News Update

16.08.2567

CEA ส่งเสริมผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ไทยสู่สากล ร่วมจัดแสดงสินค้าและบริการในเทศกาลไทย ณ กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการและบุคลากรสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ ให้มีโอกาสเข้าสู่ตลาดระดับสากล ได้จัด กิจกรรมส่งเสริมนักออกแบบสร้างสรรค์รุ่นใหม่ สู่การเผยแพร่ Soft Power ไทย ในระดับสากล (Creative House By CEA) เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ไทยในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 4 สาขา ประกอบด้วยการออกแบบ แฟชั่น อาหาร และวัฒนธรรมไทย ให้มีโอกาสได้เข้าถึงแหล่งตลาดและการจ้างงาน พร้อมผลักดัน Soft Power ไทยให้เป็นที่รู้จักในต่างแดน

ทั้งนี้ CEA ได้จัดกิจกรรมดังกล่าวร่วมกับกองการทูตวัฒนธรรม กรมสารนิเทศ กระทรวงต่างประเทศ ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยผ่านเทศกาลไทยในต่างประเทศ โดยจัดกิจกรรมใน 2 ประเทศนำร่อง ได้แก่ สาธาณรัฐประชาชนจีน และญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 10 - 12 พฤษภาคม 2567 และล่าสุดได้เดินหน้าจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในเทศกาล “Thai Festival in Moscow 2024” ภายใต้ธีม “Discovering Thailand: From Local to Global” เมื่อวันที่ 2 - 4 สิงหาคม 2567 ณ สวนสาธารณะ Hermitage Garden กรุงมอสโก สหพันธรัฐรัสเซีย 

ครั้งนี้ CEA ได้นำผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์ไทยจากภาคอีสาน เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 5 แบรนด์ ดังนี้

1. Mann Craft จังหวัดสกลนคร 

แบรนด์ผู้สร้างสรรค์งานศิลปะจากสีธรรมชาติบนผ้าทอมือฝีมือช่างทอผ้าสกลนคร ภายใต้แนวคิด “สิ่งทอที่ยั่งยืน” ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 โดย ปราชญ์ นิยมค้า ศิลปินชาวสกลนคร โดย Mann Craft ได้ทํางานร่วมกับช่างทอผ้าพื้นบ้านและเกษตรกรที่ปลูกครามธรรมชาติในพื้นที่สกลนคร เพื่อสืบสานภูมิปัญญาด้านงานทอผ้าด้วยมือการย้อมครามและสีจากธรรมชาติ เทคนิคการทอผ้าต่าง ๆ เช่น การมัดหมี่ การยกมุก การชิด รวมถึงสร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่ช่างฝีมือในช่วงที่ว่างเว้นจากการทําไร่ทํานาตามฤดูกาล ทางแบรนด์ใส่ใจทุกระบวนการผลิต ตั้งแต่การปลูกพืชสำหรับย้อมสีกว่า 50 ชนิด ที่สวนแมน Creative Crafts Center (ศูนย์เรียนรู้ศิลปหัตถกรรม) มีการค้นคว้า ทดลอง และต่อยอดเทคนิคการย้อมผ้าวิธีต่าง ๆ ในกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใด้รับการรับรองด้วยเครื่องหมาย Green Production จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Mann Craft ได้สร้างสรรค์ผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ คอลเล็กชันต่าง ๆ ล้วนสะท้อนความงดงามของฤดูกาล ธรรรมชาติ และความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ โดยมีการนําเทคนิคการย้อมผ้าแบบร่วมสมัยมาประยุกต์ใช้ เช่น เทคนิค Eco-Print การนําใบไม้ดอกไม้จริงมาพิมพ์ลวดลายและสีสันลงบนผืนผ้า การย้อมและเพนต์ลวดลายด้วยหมึกครามธรรรมชาติ การใช้สีย้อมจากใบไม้และดอกไม้ตามฤดูกาล ทั้งยังมีการจัดการการผลิตแบบ Zero Waste และ Bio Circular Green Economy (BCG) และได้มีการส่งต่อองค์ความรู้อันทรงคุณค่านี้ให้แก่สถาบันการศึกษาทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงชุมชนและบุคคลทั่วไป เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ นำไปสู่การต่อยอดศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้รับการพัฒนาสู่สากลต่อไป

ช่องทางการติดต่อ
E-mail: Manncraftthailand@gmail.com
IG: mann.craft
FB: mann.craft

