News Update

05.10.2565

CEA จับมือ NIA เดินหน้าขับเคลื่อนนวัตกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

5 ตุลาคม 2565 - นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)  ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ดร. กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ลงนามความร่วมมือในการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติและระบบนิเวศนวัตกรรมบนฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เพื่อผลักดันยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาสู่ “ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” และสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และบริการที่มีมูลค่าสูง (Creative, Culture & High Value Services)

นายอินทพันธุ์ บัวเขียว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งพลังในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยต้องอาศัยการใช้ความคิดสร้างสรรค์บนฐานขององค์ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการศึกษาวิจัยซึ่งเชื่อมโยงกับวัฒนธรรม พื้นฐานทางประวัติศาสตร์การสั่งสมความรู้ของสังคม เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อใช้ในการพัฒนาธุรกิจ การผลิตสินค้าและบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจหรือคุณค่าทางสังคม ทั้งนี้ การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต้องอาศัยความเชื่อมโยงกันของทุกภาคส่วน โดย CEA ทำหน้าที่เป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาผู้ประกอบการ สร้างนิเวศ และสนับสนุนบุคลากรสร้างสรรค์ ให้เกิดการเชื่อมโยงกับภูมิปัญญา วัฒนธรรม และภาคการผลิตจริง ซึ่งเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ”

ดร. พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า “NIA ได้ขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมการพัฒนาระบบนวัตกรรมแห่งชาติอย่างรอบด้าน เพื่อตอบสนองต่อบริบทการเปลี่ยนแปลงทางนวัตกรรมในอนาคตของโลกที่มีผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ทั้งนี้ จากผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2565 ประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 43 โดยปัจจัยชี้วัดความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศไทยที่โดดเด่นมากที่สุด ได้แก่ สัดส่วนค่าใช้จ่ายมวลรวมด้านวิจัยและพัฒนาที่ลงทุนโดยองค์กรธุรกิจ ได้อันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ซึ่งสะท้อนถึงการลงทุนของภาคเอกชนไทยที่มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจด้วยการพัฒนานวัตกรรมมากขึ้น และจุดแข็งอีกปัจจัยที่มาแรงคือ ด้านการส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ ที่สามารถครองอันดับที่ 1 ของโลกได้เช่นกัน”

ในวันเดียวกันนี้ CEA ยังได้ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลดิจิทัล เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมและการนำข้อมูล Big Data ไปใช้ประโยชน์เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ กับ 12 หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี

สำหรับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัด 4 กระทรวง 9 หน่วยงาน ได้แก่  สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์, กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กรมพัฒนาธุรกิจการค้า, สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน), สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ที่เกิดขึ้นในวันนี้ จะเป็นก้าวสำคัญต่อไปที่จะนำไปสู่การบูรณาการบริการทางอิเล็กทรอนิกส์และข้อมูลดิจิทัล ที่เกี่ยวข้องกับการยกระดับผู้ประกอบการไทยให้ขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรม 

ทั้งนี้เพื่อให้บรรลุภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการให้บริการประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพภาครัฐให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและสะดวกรวดเร็ว รวมถึงการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการนำข้อมูลดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ ส่งเสริมการขับเคลื่อนกลไกการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและคุณค่าอันจะพึงมีต่อสังคมอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต
 

Posted in news on ต.ค. 05, 2022