News Update

21.12.2564

CEA จับมือ UNESCO และ British Council จัดโครงการ “Art Visionaire”

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จับมือ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และ British Council จัดโครงการ “Art Visionaire” หลักสูตรต้นเเบบพัฒนาศักยภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะสาขา Visual Art กับ Performing Art โดยได้ผู้เชี่ยวชาญในวงการทั้งชาวต่างชาติเเละชาวไทย ถ่ายทอดองค์ความรู้เเละประสบการณ์อย่างเข้มข้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถสร้างเเนวทางการจัดการโครงการเชิงศิลปะเเละวัฒนธรรมได้อย่างมีมาตรฐานในระดับสากล อันจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศต่อไป
 
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยถึงที่มาของโครงการ “Art Visionaire” ว่า “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้มีข้อตกลงความร่วมมือในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Cultural and Creative Industries : CCI) โดยทั้งสองหน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนา และริเริ่มโครงการที่จะสร้างขีดความสามารถให้แก่บุคลากรในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ เเละยังได้รับความร่วมมือจาก British Council มาเสริมทัพกิจกรรมต่าง ๆ ความร่วมมือนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในปีสากลของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (The International Year of Creative Economy for Sustainable Development) ที่สหประชาชาติประกาศให้เป็นปีสากลอีกด้วย”
 
“โครงการนี้ยังถือเป็นภารกิจสำคัญในการส่งเสริม Capacity Building ของนักสร้างสรรค์ เนื่องจาก CEA มีภารกิจในการส่งเสริมให้นักสร้างสรรค์ได้พัฒนาขีดความสามารถทางด้านธุรกิจ จึงได้จัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อพัฒนาทักษะด้านนี้มาโดยตลอด สำหรับสาขาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง จากข้อมูลที่ได้จากการทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ พบว่าบุคลากรที่มีทักษะในการบริหารจัดการด้านศิลปะนั้นยังมีอยู่ในจำนวนจำกัด รวมถึงตัวศิลปินเองก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจในด้านนี้ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ตรงกันกับผลสำรวจผลกระทบของโรคโควิด-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมศิลปะที่ UNESCO ได้ทำการสำรวจไว้เมื่อปีที่แล้ว จึงเป็นที่มาของโครงการ Art Visionaire ในปีนี้ เพื่อส่งเสริมบุคลากรในการจัดการงานศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม โดยเฉพาะสาขาทัศน์ศิลป์และศิลปะการแสดง”
 
ผู้อำนวยการ CEA กล่าวถึงความคาดหวังในโครงการนี้ ว่าจะสามารถช่วยเสริมสร้างความรู้ด้านการจัดการกับศิลปิน และผู้ประกอบการในสาขาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง ส่งเสริมให้เกิดสาขาอาชีพการบริหารโครงการศิลปะ ความคิดสร้างสรรค์ และวัฒนธรรม การเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดงในยุคดิจิทัล และการเขียนแผนงานเพื่อของบประมาณจากที่ต่าง ๆ หรือต่อยอดโครงการ เพื่อนำทักษะสร้างสรรค์มาพัฒนาธุรกิจ เศรษฐกิจ และสังคมต่อไป
 
สำหรับโมดูลต่าง ๆ ในหลักสูตรนี้ ประกอบด้วย 5 โมดูล ได้แก่

โมดูล 1 : อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ในระดับโลก
โมดูล 2 : ความเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมวัฒนธรรมและสร้างสรรค์สาขาทัศนศิลป์และศิลปะการแสดง อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ในประเทศ การจัดการโครงการ การระดมทุน และวิธีสร้างรายได้จากบริการสร้างสรรค์
โมดูล 3 : อุตสาหกรรมวัฒนธรรมและการสร้างสรรค์ในประเทศ
โมดูล 4 : การจัดการโครงการ
โมดูล 5 : การระดมทุนและวิธีสร้างรายได้จากบริการสร้างสรรค์
 
กระบวนการเรียนรู้นี้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้ทำความรู้จักกับโครงการ เเละผู้เข้าร่วมในเเวดวงสร้างสรรค์ในวันปฐมนิเทศ โดยศึกษาบทเรียนเบื้องต้นจากหลักสูตรออนไลน์ที่จัดทำพิเศษบนเเพลตฟอร์ม CEA Online Academy เข้าร่วมการบรรยายและกิจกรรมเวิร์กช็อป 8 วันผ่าน Zoom เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงการหรือเสนอทางออกให้กับปัญหา ความท้าทาย ตลอดจนพัฒนา Self-ortfolio และนำความรู้ที่ได้จากคอร์สมาพัฒนาตนเองต่อไป โดยมีเวลาทำงาน 2 สัปดาห์ ก่อนจะนำเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อต่อยอดโอกาสในการคัดเลือกบุคลากรเข้าร่วมองค์กร การทดลองงาน หรือการสร้างความร่วมมือในอนาคต หลักสูตรนี้มีผู้สมัครจากเเวดวงนักสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาค ตั้งเเต่กรุงเทพมหานครเเละปริมณฑล เชียงใหม่ เลย พะเยา นครศรีธรรมราช ภูเก็ต มหาสารคาม สุโขทัย น่าน อุตรดิตถ์ ราชบุรี นราธิวาส อุบลราชธานี รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป. ลาว ที่มาร่วมเรียนรู้และสร้างเครือข่ายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ต่อไป
 
