News Update

01.12.2564

คำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ ๙

คำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 
๕ ธันวาคม ๒๕๖๔ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๔ นี้

ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ต่างน้อมจิตตั้งมั่นเพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาสุดมิได้ 

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี ที่ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ใต้ร่มพระบารมีทั่วราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรม พระราชกรณียกิจนานัปการ ที่ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระสติปัญญา เพื่อขจัดความทุกข์ยากทั่วราชอาณาจักรแก่ปวงพสกนิกร และก่อให้เกิดคุณอเนกอนันต์แก่ประเทศชาติ พระมหากรุณาธิคุณและพระเมตตาอันเปี่ยมล้นในพระราชหฤทัย ประจักษ์แจ้งและประทับอยู่ในใจปวงประชา นับเป็นบุญของปวงข้าพระพุทธเจ้าที่ได้มีชีวิตอยู่อย่างผาสุกร่มเย็นบนผืนแผ่นดินไทย ภายใต้ร่มพระบารมีของพระมหากษัตริย์ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ
 
๔ โครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙

เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ขอนำเสนอบทความจากนิตยสาร "คิด" (Creative Thailand) ที่ได้ศึกษาและค้นคว้า เพื่อถอดหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระองค์ใช้ทรงงานผ่านโครงการพระราชดำริทั้ง ๔ โครงการ ประกอบด้วย โครงการฝนหลวง โครงการทฤษฎีใหม่ โครงการแกล้งดิน และโครงการกังหันนํ้าชัยพัฒนา ซึ่งเป็นการนำเนื้อหาบางส่วนมาจากบทความของนิตยสาร "คิด" (Creative Thailand) ฉบับธันวาคม ปี ๒๕๕๙

"จากต้นน้ำถึงปลายน้ำ"
การบริหารจัดการน้ำตามแนวพระราชดำริ


เมื่อนํ้าคือปัจจัยสําคัญในการขจัดความทุกข์ร้อนของราษฎร พระอัจฉริยภาพและสายพระเนตรอันยาวไกลที่สะท้อนผ่านแนวพระราชดำริในการบริหารจัดการนํ้าอย่างครบวงจร ประกอบด้วยการบริหารจัดการนํ้าแล้ง นํ้าท่วม นํ้าเสีย นํ้าเค็ม และนํ้ากร่อย ให้เหมาะสมตามลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่าง จึงสร้างให้เกิดสมดุลระหว่างสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวิถีของชุมชนในทุกมิติอย่างยั่งยืน ทั้งยังประโยชน์สูงสุดแก่พสกนิกรชาวไทย ให้อาศัยอยู่บนผืนแผ่นดินไทยใต้ร่มพระบารมีอย่างร่มเย็นสืบไป

๑. โครงการฝนหลวง 
ใครจะคิดว่ามีเวทมนตร์ เสกฝนได้จริงๆ!

“แต่มาเงยดูท้องฟ้า มีเมฆ ทำไมมีเมฆอย่างนี้ ทำไมจะดึงเมฆนี่ให้ลงมาได้ ก็เคยได้ยินเรื่องทำฝน ก็มาปรารภกับคุณเทพฤทธิ์ ฝนทำได้มีหนังสือ เคยอ่านหนังสือทำได้”
(พระราชดำรัส, ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙)

๒. โครงการกังหันชัยพัฒนา
ใครจะไปคิดว่าพระราชาต้องมารับมือกับน้ำเสีย


 
"ในกรุงเทพฯ ต้องมีพื้นที่หายใจ แต่ที่นี่* (บึงมักกะสัน) เราถือว่าเป็นไตกำจัดสิ่งสกปรกและโรค สวนสาธารณะถือว่าเป็นปอด แต่นี่เหมือนไตฟอกเลือด ถ้าไตทำงานไม่ดีเราตาย อยากให้เข้าใจหลักของความคิดอันนี้"
(พระราชดำรัส, ๑๗ มีนาคม ๒๕๒๙)

๓. โครงการแกล้งดิน 
ปลูกอะไรก็ปลูกไม่ขึ้น เป็นคนอื่นคงทิ้งไปแล้ว…


 
"...เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้น ๆ เขาทำแต่ว่าเขาได้เพียง 5 ถัง 10 ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง 40-45 ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินจะไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้…"
(พระราชดำรัส, ๓ ตุลาคม ๒๕๓๕)

๔. โครงการทฤษฎีใหม่
ทำไมลดพื้นที่ แล้วผลผลิตยังเพิ่มอยู่?


 
“...หลักมีว่า แบ่งที่ดินเป็น ๓ ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นที่สำหรับปลูกข้าว อีกส่วนหนึ่งสำหรับปลูกพืชไร่ พืชสวน และก็มีที่สำหรับขุดสระน้ำ...ในบริเวณนี้จะเกิดเป็นบริเวณที่พัฒนาแบบใหม่ ถึงเรียกว่า ทฤษฎีใหม่...”
(พระราชดำรัส, ๔ ธันวาคม ๒๕๓๗)

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่ : 
https://www.creativethailand.org/.../MagazineFile_87.pdf 

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอสืบสานพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดี ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม รักษาชาติบ้านเมือง และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป

 

Posted in news on ธ.ค. 01, 2021