CEA อัดงบเยียวยาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ฟรีแลนซ์-เอสเอ็มอี รวมกว่า 15 ล้านบาท
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA แถลงสรุปภาพรวมโครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย” ซึ่งเป็นโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ตลอดช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ระหว่างเดือน มี.ค. – ส.ค. 2563 ว่า โครงการ CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย สามารถจ้างงานตรงบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Freelance) รวม 373 ราย พร้อมช่วยลดต้นทุนด้านการตลาดและประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า 540 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมมากกว่า 15,000,000 บาท และยังดำเนินมาตรการสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ รวมแล้วให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์มากกว่า 1,200 ราย ทำให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์เฉพาะหน้า และมีภูมิคุ้มเพื่อการฟื้นตัวและป้องกันในระยะยาวได้
นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 15 สาขา อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ CEA ในฐานะหน่วยงานหลักของรัฐที่สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ต้องเร่งจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือทันที โดยโครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย” เป็นการทำงานใน 3 ด้านหลัก คือ
1) “สู้โควิดด้วยวิตามิน” ผ่านการจ้างงานตรง 6 สาขาอาชีพ รวม 373 คน เช่น โครงการจ้างงานศิลปิน Colour of Charoenkrung โครงการจ้างงานนักดนตรี Sound of the City และโครงการจ้างงานนักเขียน-ช่างภาพ เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์ให้ผู้ประกอบการ SME
2) “เสริมภูมิคุ้มกัน” ผ่านความร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าออนไลน์ให้กับผู้ประกอบการ SME เช่น โครงการความร่วมมือกับ Lazada และ JD Central โดยช่วยผู้ประกอบการไปแล้วราว 890 ราย
3) “สร้างเกราะต้านทานโรค” เป็นมาตรการระยะยาวในการปรับทักษะ เพิ่มความรู้ และต่อยอดไอเดีย โดยการจัดทำคอร์สออนไลน์ฟรี “CEA Online Academy” เกี่ยวกับทักษะจำเป็นสำหรับการทำงานและประกอบธุรกิจในอนาคต โดยปัจจุบันมีผู้เข้าชมหลักสูตรแล้วมากกว่า 10,000 คน ตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา
“เราไม่ได้ช่วยในแง่ของการให้เงินผ่านการจ้างงานตรงเพียงอย่างเดียว แต่เรายังช่วยในแง่ของการสร้างเครือข่าย Networking ผ่านเครือข่ายพันธมิตรในสาขาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเรา โดยจะนำไปสู่โครงการความร่วมมือและโอกาสการจ้างงานในอนาคตต่อไปอีก เช่น โครงการ CEA Live House ซึ่งถือเป็นโครงการวัคซีนในเฟสที่ 2 ของเรา ที่ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่างบริษัท ProPlugin, Live4 Viva, Rock Planet และ JOOX โดยมาช่วยสนับสนุนในแง่ของอุปกรณ์เครื่องดนตรี การจัดไฟ เวที ทีมงานมืออาชีพ และแพลตฟอร์มช่องทางการเผยแพร่ ทั้งหมดนี้คือความร่วมมือเพื่อช่วยเหลือคนในวงการดนตรีที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และเราจะเดินหน้ารูปแบบความร่วมมือกับพันธมิตรเช่นนี้ เพื่อช่วยเหลือบุคลากรและธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อไป” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
