News Update

01.12.2565

คำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ในหลวงรัชกาลที่ ๙

คำกล่าวน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ 
๕ ธันวาคม ๒๕๖๕ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติและวันพ่อแห่งชาติ ในวันที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕ นี้ ข้าพระพุทธเจ้า ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ต่างน้อมจิตตั้งมั่นเพื่อร่วมกันแสดงออกถึงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันหาสุดมิได้ 

ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปี แห่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ด้วยทศพิธราชธรรม และทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเป็นอเนกประการ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าอย่างมั่นคง ทรงปกครองอาณาประชาราษฎร์ใต้ร่มพระบารมีทั่วราชอาณาจักรด้วยทศพิธราชธรรม ทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนา พระราชกรณียกิจนานัปการที่ทรงทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระสติปัญญา เพื่อขจัดความทุกข์ยากทั่วราชอาณาจักรแก่ปวงพสกนิกร ก่อให้เกิดคุณอเนกอนันต์แก่ประเทศชาติ พระมหากรุณาธิคุณและพระเกียรติคุณแผ่ไพศาลขจรขจายไปทั่วทิศานุทิศ ประจักษ์แจ้งและประทับอยู่ในใจปวงประชาราษฎร์ตลอดกาลนาน
 
พระมหากษัตริย์นักพัฒนาดินและวันดินโลก

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงชนชาวไทย ทรงพระราชทานแนวพระราชดำริด้านการจัดการทรัพยากรดินเพื่อการเกษตร ผ่านโครงการพระราชดำริต่าง ๆ จนเป็นที่ประจักษ์ในพระปรีชาสามารถและยอมรับไปทั่วโลก 


(ที่มา: http://worldsoilday.ldd.go.th/)

สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences: IUSS) จึงได้ทูลเกล้าฯ ถวายรางวัล “วิทยาศาสตร์ทางดินเพื่อมนุษยธรรม (Humanitarian Soil Scientist)” แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระองค์แรกของโลก เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ ซึ่งต่อมาองค์การสหประชาชาติได้ประกาศสดุดีพระเกียรติคุณ โดยรับรองให้วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันดินโลก (World Soil Day) พร้อมทั้งบรรจุในปฏิทินการปฏิบัติงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และประเทศสมาชิกทั่วโลกจะร่วมกันจัดกิจกรรมในวันสำคัญนี้ เพื่อให้วันดังกล่าวเป็นที่รู้จักแพร่หลายในระดับสากล ก่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาทรัพยากรดินอย่างยั่งยืนต่อไป

Soils, Where Food Begins: อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน

“ทรัพยากรดิน” นั้นเป็นรากฐานสำคัญในการผลิตอาหารของมนุษย์ ประมาณ 95% ของอาหารในโลกผลิตจากดิน เนื่องจากดินเป็นที่กักเก็บน้ำ แร่ธาตุอาหารต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ถ้าดินมีคุณภาพดีย่อมผลิตพืชผลได้ดี ช่วยหล่อเลี้ยงและบำรุงสุขภาพของคน สัตว์ เชื่อมโยงกับทั้งคุณภาพและปริมาณอาหารของโลก ดังนั้นการอนุรักษ์ปรับปรุงบำรุงดินจึงเป็นการเพิ่มปริมาณการผลิตอาหารและเพิ่มปริมาณสารอาหารที่เป็นประโยชน์ จึงเป็นรากฐานของสุขภาพ ความอยู่ดีกินดี และความมั่นคงทางด้านอาหารของมนุษย์ 

ในปีนี้ สมัชชาความร่วมมือด้านทรัพยากรดินโลก (Global Soil Partnership: GSP) จึงกำหนดหัวข้อการจัดงาน “วันดินโลกปี ๒๕๖๕” ในชื่อ “Soils, Where Food Begins: อาหารก่อกำเนิด เกิดจากดิน” เน้นความสำคัญของการสร้างสุขภาพดินที่ดี ซึ่งจะส่งผลถึงความมั่นคงปลอดภัยทางอาหารและสิ่งแวดล้อมตามแนวคิด One Health ซึ่งหมายถึงการพัฒนาสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมที่มีความเกี่ยวข้อง เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน ให้มีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน ตามกรอบเป้าหมาย Four Betters ของ FAO ซึ่งประกอบด้วย Better Production (การผลิตที่ดีขึ้น) Better Nutrition (โภชนาการที่ดีขึ้น) Better Environment (สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น) และ Better Life (ชีวิตที่ดีขึ้น) 

