CEA ลงพื้นที่หารือ เครือข่ายผู้ประกอบการ และเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในภาคอีสาน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หารือเครือข่ายผู้ประกอบการสร้างสรรค์ และเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสร้างสรรค์ ขอนแก่น มุ่งเน้นการพัฒนาสินทรัพย์ท้องถิ่น ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมนวัตกรรมและเทคโนโลยี สู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการอย่างเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภาคอีสาน ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน 2565 ณ จังหวัดขอนแก่น
14 มิถุนายน 2565 - นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วย ผู้บริหาร สศส. ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ Lunch & Learn Project: School Yard Lunch ปลูก เด็ด เฮ็ด เฮียนฮู้ ที่โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จากโครงการต่อยอดพัฒนาอาหารกลางวันเด็กนักเรียนประถมศึกษาภายใต้งบ 21 บาทต่อคน (Lunch & Learn) สู่การพัฒนาวัตถุดิบที่นำมาทำเป็นอาหารกลางวันของโรงเรียนซึ่งทำงานร่วมกันกับเกษตรกร แม่ครัว และนักเรียนในโรงเรียน โดยคำนึงถึงการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและสารอาหารเป็นหลัก
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมหารือการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศรีจันทร์ ร่วมกับ นายธีระศักดิ์ ธีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น ผ่านโครงการ Co-Create บขส. ซึ่งได้จัดในเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ (Isan Creative Festival) โดยยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนดั้งเดิมให้ตอบโจทย์ในฐานะย่านเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน และย่านท่องเที่ยว ด้วยอาศัยหลักการของ Urban Planning และ Design Thinking
ต่อจากนั้นเดินทางเข้าพบ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ไร่พ่อสวาท หารือปลุกกระแสท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ซึ่งผลผลิตท้องถิ่นออร์แกนิก ทั้งเมล็ดพันธ์ุ เกษตรอินทรีย์ และสุราท้องถิ่น ถือเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการส่งออกวัตถุดิบไทยไปสู่ภาคการท่องเที่ยว และภาคอุตสาหกรรมส่งออกตลาดโลก
15 มิถุนายน 2565 - CEA เข้าพบปะผู้บริหาร Khon Kaen Innovation Center โครงการปรับปรุงอาคารเก่าใจกลางเมืองขอนแก่น สู่การเป็น Innovation hub เพื่อหารือความร่วมมือในการขับเคลื่อนและสร้างความเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจให้กับจังหวัดขอนแก่น โดยโครงการนี้เป็นพื้นที่พบปะสังสรรค์ของนวัตกรรมศูนย์วิจัยและพัฒนาทางด้านอาหาร พื้นที่แสดงผลงาน สินค้าและจัดประชุมภายในเมืองขอนแก่น
จากนั้นเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มผ้าฝ้ายย้อมมือ แบรนด์ Jutatip โดยคุณจุฑาทิพย์ ไชยสุระ ผู้ยกระดับภูมิปัญญาฝ้ายไทยสู่โลกแฟชั่นสิ่งทอสร้างสรรค์ ผลงานของแบรนด์ต่อยอดจนได้รับรางวัล G-Mark (Good Design Award) โดยสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น
นอกจากนี้ยังได้เดินทางไปสำรวจพื้นที่จัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ปี 2566 บริเวณสถานีขนส่งขอนแก่นแห่งที่ 1 ซึ่งปัจจุบัน CEA เข้าไปร่วมพัฒนาพื้นที่ผ่านโครงการ “Co-Creation บ.ข.ส.1” พร้อมพบปะผู้ประกอบการในพื้นที่หารือขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองขอนแก่นที่สำคัญยังเป็นพื้นที่ Landmark สำคัญของเมืองด้านประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่า โดย CEA ได้เตรียมวางแผนใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่จัดงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2566
จากนั้นเดินทางไปที่โฮงสินไซ แหล่งสะสมและรวบรวมวรรณกรรมเรื่อง สังข์ศิลป์ชัย พบปะผู้ประกอบการสร้างสรรค์ร่วมกับเครือข่ายหมอลำ นำโดย ดร.ทรงวิทย์ พิมพกรรณ์ และคุณวรศักดิ์ วรยศ หารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง CEA และนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมบันเทิงอีสาน
ก่อนจะเข้าพบปะผู้ประกอบการ Gastronomy เชฟคำนาง ณัฏฐภรณ์ คมจิต, เชฟไพศาล ชีวินศิริวัฒน์, เชฟจากัวร์ ธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์, คุณกนกวรรณ เดชวีระพานิชย์ หารือเรื่องการผลักดันและยกระดับศาสตร์การบริโภคอาหารอีสาน (Isan Gastronomy) ให้เป็นที่รู้จัก
และยังได้เยี่ยมชมโครงการ The Wall (Family space) ซึ่งเป็นพื้นที่สร้างสรรค์แห่งใหม่ ถูกรีโนเวทจากโรงงานผลิตยาแผนโบราณและโรงพิมพ์ให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ ที่ตั้งอยู่บนถนนรื่นรมย์ ใจกลางเมืองขอนแก่น โดยได้พูดคุยกับคุณวชิระ ตราชู ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างเสริมประสบการณ์ความคิดสร้างสรรค์สำหรับประชาชนทุกช่วงวัย
16 มิถุนายน 2565 - นายชาคริต พิชญางกูร พร้อมด้วย ผู้บริหาร สศส. ร่วมประชุมหารือประเด็นแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมเมืองขอนแก่นและกิจกรรมเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถไฟฟ้ารางเบา ร่วมกับเครือข่ายพัฒนาการเมือง ประกอบด้วย บริษัท ขอนแก่นพัฒนาเมือง (เคเคทีที) จำกัดหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ศรีจันทร์คลับ สภาอุตสาหกรรม และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ณ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)
Posted in news on มิ.ย. 16, 2022