CEA ชูเมนูอาหารกลางวันต้นแบบ ทำได้จริงภายใต้งบ 21บาท/คน/มื้อ
(จากซ้ายไปขวา) นายพิชิต วีรังคบุตร , นางอรรชกา สีบุญเรือง, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, น.ส.ตรีนุช เทียนทอง, นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล, นายอัมพร พินะสา
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA นำเสนอเมนูอาหารกลางวันที่ออกแบบและรังสรรค์สูตรอาหารผ่านกระบวนการมีส่วนร่วม เกิดเป็นเมนูอาหารกลางวันเปี่ยมคุณค่า และถูกหลักโภชนาการ เน้นนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาออกแบบเมนูอาหาร ถูกใจเด็กนักเรียน ด้วยงบประมาณจํากัด ภายใต้งบ 21 บาท/คน/มื้อ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
26 เมษายน 2565 - นางอรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ให้การต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนำชมนิทรรศการโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กผ่านประสบการณ์อาหารกลางวันโรงเรียน หรือ Lunch and Learn Project ต้นแบบอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ เปี่ยมคุณค่าและโภชนาการ มุ่งพัฒนารายการอาหารกลางวันด้วยวัตถุดิบจากท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ ด้วยงบประมาณอาหารกลางวันที่จำกัด ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ปรับเพิ่มค่าอาหารกลางวันของนักเรียน เป็น 21 บาท/คน/วัน รวมทั้งโจทย์ตั้งต้นที่มองเห็นปัญหาความจำเจของอาหารกลางวัน และความเป็นไปได้ที่จะสร้างสรรค์ต้นแบบอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ เปี่ยมคุณค่าและโภชนาการ ด้วยงบประมาณอาหารกลางวันที่จำกัด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงร่วมกับโรงเรียนในจังหวัดขอนแก่นและโรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ จัดทำโครงการพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กผ่านประสบการณ์อาหารกลางวันโรงเรียน หรือ Lunch and Learn Project มุ่งพัฒนารายการอาหารกลางวันด้วยวัตถุดิบจากท้องถิ่นอย่างสร้างสรรค์ และสอดคล้องกับโภชนาการสําหรับเด็กนักเรียนช่วงปฐมวัย รวมทั้งส่งเสริมการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความเข้าใจทางวัฒนธรรมอาหารพื้นถิ่นและอาหารจากวัฒนธรรมอื่น
เมนูอาหารกลางวันเหล่านี้เกิดขึ้นจากการนำความสร้างสรรค์ ประยุกต์เข้ากับ “อาหาร” ผนวกกับกระบวนการคิดเชิงออกแบบ และกระบวนการร่วมคิดร่วมสร้าง ระหว่างผู้บริหาร ครู แม่ครัว เด็กนักเรียน บุคลากรในโรงเรียน รวมทั้งเชฟฝีมือดี ผ่านกิจกรรมอบรมให้ความรู้เชิงลึก กิจกรรมทดลองสูตรอาหาร และกิจกรรมทดลองทำอาหารกลางวัน เด็กนักเรียนและบุคลากรของโรงเรียน จึงได้เรียนรู้เรื่องอาหาร โภชนาการ การออกแบบเมนู การประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะ รวมถึงวัตถุดิบในท้องถิ่นและตามฤดูกาล ผู้รับประทานคือเด็กนักเรียนได้มีส่วนร่วมออกความเห็นเลือกเมนูที่อยากรับประทาน ในขณะที่ผู้บริหารโรงเรียนก็ได้เรียนรู้เรื่องการบริหารงบประมาณอาหารกลางวัน อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังสามารถนำองค์ความรู้ไปถ่ายทอดสู่สาธารณะต่อไปได้
โดยผลจากการดำเนินการเกิดการสร้างสรรค์ 10 เมนูอาหาร จากโครงการ Lunch and Learn จังหวัดขอนแก่น ได้แก่
