News Update

09.08.2567

ส่อง 20 ไฮไลต์ในเทศกาล “Pakk Taii Design Week 2024” 17 - 25 สิงหาคม 2567 นี้ ย่านเมืองเก่าสงขลา หาดสมิหลา หาดใหญ่ จะนะ จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี

ใกล้เข้ามาแล้ว กับเทศกาลสร้างสรรค์ประจำปีของภาคใต้ “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2024” (Pakk Taii Design Week 2024) หรือ PTDW2024 ที่จัดแน่น จัดเต็ม ซึ่งเทศกาลฯ ได้รวบรวม 20 ไฮไลต์ที่น่าสนใจที่ครอบคลุมตั้งแต่การนำเสนอด้านอาหารต้นตำรับลับ ที่รวบรวมองค์ความรู้และต่อยอดเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอาหารใต้อย่างไม่รู้จบ เทศกาลภาพยนตร์ โปรเจ็กต์เชิงทดลองสร้างความน่าอยู่ของย่านและเมือง การจัดแสดงศิลปะและภูมิปัญญางานฝีมือของภาคใต้ และกิจกรรมเติมเต็มบรรยากาศสร้างสรรค์ให้กับเมือง ผ่าน 6 รูปแบบกิจกรรมหลัก ได้แก่ 1) Performance & Show 2) Exhibition & Installation 3) Talk & Workshop 4) Activity & Event 5) Market & Promotion และ 6) Experiment ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา หาดสมิหลา หาดใหญ่ จะนะ จังหวัดสงขลา และจังหวัดปัตตานี พร้อมกันตั้งแต่วันที่ 17 - 25 สิงหาคม 2567 

เทศกาลงานออกแบบที่สร้างสรรค์โดย ‘ชาวใต้’ มุ่งต่อยอดโชว์  ‘ของดี’ ของปักษ์ใต้ให้โลกเห็นว่า ‘ปักษ์ใต้มีดี’

PTDW2024 ยังคงมุ่งเน้นการต่อยอดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่โดดเด่นในภาคใต้ แบบ ได้แรงอก! ทำถึง ทำสุด ภายใต้แนวคิด “The South’s Turn ถึงทีใต้ ได้แรงอก!” (ถึงทีใต้ ด่าย-แหร่ง-อ็อก) ทั้งภาพยนตร์ อาหาร ศิลปะ งานฝีมือ และการพัฒนาเมือง ด้วยความร่วมมือจากเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนเมืองในภาคใต้ทั้งหมด 14 จังหวัด ทั้งภาคการผลิต นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ สถาบันการศึกษา และประชาชนคนในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต สร้างโอกาสทางอาชีพ ส่งเสริมรายได้ให้กับธุรกิจท้องถิ่น เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในพื้นที่ เตรียมพร้อมสู่การเป็นย่านและเมืองสร้างสรรค์ต่อไปในอนาคต ที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คนในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน

20 ไฮไลต์โปรแกรม ผ่าน 5 คอนเซ็ปต์หลักของ PTDW2024

1. Film Festival เทศกาลภาพยนตร์ที่นำความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของปักษ์ใต้ มาเป็นแรงบันดาลใจในการสรรสร้าง เชื่อมโยงเครือข่ายคนสร้างสรรค์ในห่วงโซ่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพื่อนำไปสู่กลไกความร่วมมือในอนาคต อีกทั้งยังมอบโอกาสให้นักสร้างสรรค์ได้กระทบไหล่คนทำงานเบื้องหลัง แลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวคิดร่วมกัน ไปจนถึงมีการจัดการแสดงสดและกิจกรรมทัวร์เมืองผ่านภาพยนตร์ ได้แก่

