News Update

22.10.2564

CEA จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้แก่คณะกรรมการสำนักงานฯ หัวข้อ “เทคโนโลยีควอนตัม กับทิศทางอนาคตประเทศไทย”


22 ตุลาคม 2564 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ สศส. จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษในการส่งเสริมองค์ความรู้แก่คณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในหัวข้อ “เทคโนโลยีควอนตัม กับทิศทางอนาคตประเทศไทย” โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ CEO & Co-founder มูลนิธิ Quantum Technologies Foundation of Thailand (QTFT) และนักวิจัย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้บรรยาย ซึ่งมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

ควอนตัมคือสาขาหนึ่งในวิชาฟิสิกส์ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่เล็กและเย็นอย่างอะตอม Quantum Computingเป็นเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการคำนวณ เนื่องจากอะตอมสามารถเป็นได้หลายอย่างในเวลาเดียวกัน คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมจะมีหน่วยประมวลผลที่เรียกว่า คิวบิต (Qubit) ซึ่งย่อมาจากควอนตัมบิต (Quantum bit) คอมพิวเตอร์เชิงควอนตัมจะใช้คุณสมบัติของคิวบิตที่สามารถประมวลผลค่า 1 และ 0 ได้ในเวลาเดียวกัน ควอนตัมคอมพิวเตอร์จึงสามารถคำนวณในระดับที่จิดิทัลคอมพิวเตอร์ทั่วไปไม่สามารถคำนวณได้ ใช้งานผ่านระบบคลาวด์ เทคโนโลยีควอนตัมจะทำให้เกิดธุรกิจรูปแบบใหม่ขึ้นมา ด้วยข้อจำกัดด้วยความเร็ว (fundamental limit) ของคอมพิวเตอร์ และการจัดการกับข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด (Exponential) โลกจีงต้องการเทคโนโลยีใหม่ที่สามารถประมวลผลได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ รวมถึงทำให้ลดการใช้พลังงาน (electricity demand) ของ Data center และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีควอนตัมไม่ได้ถูกกล่าวถึงแต่เฉพาะในภาคการศึกษาและสถาบันวิจัยเท่านั้น แต่ได้ขยายตัวสู่โลกอุตสาหกรรมและมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  ประเทศยักษ์ใหญ่ของโลกต่างมีลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัม อาทิ สหภาพยุโรปจัดทำโปรแกรม European Quantum Flagship ด้วยเงินลงทุน 2 พันล้านยูโร สหรัฐอเมริกาจัดตั้ง National Quantum Initiative ด้วยวงเงิน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และจีนประกาศลงทุนในวงเงินสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการก่อตั้งห้องปฏิบัติการสารสนเทศควอนตัมแห่งชาติ (National Quantum Center) ในขณะที่มีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ก็มีการลงทุนในเทคโนโลยีคอวนตัมอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  อาทิ Google, IBM, Microsoft, Amazon  ขณะที่มีสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีควอนตัมเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในแคนาดา สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฟินแลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย 

อย่างไรก็ดี ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังมีสตาร์ทอัพเพียง 3 รายเท่านั้น โดยในประเทศไทยมีเพียงมูลนิธิ Quantum Technologies Foundation of Thailand (QTFT) ที่เป็นควอนตัมสตาร์ทอัพเพียงรายเดียวเท่านั้น ประเทศไทยยังมีนักวิจัยด้านเทคโนโลยีควอนตัมจำนวนไม่มากนัก โดยปัจจุบันมีประมาณ 90 ราย และมีผู้ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกหรือนักวิจัยหลังปริญญาเอกอีกจำนวน 30 ราย มูลนิธิ QTFT จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักเรียนทุนที่สำเร็จการศึกษาในด้านดังกล่าว โดยมีเป้าหมายในการเตรียมความพร้อมให้กับภาครัฐและภาคเอกชนของไทยให้พร้อมรับกับเทคโนโลยีควอนตัม โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัย และเครือข่ายภาคธุรกิจขนาดใหญ่ อาทิ Google, Huawei เป็นต้น รวมถึงองค์กรด้านพลังงาน เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว 

