CEA เตรียมความพร้อม จัดตั้ง CEA สงขลา จัดกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ ศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์แห่งภูมิภาคภาคใต้
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เดินหน้าจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สงขลา หรือ CEA สงขลา ชูศักยภาพธุรกิจสร้างสรรค์ของภาคใต้ สร้างเศรษฐกิจใหม่ ควบคู่การอนุรักษ์วิถีชุมชนเดิม ในย่านเมืองเก่า สงขลา ภายในปี 2566 นี้
เมื่อวันที่ 28 - 29 เมษายน 2565 นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เทศบาลนครสงขลา สำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ จังหวัดสงขลา สำนักงานธนารักษ์พื้นที่สงขลา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานหาดใหญ่ หอการค้าจังหวัดสงขลา ภาคีคนรักเมืองสงขลา นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการสร้างสรรค์ในพื้นที่ ภาคการศึกษาในพื้นที่ และตัวแทนจากร้านค้าดั้งเดิมชุมชนในพื้นที่ นำร่องจัดกิจกรรม ชุมชนสัมพันธ์ นำเสนอความก้าวหน้าในการจัดตั้ง CEA สงขลา พร้อมสร้างความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ก่อนก่อสร้างอาคาร CEA สงขลา ในชุมชนเมืองเก่า สงขลา ณ ถนนสายบุรี เพื่อเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของภูมิภาคใต้
โดยมีกำหนดการก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2565 ระยะเวลาการก่อสร้างโดยประมาณ 14 เดือน พร้อมทั้งมีแผนการดำเนินกิจกรรมระหว่างก่อสร้าง เพื่อขับเคลื่อนเมืองสงขลาร่วมกับภาคีเครือข่าย
“CEA สงขลา มีวัตถุประสงค์จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ อีกทั้งดึงศักยภาพของจังหวัดสงขลาและภาคใต้ โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ นักสร้างสรรค์ วิสาหกิจชุมชน บุคลากรจากสถาบันการศึกษา และประชาชนทั่วไป รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในภาคใต้ โดย CEA สงขลา จะเป็นแลนด์มาร์กใหม่ของเมือง ที่มีส่วนช่วยขับเคลื่อนย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสงขลาและจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ ผ่านการใช้ความคิดสร้างสรรค์และกระบวนการร่วมคิดร่วมสร้างของทุกคน” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
โดยปัจจุบัน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ยกระดับจากศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC สู่การจัดตั้ง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พร้อมขยายการให้บริการทุกภูมิภาค ด้วยการจัดตั้ง CEA ในจังหวัดเชียงใหม่ และขอนแก่น โดยทั้ง 2 สาขา สร้างรายได้ผู้ประกอบการและชุมชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และ CEA ยังคงปฏิบัติภารกิจหลักอย่างต่อเนื่อง เตรียมขยายการให้บริการสู่ภาคใต้ ในจังหวัดสงขลา
ทั้งนี้ นายอภิสิทธิ์และคณะได้ลงพื้นที่ “ชุมชนดอนรัก” ซึ่งเป็นชุมชนในบริเวณที่จะมีการก่อสร้างอาคาร CEA สงขลา และเข้าพบท่านเจ้าอาวาสวัดยางทอง รวมทั้งสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสงขลา เพื่อบอกเล่าถึงการดำเนินการก่อสร้าง แนวทางการทำงานที่ CEA จะคำนึงถึงผู้อยู่อาศัยในบริเวณโดยรอบให้มากที่สุด รวมถึงสร้างความเข้าใจด้านภารกิจของ CEA การใช้ประโยชน์พื้นที่อาคารในอนาคต ตลอดจนแนวทางการพัฒนากิจกรรม เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา CEA ได้เข้าไปสำรวจศักยภาพพื้นที่นำร่องย่านเมืองเก่าสงขลา ในมิติต่าง ๆ ทั้งในเชิงพื้นที่ ผู้คน และธุรกิจ รวมถึงในเชิงกลยุทธ์ ให้เป็นต้นแบบย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของจังหวัด ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น นิทรรศการ ครอบครัว เมืองเก่าสงขลา ปี 2563 (Portrait of Songkhla), Made in Songkhla, Global OTOP และ Changex2 เป็นต้น ในการยกระดับธุรกิจท้องถิ่น บุคลากรสร้างสรรค์ให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากจังหวัด และภาคีเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเมือง
โดยอาคารของ CEA สงขลา มีพื้นที่ใช้งานทั้งหมด 1,992 ตารางเมตร เป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย ชั้น 1 มีห้องนิทรรศการ ห้องออดิทอเรียม, ชั้น 2 พื้นที่สำนักงานฯ ห้องจัดกิจกรรม และลานกิจกรรม และ ชั้น 3 ห้องสมุดด้านการออกแบบซึ่งเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ (TCDC Resource Center) โดยตัวอาคารได้แรงบันดาลใจมาจาก “กำแพงเมืองเก่า” ในบริเวณเมืองเก่าของจังหวัดสงขลาที่สะท้อนอัตลักษณ์ของจังหวัด ประวัติศาสตร์ และวัตถุดิบพื้นถิ่นอย่างชัดเจน ลักษณะโดดเด่นตัวอาคารใช้กระเบื้องและดินเผาเกาะยอในการก่อสร้างอาคาร ผลิตที่ท่านางหอม ในจังหวัดสงขลา ซึ่งใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่ก่อสร้างอีกด้วย
และจากผลสำรวจการระดมความคิดเห็นของชุมชน ด้านการพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่า สงขลา พบว่า 3 ลำดับแรก ชุมชนให้ความสำคัญการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ควบคู่กับการอนุรักษ์และต่อยอดวัฒนธรรมเดิม ได้แก่
1. การพัฒนาพื้นที่สาธารณะของย่านเมืองเก่า (Public & Green Space/ Street Furniture)
2. การใช้งานออกแบบแสงไฟเพื่อช่วยแก้ปัญหาพื้นที่มืด ซอยเปลี่ยว ป้องกันอันตรายในการสัญจรช่วงกลางคืนในรูปแบบแปลกใหม่ (Urban Lighting - Aesthetic & Safety) และการออกแบบแสงไฟเพื่อเพิ่มคุณค่าให้อาคารเก่า หรืองานศิลปะ Street Art ที่อยู่ในพื้นที่ (Urban Lighting - Aesthetic & Culture)
3. การต่อยอดวัฒนธรรมและสินทรัพย์ของพื้นที่ที่กำลังจะสูญหาย (Culture at Risk, Built to Last)
ทั้งนี้ CEA สงขลา มีกำหนดระยะเวลาการก่อสร้าง คาดแล้วเสร็จในปี 2565 - 2566 โดยหากประชาชนพบปัญหาระหว่างก่อสร้าง CEA สงขลา สามารถติดต่อได้ที่ โทร. 02 105 7441 ต่อ 266 อีเมล info.songkhla@cea.or.th เวลา 9.30 - 17.30 น. (ยกเว้นวันเสาร์ - อาทิตย์) และติดตามความเคลื่อนไหวของ CEA สงขลา พร้อมกิจกรรมอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของสงขลาและภาคใต้ ไปด้วยกันเพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้ประเทศไทย
Posted in news on เม.ย. 29, 2022