Mr. Feng Jing หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพฯ เขากล่าวว่า “ยูเนสโกมุ่งสร้างโครงข่ายวัฒนธรรมและความสร้างสรรค์เพื่อเชื่อมโยงผู้คนเข้าไว้ด้วยกัน การส่งเสริมศิลปะและความคิดสร้างสรรค์เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เมืองเติบโตทางเศรษฐกิจ มีการจ้างงานมากขึ้น และสร้างความยั่งยืน นอกจากนี้ยูเนสโกยังขยายความร่วมมือไปยังระดับนานาชาติ โดยมีประเด็นสำคัญ คือ (1) ขยายเมืองสร้างสรรค์ออกไปให้มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากขึ้น (2) มุ่งมั่นและจัดทำนโยบายในระดับท้องถิ่นหรือเมือง และ (3) ใช้กรอบการทำงาน (Framework) และเครื่องมือต่าง ๆ ของยูเนสโกให้เหมาะสมกับประเทศไทย ทั้งนี้การเพิ่มจำนวนเมืองสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นเพียงความสำเร็จเดียว แต่ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่ควรปฏิบัติในระยะยาว เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน”

เมืองที่ดี น่าอยู่ และมีวัฒนธรรม ทำให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริมการสร้าง Soft Power

Mr. Feng Jing กล่าวต่อว่า “ยูเนสโกมีแผนยุทธศาสตร์ในการทำให้เมืองต่าง ๆ มี Soft Power อันเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะเมือง โดยใช้ 4 กลยุทธ์ในแผนปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ (1) พลิกโฉมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การแข่งขันระดับโลก (2) เพิ่มมูลค่าภาคการผลิตและบริการด้วยความสร้างสรรค์ (3) พัฒนาและเพิ่มจำนวนเมืองสร้างสรรค์ (4) อัปเกรดและเชื่อมโยงปัจจัยสนับสนุนสำหรับเศรษฐกิจสร้างสรรค์”

“ทั้งนี้ เรามุ่งสร้างระบบที่ทำให้เมืองมีการเปลี่ยนแปลง โดยพัฒนาทั้งอุตสาหกรรม วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ เพราะเมืองที่ดี น่าอยู่ และมีวัฒนธรรม ทำให้เกิดความยั่งยืน โดยมีแรงขับเคลื่อน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมต้องมีความหลากหลาย มีรูปแบบเศรษฐกิจแบบไดนามิกที่สร้างการเติบโตและนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษา การจ้างงาน และการอบรมทักษะต่าง ๆ ด้านธรรมาภิบาล ผู้นำของเมืองต่าง ๆ ต้องมีการบริหารจัดการที่ชัดเจน โดยใช้กลยุทธ์และการบูรณาการอย่างเหมาะสม รวมถึงภาครัฐที่ต้องปฏิบัติการด้วยทักษะที่ดี ด้านสังคม ผู้คนอยู่ร่วมกันได้อย่างเหนียวแน่น ชุมชนเชื่อมโยงและสื่อสารกันได้ทั่วถึง ที่สำคัญต้องมีความปลอดภัยและมีสังคมที่ดี และ ด้านสิ่งแวดล้อม ความต้องการขั้นพื้นฐานและทรัพยากรต้องเพียงพอต่อความต้องการ”

รัฐบาลและท้องถิ่นควรสนับสนุนทุนและพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์

“รัฐบาลและท้องถิ่นต่าง ๆ ต้องให้ความสำคัญเรื่องโครงสร้างทางวัฒนธรรม และสนับสนุนศิลปินหรือนักสร้างสรรค์ในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ ทั้งเรื่องทุนและพื้นที่ในการออกแบบ เพราะพวกเขาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เกิดผลงานต่าง ๆ ทั้งหมดนี้มีบทบาทเป็นอย่างยิ่งที่จะทำให้ Soft Power เกิดขึ้นได้ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการสร้างความหลากหลายทางวัฒนธรรม โดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์ มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ในขณะที่การส่งเสริมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้เกิดการอนุรักษ์วัฒนธรรมโดยเฉพาะด้านความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของโลก กล่าวโดยสรุปคือ Soft Power ของเมืองต่าง ๆ เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นพลังสำคัญยิ่งในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม การแสดงออกทางศิลปวัฒนธรรม และการออกแบบ โดยสามารถทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้” 

