News Update

02.06.2563

CEA เปิดประกวดแบบศูนย์ใหม่ “TCDC สงขลา” พาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ยึดที่มั่นครบ 4 ภาค

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เปิดรับสมัครเข้าร่วมการประกวดออกแบบ “อาคารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา” ในโอกาสจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา (TCDC สงขลา) โดยมีเป้าหมายเปิดให้บริการภายในปี 2565 ซึ่งจะเป็นสาขาแห่งที่ 3 ต่อจากเชียงใหม่ และขอนแก่น และจะเป็นการขยายศูนย์บ่มเพาะเศรษฐกิจสร้างสรรค์ครอบคลุม 4 ภาคทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจและเมือง และเตรียมความพร้อมบุคลากรให้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของแนวทางเศรษฐกิจกระแสใหม่ (New Economy) แห่งอนาคต

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า การเลือกจังหวัดสงขลา เป็นหมุดหมายของการขยายบทบาทเศรษฐกิจสร้างสรรค์ลงสู่ภาคใต้นั้น มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1) มีความสมบูรณ์ทางด้านทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย ทำให้มีศักยภาพในการพัฒนาและสร้างรายได้ใหม่จากเศรษฐกิจสร้างสรรค์  2) มีความเข้มแข็งของภาคส่วนท้องถิ่นในการขับเคลื่อนเมือง และ 3) มีความพร้อมทางด้านเศรษฐกิจ ระบบคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค สถานศึกษา และยังเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อทางเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคใต้และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 

“สงขลานั้นเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพและความพร้อมสูง และยังมีภาคีเครือข่ายท้องถิ่นที่เข้มแข็งในการขับเคลื่อนเมือง เช่น การสมัครเข้าเป็นเมืองมรดกโลกขององค์การยูเนสโก ซึ่งเป็นการสร้างแบรนด์ดิ้งของเมืองให้เกิดความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ ควบคู่ไปกับการอนุรักษ์เมืองเก่า สามารถต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ออกไปได้มาก โดย TCDC สงขลา จะเป็นเหมือนกับ Springboard ที่เข้าไปช่วยกระตุ้น พัฒนา และยกระดับธุรกิจในพื้นที่ภาคใต้ ให้เติบโตอย่างสร้างสรรค์และเป็นระบบ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว 

ทั้งนี้ การประกวดออกแบบอาคารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา จะมีขอบเขตครอบคลุมการออกแบบภูมิสถาปัตย์ที่อยู่บนแนวทางการอนุรักษ์เมืองเก่า การออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และการออกแบบป้ายสัญลักษณ์ภายในพื้นที่ทั้งหมด โดยมีกรอบแนวคิดหลัก ๆ ในการออกแบบ ดังนี้ 

1)    กรอบด้านการให้บริการ 

การออกแบบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา ต้องตอบสนองภาพลักษณ์และภารกิจของ CEA ซึ่งได้ยกระดับภารกิจจากเดิม คือ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังมีภารกิจในด้านศูนย์กลางองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ของจังหวัดสงขลาและภาคใต้  ดังนี้ 

(1) ศูนย์ความรู้ (Resource Center)  เน้นส่วนห้องสมุดในบทบาทการเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านความคิดสร้างสรรค์ มุ่งเน้นความเป็นแหล่งความรู้ แรงบันดาลใจ และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของประชาชน 
(2) ศูนย์วัสดุภาคใต้ (Material Center)  รวบรวมวัสดุจากภาคใต้ครบวงจร การจัดทำระบบฐานข้อมูลวัสดุ เพื่อการศึกษาและพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์
(3) ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์  เป็นพื้นที่บริการการแลกเปลี่ยนทางธุรกิจ องค์ความรู้ และการพัฒนาเครือข่ายผู้ประกอบการ (Networking & Co-working Space) เป็นพื้นที่รองรับกลุ่มผู้ประกอบการสร้างสรรค์รุ่นใหม่ (Young creative entrepreneur) ที่กำลังเริ่มต้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องหรือต่อยอดมาจากงานออกแบบดั้งเดิมของชุมชน

