News Update

02.09.2564

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ งัดแผนกู้วิกฤตโควิด-19 หนุนผู้ประกอบการสร้างสรรค์ ดัน Creative Economy ให้ไปต่อ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)  หรือ CEA เปิด 3 มาตรการช่วยเหลือกลุ่มฟรีแลนซ์ และผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 ผ่านโครงการ “CEA - COVID-19 Relief Programs” เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบของคนทำงานและภาคธุรกิจ พร้อมเดินหน้าโครงการ CEA Creative Industries ชูศักยภาพอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ผลักดันให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยเติบโตไกล

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งยืดเยื้อมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อ 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต้องสะดุดลง โดยข้อมูลผลประกอบการธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ CEA รวบรวมพบว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการสร้างสรรค์มีรายได้ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 26% อยู่ที่ 1.49 ล้านล้านบาท ทำให้อุตสาหกรรมต้องเผชิญการขาดทุนสุทธิรวม 1.74 หมื่นล้านบาท 

สถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ CEA ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy จึงได้เร่งปรับการทำงานของทั้งองค์กร ออกมาเป็นแผนช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ภายใต้โครงการ "CEA - COVID-19 Relief Programs” ซึ่งเป็นการดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่การจ้างงานนักสร้างสรรค์โดยตรง การช่วยให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ได้ ไปจนถึงการปรับกระบวนการทำงานขององค์กรทั้งระบบ ตั้งแต่การวางนโยบาย การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการให้บริการที่มุ่งสู่ออนไลน์ เพื่อให้สามารถดำเนินมาตรการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้อย่างทันท่วงที

ทั้งนี้ โครงการ “CEA - COVID-19 Relief Programs” ประกอบด้วยมาตรการ 3 หลัก คือ

1.    การปรับบริการและกิจกรรมมุ่งสู่ออนไลน์ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่ง (Capacities Building) ให้ธุรกิจและนักสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการดำเนินการกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ รวม 4 กิจกรรมด้วยกัน ได้แก่

  • ปรับรูปแบบบริการห้องสมุดเพื่อการออกแบบ (TCDC Resource Center) สู่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าถึงได้สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งนอกจากการให้บริการข้อมูล และค้นคว้าข้อมูลแล้ว ยังสามารถเข้าชมข้อมูลนิทรรศการและกิจกรรมประกอบย้อนหลังในรูปแบบดิจิทัลได้โดยไม่จำกัดเวลา (Archive)  
  • พัฒนาคอร์สออนไลน์เพื่อเสริมทักษะผู้ประกอบการสร้างสรรค์ “CEA Online Academy”  หลักสูตรออนไลน์เรียนฟรีเพื่อผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะเดิมให้ทันกับยุคสมัย (Upskill) หรือเพิ่มทักษะใหม่ที่จำเป็น (Reskill) ปัจจุบัน มีผู้เข้าชมหลักสูตรแล้วมากกว่า 35,000 คน ในกว่า 35 หลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ที่บรรจุอยู่ใน https://academy.cea.or.th
  • จัดกิจกรรมให้คำปรึกษาธุรกิจสร้างสรรค์“Creative Business Consultation Program” ซึ่งเป็นบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจสำหรับผู้ที่ต้องการพัฒนาหรือขยายโอกาสทางธุรกิจ โดยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่จะหมุนเวียนกันมาให้คำปรึกษาแก่ผู้สนใจ ทั้งด้านกลยุทธ์ธุรกิจ การเงิน การสร้างแบรนด์ กฎหมาย การออกแบบ กระบวนการคิดเพื่อสร้างนวัตกรรม และการปรับตัวท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจจากสถานการณ์โรคระบาด ซึ่งเป็นการให้บริการฟรีโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายและให้ภาคธุรกิจสามารถปรับตัวเดินหน้าต่อไปได้   
  • สร้างแพลตฟอร์มแสดงผลงาน CONNECT by CEA: Creator's Marketplace แคมเปญ “ตลาดนัด” ของเหล่านักสร้างสรรค์ ฟรีแลนซ์ และสตูดิโอ ที่สามารถนำผลงานมาจัดแสดง ผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเลือกชมผลงานและเลือกจ้างงานได้มากกว่า 5 สาขา แคมเปญนี้ ได้สร้างงานให้กับเหล่านักสร้างสรรค์ ไปแล้วกว่า 25 ราย 

2.    โครงการพิเศษเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์โดยเฉพาะ ได้แก่ โครงการ “CEA VACCINE ร่วมสร้างสรรค์ ...ภูมิคุ้มกันเศรษฐกิจไทย” 

CEA ได้จัดสรรงบประมาณกว่า 15 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการกระตุ้นตลาดการจ้างงานตรงให้กับกลุ่มฟรีแลนซ์-เอสเอ็มอี รวมกว่า 1,200 ราย ในช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมาใน 3 ด้านหลัก คือ 