1) microWAVE FILM FESTival เทศกาลรวมคลื่น ~ หนังเคลื่อน รวมคลื่นคนทำหนัง เรียนรู้กับคนสร้างสรรค์ในวงการภาพยนตร์ สร้างเครือข่ายในวงการ รวมถึงต่อยอดโอกาสอาชีพในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ประกอบไปด้วย 7 กิจกรรม ได้แก่ 1) Screening ฉายหนังหลากหลายแนว หลายโลเคชั่นที่มีคาแรกเตอร์เฉพาะตัว 2) Classes คลาสอัปสกิลนอกห้องเรียน ให้แก่นักทำหนังคลื่นลูกใหม่ 3) Conversations พูดคุยเรื่องในและนอกวงการหนังที่หลายคนไม่เคยรู้ 4) Networking รวมคลื่นคนทำหนัง ทุกความถี่ทั่วไทย 5) Living Cinema การแสดงเสมือน (ชีวิต) จริง นอกจอหนัง 6) Living Dialogue นิทรรศการบทหนังปักษ์ใต้ เปิดบทสนทนาหนังกับผู้คน และ 7) Sound & Sight Seeing ท่องเที่ยวเมืองในมุมมองคนทำหนัง
2) DHUTANGA โรงภาพยนตร์เคลื่อนที่ที่มีการออกแบบโดยใช้วัสดุจากพื้นถิ่นใต้ พร้อมฉายภาพยนตร์ที่คัดสรรพิเศษเพื่อเปิดโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
3) Filmmakers Bar โดย MWFF x OFTR เมื่อ OFTR (One For The Road) บาร์ท้องถิ่น ริมทะเลสาบสงขลา ที่จะสร้างปาร์ตี้ซีนสำหรับ Filmmaker ตั้งใจรวมคลื่นคนทำหนังและคนที่สนใจวงการหนัง ให้มาร่วมแจมความสนุก แลกเปลี่ยนไอเดียผ่านกิจกรรมในงาน เพื่อร่วมรันวงการหนังไทยให้ขับเคลื่อนไปข้างหน้าไปด้วยกัน

2. Livable City Project โปรเจ็กต์สร้างความน่าอยู่ให้กับเมือง ผ่านการนำเสนอแนวคิดเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิต สู่การผลักดันให้เกิดการนำไปใช้จริง ผ่านแนวคิดการพัฒนา 5 ด้าน ได้แก่ 1) เดินสบาย - การพัฒนาทางเดินเท้าและการจัดการจราจรในย่านเมืองเก่า 2) เดินสะอาด - การจัดการขยะและการสร้างมูลค่า สู่งานออกแบบที่มีปฏิสัมพันธ์กับเมือง 3) เดินรู้ - ส่งเสริมการรับรู้ เปิดมุมมองจากเรื่องเล่าและประสบการณ์จากผู้คนในย่านเมืองเก่า 4) เดินเล่น - ต่อยอดสินทรัพย์ เพิ่มจุดท่องเที่ยวในย่านเมืองเก่า และ 5) เดินพัก - เพิ่มพื้นที่พักผ่อน และกิจกรรมสันทนาการให้กับคนในย่านและนักท่องเที่ยว เกิดเป็นงานออกแบบ 6 ผลงานจาก 4 สตูดิโอ ร่วมกับผู้ประกอบการและคนในพื้นที่ ได้แก่

1) เดินหรอย โดย Cloud-floor ต้นแบบการพัฒนาทางเดินเท้าและการจัดการจราจรบริเวณถนนนางงามในย่านเมืองเก่าสงขลาให้กับนักท่องเที่ยวและคนในย่าน รวมถึงการทดลองออกแบบป้ายสัญลักษณ์จราจรเพื่อแก้ปัญหาความสับสน และสื่อสารให้ผู้ขับขี่ทั้งชาวไทยและต่างชาติสามารถจอดรถได้ถูกต้องตามกฎของชุมชนและเทศบาล
2) Bin Tower โดย Cloud-floor ต้นแบบการทดลองออกแบบจุดทิ้งขยะ สำหรับนักท่องเที่ยวและกลุ่มผู้ซื้อแบบ Takeaway จากร้านค้าในย่านเมืองเก่า จำนวน 10 ร้านค้า บริเวณถนนนางงาม ย่านเมืองเก่าสงขลา
3) เล่าตามตรอก บอกตามประตู โดย Cloud-floor x ผู้เข้าร่วมเวิร์กช็อป x orbi design กิจกรรมตามหาเรื่องราวที่ซุกซ่อนและน่าจดจำเกี่ยวกับย่านเมืองเก่าสงขลาในอดีต 
4) Samila Mermaid เรื่องเล่าของนางเงือกแห่งสงขลา โดย Sumphat Gallery ทั้งเวิร์กช็อป งานศิลปะจัดวางและนิทรรศการ การแสดง ‘ระบำรองเง็ง’ เล่าเรื่องของนางเงือก 
5) Songkhla in Transition: the Mid-Century Facade โดย NA STUDIO X MELT DISTRICT งานศิลปะจัดวาง (Art Installation) ในตรอกกรุงทองในย่านเมืองเก่าสงขลา จากวัสดุแผ่นพลาสติกรีไซเคิลของแบรนด์ MELT DISTRICT บอกเล่าเรื่องราวของเมืองสงขลาผ่านภาษาของงานสถาปัตยกรรม
6) NEIGHBORS โดย Trimode Studio ห้องรับแขกของชุมชนที่นำเสนอเก้าอี้รับแขกให้เป็นพื้นที่ ‘เดินพัก’ จากวัสดุในท้องถิ่นของสงขลา เช่น ใยตาล ที่ผสมผสานเทคนิคการมัดเงื่อนเข้ากับโครงสร้างของเก้าอี้ที่ใช้งานแล้วและเก้าอี้ที่ชำรุดจากแต่ละบ้านในชุมชน สู่การสร้างสรรค์ชุดเฟอร์นิเจอร์บริบทใหม่สำหรับย่านเมืองเก่าที่แทรกตัวอยู่ตามตรอกซอกซอยของชุมชน