“ยูเนสโกพร้อมสนับสนุนความพยายามทั้งหมดนี้ ผ่านอนุสัญญา UNESCO 2005 โดยมีเป้าหมายหลัก คือ (1) สนับสนุนระบบธรรมาภิบาลเพื่อวัฒนธรรมที่ยั่งยืน (2) สนับสนุนสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และส่งเสริมให้เกิดความคล่องตัวของศิลปินผู้ผลิตผลงาน (3) ผนวกรวมวัฒนธรรมเข้าสู่กระบวนการพัฒนาที่มุ่งหวังความยั่งยืน โดยคำนึงถึงค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (4) สนับสนุนสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ทั้งหมดนี้จะเปิดโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์เกิดขึ้นและเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

เสวนาโดย 1 วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเมือง และ 4 ผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกจาก 4 เมือง 3 ประเทศ 

โดย Dr.hab. Magdalena Florek, Ms. Susan Finnegan, Mr. Park Kiyong, คุณวันเพ็ญ มังศรี และคุณศานนท์ หวังสร้างบุญ 

ความสำคัญของการสร้างแบรนด์เมือง (City Branding) ที่ช่วยส่งเสริม Soft Power และความท้าทายในการสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในเมือง 

สร้างเมืองด้วยการสื่อสารสัญลักษณ์

Dr. hab. Magdalena Florek คณะกรรมการสมาคมการสร้างอัตลักษณ์เชิงพื้นที่นานาชาติ ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า “City Branding คือสิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อเราพูดถึงแบรนด์ การสนับสนุนวิสัยทัศน์ และการพัฒนาให้บรรลุเป้าหมายผ่านการสร้างภาพลักษณ์ของเมือง เพื่อให้เกิดการรับรู้และสามารถส่งมอบประสบการณ์ได้อย่างแท้จริง โดยกำหนดเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ผู้อาศัย และผู้ที่มีส่วนร่วมในเมืองเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในเอกลักษณ์ของท้องถิ่นตนเอง การสร้างแบรนด์เมืองไม่ใช่การสร้างผลิตภัณฑ์หนึ่งอย่างของเมืองนั้น แต่ต้องเชื่อมโยงและสื่อสารสัญลักษณ์ของเมืองให้ชัดเจน ซึ่ง Soft Power มีพลังดึงดูดและมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของคนในเมืองและในประเทศ ดังนั้นการสร้างแบรนด์เมืองจึงมีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่น่าดึงดูด ซึ่งจะทำให้ผู้คนเกิดการรับรู้และจดจำ ส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และการลงทุนทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น”

“City Branding ทำให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกัน ประชาชนเข้าถึงเมืองได้ และเมืองก็เข้าถึงประชาชนได้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดในเมืองล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง Soft Power เราต้องดึงคนเหล่านี้ให้เข้ามามีส่วนร่วม เพื่อช่วยสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เมือง คนเหล่านี้จะต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่สามารถสร้างแบรนด์และอัตลักษณ์ของเมืองขึ้นมา การดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาทำโปรเจ็กต์ในเมืองร่วมกันเป็นเรื่องสำคัญ และต้องมีการวางแผนเพื่อให้เกิดความสำเร็จ”

สร้างเมืองด้วยไอเดียใหม่ 

Ms. Susan Finnegan ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ขององค์กรด้านวัฒนธรรมเมืองลิเวอร์พูล จากลิเวอร์พูล สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านดนตรี สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “ทุกคนคงมองเห็นแล้วว่าลิเวอร์พูลได้ออกจากคำจำกัดความของการเป็นเพียงเมืองของศิลปิน The Beatles และเมืองแห่งสโมสรฟุตบอลได้สำเร็จแล้ว เราสั่งสมความเป็นตัวเองมากว่า 20 ปีเพื่อสร้างแบรนด์ลิเวอร์พูล สำหรับวิสัยทัศน์ของเมือง เราต้องเปลี่ยนทุกอย่าง ทดลองสิ่งใหม่ ไอเดียใหม่ เพื่อสร้างพลังและศักยภาพที่หลากหลายให้แก่ประเทศ กลยุทธ์ของเรานั้นหลากหลาย โดยครอบคลุมทั้งเรื่องที่พักอาศัยในเมืองจำนวนมาก ที่รองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่และสะดวกสบาย เมืองสะอาด ตลอดจนการเดินทางปลอดภัย นอกจากนี้ ลิเวอร์พูลยังสร้างแบรนด์เมืองแบบ 360 องศา โดยวางแผนด้านการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น คอนเสิร์ตล่าสุดของเทย์เลอร์ สวิฟต์ เราได้สร้างคอนเทนต์บน TikTok เกี่ยวกับสถานที่ที่เธอเดินทางไปท่องเที่ยว ซึ่งอาจทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการแต่งเพลง ฯลฯ นับว่ารายได้กว่าครึ่งของลิเวอร์พูลเกิดจากธุรกิจท่องเที่ยว”

