News Update

07.10.2564

CEA ผนึก 8 องค์กรสร้างสรรค์ จัดกิจกรรม Creative Industries 2021 ชูพลัง Soft Power ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ผนึก 8 องค์กร สร้างเครือข่ายสร้างสรรค์และยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจแข่งขันได้ในระดับสากล พร้อมเดินหน้าจัดกิจกรรม Creative Industries 2021 นำพลัง Soft Power และความคิดสร้างสรรค์ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยผ่านอุตสาหกรรมดนตรี ซีรีส์วาย เกม หนังสือ โฆษณาและศิลปะ มั่นใจปี 2564 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.45 ล้านล้านบาท และในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.57%

นายอภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค อันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ โดยอาศัยทุนทางวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งในปี 2564 นี้ คาดว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1.45 ล้านล้านบาท และในปี 2565 คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 1.51 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.57%

ทั้งนี้ CEA ในฐานะองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาและยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทย จึงได้ร่วมกับ 8 องค์กรสร้างสรรค์ในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือต่างๆ ได้แก่ สมาคม สมาพันธ์ สถาบันการศึกษา ตลอดจนภาคเอกชนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับกลาง ถึงระดับองค์กรขนาดใหญ่ โดยมีการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ร่วมกับ 7 องค์กร และจัดกิจกรรมร่วมกับ 1 สมาคมในการสนับสนุนการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์รายสาขา ได้แก่ สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย (AAT) สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ASA) สมาคมผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟิกส์ไทย สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย วิทยาลัยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (CCI by SWU) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และจัดกิจกรรมร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเร่งยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันเชิงธุรกิจ 

สำหรับแนวทางในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในปีนี้ CEA ได้จัดกิจกรรม Creative Industries 2021 เพื่อแสดงศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถทางธุรกิจสร้างสรรค์ผ่านอุตสาหกรรมดนตรี ภาพยนตร์ โฆษณา และศิลปะในรูปแบบ Soft Power ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็งและยั่งยืนให้แก่เครือข่ายผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรม ได้แก่ ภาครัฐ องค์กร เครือข่ายภาคเอกชน และภาคการศึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล กำหนดจัดขึ้นระหว่างเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2564 แบ่งการจัดกิจกรรมออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 

1. กลุ่มรากฐานทางวัฒนธรรม (Creative Originals) : งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง และทัศนศิลป์ โดยในส่วนของอุตสาหกรรมดนตรี ศิลปะการแสดง CEA ได้จัดทำโครงการ CEA Live House ปี 2 : กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ศิลปินหน้าใหม่ได้ทำการบันทึกการแสดงสดอย่างเต็มรูปแบบ Live Recording Sessions ในแบบมาตรฐานสากล โดยบริษัทโปรดักชันระดับหัวแถวของเมืองไทย เพื่อร่วมสนับสนุนในการยกระดับความสามารถของศิลปินไทยให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เพื่อนำเสนอผลงานสู่สาธารณะทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ โดยในปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 36 การแสดงดนตรี และ 13 การแสดงกลุ่มศิลปะการแสดง (Performing Arts) พร้อมร่วมกับภาคเอกชน จัดกิจกรรมผลักดันอุตสาหกรรมดนตรี เพื่อยกระดับวงการ T-POP สู่ตลาดโลก ผนึกความสร้างสรรค์ด้านต้นทุนวัฒนธรรมและการออกแบบในการยกระดับความสามารถดนตรีไทยให้ก้าวทันโลกยุคดิจิทัล โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ในช่วงปลายปี 2564 

นอกจากนี้ CEA ยังร่วมกับ สมาคมการค้าส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT) จัดกิจกรรมบรรยายและสัมมนาเชิงปฏิบัติการในรูปแบบออนไลน์ CAPT FEST 2021 เพื่อถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจต่ออุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย และสนับสนุนการยกระดับความสามารถของบุคลากรและธุรกิจให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดอุตสาหกรรมโลก ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://www.captthailand.com