3. South Secret Recipe ตำรับลับสำรับใต้ที่รวบรวมองค์ความรู้และต่อยอดเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมอาหารใต้ไร้พรมแดน นำเสนอเรื่องราวตั้งแต่ที่มาของวัตถุดิบ ขั้นตอน ภูมิปัญญา สูตรลับประจำบ้าน และวัฒนธรรมการกินเฉพาะตัว ที่รวบรวมและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ผู้เข้าชมมองเห็นสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อินสไปร์ไอเดียในการต่อยอดที่สร้างสรรค์และส่งเสริมศักยภาพการเติบโตผ่านการรังสรรค์สิ่งใหม่จากต้นทุนเดิม นอกจากนี้ ยังมีการนำงานออกแบบไปส่งเสริมร้านอาหารตำนานคู่บ้านคู่เมือง นับเป็นการเปิดโลกการกินอาหารในฉบับ ‘พหุวัฒนธรรม’ พร้อมทั้งชมและชิมเรื่องราวของครัวในภาคใต้ ได้แก่

1) มะเทเบิ้ล โดย YALA ICON โรงอาหารป๊อปอัปในรูปแบบ Home Cooking ที่จะพาทุกคนมารู้จักวัฒนธรรมการกินแบบพหุวัฒนธรรมของชาวใต้ ที่ผสมผสานหลากหลายวิถี ทั้งไทยพุทธ ไทยจีน ไทยมุสลิม มลายู เปอรานากัน และชาวเล รวมกว่า 135 เมนู ตลอด 9 วัน จาก 11 ชุมชนในภาคใต้
2) นิทรรศการ 100 หรอย โดย Krua.co & Plural designs นิทรรศการที่นำเสนอสารพันวัตถุดิบกว่า 100 อย่าง ที่มาของความ ‘หรอย’ ตำรับใต้ ซึ่งได้มาจากดินปักษ์ใต้ แม่น้ำและทะเลปักษ์ใต้ รวมถึงวัฒนธรรมที่ไหลผ่านการเดินทางของผู้คน โดยเล่าเรื่องราวผ่านพื้นที่สร้างประสบการณ์ที่ชวนทุกคนมาทำความรู้จักวัตถุดิบถิ่นใต้ที่มีเอกลักษณ์ ใช้การชิมลิ้มรส พูดคุย หยิบจับ ดมกลิ่น ดู และฟัง พร้อมนำเสนอกิจกรรมพิเศษที่น่าสนใจ ปิดท้ายด้วยการช้อปปิ้งสูตรลับประจำบ้าน 100 ไอเท็ม ที่คัดสรรมาแล้วว่าดี การันตีความหรอย
3) The Cloud Journey: Taste of Pakk Taii โดย The Cloud ทัวร์กินอาหารพร้อมเสิร์ฟความรู้อัดแน่น ที่จะพาฟู้ดเลิฟเวอร์ล่องใต้ไปเรียนรู้เรื่องราวที่สูญหายหรือน้อยคนทราบ ทั้งขนม วัตถุดิบ และอาหารจีน 5 เหล่า สัมผัสความอิ่มอร่อยได้ตั้งแต่เช้าจรดคํ่า
4) ลักหยบ หลังร้าน โดย de'south นิทรรศการแอบส่องเคล็ดลับหลังครัวที่ไม่เคยบอกใคร ผ่านอาหารในตำนานคู่บ้านคู่เมืองหาดใหญ่ทั้ง 10 แห่ง ร่วมกับ 21 นักออกแบบที่มาจับคู่ทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสรรค์ผลงานการเล่า ‘เรื่องลับของแต่ละร้าน’ ได้เวลาที่เรื่องราวและเสน่ห์ที่ถูกซ่อนอยู่หลังร้าน จะถูกลักหยบออกมานำเสนอผ่านนิทรรศการที่กรุ่นกลิ่นอาหารสะท้อนดีเอ็นเอของปักษ์ใต้