“ความท้าทายใหญ่ ๆ ไม่ได้เกิดกับลิเวอร์พูลเท่านั้น แต่ยังเกิดกับทุกเมืองทั่วสหราชอาณาจักร มีการทำวิจัยเกี่ยวกับการท่องเที่ยว พบว่า 30% ของคนยุโรปไม่รู้จักเมืองอื่นนอกจากลอนดอน จำนวนคนมาท่องเที่ยวน้อยลง แน่นอนว่าเราอยากทำให้ลิเวอร์พูลสมกับเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านดนตรีมากขึ้น และไม่หายไปตามกาลเวลา จึงได้มีการส่งเสริมศิลปินรุ่นใหม่ นอกจากนี้ ถนนหนทางต่าง ๆ ของลิเวอร์พูลก็สามารถพัฒนาให้เป็นพื้นที่ที่น่าเดินมากขึ้น โดยเราพยายามจะสร้างให้เป็นถนนแห่งศิลปวัฒนธรรม ซึ่งลิเวอร์พูลก็พยายามตามเทรนด์และใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อดึงดูดผู้คนให้มาท่องเที่ยว และพัฒนาคอนเทนต์ที่ดึงดูดให้ศิลปินต่าง ๆ เข้ามาจัดงานในลิเวอร์พูล” 

สร้างเมืองด้วยการเปลี่ยนภาพลักษณ์

Mr. Park Kiyong ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์แห่ง Dankook University School of Theatre and Film จากปูซาน สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านภาพยนตร์ สาธารณรัฐเกาหลี กล่าวว่า “เมื่อพูดถึงเกาหลีใต้ ใคร ๆ ต่างนึกถึงเมืองโซล ผู้คนพากันหลั่งไหลไปกระจุกตัวอยู่ที่โซลและเมืองใกล้เคียงเท่านั้น ปูซานได้ชื่อว่าเป็นเมืองของคนแก่ เพราะคนหนุ่มสาวต่างย้ายเข้าเมืองโซลกันหมด จึงต้องพยายามค้นหาความรุ่งเรือง และผันตัวให้กลายเป็นเมืองแห่งภาพยนตร์ ด้วยการจัดเทศกาลภาพยนตร์ Busan International Film Festival ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1996 ในขณะที่ผมนั้นก็เป็นผู้ก่อตั้ง Asian Film Academy (AFA) มาตั้งแต่ปี 2005 โดยเป็นสมาคมที่สร้างภาพยนตร์ทุกประเภท การปลูกฝังสิ่งนี้ไว้ทำให้หลายคนเกิดความสนใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์และสร้างความยั่งยืนในอนาคต”

“สำหรับปัญหาใหญ่ของปูซานในตอนนั้น คือทั้งภาพยนตร์และซีรีส์ไปกระจุกตัวอยู่ที่โซล ดังนั้น 98% ของรายได้จึงอยู่ที่โซลและกองกีที่อยู่รอบ ๆ โซล รัฐบาลจึงยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ โดยมี พรบ. พัฒนาประเทศชาติอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ผมจึงแนะนำให้ปูซานสร้างตัวเองขึ้นมาเป็นศูนย์กลางเรื่องการสร้างภาพยนตร์ มีการเรียนการสอนวัฒนธรรมการดูภาพยนตร์ และทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำภาพยนตร์ โดยมีเป้าหมายในการขยายเมืองให้เป็นศูนย์กลางภาพยนตร์ของเอเชีย”