2. ภูคราม จังหวัดสกลนคร 

แบรนด์ผ้าฝ้ายย้อมสีธรรมชาติที่ปักลวดลายที่เกี่ยวข้องกับเทือกเขาภูพานด้วยมือ เป็นงานฝีมือที่เกิดจากคนในพื้นที่และกระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ โดยใช้แรงบันดาลใจจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว แบรนด์ภูคราม ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดย ปิลันธน์ ไทยสรวง หรือเหมี่ยว นักประวัติศาสตร์โบราณคดี ซึ่งทํางานด้านประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น ทั้งยังมีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม เธอต้องการกลับไปทำงานที่บ้านเกิดโดยใช้ความถนัดและสนใจของตนเองเกี่ยวกับท้องถิ่น เพื่อกระตุ้นให้คนในท้องถิ่นมองเห็นคุณค่าในการทำงานของตนเองและสิ่งรอบตัว ด้วยการเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ ในท้องถิ่นเป็นหนึ่งเดียวกัน

ภูครามจึงมีพื้นที่ทำงานอยู่บนที่ราบหุบเขาบนเทือกเขาภูพาน โดยมีสมาชิกกระจายอยู่ในหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตภูพาน ได้แก่ หมู่บ้านนางเติ่ง หนองส่าน ยางโล้น โคกภู และบ้านกลางหมู่บ้าน จำนวนประมาณ 80 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงอายุตั้งแต่ 16 - 80 ปี ที่มีองค์ความรู้ทางด้านงานฝีมือและภูมิปัญญาท้องถิ่น เมื่อนำมาผสมผสานกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จึงก่อเกิดงานฝีมือที่มีเอกลักษณ์และความสวยงามไม่ซ้ำใคร นอกจากนี้ แบรนด์ยังนำเสนอชิ้นงานที่บอกเล่าความเป็นไปของภูพาน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และการมองอนาคตจากมุมมองของคนภูพานอีกด้วย

ช่องทางการติดต่อ
E-mail: pilanth79@gmail.com
IG: Bhukram.Thailand
FB: ภูคราม Bhukram

3. T. CHATTUWAN THAISILK จังหวัดขอนแก่น

แบรนด์ผ้าไหมมัดหมี่ที่นำเสนอรูปแบบร่วมสมัยสไตล์โมเดิร์น คิดค้นและออกแบบโดย ไดม่อน - ทวีศักดิ์ จัตุวัน นักออกแบบสิ่งทอ ที่นำความรู้เรื่องลายเส้นการออกแบบทางสถาปัตยกรรม มาผสมผสานกับความรู้พื้นถิ่นในการทำผ้าไหมมัดหมี่อีสาน จนออกมาเป็นผลงานผ้าไหมมัดหมี่รูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์ และนำเสนอมุมมองใหม่ที่ไม่เหมือนใคร

สำหรับการออกแบบลวดลายผ้าไหมมัดหมี่ แบรนด์ T. CHATTUWAN THAISILK เน้นการนำความคิดสร้างสรรค์มาประยุกต์ใช้จนเกิดเป็นเทคนิคใหม่ รังสรรค์ลวดลายที่มีความแตกต่าง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานกับการใช้สีสันงดงามตามยุคสมัย เพื่อให้เข้ากับเทรนด์และไลฟ์สไตล์ของผู้คนในยุคปัจจุบัน เพิ่มโอกาสการนำเสนอผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในรูปแบบใหม่ออกสู่ตลาดโลก โดยยังไม่ลืมสิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือการรักษาเสน่ห์ของกระบวนการการทำผ้าไหมมัดหมี่ในรูปแบบดั้งเดิมของช่างทอผ้าชั้นครูของท้องถิ่นอีสาน กระบวนการทอผ้าไหมมัดหมี่นี้ยังมีการส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ เพื่อให้เห็นความสำคัญของงานฝีมืออันทรงคุณค่า และร่วมกันสืบทอดและพัฒนาภูมิปัญญานี้ให้ยั่งยืนสืบไป

ช่องทางการติดต่อ
E-mail: chattuwandtc1992@gmail.com
FB: T.CHATTUWAN THAISILK

4. BWILD ISAN จังหวัดขอนแก่น

ชมพู่-กาญจนา ชนาเทพาพร ดีไซเนอร์ผู้มีความเชื่อมั่นว่า “อีสานมีดี” และโดดเด่นเรื่องความหลากหลายของวัฒนธรรม ผู้คน และภูมิปัญญา จึงได้ก่อตัังแบรนด์ BWILD ISAN เพื่อให้คนอีสานรุ่นใหม่ที่มีความสามารถได้แสดงศักยภาพด้านงานดีไซน์ มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งยังได้ใช้เวลาอยู่กับครอบครัวอีกด้วย