4. Art & Crafts of Living South การจัดแสดงศิลปะในเมืองที่รวบรวมองค์ความรู้และภูมิปัญญาด้านงานฝีมือของภาคใต้ สร้างตัวอย่างการต่อยอดงานฝีมือจากช่างศิลป์ชั้นสูงของภาคใต้ในรูปแบบใหม่ ที่ผสมผสานการออกแบบ งานฝีมือ เทคนิคที่สืบทอดต่อกันมา และทักษะพื้นถิ่นโบราณเข้ากับเทคโนโลยีและศาสตร์อื่น ๆ เพื่อส่งเสริมให้นักสร้างสรรค์สายคราฟต์รุ่นใหม่ได้เติบโตในบ้านเกิดได้อย่างยั่งยืน ได้แก่

1) Samila Odyssey สมิหลาเชิงซ้อน นิทรรศการศิลปะจัดวางและ Projection Mapping ผ่าน 3 ชั้นแห่งห้วงเวลา คือ อดีต ปัจจุบัน อนาคต จำนวน 7 พื้นที่ ที่มีจุดตั้งต้นจาก “สมิหลา” ด้วยการตีความเทคนิคภาพเชิงซ้อน จนไปสู่ชิ้นงานที่ชวนตั้งคำถามถึงมุมมองของสาธารณะที่มีต่อชายหาดสมิหลาและย่านเมืองเก่าสงขลา
2) South SITizen ลองนั่งแล พื้นที่เชิงประสบการณ์ที่ชวนคุณมานั่ง มาแชร์ และใช้เวลาด้วยกันในแบบฉบับชาวใต้ สื่อสารการผลิผลของวัสดุพื้นถิ่นที่หลากหลายและมีเอกลักษณ์ ด้วยการถ่ายทอดมุมมองของนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านมืออาชีพ ที่ผูกพันและมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับช่างฝีมือพื้นถิ่นมาหลายปีสู่รูปแบบสากล
3) Under Construction วัยรุ่นสร้างตัว พื้นที่ปล่อยของและโชว์ผลงานของนักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ และผู้ผลิตศิลปะทุกแขนง ที่กำลังอยู่ในระหว่าง ‘สร้างตัว’ ให้ได้พบปะ แลกเปลี่ยน จัดแสดงผลงาน รวมถึงซื้อขายผลงานของตนเองได้

5. Festival Vibe กิจกรรมเติมเต็มบรรยากาศสร้างสรรค์ให้กับเมือง ที่ผสมผสานทั้งความเป็นสมัยใหม่และความดั้งเดิมไว้ด้วยกัน โดยทำเมืองให้เป็นเสมือนโรงละครในช่วงเวลากลางวันกับ ‘The Living Theatre’ ใช้ประโยชน์จากความงาม ทัศนียภาพ สถาปัตยกรรมของเมือง และในช่วงเวลากลางคืนกับ ‘Light Up Town’ แต่งแต้ม แสงสี โดยทั้ง 2 กิจกรรมจัดทั้งในรูปแบบพื้นที่เฉพาะเจาะจง (Site Specific) และเคลื่อนที่ได้ (Pop Up/Mobile) ทำให้เกิดบรรยากาศใหม่ สร้างประสบการณ์ใหม่ แม้ในพื้นที่เดิม กิจกรรมนำเสนอผ่านดนตรี การแสดงสด มหรสพ และ Projection Mapping โดยครอบคลุมทุกช่วงเวลาตลอดเทศกาลฯ ได้แก่

1) Projection Mapping Showcase โดย Yimsamer & Academic และ บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด การฉายภาพกราฟิกเคลื่อนไหวบนสถาปัตยกรรม ผลงานของนักเรียน/นักศึกษาจากสถาบันการศึกษาในภาคใต้ จำนวน 10 ทีม ภายใต้หลักสูตรการฝึกอบรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการฉายภาพกราฟิกเคลื่อนไหวบนวัตถุ ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรสร้างสรรค์รุ่นใหม่ โดยรวมตัวกลุ่มเยาวชน เครือข่ายนักสร้างสรรค์ในภาคใต้ และสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองไปพร้อมกัน เพื่อสร้างสีสันและกระตุ้นบรรยากาศสร้างสรรค์ให้กับเมือง ณ หอสมุดติณสูลานนท์ และโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา เวลา 19.00 - 21.00 น.
2) 4 STORIES OF SONGKHLA โดย FOS Lighting Design Studio เติมแสงสว่างและสีสันให้กับย่านเมืองเก่าสงขลา ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ 1) วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร 2) ศาลเจ้ากวนอู 3) รามัญ-นครใน Courtyard (ข้างสินอดุลยพันธ์) และ4) ตรอกข้างโรงแรม Yu Cafe เชื่อมนครในกับถนนรามัญ ยะหริ่ง โดยการออกแบบแสงจะช่วยดึงความสวยงามของเมืองและสถาปัตยกรรมออกมาให้เด่นชัด ส่งเสริมความปลอดภัย กระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อีกด้วย