จากซ้าย: คุณไตรเทพ ศรีกาลรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โปรปลั๊กอิน จำกัด คุณอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) และคุณวิฑู จีนะเจริญ General Director ของบริษัท ไลฟโฟร์ วีว่า จำกัด
นายไตรเทพ ศรีกาลรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท โปรปลั๊กอิน จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีโครงการสนับสนุนและสร้างพื้นที่ปล่อยของสำหรับศิลปินและนักดนตรีอยู่แล้ว เพราะในช่วงโควิด-19 คนกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบและถูกยกเลิกงานกันหมด และบริษัทยังเชื่อในศักยภาพของคนดนตรีในประเทศไทยที่จะสร้าง“พลัง”เชิงบวกให้กับคนในสังคม ดังนั้น เมื่อ CEA เชิญเข้าร่วมโครงการนี้จึงตอบรับในทันที เพื่อให้นักดนตรีได้ผลิตผลงานดี ๆ ผ่านโปรดักชันมืออาชีพ โดยบริษัทเป็นผู้ร่วมสนับสนุนในเรื่องของระบบเสียงและการถ่ายทำ ในฐานะที่เป็นผู้จำหน่ายอุปกรณ์การผลิตสื่อด้านเสียงครบวงจร ส่วนในอนาคตนั้นก็อาจมีความร่วมมือกันอีก โดยอาจเป็นการสร้างพื้นที่ให้ศิลปินได้มีโอกาสแสดงผลงานต่อหน้าคนดูได้มากขึ้น ซึ่งบริษัทพร้อมจะผลักดันกลุ่มคนเหล่านี้ให้กลับมามีงานและสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้อีกครั้ง
ขณะที่นายวิฑู จีนะเจริญ General Director บริษัท ไลฟ์โฟร์ วีว่า จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่ได้รับการติดต่อจากทาง CEA ให้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ ทางบริษัทรีบตอบรับในทันที เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมดนตรี ในฐานะผู้ให้บริการด้านการจัดวางระบบแสง สี เสียง และเทคนิคอย่างครบวงจร ไลฟ์โฟร์ วีว่า มีความพร้อมเป็นอย่างมาก ที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมสรรค์สร้างภูมิคุ้มกัน พร้อมแบ่งปันความสำเร็จ และร่วมสร้างปรากฏการณ์ทางดนตรีให้กับศิลปินและนักดนตรีได้โชว์ศักยภาพในตัวเอง พร้อมต่อยอดในอุตสาหกรรมดนตรีต่อไปได้
ด้านนายกฤตธี มโนลีหกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทนเซ็นต์ ไทยแลนด์ และผู้บริหาร JOOX กล่าวว่า ที่ผ่านมา JOOX ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์หลายองค์กรมาโดยตลอด ซึ่งเมื่อ CEA ได้ชวน JOOX มาร่วมเป็นพันธมิตรในโครงการนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ JOOX จะได้ทำอะไรใหม่ ๆ ที่สนุกและออกนอกกรอบยิ่งขึ้น ทั้งยังได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ สนับสนุน และผลักดันกลุ่มคนดนตรีและศิลปินได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงานให้เป็นที่รู้จัก เพื่อกระตุ้นและสร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้แก่วงการเพลงไทย โดย JOOX จะเป็นช่องทางมีเดียที่ช่วยเผยแพร่วิดีโอบันทึกการแสดงจากโครงการ CEA Live House ซึ่งสามารถรับชมได้ที่รายการ JOOX Sound Room และยังสามารถฟัง 100 เพลง ในเพลย์ลิสต์สุดพิเศษจากโครงการจ้างศิลปิน Sound of the City ซึ่งสามารถติดตามรับชมและฟังก่อนใครได้ที่ JOOX
คุณเจ มณฑล จิรา หนึ่งในศิลปินที่เข้าร่วมโครงการ CEA Live House แสดงผลงานจากอัลบั้มภาษาไทยอัลบั้มที่ 2 ในรอบ 24 ปี เป็นที่แรก
กิจกรรมพาสื่อมวลชนเดินชมสตรีทอาร์ท ผ่านใต้โครงการ Colour of Charoenkrung โดยศิลปินเจ้าของผลงานมาเล่าที่มาผลงานด้วยตนเอง
กิจกรรมฟังดนตรีในสวน ผลงานบางส่วนจากศิลปิน โครงการ Sound of the City สำเนียงแห่งเมือง
Posted in news on ส.ค. 20, 2020