แนวคิดนี้เองที่คือจุดเริ่มต้นของ BWILD ISAN แบรนด์ที่สร้างธุรกิจอย่าง “พอแล้วดี” โดยเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนและเกื้อกูล แบรนด์มีความเชื่อว่าธุรกิจเล็ก ๆ ก็สามารถเติบโตไปพร้อมกับสร้างคุณค่าให้สังคมได้ จึงได้สร้างคอมมิวนิตี้ของนักออกแบบและช่างฝีมืออีสาน ที่กล้าคิด กล้าสร้างสรรค์ โดยหยิบแรงบันดาลใจจากรากเหง้า วิถีชีวิต นำมาตีความบอกเล่าใหม่ให้น่าสนใจยิ่งกว่าเดิม แบรนด์นำเสนอการออกแบบสินค้าแฟชั่นที่มีความโมเดิร์น สะท้อนสิ่งธรรมดาของภาคอีสานให้กลายเป็นสิ่งพิเศษ สร้างความภาคภูมิใจในตัวตน และนำศักดิ์ศรีมาสู่ภาคอีสานในแบบที่ไม่ซ้ำใคร

ช่องทางการติดต่อ
E-mail: bwildbyheart@gmail.com
FB: BWILD ISAN
Website: www.bwildisan.com

5. La Orr Ornaments จังหวัดนครราชสีมา

“ลออ” คำภาษาไทยมีความหมายว่า สวยหรืองาม เป็นส่วนหนึ่งของชื่อแบรนด์เครื่องประดับของ ออม-สุพัจนา ลิ่มวงศ์ ดีไซเนอร์สัญชาติไทย ผู้มีความถนัดทั้งเรื่องผ้าและการออกแบบเครื่องประดับ เมื่อนำสองสิ่งนี้มาผสานกัน จึงเกิดจุดเด่นของแบรนด์ที่มีการใช้ผ้าไหมไทยซึ่งเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาวไทย มาสร้างสรรค์ให้เป็นเครื่องประดับที่มีอัตลักษณ์ในตัวตนอย่างชัดเจน ฉีกกรอบความคิดเดิม ๆ ของผู้คนที่มองว่าผ้าไหมเหมาะสำหรับผู้สูงอายุเท่านั้น

ความหลงใหลของดีไซเนอร์ที่มีต่อเสน่ห์ของผ้าไหมไทย ผนวกกับโจทย์ที่ท้าทายความสามารถทางการออกแบบ คือการสร้างสรรค์ชิ้นงานที่ต้องใช้งานได้ในชีวิตประจำวัน หลังค้นหาแนวทางอยู่นานปีก็ได้พบทางแก้ปัญหา ด้วยการนำวัสดุที่ใช้ทำเครื่องประดับเข้ามาผสมผสาน จนเกิดเป็นชิ้นงานที่มีความเป็นเครื่องประดับมากยิ่งขึ้น ทั้งยังมีความสวยงาม หรูหรา เสริมบุคลิกภาพให้แก่ผู้ที่สวมใส่ ทั้งหมดนี้คือเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ La Orr Ornaments ที่มีความโดดเด่น ช่วยยกระดับผลงานการออกแบบเครื่องประดับและผ้าไหมไทยให้มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้น

ช่องทางการติดต่อ
E-mail: ornamentsss@gmail.com
IG: laorr_ornaments
FB: La Orr ornaments 

สำหรับกิจกรรม Creative House By CEA ในเทศกาลไทยที่ได้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างสวยงาม โดยได้รับความสนใจจากชาวรัสเซียเป็นอย่างมาก เปรียบเสมือนเครื่องพิสูจน์ศักยภาพของสินค้าและบริการสร้างสรรค์ของไทยที่ผสานทักษะฝีมืออันโดดเด่นเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ ความเป็นไทย รวมถึงความเป็นสากลของผู้ประกอบการและบุคลากรสร้างสรรค์ไทยได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ ในอนาคต CEA จะมีการจัดกิจกรรม Creative House By CEA ในเทศกาลไทย (Thai Festival) ต่อเนื่องในอีกหลายประเทศ เช่น สาธารณรัฐเกาหลี และสาธารณรัฐฝรั่งเศส สามารถติดตามความเคลื่อนไหวกิจกรรมได้ที่ Website: www.cea.or.th และ Facebook: CreativeEconomyAgency

 

 

Posted in news on ส.ค. 16, 2024