News Update

15.11.2565

CEA ร่วมผลักดัน คาแรกเตอร์ไทย ในงาน “สินค้าเกษตร X คาแรกเตอร์” วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2565 ตลาดน้ำ อ.ต.ก.

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA และสมาคมการค้าลิขสิทธิ์และของที่ระลึกจากคาแรคเตอร์ดีไซน์ ของเล่น และผลงานศิลป์ร่วมสมัยไทย (TCAP) จัดงาน “Agriproducts X Character Market” หรือ “ตลาดนัดสินค้าเกษตร X คาแรกเตอร์” มุ่งใช้คาแรกเตอร์ไทยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร กว่า 28 ผลิตภัณฑ์ ดันสินค้าเกษตรสู่เวทีโลก วันที่ 18 - 20 พฤศจิกายน 2565 นี้  บริเวณตลาดน้ำ อ.ต.ก.
 
ส่งออก ‘สินค้าเกษตร’ ผ่าน ‘คาแรกเตอร์ไทย’

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ให้ข้อมูลว่า สมาคมลิขสิทธิ์นานาชาติหรือ LIMA ระบุว่า สำหรับปี 2021 จากภาพรวมของสินค้าและบริการที่นำเอาลิขสิทธิ์ของผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในโลก ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ มีมูลค่าสูงถึง 315.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นมาจากปี 2019 ที่มีมูลค่า 292.8 พันล้านเหรียญ คือ ภายในสองปีเพิ่มขึ้นมาร้อยละ 7.75 แม้จะเป็นช่วงที่มีสถานการณ์จากวิกฤตต่าง ๆ ทั่วโลกก็ตาม

นอกจากนี้มูลค่าของค่าลิขสิทธิ์ผลงานสร้างสรรค์ในช่วงเวลาเดียวกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 โดยมีมูลค่าราว 17.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยจาก 10 ประเภทของผลงานสร้างสรรค์ที่ถูกจำแนกไว้นั้น ประเภทที่มูลค่าสูงสุดถึง 129.9 พันล้านเหรียญ หรือคิดเป็นร้อยละ 41 ของทุกประเภท คือคาแรกเตอร์ เพราะคาแรกเตอร์เป็นผลงานสร้างสรรค์ที่นำเอาไปใช้ได้ง่าย และเข้าถึงผู้บริโภคได้หลากหลายวิธีที่สุด ทั้งในรูปแบบการผลิตเป็นของเล่น เป็นภาพหรือกราฟิกที่เกี่ยวข้องบนเสื้อผ้าแฟชั่น หรืออยู่บนข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ทั่วไป

“น่าสนใจคือในประเทศไทยมีมูลค่าการใช้คาแรกเตอร์สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกราวร้อยละ 20 (ร้อยละ 62 ของมูลค่ารวมโดยประมาณ) ติดต่อกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปีมาก ซึ่งจะสังเกตจากภาพการใช้คาแรกเตอร์มาส่งเสริมการขายและการตลาดของภาคธุรกิจในประเทศไทย ในหลากหลายประเภทสินค้าที่อยู่ในร้านสะดวกซื้อ ตามกิจกรรมการตลาดที่ประชาสัมพันธ์ออกมาตามสื่อต่าง ๆ หรือการนำไปผลิตเป็นสินค้า ซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นคาแรกเตอร์ชั้นนำ ที่ได้รับความนิยมจากต่างประเทศที่รู้จักกันดี โดยแทบจะไม่มีคาแรกเตอร์ไทยไปแชร์ส่วนแบ่งในตลาดโลกเลย จึงเป็นที่มาในการจัดงานครั้งนี้ ส่งเสริมคาแรกเตอร์ไทย ควบคู่กับ สินค้าเกษตร ให้มีความน่าสนใจ มีอัตลักษณ์เป็นที่น่าจดจำของประเทศไทย ”นายอลงกรณ์ กล่าว

28 คาแรกเตอร์ไทย x 28 สินค้าเกษตร 


กระทรวงฯ จึงได้ร่วมกับ CEA  ในการใช้คาแรกเตอร์ไทย จำนวน 28 คาแรกเตอร์ x 28 สินค้าเกษตร จากโครงการพัฒนาแบรนด์ธุรกิจ SMEs (CHANGE 2022: Visual Character Arts for SMEs) ด้วยการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ให้โดนใจกลุ่มผู้บริโภค ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวว่า “โครงการฯ มุ่งเน้นการนำ Visual Character ไปใช้ในการพัฒนาธุรกิจวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม (SMEs) ทั่วประเทศ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น (Branding) เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากนี้ยังเกิดคาแรกเตอร์ที่เป็นภาพลักษณ์ของภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ช่วยสร้างผลลัพธ์ในการส่งเสริมรายได้จากการท่องเที่ยวไปด้วย” สำหรับคาแรกเตอร์ที่เป็นไฮไลต์ ได้แก่

  • คาแรกเตอร์ เดอะตาเข จระเข้นักเดินทาง ผู้ค้นพบว่าจังหวัดพิจิตรมีของดีหลายอย่าง งานนี้เลยมา ร่วมกับผลิตภัณฑ์ของกินแปรรูปจากกล้วย โดยสวนสุขขจร มีทั้งกล้วยหอมอบกรอบ กล้วยเบรคแตก และอื่นๆ
  • คาแรกเตอร์ วิฬาร์ แมวน้อยสุดน่ารัก ที่ชอบของกินอร่อย ๆ และบรรยากาศของสวนเฟิร์น จึงมาร่วมกับเฟิร์นฟอร์เรสท์ จังหวัดลพบุรี ซึ่งก็จะมีกระยาสารท สูตรต้นตระกูลที่ทำกันปีละครั้งในช่วงนี้เท่านั้นมาให้ชิม
  • นิยมสมรัก สองคาแรกเตอร์สายมูจากจังหวัด ลพบุรี ร่วมกับของกินมงคลอย่างเฉาก๊วยรวยทรัพย์ และไข่เค็มดินสอพองจากฟาร์มเป็ด สินค้าท้องถิ่นของจังหวัดลพบุรี

นอกจากนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถาม เพื่อซื้อหรือขอใช้ลิขสิทธิ์คาแรกเตอร์ไปใช้ในการพัฒนาสินค้า โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะขยายผลความร่วมมือนี้ให้กระจายไปสู่เกษตรกรและผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อไป

Posted in news on พ.ย. 15, 2022