CEA เดินหน้าผลักดัน Soft Power หนุนภาพลักษณ์ประเทศไทย
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA นำเสนอนิทรรศการ Soft Power Thailand ชูเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) คือ เครื่องมือสำคัญในการส่งออก Soft Power เพื่อสร้างมูลค่าและภาพลักษณ์ให้กับประเทศไทย ภายใต้งาน Better Thailand ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน ระหว่างวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2565
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2565 - นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมผู้บริหาร สศส. ให้การต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นำชมนิทรรศการ Soft Power Thailand นำเสนอนิทรรศการที่สำรวจความหมายของ Soft Power สร้างความเข้าใจในทิศทางการพัฒนาร่วมกัน เพื่อผลักดันไปสู่นโยบายขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ Soft Power ของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
นายชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า จากกระแสการส่งออก ‘Soft Power’ ที่กลายเป็นที่นิยมที่ทุกคนพูดถึง ซึ่ง Soft Power ถูกใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญของนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ของหลายประเทศ เพื่อเผยแพร่และขยายอิทธิพลทางวิถีชีวิต ประเพณี ตลอดจนรสนิยมในการบริโภคอุปโภค ผ่านตัวสินค้าและบริการที่ได้รับการพัฒนา ผลิต และสื่อสารด้วยความคิดสร้างสรรค์ เช่น ดนตรี ภาพยนตร์ แฟชั่น เกม อาหาร ฯลฯ ช่วยดึงดูดการลงทุน การท่องเที่ยว โดยปลายทางคือการส่งออกไปยังสากล
“Soft Power คือกระบวนการ ไม่ใช่วัฒนธรรม ที่ช่วยสร้างอำนาจต่อรองในระดับนานาชาติของประเทศ ผ่านการดึงดูดทางวัฒนธรรมด้วยสื่อ การท่องเที่ยว หรือนโยบายต่างประเทศรูปแบบต่าง ๆ เพื่อแทรกซึมชุดความคิดและภาพลักษณ์ (National Branding) ที่ประเทศนั้นต้องการให้ทั่วโลกจดจำ ซึ่งต้องผ่านการวางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ และกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนในระยะยาว เปรียบเสมือน Soft Power เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างแบรนด์ชาติ”
‘Creativity’ กุญแจสำคัญ สู่ความสำเร็จ ‘Soft Power ไทย’
กลไกขับเคลื่อนสำคัญในกระบวนการ Soft Power คือการใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘เทคโนโลยี’ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญา ให้พัฒนาทั้งรายได้และคุณภาพชีวิตของผู้คน ก่อให้เกิด ‘ระบบนิเวศสร้างสรรค์’ ที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม และโครงสร้างสังคมที่ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้อย่างอิสระเสรี จึงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้คนไทยกล้าคิด กล้าดัดแปลง เกิดเป็นโมเดลธุรกิจที่สะท้อนภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทย พาอัตลักษณ์ท้องถิ่นและของดีของไทยให้ไปสู่ระดับโลก
บทบาทของ CEA จึงสอดคล้องกับกระบวนการ Soft Power ในหลายประเทศ ที่เป็นทั้งผู้ขับเคลื่อน (Facilitator) และศูนย์กลางที่เชื่อมโยง (Enabler) ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านภารกิจการใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นต้นทุนแก่คนไทย ได้แก่
1. ธุรกิจสร้างสรรค์ (Creative Business)
- มาตรการสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ซึ่ง CEA ร่วมกับ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ผลักดันมาตรการสนับสนุนการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ เช่น กำหนดอัตราการคืนเงิน (Cash Rebate) ใหม่ให้กับกองถ่ายฯ รวมถึงปรับปรุงกฎระเบียบการขอใบอนุญาตทำงานและการยกเว้นภาษีเงินได้ เพื่อดึงดูดให้กองถ่ายฯ เข้ามาดำเนินการถ่ายทำในประเทศไทยได้ง่ายขึ้น
- Lampang Monster โปรเจกต์พัฒนาธุรกิจ SMEs ผ่านการสร้างสรรค์คาแรกเตอร์ใหม่เพื่อสร้างภาพลักษณ์แบรนด์ให้แข็งแกร่ง ให้กับกลุ่ม SMEs ท้องถิ่นในจังหวัดลำปาง
2. ย่านและเมืองสร้างสรรค์ (Creative Place)
- เครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN) แพลตฟอร์มสร้างกลไกการพัฒนาพื้นที่ระดับจังหวัด ด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และงานออกแบบ เพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์ดั้งเดิม พัฒนาคุณภาพชีวิต และพลิกฟื้นย่านเก่าให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
- เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) แพลตฟอร์มการพัฒนาเมืองระดับนานาชาติ แลกเปลี่ยนด้านยุทธศาสตร์ ในมิติศิลปวัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ องค์ความรู้ ประสบการณ์ บุคลากร ตลอดจนโครงการและกิจกรรมต่างๆ กับเมืองสมาชิกอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์เมือง เพื่อประโยชน์ด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ในระดับสากล
- เทศกาลสร้างสรรค์ไทย (Design Week) แพลตฟอร์มแสดงศักยภาพของนักสร้างสรรค์ และธุรกิจสร้างสรรค์ไทย
3. บุคลากรสร้างสรรค์ (Creative People)
-
Sound of the City สำเนียงแห่งเมือง โปรเจกต์แสดงศักยภาพของนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรี มาสร้างสรรค์บทเพลงสะท้อนอัตลักษณ์ย่านหรือเมืองที่ประทับใจ กว่า 100 บทเพลง เช่น ย่านเจริญกรุง กรุงเทพฯ, ย่านนิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่, เมืองพัทยา, เกาะสมุย และสงขลา ฯลฯ
Posted in news on พ.ค. 19, 2022