News Update

03.12.2564

CAPT Fest 2021 ถอดรหัสโอกาสทางธุรกิจในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยสำหรับคนรุ่นใหม่

สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) จัด “CAPT FEST 2021” กิจกรรมบรรยายและสัมมนาเชิงปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์ ทุกวันเสาร์ - อาทิตย์ ตลอดเดือนสิงหาคมถึงกันยายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงศักยภาพของอุตสาหกรรมศิลปะการแสดงและทัศนศิลป์ ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสนับสนุนการยกระดับความสามารถของบุคลากรและธุรกิจให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดอุตสาหกรรมภาพรวมและเทคโนโลยี นำมาสู่แนวคิดและมุมมองหลากหลายและน่าสนใจ ที่จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยให้เติิบโตได้อย่างยั่งยืน 

ติสต์ได้รวยด้วย : โอกาสทางธุรกิจในวงการศิลปะร่วมสมัยไทยสำหรับคนรุ่นใหม่ ถอดรหัสจาก CAPT Fest 2021

คำว่า “ศิลปะ” กับ​ “ธุรกิจ” อาจดูไม่ไปด้วยกัน แต่ที่จริงศิลปะก็เหมือนกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ มีระบบนิเวศที่ต้องการการสนับสนุนเพื่อให้เติบโตเป็นแหล่งรายได้ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งการสนับสนุนนี้ย่อมต้องเกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ทั้งภาคเอกชนที่รวมกลุ่มกันเพื่อสร้างเครือข่ายคนจัดการศิลปะ ภาคประชาชนที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อเสพศิลปะ และภาครัฐที่ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และมีนโยบายรัฐที่สนับสนุนอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA พบว่า “บทบาทของหน่วยงานภาครัฐ” เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เนื่องจากอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีหลักการและกระบวนการที่แตกต่างจากอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ ภาครัฐจึงต้องมีบทบาทในการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ แก่ผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรม ทั้งด้านการเงินและการลงทุนในกิจกรรมที่จำเป็นต่อการพัฒนา การให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการและบุคลากร ตลอดจนการส่งเสริมในส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน สร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา และส่งออกผลิตภัณฑ์ศักยภาพสูง เพื่อเป็นตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการที่อยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายอื่น ๆ

การเข้ามามีบทบาทของรัฐบาลจะช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก้าวต่อไปได้อย่างมั่นคง และเปิดพื้นที่โอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมที่เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ก็เช่นกัน รัฐบาลควรส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่นเดียวกันกับอุตสาหกรรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศในกลุ่มอื่น ๆ เพราะนอกจากศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจะเป็นต้นธารของความคิดสร้างสรรค์ที่จะต่อยอดให้กับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ แล้ว ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยยังเป็นธุรกิจที่เปิดกว้างให้ทุกคนเข้ามาเริ่มต้นเส้นทางอาชีพได้ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่


การเกิดขึ้นของสมาคม CAPT

สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย หรือ Contemporary Arts & Culture Industry Promotion Trade Association (Thailand) : CAPT เกิดจากการรวมตัวกันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย โดยเฉพาะเจ้าของเทศกาลศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เจ้าของสถานที่ทางศิลปะ นักจัดการศิลปะ คิวเรเตอร์ โปรดิวเซอร์ นักสะสมงานศิลปะ CAPT เป็นสมาคมของนักจัดการศิลปะ (Art Manager) ไม่ใช่สมาคมของศิลปิน (Artist) แต่ CAPT ตั้งใจสร้างระบบนิเวศในวงการ เพื่อให้ศิลปินทำงานได้อย่างสบายใจ และมีทรัพยากรมากพอให้คนสร้างสรรค์ได้ทำงาน

สมาคม CAPT เป็นสมาคมการค้าในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ไม่ใช่กระทรวงวัฒนธรรม เพราะ CAPT เชื่อในศักยภาพของศิลปะในฐานะอุตสาหกรรมหนึ่งที่เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้และอาชีพให้คนไทยได้เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ

เป้าหมายของสมาคม CAPT คือการสร้างแพลตฟอร์ม (Platform) เส้นทางอาชีพ (Career Path) และเครือข่าย (Network) ให้กับอุตสาหกรรม เพื่อให้มั่นใจว่า ศิลปะจะเป็นเส้นทางอาชีพที่ต่อยอดโอกาสให้คนไทยได้ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศศิลปะ ขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น แรงงาน ค่าตอบแทน และการลงทุนของภาครัฐเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรม เช่น การจัดเทศกาล การสร้างและบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานด้านศิลปะ เช่น หอศิลป์ ศูนย์วัฒนธรรม โรงละคร และที่สำคัญคือการสร้างวัฒนธรรมการจ่ายเพื่อเสพศิลปะในหมู่ผู้บริโภคศิลปะในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้อุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน


ปัญหาในปัจจุบันของอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

หากคลุกคลีใกล้ชิดกับคนในวงการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยไทย ย่อมทราบดีว่าศิลปินและนักสร้างสรรค์คนไทยมีศักยภาพสูงมาก เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ แต่กลับไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากรัฐเท่าที่ควร เช่น การมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอ การส่งเสริมด้วยงบประมาณและการอำนวยความสะดวก รวมถึงภาคประชาชน เช่น การจ่ายเงินเพื่อเสพศิลปะของผู้ชม ซึ่งอาจเป็นข้อจำกัดจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและทัศนคติที่มีต่อการชมศิลปะ ศิลปินไทยประสบความสำเร็จได้ด้วยตัวเอง มีผู้คนชื่นชมทั่วโลก ชาวต่างชาติได้ชมผลงาน ในขณะที่บางครั้งคนไทยไม่มีโอกาสเห็นผลงานเหล่านั้น

ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เพียงพอมีทั้งเชิงกายภาพและเชิงนโยบาย ทางด้านเชิงกายภาพ เช่น สถานที่หรืองบประมาณไม่เพียงพอ ทางด้านนโยบาย เช่น ไม่มีการส่งเสริมให้เสพศิลปะตั้งแต่เด็ก ไม่มีการส่งเสริมการสร้างสรรค์ต่อยอดแบบร่วมสมัย แต่มุ่งไปที่การอนุรักษ์มากกว่า กฎหมายที่ไม่ครอบคลุมอาชีพศิลปิน หรือธุรกิจศิลปะไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่าย ๆ นิติบุคคลที่เหมาะจะดำเนินธุรกิจศิลปะที่ไม่เน้นผลกำไรในเมืองไทยไม่มีกฎหมายรองรับ ธุรกิจศิลปะต้องอยู่ในกฎหมายแบบเดียวกับธุรกิจเน้นกำไรแบบอื่น ๆ ทั้งที่ลักษณะของธุรกิจไม่เหมือนกัน

เครือข่ายศิลปะในประเทศไทยส่วนใหญ่ขับเคลื่อนโดยศิลปิน แต่สิ่งที่ประเทศยังขาดอยู่คือนักจัดการศิลปะ เพื่อที่จะเข้ามาจัดการทรัพยากรในอุตสาหกรรม และเชื่อมโยงโอกาสให้กับนักสร้างสรรค์


CAPT Fest คืออะไร

เทศกาล CAPT Fest เป็นความพยายามครั้งแรกท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ที่เหล่านักจัดการศิลปะมาสร้างแพลตฟอร์มให้คนรุ่นใหม่ ได้มองเห็นโอกาสในอุตสาหกรรมแบบที่อาจจะไม่เคยคิดถึงมาก่อน แนวคิดหลักคือ “การพาศิลปะข้ามสายไปสร้างคุณค่าในอุตสาหกรรมอื่น” เพื่อให้ทุกคนในทุกวงการ ทั้งคนศิลปะและคนในอุตสาหกรรมอื่น มองเห็นโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นได้ หากให้ศิลปะได้ทำงานในพื้นที่ที่เปิดรับความสร้างสรรค์

ART IS A NEW WEALTH
ศิลปะก็สร้างมูลค่าได้อย่างมากมายมหาศาล CAPT ร่วมกับ Hotel Arts Fair ยืนยันสิ่งนี้ผ่านการสัมมนากับตัวจริงในวงการศิลปะร่วมสมัย ทั้งเจ้าของเทศกาลศิลปะ นักสะสมงานศิลปะมืออาชีพที่ได้รับการยอมรับในวงการ นักสะสมระดับโลก เจ้าของแกลเลอรี่และสำนักพิมพ์ที่สร้างพื้นที่เพื่อให้คนเรียนรู้ศิลปะ และศิลปิน NFT ตัวจริง เพื่อให้เห็นช่องทางสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับนักลงทุนที่สนใจศิลปะ และศิลปินที่อยากลองจับตลาดเหรียญดิจิทัลซึ่งกำลังมาแรง งานนี้ได้ลงลึกวงการสะสมศิลปะกันอย่างออกรส เห็นถึงเม็ดเงินจำนวนมากในวงการนี้ และเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับศิลปิน NFT ให้กับนักสะสมและศิลปินอีกด้วย