2)    กรอบด้านสภาพแวดล้อม ภาพลักษณ์ และลักษณะเฉพาะของโครงการ

รูปแบบ ลักษณะของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา ควรสะท้อนให้เห็น “ความเป็นระบบนิเวศสร้างสรรค์” (Creative Ecology) สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในพื้นที่ให้สามารถเรียนรู้ ดำเนินธุรกิจ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเองได้ โดยความเป็นระบบนิเวศสร้างสรรค์ ควรสะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ ดังนี้

(1) เป็นแหล่งบ่มเพาะและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อกระตุ้นความคิดใหม่ ๆ การต่อยอดงานออกแบบ และพัฒนาธุรกิจ ที่เปิดกว้างและดึงดูดคนหลากหลายกลุ่มทั้งบุคลากรในพื้นที่และภูมิภาคใกล้เคียง
(2) เป็นสถานที่พบปะ สังสรรค์ รวมตัวกันของคนหลากหลายกลุ่ม เป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดกว้างให้ผู้คนได้พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด และสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน (Public meeting point)
(3) เป็นศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์ ทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความเป็นพหุสังคมของภาคใต้ โดยดึงความโดดเด่นของวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น มาผนวกกับความต้องการของนักออกแบบและผู้ประกอบการสร้างสรรค์ท้องถิ่น ส่งเสริมให้เกิดการต่อยอด กระตุ้นให้เกิดแรงบันดาลใจจากสิ่งที่ท้องถิ่นมี และเพิ่มคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นด้วยการใช้ความคิดสร้างสรรค์
(4) เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นสถานที่กระตุ้นให้นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการสร้างสรรค์ พึ่งพาความรู้ ความสามารถ และสามารถบ่มเพาะธุรกิจได้ด้วยตนเอง โดยจะสนับสนุน อำนวยความสะดวกทางด้านความรู้ และเทคโนโลยีต่าง ๆ แก่นักเรียน นักศึกษา นักออกแบบและผู้ประกอบการสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ต้องเรียนรู้ที่จะใช้ความรู้ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยตนเอง
(5) เป็นพื้นที่ที่แสดงศักยภาพของธุรกิจสร้างสรรค์ จากการพัฒนาบ่มเพาะความคิดจนเติบโตเป็นผลงาน โดยศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์ม ทั้งเวทีแสดงผลงาน และช่องทางการจำหน่าย เพื่อแสดงให้เห็นว่าผลงานความคิดสร้างสรรค์ไทยก่อให้เกิดมูลค่าที่สำคัญ ทั้งในด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้

รายละเอียดพื้นที่ตั้ง

พื้นที่เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ สงขลา ตั้งอยู่ในเขตเมืองเก่าสงขลา บนถนนสายบุรี ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ขนาดพื้นที่ 222.2 ตารางวา 

ผู้ที่สนใจส่งผลงานเข้าประกวดแบบอาคาร สามารถขอรับเอกสารจ้างออกแบบอาคาร สถาปัตยกรรมภายในและการวางโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบสงขลา ได้ที่ ส่วนงานพัสดุ สำนักบริหารและพัฒนาองค์กร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) ชั้น 2 อาคารไปรษณีย์กลาง บางรัก กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม – 15 มิถุนายน 2563 โดยมีกำหนดชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการประกวดออกแบบ ในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 และมีกำหนดการยื่นข้อเสนอแนวคิดและเสนอราคา ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.cea.or.th; www.gprocurement.go.th ได้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2563 หรือสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดและขอบเขตของงาน ผ่านทางอีเมล chaianuchit.r@cea.or.th ภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2563 หรือสามารถสอบถามทางโทรศัพท์ได้ที่หมายเลข 02-105 7400 ต่อ 152 โทรสาร 02-105 7450 ในวันและเวลาทำการ 

Posted in news on มิ.ย. 02, 2020