รายชื่อ 10 ผลงานที่ผ่านเข้ารอบในการนำเสนอ Art Visionaire

1. AriAround : Creativity as a tool to connect Ari (kindness) community โดย ณัฐนิช ชัยดี

2. Artist Thesis Platform : Thesis Management Agency
ศิลปนิพนธ์ : เว็บไซต์ศูนย์กลางและระบบการจัดการเพื่อประโยชน์สูงสุด โดย เธียรทรรศน์ ตันทวีวงศ์

3. VR Human โดย กัลยา โกวิทวิสิทธิ์

4. Archi Playground : Creativity-Mining Space & Collaborative โดย กิตติยา ชูวรรธนะปกรณ์

5. Collective Frequency: แพลตฟอร์มสำรวจคลื่นเสียงเพื่อเยียวยาหัวใจ โดย รุ่งฤดี จุลวัจน์

6. MUSEUM RESURRECTION/ Unlearning as methodology
โครงการศิลปะที่เชื่อมโยงองค์ความรู้จากพิพิธภัณฑ์กับกระบวนการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย โดย อชิตพนธิ์ เพียรสุขประเสริฐ

7. Tomorrow Changmoi : Future of Changmoi through technology & art 
ห้องทดลองสร้างสรรค์ใจกลางเมืองสำหรับศิลปะและนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของเชียงใหม่
โดย ฉัตรชัย สุขอนันต์

8. Chiangmai performs
เทศกาลการแสดงเชียงใหม่การใช้เครื่องมือศิลปะการแสดงร่วมสมัย เชื่อมโยงชุมชนเมืองเชียงใหม่สู่สายตาชาวไทย เพื่อยกระดับสู่พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดย ธนุพล ยินดี

9. Joy Club 3 Ages "To the Breath of the Earth" 
สภาแห่งความสุข 3 วัย "ต่อลมหายใจให้แผ่นดิน" โดย พิสิทธิ์ ทับทอง

10. Sai Jai Loei : Linking local creators and global appreciators โดย พิชชา สุตันตั้งใจ

ทั้งนี้ ผลงานที่ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด ได้แก่ VR Human ของกัลยา โกวิทวิสิทธิ์ จากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ CEA ยูเนสโก บริติช เคานซิล สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย Japan Foundation กรุงเทพฯ MAIIAM Contemporary Art Museum เเละ Huawei 

โปรดติดตามผลลัพธ์ของกิจกรรมเเละกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจจาก CEA บริติช เคานซิล เเละเครือข่ายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปี 2565


หลักสูตร “Art Visionaire” พัฒนาขึ้นโดย 3 องค์กร ได้แก่

ยูเนสโก กรุงเทพฯ
ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองและส่งเสริมความหลากหลายของการแสดงออกทางวัฒนธรรม พ.ศ. 2548 องค์ประกอบสำคัญของงานที่ยูเนสโก กรุงเทพฯ ทำ คือการช่วยเสริมสร้างศักยภาพของประเทศไทยในการสนับสนุนผู้ประกอบอาชีพสร้างสรรค์ การผลิตการกระจายสินค้า รวมถึงการเข้าถึงสินค้าและบริการทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย ยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้ระดมผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติจาก UNESCO Expert Facilitators มาพัฒนากรอบงานโมดูล และพัฒนาเนื้อหาร่วมกับผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและองค์กรพันธมิตรอื่น ๆ ในการจัดทำ ยูเนสโก กรุงเทพฯ ประสานงานกระบวนการพัฒนาหลักสูตร แสวงหาพันธมิตร เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมคัดเลือกวิทยากรพิเศษในประเทศไทย และสร้างความมั่นใจในมาตรฐานของหลักสูตร

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย ในหลักสูตรนี้ CEA เป็นผู้รับผิดชอบในการร่วมพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้รองรับภาคการสร้างสรรค์ในประเทศไทย CEA จะพิจารณานำหลักสูตรนี้ไปบรรจุลงบนแพลตฟอร์มออนไลน์ CEA Online Academy เพื่อให้ประชาชนได้เรียนรู้ในระยะต่อไป
 
บริติช เคานซิล
บริติช เคานซิล มีประสบการณ์มากมายในการช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบวิชาชีพงานสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ตลอดจนศิลปินทั่วโลก ผ่านการทำงานร่วมกับฮับสร้างสรรค์มากกว่า 1,000 แห่งทั่วโลกและมืออาชีพด้านการสร้างสรรค์จำนวนมาก บริติช เคานซิล ทำงานอย่างแข็งขันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย โมดูลที่บริติช เคานชิล กล่าวถึง ดัดแปลงมาจากหลักสูตรการฝึกอบรมผู้จัดการงานศิลปะและพิพิธภัณฑ์ และ Creative Communities Learning Lab (CCLL) ซึ่งเป็นชุดโมดูลการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับมืออาชีพด้านความคิดสร้างสรรค์และวัฒนธรรมทั่วโลกของบริติช เคานซิล โดยผู้นำศูนย์สร้างสรรค์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสหราชอาณาจักรเป็นผู้ให้ข้อมูลในการออกแบบ หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับประเทศไทยเพื่อเป็นหลักสูตรนำร่องในรูปแบบออนไลน์ บนแพลดฟอร์มการเรียนรู้ออนไลน์ของ CEA Online Academy

 

Posted in news on ธ.ค. 21, 2021