1. แกงเผ็ดลูกชิ้นปลากรายหน่อไม้ • ข้าวสวย • ไข่ต้ม • วุ้นฟรุตสลัด
2. KFC (Kwantip’s fried chicken) • มันบด • โคลสลอว์ • ฝรั่งกิมจู
3. ข้าวมันไก่ • น้ำซุป • แตงโม
4. ผัดไทยวุ้นเส้น • ฝรั่งกิมจู
5. ส้มตำไทย • ไก่ทอด • ข้าวเหนียว• ไข่ต้ม • มะม่วงมันดิบ
6. เขียวหวานเบญจรงค์ • ข้าวอัญชัน • ผลไม้ (แอปเปิ้ล) • ผลไม้พื้นถิ่น
7. ข้าวไก่อบซอสเทอริยากิ • ไข่ต้มซีอิ๊ว • เฉาก๊วยนมสด
8. ข้าวหมูทงคัตสึ • ผัดเปรี้ยวหวาน • บวดมันสามสี
9. หมี่หุ้นภูเก็ต • แกงจืดหมูสับหัวไชเท้า • ขนมหัวล้าน
10. ข้าวผัดฮ่องกง • เกี๊ยวน้ำ • ส้มเขียวหวาน
ส่วนสำคัญคือการมีส่วนร่วมของเด็กนักเรียน เสียงเล็ก ๆ ของเด็ก ๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาสูตรอาหาร ให้ได้ทั้งความอร่อย ความหลากหลาย สารอาหารครบถ้วน ตอบโจทย์ความต้องการ เพื่อที่พวกเขาจะได้มีพลังในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในแต่ละวัน โดยน้อง ๆ เด็กนักเรียนได้ร่วมโหวตเมนูในดวงใจที่อยากรับประทานมากที่สุด โดยเมนูที่ได้รับการโหวตสูงสุด ได้แก่ เมนูไก่ทอด KFC (Kwantip’s Fried Chicken) โดยเชฟป้อม - ม.ล.ขวัญทิพย์ เทวกุล
อีกทั้งยังขยายผลโครงการ Lunch and Learn ไปยัง จังหวัดเชียงใหม่ เกิดการสร้างสรรค์ 10 เมนูอาหาร ได้แก่
1. ข้าวผัดหมูสับไข่ผักสามสี • ซุปสาหร่าย • แตงโม
2. ขนมจีนน้ำพริกอ่องไข่ ใส่เต้าหู้ขาว • ฝรั่ง
3. ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ราดน้ำผัดเห็ดออรินจิ • ส้มเขียวหวาน
4. ข้าวกับอกไก่ราดซอสพะแนง • สับปะรด
5. ข้าวกับต้มจืดแตงกวายัดไส้ • มันบวดสามสหาย
6. ผัดไทย (ใหญ่) • แตงโม
7. ผักกะเพรามะเขือยาว • บวดรวมมิตร
8. ข้าวมันไก่สามสหาย • แคนตาลูป
9. ข้าวผัดกิมจิ-ไก่คลุกซอส • ซุปสาหร่าย • ขนมเค้ก
10. ข้าวกับแกงโฮ๊ะหมู • กล้วยน้ำว้า
จากความสำเร็จของโครงการในปี 2564 ส่งผลให้ในปี 2565 CEA มุ่งขยายขอบเขตพื้นที่โครงการ Lunch and Learn ภายใต้งบอาหารกลางวัน 21 บาท ไปยังสถาบันการศึกษา 22 แห่ง และบุคลากรรวมจำนวน 88 คน ในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ และในอนาคตจะผสานความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการในการขยายผลโครงการต่อไป
นอกจากนี้ Lunch and Learn Project ยังต่อยอดเป็นบอร์ดเกม “Match My Meal ถาดหลุมสุ่มเมนู เสิร์ฟความรู้ คู่เซตอาหารสุดสร้างสรรค์” เป็นสื่อการเรียนรู้ใหม่ในรูปแบบบอร์ดเกมที่ประยุกต์เกมมาใช้ในกระบวนการ ผ่านการจำลองสถานการณ์จัดเมนูถาดหลุม เหมาะกับน้อง ๆ เด็กนักเรียนระดับชั้น ป.1 - ป.6 (อายุ 7 - 12 ปี) ส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องโภชนาการ ความเข้าใจเรื่องอาหารที่รับประทาน และความหลากหลายของอาหารทั้งในท้องถิ่นและต่างถิ่นไปพร้อมกับเพื่อน ๆ นับเป็นการสนับสนุนการเล่นและเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ไปพร้อม ๆ กัน (Creative Play & Learn) อีกทั้งยังเป็นชุดเครื่องมือช่วยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับอาหารที่เด็ก ๆ อยากรับประทานผ่านการเล่นบอร์ดเกม สำหรับคุณครู นักโภชนาการ แม่ครัว และผู้ปกครอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มตัวเลือกความหลากหลายในการรังสรรค์เมนูอาหารที่น่าตื่นเต้นสำหรับเด็ก ๆ ได้มากขึ้น
Posted in news on เม.ย. 26, 2022