สร้างเมืองด้วยเรื่องราวท้องถิ่น 

คุณวันเพ็ญ มังศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี จากเพชรบุรี สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านอาหาร ประเทศไทย กล่าวว่า “จังหวัดเพชรบุรีมีความโดดเด่น 2 ด้าน คือ สกุลช่างและอาหาร ซึ่งเป็น Soft Power ของจังหวัด แต่เราเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโกด้านอาหาร เนื่องจากการพัฒนาอาหารสามารถสร้างรายได้และคุณภาพชีวิตให้คนในท้องถิ่น เราสำรวจและพัฒนาอาหารพื้นถิ่น เช่น ข้าวแช่ แกงหัวตาล ก๋วยเตี๋ยวน้ำแดง ให้มีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีในการยืดอายุอาหาร นอกจากนี้ยังมีการสร้างแบรนด์เมืองด้วยโลโก้และมาสคอต และประชาสัมพันธ์ผ่านโซเชียลมีเดีย อีกหนึ่งกลยุทธ์คือการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เช่น ถนนคนเดินทุกวันเสาร์และตลาดน้ำจามจุรี โดยสร้างความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตั้งแต่ผู้ผลิตอาหารจนถึงการขนส่ง ภาครัฐช่วยสนับสนุนและให้ความรู้ เมื่อเพชรบุรีเป็นเมืองสร้างสรรค์แล้ว เยาวชนจะได้ไม่ต้องย้ายไปทำงานในเมืองหลวง ภูมิใจในบ้านเกิด ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น GDP สูงขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อันจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดและการพัฒนาที่ยั่งยืน"

“ความท้าทายคือการทำให้แบรนด์เพชรบุรีได้รับความเชื่อมั่นและการยอมรับจากผู้บริโภค เพชรบุรีจึงต้องรักษาคุณภาพและมาตรฐานของอาหาร โดยการอบรมผู้ประกอบการและการวิจัยพัฒนาเมนูใหม่ ๆ เช่น Chef’s Table และอาหารฟิวชัน เราต้องพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว และสร้างความร่วมมือกับผู้ประกอบการและภาคการศึกษา โดยเน้นความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ต่าง ๆ พร้อมมุ่งสู่ Zero Waste ลดการเกิดคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว”

สร้างเมืองด้วย Visual Identity

คุณศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร จากกรุงเทพฯ สมาชิกเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ด้านการออกแบบ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามาทำความรู้จักและเข้าใจว่าทำไมกรุงเทพฯ ต้องมี Visual Identity และจะนำไปต่อยอดอย่างไร ปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ คือการเข้าถึงยาก หน่วยงานราชการถูกมองว่าอยู่ห่างจากประชาชน สิ่งที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) กำลังทำคือการสื่อสารที่เป็นเอกภาพมากขึ้น ทำอย่างไรให้ประชาชนรับรู้ได้ทันทีว่าเป็นกรุงเทพมหานคร หน่วยงานของรัฐ และเมืองของเรา Visual Identity ช่วยให้เข้าถึงง่าย สร้างภาพจำ และความภูมิใจว่าเมืองนี้คือของเรา โดยไม่ต้องเปลี่ยนอะไรมากมาย เป้าหมายหลักของเราคืออยากให้เข้าถึงง่าย จึงสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ประชาชนเห็นนโยบายของกรุงเทพมหานครหรือสามารถส่งข้อร้องเรียนต่าง ๆ ได้เพียงแค่คลิกเข้าเว็บไซต์ แม้ว่า Visual Identity จะเป็นเรื่องของการดีไซน์และกราฟิก แต่ก็นับว่ามีส่วนช่วยให้นโยบายหรือกิจกรรมที่จัดในย่านต่าง ๆ เข้าถึงประชาชนได้ง่ายขึ้น”

“เมื่อกรุงเทพมหานครเปลี่ยนสติกเกอร์ เราได้รับผลตอบรับทั้งเชิงบวกและลบ แต่นี่เป็นโอกาสในการพูดถึงสิ่งต่าง ๆ ของเมือง เราจึงใช้วิกฤตนี้เป็นโอกาสในการสื่อสารกับประชาชนเพื่อให้พวกเขารู้สึกเป็นเจ้าของและรักเมือง ๆ นี้ ด้วยการแจกฟอนต์ 'เสาชิงช้า' ให้ประชาชนนำไปใช้และต่อยอดได้มากขึ้น นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังร่วมมือกับสมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย (Thai Graphic Designers Association: ThaiGa) เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบตัวอาคาร และ Visual Identity รวมถึงการสร้างสโลแกนและสิ่งที่คนรู้สึกร่วม โดยจะมีการประกวดเร็ว ๆ นี้ เพื่อทำให้เมืองกับประชาชนใกล้ชิดกันมากขึ้น”