6. Pakk Taii Neighbor ความร่วมมือระหว่างเหล่านักสร้างสรรค์ ชุมชน และเครือข่ายผู้ขับเคลื่อนเมืองในภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงผู้คน สร้างเพื่อน ขยายเครือข่าย ให้งานสร้างสรรค์ในภาคใต้เบ่งบานและเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมให้คนท้องถิ่นเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ในปีนี้ มีโปรแกรมน่าสนใจหลากหลายรูปแบบ เช่น 

1) คราฟต์ใต้ได้แรงอก ชวนมารู้จักคนใต้ผ่านงานคราฟต์หลากหลายวิถี ชมฝีมือช่างหลวงในวัดภาคใต้ผ่านจิตรกรรมฝาผนังสีฝุ่นอันเลื่องชื่อ ชวนชม-ชวนทำ งานฝีมือวิถีใต้สไตล์ใต้พัทลุง ชวนชิมของกินบ้านบ้านที่จัดจ้านด้วยวัตถุดิบปักษ์ใต้ รวมถึงรับชมการแสดงโขนชุดพิเศษ ที่หาชมได้ภายในงานนี้เท่านั้น ณ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร (วัดกลาง)
2) Made in Pattani โดย Melayu Living ภายใต้เทศกาล Pattani Decoded 2024 ที่ร่วมกับ CEA จัดทำโครงการ Made in Pattani นำเสนอ 10 ผู้ประกอบการร้านค้าเก่าแก่ที่มาทำงานร่วมกับนักสร้างสรรค์ทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากนี้ Key Visual ของโครงการยังออกแบบโดยครูเกษียณที่ผันตัวมาเป็นไกด์กิตติมศักดิ์แห่งย่านอา-รมย์-ดี ผู้รอบรู้เรื่องเกร็ดรายละเอียดประวัติศาสตร์ของเมืองอย่างลึกซึ้ง อย่าง “ครูมะ”หรือคุณอรรถพร อารีหทัยรัตน์ ผลงานของโครงการจัดแสดงที่ศูนย์การเรียนรู้ คิด บวก ดี ถนนนครนอก ย่านเมืองเก่าสงขลา ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม - 1 กันยายน 2567
3) ลาต๊ะ ภาษา อาหาร และการต่อยอด โดย อาหารปันรัก และ นักรบผ้าถุง นิทรรศการ (กิน) ที่ชวนมารู้จักที่มาที่ไปของนิสัยการกินแบบคนสะกอม ชายเลจะนะ โดยเล่าเรื่องราวความสมบูรณ์จากท้องทะเล จนนำมาสู่เรื่องสนุกในครัว ความรุ่มรวยทางภาษาเฉพาะถิ่น และความสด อร่อย ปลอดภัยจากทะเล ที่นำมาสู่การ ‘กินเล่น’ ผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวทัวร์ลาต๊ะ ที่เกื้อกูลทั้งทะเล ชุมชนวิถี และผู้คนในพื้นที่ได้อย่างสมดุล

สัมผัสประสบการณ์แห่งการผลิบานแล้วเติบโตต่อของภาคใต้กับแบบเต็มอิ่ม ใน “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2567” ระหว่างวันที่ 17 - 25 สิงหาคม 2567 ตั้งแต่เวลา 11.00 - 21.00 น. ณ ย่านเมืองเก่าสงขลา, หาดสมิหลา, หาดใหญ่, จะนะ จังหวัดสงขลา, และจังหวัดปัตตานี แล้วมาร่วมค้นหาเสน่ห์ของดีบ้านเกิดอันเป็นที่รักที่สะท้อนแนวคิด “ถึงทีใต้ ด่าย-แหร่ง-อ็อก” พร้อมประกาศให้รู้ว่า “ปักษ์ใต้มีดีไม่เหมือนใคร”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.pakktaiidesignweek.com, FB/IG: pakktaiidesignweek

 

Posted in news on ส.ค. 09, 2024