Quantum Computing เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้กลศาสตร์ควอนตัมเข้ามาสนับสนุนเพื่อให้สามารถประมวลผลได้เร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมหลายเท่าตัว Skill set ของยุคดิจิทัลจะไม่สามารถมาใช้ได้ในยุคของควอนตัม แม้ไม่อาจคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างแม่นยำ แต่การก้าวจากยุคดิจิทัลสู่ยุคควอนตัมอาจทำให้บางธุรกิจหายไปและมีธุรกิจรูปแบบใหม่เกิดขึ้นแทนที่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ทุกภาคส่วนจึงควรมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือในยุคดิจิทัล แม้ว่าประเทศไทยอาจยังไม่สามารถแข่งขันกับบางประเทศได้ อาทิ สิงคโปร์ และไต้หวัน แต่ในยุคควอนตัมที่หลาย ๆ ประเทศยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเตรียมการ ซึ่งหากสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็วอาจจะทำให้ไทยเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมที่ก้าวหน้ากว่าชาติอื่น ๆ 

ประเด็นสำคัญในยุคควอนตัมคือ Cybersecurity เนื่องจากในปัจจุบันยังมีเพียงการพูดถึงแต่เรื่อง digital security ซึ่งออกแบบมาเพื่อป้องกันการโจมตีดิจิทัลคอมพิวเตอร์ แต่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อป้องกันการโจมตีจากควอนตัมคอมพิวเตอร์ ซึ่งในอนาคตอันใกล้หากควอนตัมคอมพิวเตอร์ถูกพัฒนาขึ้นและนำมาใช้งานจริง อาจมีผู้ใช้ควอนตัมคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการโจมตีดิจิทัลคอมพิวเตอร์ได้เพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น อาจสร้างผลกระทบให้แก่ ธนาคาร รัฐบาล หรือแม้กระทั่งเอกชนที่มี digital privacy อยู่บนระบบดิจิทัลก็เป็นได้ แม้กระทั่ง Bitcoin Blockchain ก็อาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป  

สถาบันแห่งชาติของมาตรฐานและเทคโนโลยี (NIST) ของสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศให้มีการนำเสนอวิทยาการเข้ารหัสลับหลังควอนตัม (Post-quantum cryptography-PQC) และจะมีการออกประกาศมาตรฐานการเข้ารหัสลับ PQC และนำมาใช้ในอีกประมาณ 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ จากรายงานของ McKinsey พบว่า ธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีควอนตัมมากที่สุด คือ Finance, Global Energy and material, Advanced industries, Pharmaceutical and medical products, Telecommunication, media and technology, Public/social sector and professional service โดยลำดับ อย่างไรก็ดี ในด้าน Finance ภาคธนาคารของไทยเริ่มมีการปรับตัวในการนำควอนตัมมาใช้บ้างแล้ว เช่น Loan optimization ดังนั้น องค์กร
ต่าง ๆ ควรมีการปรับตัวในการนำเทคโนโลยีควอนตัมไปใช้งาน รวมถึงการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือหรือป้องกันกับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจาก Quantum threat ในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ (Reskill และ up-skill)

ยุคเทคโนโลยีควอนตัมจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการวางแผนทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพคุ้มค่า การเกิดขึ้นของ Business Model หรือ Business Usecase ใหม่ ๆ ที่อาจจะยังไม่เคยมี/เกิดขึ้นมาก่อน อันจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงอาจเป็นเครื่องมือสำคัญในอนาคตสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยซึ่ง สศส. พยามยามผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยมีขีดความสามารถในเพิ่มมูลค่าของสินค้าและบริการให้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างก้าวกระโดด 


---------------------------------------------------
ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ จบการศึกษาจากโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โดยได้รับทุนโอลิมปิกวิชาการจากสถาบันส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท สาขาฟิสิกส์ ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ณ สถาบันเทคโนโลยีควอนตัม มหาวิทยาลัยแห่งชาติ ประเทศสิงคโปร์ ปัจุบันเป็น CEO & Co-founder ของ QTFT

Posted in news on ต.ค. 22, 2021