สืบสานพระราชปณิธาน เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษาพระพันปีหลวง รักษา “ผ้าไทย” สมบัติคู่ชาติให้ยั่งยืน
เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2565 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA รวบรวมพระราชกรณียกิจด้านการทรงงาน “ผ้าไทย” เพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ พร้อมร่วมสืบสานพระราชปณิธานรักษาผ้าไทยอันเป็นสมบัติคู่ชาติ และขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรให้ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน ทรงมีพระพลานามัยแข็งแรง ทรงพระเกษมสำราญ สถิตเป็นพระมิ่งขวัญของปวงประชาสืบไป
Credit: matichon.co.th
กว่า 60 ปีที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงให้ความสำคัญและทุ่มเทพระวรกายในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมการใช้ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างในการใช้ผ้าไทยด้วยพระองค์เอง เพื่อให้ประชาชนมีรายได้เสริม ตลอดจนเพื่อธำรงรักษาและฟื้นฟูศิลปหัตถกรรมแบบไทยโบราณที่กำลังจะเสื่อมสูญไปตามกาลเวลาให้กลับมาแพร่หลาย นับเป็นพระราชกรณียกิจสำคัญที่ปัจจุบันผลิดอกออกผลอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนสมดั่งพระราชปณิธานในทุกมิติ
พระพันปีหลวงโปรดผ้าทอพื้นเมืองมาก ทรงสนพระราชหฤทัยและเล็งเห็นคุณค่าความงดงามอันมีเอกลักษณ์ของผ้าทอท้องถิ่น ย้อนกลับไปในปี 2513 พระองค์ได้โดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ไปทรงเยี่ยมประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม อ. นาหว้า จ. นครพนม ทอดพระเนตรหญิงชาวบ้านที่มารอรับเสด็จนุ่งซิ่นผ้าไหมมัดหมี่ที่มีความสวยงาม ทรงสนพระราชหฤทัยยิ่งและไต่ถามจนได้ความว่าชาวบ้านทอผ้าไหมมัดหมี่ไว้ใช้เองทุกครัวเรือน
Credit: matichon.co.th
คนไทยส่วนใหญ่ที่อาศัยอยู่ทางภาคอีสานนั้นมีเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก ในขณะเดียวกันการทอผ้าก็เป็นภูมิปัญญาและสิ่งที่ชาวบ้านคุ้นเคย แต่ละพื้นถิ่นพื้นจะมีลวดลายและความงามของการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ ขาดเพียงผู้สนับสนุน ส่งเสริม และเปิดโอกาสให้ช่างทอผ้าชาวบ้านเหล่านั้นได้เห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ พระพันปีหลวงจึงมีพระราชดำริว่าควรส่งเสริมให้ราษฎรทอผ้าไหมมัดหมี่เป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้อีกทางหนึ่ง และมีพระราชเสาวนีย์ให้ชาวบ้านทอผ้าส่งถวาย พระองค์จะทรงรับซื้อ ทำให้เกิดการฟื้นฟูและส่งเสริมหัตถกรรมทอผ้า นอกเหนือจากอาชีพเกษตรกรรม
Credit: matichon.co.th
นอกจากนี้ พระพันปีหลวงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี 2519 เพื่อช่วยเหลือชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศให้มีรายได้เสริมจากงานหัตถกรรมทอผ้าและหัตถกรรมประเภทอื่น ๆ ในระยะยาว นับเป็นการเปิดกว้างให้ชาวบ้านได้แสดงความสามารถในการสร้างสรรค์งานฝีมือ สร้างรายได้และพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งยั่งยืน มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ยังได้วางรากฐานสำคัญในการต่อยอดผ้าไทยให้ก้าวไกลสู่ระดับสากล ด้วยการแนะนำชาวบ้านให้ปรับการทอให้มีขนาดที่เป็นมาตรฐานมากขึ้น ให้ความรู้เรื่องเทคนิคการทอผ้าใหม่ ๆ ลองทำการทดลองที่อาจนำไปสู่การสร้างลวดลายที่แตกต่างไปจากเดิมได้ รวมถึงยังมีการลงพื้นที่เพื่อรวบรวมและเก็บตัวอย่างลายผ้าทอในแต่ละท้องถิ่นทุกชิ้นอย่างเห็นคุณค่า การที่พระพันปีหลวงทรงมีพระราชดำริที่ครบวงจรนี้ นับเป็นคุณประโยชน์ใหญ่หลวงต่อราษฎร ดังพระราชดำริที่ว่า “ขาดทุนของข้าพเจ้า คือกำไรของชาติ”
Credit: matichon.co.th
นอกจากการสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิต หนึ่งในพระราชปณิธานที่สำคัญของพระพันปีหลวง คือการสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยเห็นคุณค่าของผ้าไทย ซึ่งเป็นสมบัติคู่ชาติมาอย่างยาวนานนับหลายร้อยปี เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์ รักษา สืบสาน และต่อยอดมรดกทางภูมิปัญญา ให้คงอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยและก้าวไกลไปสู่ระดับสากล
Credit: matichon.co.th
ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงาน เช่น กระทรวงวัฒนธรรม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การพัฒนาชุมชน (อพช.) ได้จัดกิจกรรมเพื่อสืบสานพระราชปณิธานมาโดยตลอด พร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนและเครือข่ายวัฒนธรรมทอผ้าไทย จัดงานที่เกี่ยวเนื่องกับผ้าไทย เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทุกครั้งที่มีงานจัดแสดงฉลองพระองค์ชุดสากลในสมเด็จพระพันปีหลวง ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบชาวไทยและต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ ทำให้ผ้าไทยที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ดูงามสง่ามากยิ่งขึ้น เป็นการเพิ่มมูลค่าและส่งเสริมให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของคนไทยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ถือเป็นพระราชกุศโลบายในการเผยแพร่และส่งเสริมผ้าไทย รวมทั้งส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล ฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไทยนั้น ทั่วโลกต่างยอมรับถึงความประณีตงดงาม สร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น ทั้งยังสร้างความนิยมในการสวมใส่ชุดที่ตัดเย็บจากผ้าไทยทั้งในและต่างประเทศ
Credit: matichon.co.th
ด้วยแรงบันดาลใจอันเปี่ยมล้น ทั้งจากโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และจากการที่พระองค์ทรงฉลองพระองค์ชุดไทยในโอกาสต่าง ๆ เป็นประจำ จนทำให้ชื่อเสียงของผ้าไทยขจรขจายไปทั่วโลก ทำให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานของพระอัยยิกาในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ตลอดจนพัฒนางานผ้าไทยให้ร่วมสมัยและมีความเป็นสากลยิ่งขึ้น พระองค์ทรงนำความรู้และประสบการณ์จากการตามเสด็จฯ การศึกษางานผ้าทั้งในและต่างประเทศด้วยพระองค์เอง มารวบรวมให้เกิดเป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์ต่อการต่อยอดงานศิลป์อันล้ำค่าของประเทศไทยต่อไป
ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงนำ “SIRIVANNAVARI BANGKOK” แบรนด์ไทยภายใต้การสร้างสรรค์โดยดีไซเนอร์ไทยซึ่งมีผ้าไทยเป็นส่วนประกอบสำคัญ เผยความงดงามบนรันเวย์ของแฟชั่นวีกระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง รวมถึงทรงฉลองพระองค์ชุดไทยเสด็จทรงงานอยู่เสมอ ซึ่งถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงมุมมองใหม่ ๆ โดยเฉพาะความเป็นสากลของผ้าไทยที่สามารถใช้ได้ในหลากหลายโอกาส
Credit: powermag.kingpower.com
ทั้งนี้ เมื่อสิ้นปี 2563 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงออกแบบลายผ้ามัดหมี่ ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่แก่ช่างทอผ้า เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้า และพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากลเพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน
Credit: powermag.kingpower.com
นอกจากนี้ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทั้งผู้ประกอบการ กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และสภาสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้จัดทำโครงการ “สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน” และคณะรัฐมนตรี นำโดย พล. อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยังมีมติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยอย่างน้อย 2 วันต่อสัปดาห์ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2563 นโยบายดังกล่าวได้สร้างกระแสการใส่ผ้าไทยในทุกจังหวัดทั่วประเทศให้คึกคักมากขึ้น มีการประกวดผ้าทอของแต่ละจังหวัด มอบรางวัลเชิดชูเกียรติให้กับผู้สืบทอดภูมิปัญญาผ้าไทย รวมทั้งจัดแสดงแฟชั่นโชว์ผ้าไทยที่นำมาตัดเย็บให้เข้ากับยุคสมัย ให้ผ้าไทยใส่แล้วเก๋ในชีวิตประจำวัน ซึ่งได้รับความสนใจจากข้าราชการ ประชาชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่
ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระพันปีหลวง ทรงรื้อฟื้นผ้าไทยให้กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง จากนี้ไปถือเป็นหน้าที่ของลูกหลานชาวไทยในการสืบทอดและสวมใส่ผ้าไทยอย่างภาคภูมิใจ เพื่อร่วมสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จพระพันปีหลวง พระปรีชาญาณในการอนุรักษ์ผ้าไทย พัสตราภรณ์อันงดงามที่คงอยู่คู่แผ่นดิน เพราะ “ผ้าไทย” คือทรัพย์แผ่นดิน ศิลป์สยาม
ที่มาข้อมูลและภาพ:
บทความ “สมเด็จพระพันปีหลวงกับพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกร แรงบันดาลใจแห่งผ้าไทยในระดับสากล” จาก https://powermag.kingpower.com/th/power-mag-th/happening-th-power-mag-th/power-exclusive-queen-sirikit-th
บทความ “สมเด็จพระพันปีหลวง ทรงงาน ‘ผ้าไทย’ 60 ปี สร้างอาชีพพสกนิกร รักษาสมบัติชาติยั่งยืน” จาก https://www.matichon.co.th/court-news/news_2881435
บทความ “สืบสานพระราชปณิธาน เฉลิมพระเกียรติพระพันปีหลวง ราชพัสตราจากผ้าไทย” จาก https://www.prachachat.net/d-life/news-735041
Posted in news on ส.ค. 08, 2022