2. กลุ่มคอนเทนต์และสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content and Media) : ภาพยนตร์ การกระจายเสียง การพิมพ์และซอฟต์แวร์ จัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์สิ่งพิมพ์ Thai Book Fair Web Archive รวบรวมความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบฐานข้อมูล (Archive) ของแวดวงหนังสือและการพิมพ์ ร่วมกับสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) โดยคัดเลือกหนังสือ วรรณกรรม สิ่งพิมพ์ ซึ่งเป็นต้นทางของความคิดสร้างสรรค์ ที่ถูกนำไปต่อยอดในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ อาทิ หนังสือบุพเพสันนิวาส ของรอมแพง ที่ได้สร้างเป็นละครโทรทัศน์ ก่อให้เกิดกระแสความนิยมความสนใจด้านประวัติศาสตร์ของคนไทย และสามารถขายลิขสิทธิ์ไปยังต่างประเทศโดยแพลตฟอร์ม Web Archive จะเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ Thai Book Fair ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ทำให้สามารถติดตามความเคลื่อนไหวของคอนเทนต์สร้างสรรค์ รับแรงบันดาลใจในการสร้างงาน พร้อมกับสั่งซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น สามารถติดตามรายละเอียดได้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ www.thaibookfair.com

พัฒนาแพลตฟอร์มผลงานโฆษณาของไทย (Adman, Ad Fest, Cannes Lions Web Archive) ร่วมกับสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ด้วยการรวบรวมและแสดงข้อมูลผลงานโฆษณาของไทย ที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับรางวัล รับรอง และจัดโดยองค์กรหรือหน่วยงาน ที่มีความน่าเชื่อถือและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง อาทิ งาน Adman, Adfest หรือ CannesLion หรือรางวัลอื่นๆ ย้อนหลังเป็นเวลา 3 ปี เพื่อยกระดับแนวทางและกระบวนการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ และเกิดประสิทธิภาพต่อการนำไปใช้ประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรม และภาคการศึกษา ทั้งยังสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจสำหรับผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มโฆษณา ทั้งไทย และต่างประเทศ เพื่อเชิญชวนนักลงทุนในธุรกิจสร้างสรรค์ที่เกี่ยวข้องได้เห็นศักยภาพของอุตสาหกรรมโฆษณาของไทย ติดตามรายละเอียดได้ที่ https://data.cea.or.th หรือ https://admanawards.com/archive

สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมสาขาการกระจายเสียงและสาขาภาพยนตร์ได้มีการจัดทำ Series Y Documentary ร่วมกับภาคเอกชนตัวจริงในวงการซีรีส์วาย นำเสนอสารคดีสั้นเจาะลึกเบื้องหลังวงการ ซีรีส์ประเภท Boy’s Love หรือซีรีส์วาย (Y) ที่สร้างรายได้อย่างมหาศาลทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและแนวคิดสร้างสรรค์จากคอนเทนต์ของไทยผ่านมุมมองของผู้สร้าง ตั้งแต่ขั้นตอนการคิดเนื้อหา เตรียมการสร้าง (pre-production) การถ่ายทำซีรีส์ (production) และการประชาสัมพันธ์ (post-production) ที่พัฒนาต่อยอดไปเป็นอีเวนท์ หรือกระแสตอบรับจากหลาย ๆ ประเทศ และร่วมกับ JustดูIt จัดทำสารคดีสั้นไขเคล็ดลับความสำเร็จซีรีส์ “แปลรักฉันด้วยใจเธอ” ของผู้กำกับ บอส นฤเบศ กูโน และผู้กำกับภาพ ตั้ง ตะวันวาด วนวิทย์ (TangBadVoice) ทีมผู้สร้างสรรค์ จนกลายเป็นป๊อปคัลเจอร์การท่องเที่ยวของภูเก็ต และ สารคดีสั้นทำหนังไทยไปไกลระดับโลก เบื้องหลังความสำเร็จ บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ผู้กำกับไทยมาแรงแห่งยุคจากฉลาดเกมส์โกง โกอินเตอร์ทำหนังร่วมกับ หว่องกาไว กับ One for the Road ผลงานเจ้าของรางวัลใหญ่จาก Sundance Film Festival 2021 พร้อมก้าวต่อไปของเขาคือการทำหนังระดับ Hollywood และสารคดีสั้น กินตามหนัง จนอาหารกลายเป็นพลังสื่อขับเคลื่อนวัฒนธรรม การสร้างชาติผ่านอาหารไทย ที่ไปไกลระดับโลก

