News Update

10.10.2567

Content Lab: Newcomers โอกาสของคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ บนเส้นทางอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย


หากกล่าวถึงอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยในปัจจุบัน แน่นอนว่ากระแสภาพยนตร์และซีรีส์ไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง เห็นได้จากความสำเร็จของภาพยนตร์และซีรีส์ไทยที่ส่งออกไปสู่สายตาและผู้ชมทั่วโลก ไม่เพียงเท่านั้นเหล่าคนทำหนังอย่างนักเขียนบท ผู้กำกับ และโปรดิวเซอร์ ต่างก็เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในเวทีระดับสากลอีกด้วย เช่น โต้ง - บรรจง ปิสัญธนะกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ ‘ร่างทรง’ โปรเจ็กต์ร่วมทุนระหว่างเกาหลีใต้และไทย, เจ้ย-อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับหนังอิสระระดับแถวหน้า ซึ่งผลงานภาพยนตร์ Memoria การันตีด้วยการคว้ารางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ถึง 4 ครั้ง หรือ ธี่หยด ผลงานการกำกับของ คุ้ย - ทวีวัฒน์ วันทา ที่ประสบความสำเร็จและได้เข้าฉายกว่า 20 ประเทศ พร้อมกับการเปิดตัว ธี่หยด 2 รวมถึงต้องเต - ธิติ ศรีนวล ผู้เขียนและผู้กำกับ ภาพยนตร์สัปเหร่อ ที่ติดอันดับภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุดของประเทศไทยและล่าสุดกับการคว้า 7 รางวัลสุพรรณหงส์ ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 ไปครอง ตอกย้ำความสำเร็จของนักทำหนังรุ่นใหม่ของไทย ที่เดินทางเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับนานาชาติ

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยยังต้องการเหล่าคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ เข้ามาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมคอนเทนต์เพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่หลากหลายและสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ตลอดจนช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับสากลให้อุตสาหกรรมคอนเทนทต์ไทยเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย จึงได้จัดทำโครงการ ‘Content Lab: Newcomers’ แพลตฟอร์มบ่มเพาะทักษะสำหรับกลุ่มคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ ใน 3 ภูมิภาคของประเทศไทย ได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้โครงการ Content Lab 2024 เพื่อสร้างโอกาสสำหรับผู้ที่สนใจอุตสาหกรรมภาพยนตร์/ซีรีส์ หรือกลุ่มคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ได้เจอกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์โดยตรง โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาบุคลากรและผลิตคนทำหนังและซีรีส์รุ่นใหม่ รวมถึงคนทำหนังมือใหม่ที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ให้เข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์พร้อมสร้างทักษะที่สำคัญและจำเป็นในการสร้างผลงานที่สามารถต่อยอดสู่การผลิตผลงานในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้ตอบรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทยที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมี คุณพิมพกา โตวิระ รับหน้าที่เป็นหัวหน้าโครงการ พร้อมด้วย ดร. อภิรักษ์ ชัยปัญหา และคุณณัฐ นวลแพง ที่ปรึกษาโครงการพร้อมด้วยเมนเทอร์ของแต่ละภูมิภาค ภาคละ 4 ท่าน สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมนเทอร์ประกอบด้วย คุณชาญชนะ หอมทรัพย์, คุณวาสุเทพ เกตุเพ็ชร์, คุณก้อง พาหุรักษ์ และคุณสุพัชา ทิพเสนา ภาคกลาง ประกอบด้วย คุณปิยะกานต์ บุตรประเสริฐ, คุณพงศ์เศรษฐ์ ลักษมีพงศ์, คุณฐานิกา เจนเจษฎา และคุณพัฒนะ จิรวงศ์ ภาคเหนือ ประกอบด้วย คุณทศพล เหรียญทอง, คุณแดง ภัทรนาถ, คุณจตุพงศ์ รุ่งเรืองเดชาภัทร์ และคุณกนกพร บุญธรรมเจริญ สำหรับโครงการ Content Lab: Newcomers ผู้เข้าร่วมอบรมทุกคนจะได้รับประกาศนียบัตร และได้ประกาศทีมที่ได้รับทุนพัฒนาผลงานต่อทั้งสิ้น 15 ทีม จาก 3 ภูมิภาค 

การปลดล็อคสกิลของคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ สู่ก้าวต่อไปบนเส้นทางอุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย

สำหรับโครงการ Content Lab: Newcomers ได้ทำการเปิดรับสมัครและคัดเลือกคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่จากแต่ละภาคตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน 2567 โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เข้าสู่แคมป์ฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 8 วัน ซึ่งแต่ละทีมจะได้เรียนรู้เทคนิค ข้อมูล และโครงสร้างที่สำคัญและจำเป็นสำหรับงานภาพยนตร์และซีรีส์จากเมนเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ตรง ให้เข้าใจถึงการวางองค์ประกอบและเสริมโครงสร้างของเรื่องราวให้แข็งแรง เทคนิคของการเขียนบทภาพยนตร์ สามารถลำดับเรื่องราวได้อย่างเหมาะสม และวันสุดท้ายของแคมป์ แต่ละทีมจะต้องมานำเสนอผลงานแบบมืออาชีพในกิจกรรม Final Pitch ต่อคณะกรรมการเพื่อคว้าทุนในการพัฒนาโปรเจ็กต์ 

สำหรับทีมจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทีม “หวย” ทีมประเภทซีรีส์ ที่เป็นการรวมตัวของ 3 สมาชิก กมลวรรณ เข็มเพ็ชร, สิทธิโชค มิควัตร และชาติชาย ชมภูแดง ซึ่งสมาชิกในทีมแต่ละคนมาจากต่างสถานที่ ต่างสถาบันและไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ด้วยความสนใจและมีเป้าหมายในสิ่งเดียวกันคือการเขียนบทและการทำงานด้านโปรดักชัน เมื่อเล็งเห็นโอกาสในการเริ่มต้นเข้าสู่เส้นทางที่ชื่นชอบทั้งสามจึงได้มารวมตัวกันและถ่ายทอดเรื่องราวใกล้ตัวคนไทยที่เข้าใจได้ไม่ยากและถือเป็นหนึ่งในซับคัลเจอร์ของไทยอย่างเรื่อง “หวย” โดยสมาชิกในทีมเล่าว่า “จุดเริ่มต้นของทีมมาจากการได้มีโอกาสร่วมฟังบรรยายโครงการ Content Lab 2023 ในปีที่ผ่านมา และเห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ พอรู้ว่าปีนี้มีการเปิดรับสมัครจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีในการชวนเพื่อนที่มีความสนใจเหมือนกันมารวมตัวกัน ในระหว่างที่อยู่ในแคมป์ทั้ง 8 วัน พวกเราได้เรียนรู้ระบบการทำงาน ทักษะ หรือเทคนิคใหม่ ๆ ที่ไม่เคยรู้ รวมถึงยังได้พัฒนาตัวเองโดยมีเมนเทอร์ที่เชี่ยวชาญคอยช่วยให้คำปรึกษา ทำให้เกิดมุมมองใหม่ ระบบความคิด และเรียนรู้การวางแผนการทำงานที่ช่วยให้งานราบรื่นยิ่งขึ้น ซึ่งหลังจากที่จบโครงการมาแล้ว ทักษะความรู้ทุกอย่างที่ได้จากในแคมป์และเมนเทอร์ ก็ได้มีโอกาสนำมาต่อยอดและใช้กับงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้จริง โดยทุนที่ได้จากโครงการนี้เป็นเหมือนเครื่องยืนยันว่าเรื่องที่ได้พัฒนาขึ้นมาด้วยกันมีโอกาสเกิดขึ้นได้จริง และตั้งใจที่จะพัฒนาบทของซีรีส์เรื่องนี้ให้เสร็จสมบูรณ์มากที่สุด”

ด้านทีมประเภทภาพยนตร์ขนาดยาวอย่างทีม “รักลื่นล้ม !” จากภาคเหนือ ที่มีจุดเริ่มต้นจาก สโรชา อินถนอม สมาชิกไฟแรงที่มีใจรักในการทำหนังได้นำเอาไอเดียเดิมที่เคยคิดไว้มาต่อยอด พร้อมกับชักชวนสมาชิกในทีมอย่างภัคศรัณย์ พลหาญ และชยาภรณ์ ปวนปินตา มาร่วมทีมและนำทักษะที่แต่ละคนเคยได้เรียนมาช่วยกันพัฒนาผลงาน โดยเรื่องราวนี้มีจุดมุ่งหมายในการถ่ายทอดประเด็นของความแตกต่างทางเพศในมุมมองใหม่ และอยากให้ผู้ชมได้สัมผัสกับประเด็นนี้ในด้านที่แตกต่างออกไป “ความแตกต่างทางเพศหรือเรื่องราวของ LGBTQIA+ เป็นหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง มีการถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ ซีรีส์  และมีฐานผู้ชมที่เพิ่มขึ้น แต่พวกเราอยากเล่าผ่านมุมมองใหม่ ๆ ที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึง โดยในการทำงาน ทุกคนในทีมได้ช่วยกันพัฒนา แบ่งปันไอเดีย และเรียบเรียงเนื้อหามาด้วยกันอย่างเข้มข้นในเวลาที่จำกัด แม้จะเคยมีเรื่องพื้นฐานบางอย่างที่เคยได้เรียนมาในมหาวิทยาลัยบ้างแล้ว แต่การได้เรียนรู้จากประสบการณ์โดยตรงของวิทยากรและเมนเทอร์ในโครงการ Content Lab: Newcomers ทำให้ได้แนวคิดในการเล่าเรื่อง เปิดมุมมองที่กว้างขึ้นในด้านต่าง ๆ ที่ไม่เคยนึกถึง เช่น ด้านการสร้างตัวละคร การเล่าเรื่องผ่านภาพ โดยเฉพาะเรื่องของการทำ Pitch Deck ที่ถือเป็นสิ่งใหม่มาก และช่วยทำให้เห็นภาพกว้างได้มากขึ้นว่าถ้าจะต้องการพัฒนาบทให้สามารถขายได้จะต้องวางแผนและทำงานอย่างไรการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและได้รับเลือกเป็นทีมที่ได้ทุนพัฒนาโปรเจ็กต์ในครั้งนี้ ทำให้รู้สึกภูมิใจกับผลงานที่ได้ช่วยกันพัฒนาขึ้นมา ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีจากแค่เรื่องที่เคยคิดไว้ในหัว ตอนนี้เห็นภาพชัดเจนขึ้นและอยากทำให้เรื่องนี้ได้ไปต่อและเกิดขึ้นจริง”