DESTINATION ART AND CULTURE
จุดหมายปลายทางที่มีเรื่องราวของตัวเองทำให้คนอยากเดินทางไปสัมผัส ศิลปะก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยสร้างเรื่องราวให้จุดหมายปลายทาง สร้างประสบการณ์ใหม่ให้มากกว่าแค่วิวทิวทัศน์แบบเดิม และนำเสนอตัวตนของพื้นที่ออกมาได้อย่างสร้างสรรค์ ศิลปะก็ช่วยสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยวได้ CAPT จึงชวนเจ้าของเครือข่ายและเทศกาลศิลปะร่วมสมัยจากทั่วประเทศ มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันถึงการทำงานศิลปะร่วมกับพื้นที่ ว่าการจะสร้างเรื่องราวให้จุดหมายปลายทางได้ต้องพูดคุยกับคนมากมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนในพื้นที่ ภาคเอกชน และภาครัฐ เพราะศิลปะในชุมชนคือเรื่องของทุกคนในชุมชนนั้น ไม่ใช่แค่ผู้จัดเทศกาล ในระยะยาวเทศกาลศิลปะเหล่านี้อาจกลายเป็นพื้นที่หลักให้คนในชุมชนได้สื่อสารเสียงของตนเองออกมา และสร้างรายได้ให้พวกเขาได้อย่างมหาศาลอย่างโมเดลในต่างประเทศ งานนี้ทำให้เหล่าเจ้าของเครือข่ายและเจ้าของเทศกาลศิลปะร่วมสมัยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่นำไปสู่โอกาสในการสร้างงานศิลปะกับชุมชนและพื้นที่ต่อไปในอนาคต

ARTS AT OUR FINGERTIPS : ONLINE ARTS APPRECIATION
แม้ตอนนี้จะยังมีการจำกัดการเดินทางในหลายประเทศทั่วโลก แต่คนรักศิลปะก็ยังมีโอกาสได้ชื่นชมงานผ่านทางโลกออนไลน์ อย่างไรก็ตาม วงการศิลปะคงจะพัฒนาต่อไปไม่ได้หากผู้ชมไม่ได้ร่วมพัฒนาไปด้วยกัน CAPT ร่วมกับชมรมวิจารณ์ศิลปะการแสดง จัดสัมมนาและเวิร์กช็อปพัฒนาผู้ชมงานศิลปะ แม้จะเป็นการชมศิลปะออนไลน์ก็ยังเพลิดเพลินและชุบชูใจได้ พูดคุยกับนักวิจารณ์ศิลปะระดับเซียนจากหลากหลายสาขา ตบท้ายด้วยเวิร์กช็อปร่วมกันวิจารณ์งานศิลปะออนไลน์ตามโจทย์ งานนี้อาจจะไม่ได้สร้างนักวิจารณ์ได้ในทันทีทันใด แต่ทุกคนที่เข้าร่วมงาน ล้วนแล้วแต่จุดประกายความคิดที่อยากจะชมงานศิลปะให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น และกลายเป็นก้าวใหม่สู่การเป็นนักวิจารณ์อย่างแน่นอน

ACTING FOR NON-ACTORS : CREATE YOUR OWN COMMUNICATION
ศิลปะการแสดงไม่ใช่แค่การเล่าเรื่องผ่านตัวละครบนเวที แต่รวมถึงการสื่อสารทั่ว ๆ ไปในชีวิตประจำวันด้วย เพราะหัวใจของศาสตร์การแสดงคือการย้อนมองตัวเองและรู้จักตัวเองมากขึ้น CAPT ร่วมกับ Self-Factory จัดเวิร์กช็อปพัฒนาการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ผ่านศาสตร์การแสดงและจิตวิทยาสังคม ให้ผู้ที่ไม่ใช่นักแสดงอาชี นำศาสตร์การแสดงขั้นพื้นฐานมาปรับใช้เพื่อพัฒนาการสื่อสารเฉพาะบุคคล งานนี้เป็นเวิร์กช็อปยาวติดต่อกัน 4 สัปดาห์ ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การตั้งคำถามกับตัวเองเพื่อให้รู้จักตัวเองมากขึ้น กำหนดจุดมุ่งหมายและกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสาร เวิร์กช็อปมีผู้เข้าร่วมจากหลากหลายสาขาอาชีพ ตั้งแต่ครูไปจนถึงวิศวกรที่ต่างก็มีปัญหาการสื่อสารและอยากจะแก้ไข จึงช่วยให้ผู้เข้าร่วมรู้จักตัวเองและมั่นใจในการสื่อสารมากขึ้น ตรงตามโจทย์ตั้งต้นของผู้จัดงาน