นาย อภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนกิจกรรมในการส่งเสริมองค์ความรู้ CEA ได้ร่วมกับสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยจัดกิจกรรม NFT เพื่อสนับสนุนวงการอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยในยุคปัจจุบันสู่ตลาดศิลปะดิจิทัล ได้แก่ โครงการสรรสร้างโอกาสในตลาดดิจิทัลอาร์ตไปกับ NFT, กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ NFT สำหรับนักสร้างสรรค์และกิจกรรมส่งเสริมรายได้ให้ นักร้อง นักดนตรี นักแต่งเพลง โดยการสร้างผลงานในกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลายไร้พรหมแดน เพื่อเปิดการขายผลงานในรูปแบบ NFT รวมทั้งยังได้จัดทำ Webinar และ Online Workshop ร่วมกับสมาคม TAGCA, DCAT, TGA และ Bangkok ACM Siggraph เพื่อถ่ายทอดความรู้นวัตกรรมของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาซอฟต์แวร์ ในกลุ่มเกมและแอนิเมชันในงาน Bangkok International Digital Content Festival 2021 (BIDC) และกิจกรรมเสวนาออนไลน์สำรวจก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยกับกว่า 30 ตัวจริงผู้ขับเคลื่อนวงการกับ The Standard POP Live Special: Creative Weekend 

“การขับเคลื่อน 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย เราคาดหวังจะให้เป็นต้นแบบในการให้กลุ่มคนในแรงงานสร้างสรรค์ได้ร่วมมือกัน เพื่อดึงศักยภาพมาประยุกต์ใช้ให้ทันแนวโน้มเทรนด์โลก ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ภายในปี 2565 ตามแผนที่วางไว้” นาย อภิสิทธิ์ ทิ้งท้าย

ด้านนายเนนิน อนันต์บัญชาชัย นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย (Thai Game Software Industry association: TGA) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเกมไทยมีขนาดใหญ่ มูลค่าตลาดปีที่ผ่านมาประมาณ 29,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้แบ่งสัดส่วนเป็นเกมบนมือถือประมาณ 67% บนพีซีกว่า 20% และเกมคอนโซล 10% แต่ในจำนวนทั้งหมดนี้ เกมไทยครองส่วนแบ่งรายได้ประมาณ 3% เท่านั้น โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ของเกมฟอร์มใหญ่จากต่างประเทศ เช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ขณะที่ตลาดเกมโลกมีมูลค่าสูงถึง 1.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ มีขนาดใหญ่กว่าอุตสาหกรรมกีฬาและภาพยนตร์ โดยจุดแข็งของอุตสาหกรรมเกมไทยคือ “คน” บุคลากรมีความสามารถด้านครีเอทีฟ มีศิลปินนักออกแบบเกม (Game Artist) ที่เก่งทั้ง 2D และ 3D ซึ่งงานด้านนี้บางส่วนอยู่ในสตูดิโอแอนิเมชัน และโปรแกรมเมอร์ด้านเกมก็มีความสามารถเทียบชั้นในอาเซียน ขณะเดียวกัน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีสัญญาณที่ดีของผู้พัฒนาเกมไทยที่เห็นเกมคนไทยได้รับรางวัลระดับสากลมากขึ้น มี 1-3 เกมต่อปีต่อเนื่อง เท่ากับแสดงศักยภาพให้โลกเห็นว่า สตูดิโอผู้ผลิตเกมของไทยทำผลงานมีคุณภาพ และได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศ มีเกมที่ออกตลาดต่างประเทศได้ เช่น Home Sweet Home, TimeLie, Fallen Knight และ Bounty Brawl หรืออย่าง Kingdom Reborn เกมไทยล่าสุดที่ได้รับรางวัล BIDC ซึ่งวางขายบน Steam มียอดขายเกือบ 100 ล้านบาทภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี
 

Posted in news on ต.ค. 07, 2021