ในแต่ละปีวันดินโลกจะจัดขึ้นภายใต้หัวข้อที่แตกต่างกัน ซึ่งมาจากประเด็นสำคัญของทรัพยากรดินที่ต้องได้รับการจัดการหรือประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดันให้เกิดข้อสรุป เพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์สิ่งแวดล้อมของโลก มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งการรณรงค์สร้างความเข้าใจการเผยแพร่ข้อมูลดินตามหลักวิชาการ เพื่อร่วมกันหาแนวทางการใช้ทรัพยากรดินอย่างเหมาะสม และการอนุรักษ์ทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน

(ที่มา: สำนักวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กองแผนงาน)

ถอดหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” โครงการแกล้งดิน

วันที่ ๕ ธันวาคมของทุกปี นอกจากเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันชาติ วันพ่อแห่งชาติ ยังเป็นวันดินโลกอีกด้วย เพื่อเป็นการสืบสานพระราชปณิธานและน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงขอนำเสนอบทความจากนิตยสาร "คิด" (Creative Thailand) ที่ได้ศึกษาและค้นคว้า เพื่อถอดหลักการ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” ที่พระองค์ใช้ทรงงานผ่านโครงการพระราชดำริด้วยพระปรีชาสามารถเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรดินอันโดดเด่น “โครงการแกล้งดิน” ซึ่งเป็นการนำเนื้อหาบางส่วนมาจากบทความของนิตยสาร "คิด" (Creative Thailand) ฉบับธันวาคม ปี ๒๕๕๙

โครงการแกล้งดิน 

ปลูกอะไรก็ปลูกไม่ขึ้น เป็นคนอื่นคงทิ้งไปแล้ว…


"...เราเคยมาโคกอิฐ-โคกใน มาดูเขาชี้ตรงนั้น ๆ เขาทำแต่ว่าเขาได้เพียง ๕ ถัง ๑๐ ถัง แต่ตอนนี้ได้ขึ้นไปถึง ๔๐-๔๕ ถัง ก็ใช้ได้แล้ว ต่อไปดินจะไม่เปรี้ยวแล้ว เพราะว่าทำให้เปรี้ยวเต็มที่แล้ว โดยที่ขุดอะไร ๆ ทำให้เปรี้ยวแล้วก็ระบาย รู้สึกว่านับวันเขาจะดีขึ้น อันนี้สิเป็นชัยชนะที่ดีใจมากที่ใช้งานได้แล้ว ชาวบ้านเขาก็ดีขึ้น แต่ก่อนชาวบ้านเขาต้องซื้อข้าว เดี๋ยวนี้เขามีข้าวอาจจะขายได้…"
(พระราชดำรัส, ๓ ตุลาคม ๒๕๓๕)

“แนวพระราชดำริ “แกล้งดินให้เปรี้ยว” นั้น มาจากการเลียนแบบสภาพธรรมชาติของพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งในแต่ละปีจะมีฤดูแล้ง ๔ เดือน ฤดูฝน ๘ เดือน การทดลองใช้วิธีร่นระยะเวลาช่วงแล้งและช่วงฝนให้สั้นลง โดยปล่อยให้ดินแห้ง ๑ เดือน และขังนํ้าให้ดินเปียกนาน ๒ เดือน ปีหนึ่งจึงมีภาวะดินแห้งและดินเปียก ๔ รอบ เหมือนมีฤดูแล้งสลับฤดูฝนปีละ ๔ ครั้ง 

เมื่อดินถูกทำให้แห้งและเปียกสลับกันไป ก็จะเป็นการเร่งปฏิกิริยาทางเคมี กระตุ้นให้สารไพไรท์ในดินทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ และปลดปล่อยกรดกำมะถันออกมา ส่งผลให้ดินเป็นกรดจัดจน “เปรี้ยวสุดขีด” จนกระทั่งถึงจุดที่พืชไม่สามารถเจริญงอกงามได้แล้ว จากนั้น พระองค์จึงมีรับสั่งให้คณะทำงานค้นหาวิธีการปรับปรุงดินดังกล่าวให้สามารถปลูกพืชได้”

“...ให้มีการทดลองทำดินให้เปรี้ยวจัด โดยการ ระบายนํ้าให้แห้งและศึกษาวิธีการแก้ดินเปรี้ยว เพื่อนำผลไปแก้ปัญหาดินเปรี้ยวให้แก่ราษฎรที่มี ปัญหาในเรื่องนี้ในเขตจังหวัดนราธิวาส โดยให้ทำ โครงการศึกษาทดลองในกำหนด ๒ ปี และพืช ที่ทำการทดลองปลูกควรเป็นข้าว...” 
(พระราชดำรัส, ๑๖ กันยายน ๒๕๒๗)

อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่: 
www.creativethailand.org

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนชาวไทย ปวงข้าพระพุทธเจ้าขอสืบสานพระราชปณิธานด้วยความจงรักภักดี ยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม รักษาชาติบ้านเมือง และสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป
 

Posted in news on ธ.ค. 01, 2022