  • กิจกรรม “สู้โควิดด้วยวิตามิน” เกิดการจ้างงานตรง 6 สาขาอาชีพ เช่น นักดนตรี นักเขียน นักแปล ช่างภาพ ฯลฯ รวม 373 คน 
  • กิจกรรม “เสริมภูมิคุ้มกัน” ร่วมมือกับมาร์เก็ตเพลสออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Lazada, JD Central, PINKOI และ SIFT & PICK เพื่อส่งเสริมการขายสินค้าให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีราว 890 ราย 
  • กิจกรรม“สร้างเกราะต้านทานโรค” โดยเป็นการร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สนับสนุนกลุ่มศิลปิน นักร้อง นักดนตรี นักแสดง เช่น โครงการ CEA Live House (ปีที่ 1) ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์อย่างบริษัท ProPlugin, Live4 Viva, Rock Planet และ JOOX สนับสนุนพื้นที่จัดแสดงและเผยแพร่ผลงานของศิลปิน นักร้อง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือโครงการ CEA Live House (ปีที่ 2) ซึ่งสนับสนุนพื้นที่บันทึกการแสดงสดและการถ่ายทำเพื่อเผยแพร่ในช่องทางสื่อสารของศิลปิน นักแสดง และช่องยูทูบของ CEA 

3.    การใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เข้ามาแก้ปัญหาและความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ต้องเผชิญ (Endorsing Innovation, Technology & Design Thinking for Better Solutions)  เพื่อให้ผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน เกิดความปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ในรูปแบบของอุปกรณ์ เครื่องมือ แพลตฟอร์ม 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่

  • CROWD CHECK เครื่องมือคำนวณหาความหนาแน่นของการใช้พื้นที่ เพื่อให้ผู้ชมงานใช้วางแผนการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงช่วงเวลาแออัดได้ โดยแสดงผลผ่านเว็บไซต์ https://crowdcheck.info และ www.bangkokdesignweek.com/guide/1012863.    การใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ นวัตกรรม และเทคโนโลยี เข้ามาแก้ปัญหาและความท้าทายรูปแบบใหม่ที่ต้องเผชิญ (Endorsing Innovation, Technology & Design Thinking for Better Solutions)  เพื่อให้ผู้จัดงานและผู้เข้าชมงาน เกิดความปลอดภัยในการใช้พื้นที่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ ในรูปแบบของอุปกรณ์ เครื่องมือ แพลตฟอร์ม 4 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
  •  Virtual Design Festival แพลตฟอร์มการชมงานในรูปแบบ 360° Exhibition Tour ที่มอบประสบการณ์การรับชมได้อย่างเต็มอิ่ม เสมือนได้เดินชมงานจริงกว่า 15 งาน และยังสามารถรักษาระยะห่างและความปลอดภัยท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาด 
  • HackVax 2021 ทีมนักนวัตกรรม นักออกเเบบ นักสื่อสาร และทีมเเพทย์ พร้อมด้วยนักวิจัยจาก MIT สหรัฐเมริกา ร่วมกันออกเเบบ “กระบวนการฉีดวัคซีน” เพื่อลดขั้นตอนให้สั้นและกระชับรวดเร็ว โดย CEA ร่วมกับทีมงาน HackVax.org และจังหวัดขอนแก่น จัดโครงการนำร่องการฉีดวัคซีนที่จังหวัดขอนแก่นในชื่อโครงการ “ขอนแก่น ฉีดละเด้อ” และพร้อมต่อยอดสู่การใช้งานทั่วประเทศเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก้าวข้ามวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้ https://hackvax.org/open-design-1


     
  •  Covid-19 Innovation Showcase CEA ร่วมกับ FabCafe Bangkok เมกเกอร์ที่มีบทบาทสำคัญในการดัดแปลง พัฒนา ผลิตและสร้างอุปกรณ์ต้นแบบ ได้แก่ SWAB SHIELD, AEROSOL BOX, UVC-decontamination, HEPA H-14, PAPR HEADSUIT และ COVID BED ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไฟล์ CAD (Open source) ผลงานต้นแบบเพื่อนำไปออกแบบ พัฒนา และผลิตด้วยเครื่องจักรได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย www.cea.or.th/th/single-project/covid-19-innovation-project


นอกจากการมุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการและนักสร้างสรรค์จากผลกระทบของโควิด-19 แล้ว CEA ยังเร่งเครื่องสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยจัดงาน“CEA Creative Industries 2021” ในเดือนสิงหาคม - กันยายน 2564 นี้ ซึ่งทาง CEA เป็นหน่วยงานหลักที่เชื่อมต่อความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา อาทิ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย และสมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกไทยฯลฯ 

ทั้งนี้ งาน“CEA Creative Industries 2021”เป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทยผ่านการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ การประกวดและมอบรางวัลให้แก่บุคลากรสร้างสรรค์ในสาขาต่าง ๆ การเสวนา การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การรวบรวมและพัฒนาฐานข้อมูลอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา และการผลิตวิดีโอคอนเทนต์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยส่งเสริมให้ภาคธุรกิจพัฒนาผลงานสร้างสรรค์สู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ในลักษณะภาคีเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่ง

Posted in news on ก.ย. 02, 2021