และอีกหนึ่งทีมประเภทภาพยนตร์ขนาดยาวจากภาคกลาง ทีม “Landscape of Masquerade (Working Title)” เรื่องราวภาพยนตร์บอกเล่าเรื่องราวและสะท้อนแง่มุมในสังคมสุดเข้มข้น โดยสมาชิกในทีมเริ่มต้นจาก วรัตต์ บุรีภักดี และ กรภัทร์ จีระดิษฐ์ เพื่อนจากรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกัน และได้ชวน ฮีซัมร์ เจ๊ะมามะ ที่ได้เจอกันในเทศกาลภาพยนตร์มาร่วมด้วยทีมนี้จึงเป็นการรวมตัวของเหล่าคนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ที่มีความหลงใหลและเริ่มต้นเดินทางผ่านเส้นทางการประกวด ทั้งสามเล่าว่า “แรงบันดาลใจในการเขียนบทมาจากประสบการณ์ส่วนตัวหรือความสัมพันธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่เคยพบเจอ นำมาผสมกับคำถามหรือสิ่งที่อยากพูดเกี่ยวกับการเมืองหรือสังคมในแต่ละช่วงเวลา ถ่ายทอดเป็นหนังสั้นและส่งประกวด ต่อมามีความสนใจในการทำหนังขนาดยาวโดยเพราะคิดว่าจะสามารถนำเสนอเรื่องราวหรือวิธีการทำหนังที่สนุกหรือท้าทายกว่า จึงตัดสินใจส่งผลงานเข้ามาในโครงการ Content Lab: New Comers เพราะเห็นโอกาสในการพัฒนาโครงการและนำไปสู่สายตาคนนอก ตลอดระยะเวลาการอมรมในแคมป์ แต่ละคนได้ใช้ทักษะและความถนัดในการพัฒนาผลงานอย่างเต็มที่ เผชิญกับเนื้อหาที่เข้มข้น การพัฒนาเรื่องที่ยากลำบาก แต่ก็ได้พบกับความสนุกระหว่างทาง จนได้รับทุนในการพัฒนาโปรเจ็กต์ แม้พวกเราจะรู้ว่าการได้รับทุนนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้นแต่มันก็เสริมสร้างความมั่นใจให้กับตัวเองและทีมให้รู้ว่าผลงานนี้มีคนที่มองเห็นศักยภาพ ซึ่งพวกเราสัญญาใจกันแล้วว่า จะไม่หยุดแค่ตรงนี้ เราจะพัฒนาให้เป็นหนังออกมาจนได้”


จากความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้ร่วมโครงการยิ่งเป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงศักยภาพด้านภาพยนตร์และซีรีส์ของคนไทย สอดรับกับเป้าหมายของโครงการ Content Lab 2024 ในปีนี้ ที่ได้ขยายขอบเขตการยกระดับและพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ให้กว้างขึ้น โดย Content Lab: Newcomers เป็นการมุ่งเน้นและเปิดโอกาสพื้นที่ให้คนทำหนังและซีรีส์หน้าใหม่ทั่วประเทศได้เตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย โดยผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะได้เรียนรู้จากเมนเทอร์ที่มีประสบการณ์ในวงการช่วยให้คำปรึกษา เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ผลักดันและพัฒนาศักยภาพของแต่ละทีม ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการส่งเสริมการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทย โดยการสนับสนุนและพัฒนาคนทำหนังรุ่นใหม่นี้เองจะช่วยเสริมสร้างความหลากหลายและความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยในระดับสากล

สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024 ได้ที่ เฟซบุ๊กเพจ Content Lab รวมถึงกิจกรรมอื่น ๆ ของ CEA ได้ที่เว็บไซต์ www.cea.or.th

 

Posted in news on ต.ค. 10, 2024