STORYTELLING FOR GAME DESIGN
อุตสาหกรรมเกมโลกกำลังไปไกล อุตสาหกรรมเกมไทยก็กำลังเติบโต หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของเกมดังทั่วโลกคือศิลปะการเล่าเรื่อง CAPT จึงร่วมกับ TGA จัดสัมมนาและเวิร์กช็อปสร้างพื้นที่ให้นักเล่าเรื่องและนักสร้างเกมได้มาเจอกัน งานนี้มีผู้เข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ เพราะทั้งฝั่งคนเขียนบทเองก็อยากร่วมงานกับคนทำเกม ฝั่งคนทำเกมก็อยากได้มือเขียนบทที่ชำนาญมาแก้ปัญหาของตัวเอง ตลอดช่วงเวลาของสัมมนาและเวิร์กช็อป นอกจากจะได้เจาะลึกอัดแน่นถึงกระบวนการสร้างเนื้อเรื่องในเกมแล้ว ยังได้เห็นศักยภาพความคิดสร้างสรรค์ของนักสร้างสรรค์ในไทย ที่แม้จะต้องปั้นไอเดียในเวลาอันสั้น แต่ก็เป็นไอเดียตั้งต้นที่น่าสนุก น่าสนใจ และคงจะดีไม่น้อยถ้าไอเดียเหล่านี้ ได้พัฒนาต่อยอดออกไปเป็นเกมจริง ๆ

SHOWBIZ AGENT 101
ในยุคสมัยที่โลกเชื่อมถึงกันได้อย่างง่ายดาย นอกเหนือจากการทำงานกันในประเทศ วงการศิลปะสายบันเทิงอย่างนักดนตรีหรือศิลปินที่ต้องการต่อยอดในระดับโลกหรือตลาดนานาชาติ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี “เอเจนซี่” หรือผู้แทนของตัวเองเพื่อติดต่องาน และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับตัวเอง CAPT ร่วมกับ First One Asia พาเอเจนต์และตัวแทนจากค่ายเพลงตัวจริงในวงการบันเทิงระดับโลก มาเล่าการทำงาน ประสบการณ์ และข้อดีของการมีเอเจนต์ ที่ทำให้ศิลปินได้มีเวลาสร้างสรรค์งานอย่างเต็มที่ งานนี้ทำให้หลายคนได้เปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับเอเจนซี่และเห็นภาพการทำงานระหว่างศิลปิน เอเจนซี่ ค่ายเพลง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ มากขึ้น

ARTREPRENEUR TOOL KIT
เพราะสถานการณ์โรคระบาดที่ผ่านมาไม่ได้ทำให้คนป่วยแค่กาย แต่ยังป่วยใจอีกด้วย CAPT จึงร่วมกับ The Artitude พาศิลปะไปแก้ปัญหาสุขภาพจิตด้วยโมเดลธุรกิจ จัดบรรยายและเวิร์กช็อปจุดประกายไอเดียดี ๆ ให้กับเหล่าศิลปินที่ต้องการสร้างงานเพื่อแก้ปัญหาสังคม และสร้างพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมกันนำเสนอทางออก งานนี้อัดแน่นด้วยสัมมนาจากวิทยากร 10 ท่าน และไอเดียศิลปะจากเพื่อนหลากหลายสาขาอาชีพตลอดระยะเวลา 2 วัน

BLUR THE LINES, REDEFINE THE BORDERS
เส้นแบ่งวิทยาศาสตร์กับศิลปะกลายเป็นเรื่องล้าหลังแล้วในยุคนี้ แต่การทำงานร่วมกันสิที่สร้างคอนเทนต์น่าสนใจให้กับโลก CAPT ร่วมกับไบแพม (BIPAM) การประชุมนานาชาติทางศิลปะการแสดงแห่งกรุงเทพมหานคร จัดสัมมนาและเวิร์กช็อป เพื่อสร้างพื้นที่ให้คนทำงานวิทยาศาสตร์และคนทำงานศิลปะมาพบปะพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สร้างความเป็นไปได้ที่แตกแขนงออกจากงานในกรอบของศาสตร์ตัวเอง จับคู่คนวิทย์กับคนศิลป์ทำกิจกรรมคิดงานออกแบบข้ามศาสตร์กันในเวลาจำกัด ผลลัพธ์คืองานออกแบบสนุก ๆ ที่ใช้วิทยาศาสตร์สร้าง ใช้ศิลปะสื่อสาร และพร้อมจะต่อยอดต่อไปในอนาคต

ART IS ALL AROUND
เพราะแท้จริงแล้วศิลปะอยู่รอบตัวเรา CAPT สรุปปิดท้าย CAPT Fest อันยาวนานร่วมเดือน ด้วยการรีแคปกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดทั้งงานจากเจ้าของแต่ละสัมมนาและเวิร์กช็อป เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าศิลปะอยู่ในทุกช่วงชีวิต ทุกอย่างรอบตัวของมนุษย์ และมีพื้นที่มากมายรอการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ให้ไปไกลกว่าแค่ไอเดีย แต่นำไปใช้ได้จริง และสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างแท้จริง



CAPT Fest เข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างไร

CAPT พยายามทำให้คนไทยมองเห็นความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในวงการ นำศิลปะก้าวข้ามไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อเปิดพื้นที่ให้นักสร้างสรรค์และนักจัดการ ได้จินตนาการถึงสิ่งที่สามารถต่อยอดเป็นธุรกิจหรือสร้างอาชีพได้

นอกจากจะสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้คนศิลปะได้เจอกับคนในธุรกิจอื่น ๆ การสร้างเครือข่ายนักจัดการศิลปะยังช่วยแก้ปัญหาได้ในระยะยาว สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และต่อยอดงานที่ตัวเองทำได้ในระยะยาว


CEA มีบทบาทอย่างไรเพื่อช่วยให้ CAPT พัฒนาอุตสาหกรรม

การเชื่อมโยงกับนักออกแบบนโยบายสาธารณะ ช่วยให้สมาคม CAPT ได้รับทราบถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรม และตอบสนองได้อย่างตรงจุด CEA ได้ศึกษาอุตสาหกรรมเพื่อวางแผนการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เป็นการดำเนินนโยบายที่ดี เช่น การศึกษามูลค่าเศรษฐกิจ ห่วงโซ่อุปทาน และระบบแรงงานของอุตสาหกรรม

เพื่อให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีจุดมุ่งหมายชัดเจน CAPT และ CEA ลงนามความตกลง MOU ในประเด็นดังนี้
1) เพื่อส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในสาขาที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น นักบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้สร้างสรรค์งาน ผู้ประกอบการ และผู้ดำเนินกิจการ ทั้งเชิงกายภาพและรูปแบบออนไลน์ โดยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างสองหน่วยงาน และสนับสนุนการจัดโครงการหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรม
2) เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคอนเทนต์สร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย เช่น ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง และศิลปะแขนงอื่น ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาวิจัยของบุคลากรในอุตสาหกรรม เชื่อมโยงคอนเทนต์ที่เป็นต้นทางของความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่การพัฒนาร่วมกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาอื่น ๆ
3) เพื่อขยายความร่วมมือระหว่างทั้งสองหน่วยงาน ร่วมกับสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในกลุ่มศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย

จากความตกลงข้างต้น CAPT Fest จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองทุก ๆ ประเด็นดังกล่าว ทั้งการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรม พัฒนาฐานข้อมูล รวบรวมข้อมูลและคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม และขยายความร่วมมือระหว่าง CEA กับ CAPT และสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานอื่น ๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเติบโตยิ่งขึ้น

เป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐมีองค์กรที่ตระหนักถึงคุณค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยเฉพาะ สร้างความหวังให้กับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม และทำให้การกำหนดนโยบายเข้าถึงผู้ประกอบการและประชาชนได้อย่างแท้จริง

สรุป

อุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยมีศักยภาพมากพอที่จะเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะในยุคที่คนจำนวนมากกำลังพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ในฐานะที่เป็นเครื่องมือนำเสนอวัฒนธรรมและภาพลักษณ์ของประเทศสู่สายตาชาวโลก ซึ่งนำมาสู่รายได้อย่างมหาศาลกลับเข้าประเทศ ศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นต้นธารของความคิดสร้างสรรค์ ที่เป็นแหล่งซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญที่สุด ถ้ารัฐบาลหันมาส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรม ประเทศไทยจะไปได้ไกลยิ่งกว่าที่เป็นอยู่อย่างแน่นอน

Posted in news on ธ.ค. 03, 2021