News Update

13.02.2568

“อาชีวะ” จับมือ CEA เปิดตัวโครงการ “Creative Skillup by OVEC x CEA” ยกระดับซอฟต์พาวเวอร์อาชีวศึกษา ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยพลังสร้างสรรค์

สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการยกระดับซอฟต์พาวเวอร์อาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการวิจัย นวัตกรรม และทักษะสร้างสรรค์ หรือ “Creative Skillup by OVEC x CEA” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยได้รับเกียรติจาก นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ดร. นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และนายเลอชาติ ธรรมธีรเสถียร ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาองค์ความรู้เศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสถานศึกษา และคณาจารย์สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เข้าร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้ ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 ณ TCDC กรุงเทพฯ

นายสง่า แต่เชื้อสาย รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า “สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้กำหนดนโยบายการพัฒนาอาชีวศึกษา (8 Agenda) ประเด็นการพัฒนาที่ 7 เสริมสร้างภาพลักษณ์อาชีวศึกษายุคใหม่ ข้อที่ 7.2 ส่งเสริมและสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์อาชีวศึกษา สอดคล้องกับนโยบายเรือธงของรัฐบาลเรื่องการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ ยกระดับภูมิปัญญาไทยไปสู่วัฒนธรรมสร้างสรรค์ (Creative Culture) โดยมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการปรับใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน (Local Wisdom) ซึ่งเป็นศักยภาพของคนไทยและทุนทางวัฒนธรรมของประเทศไทย เพื่อยกระดับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากทุนทางวัฒนธรรมให้มีมาตรฐาน มีการออกแบบที่โดดเด่นและมีความร่วมสมัย เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคทั่วโลก”

ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “CEA ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมให้แก่ชุมชน สาธารณชน และสถาบันการศึกษา การพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์ และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ รวมทั้งการพัฒนาย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ ยินดีให้การสนับสนุนและร่วมเป็น Coach & Mentor ให้แก่โครงการนี้ เพื่อร่วมกับ สอศ. ในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการวิจัย การพัฒนานวัตกรรม และทักษะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สาขาต่าง ๆ ให้แก่คณะครูและนักเรียน - นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ นอกจากนี้ CEA ยังพร้อมเป็น Coordinator และศูนย์กลาง (Hub) ในการประสานความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ กับหน่วยงานภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผ่านศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ที่ครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลา เชียงราย แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก นครราชสีมา อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ภูเก็ต และปัตตานี”

สำหรับโครงการยกระดับซอฟต์พาวเวอร์อาชีวศึกษา เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประเทศ ด้วยการวิจัยนวัตกรรมและทักษะสร้างสรรค์ หรือ “Creative Skillup by OVEC x CEA” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 เป็นโครงการภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) ทั้ง 14 แห่งที่ตั้งอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้ทีมครูและนักเรียน - นักศึกษาสังกัด สอศ. ที่มีความสนใจด้านการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสร้างสรรค์ ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ บริการสร้างสรรค์ ตลอดจนผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องกับโจทย์ความต้องการในพื้นที่ ทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน อัตลักษณ์ชุมชน และซอฟต์พาวเวอร์ สมัครเข้าร่วมโครงการ โดยข้อเสนอโครงการ (Concept Proposal) ที่ผ่านการคัดเลือก จะได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่อไป 

สอศ. ได้กำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมภายใต้แนวคิด Local to Global ใน 3 มิติ ดังนี้

1. เรียนรู้อดีต: การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมจากองค์ความรู้ ภูมิปัญญา ทุนทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ต่อยอดและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ
2. เข้าใจปัจจุบัน: การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อยกระดับกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับบริบทสังคมร่วมสมัย ตลอดจนก่อให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่และภาพจำใหม่ที่สอดคล้องกับรสนิยมและวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบัน 
3. สร้างสรรค์อนาคต: การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญา สู่การพัฒนาต่อยอดทั้งในระดับประเทศและระดับสากล โดยคำนึงถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เน้นย้ำว่าเป้าหมายสำคัญของโครงการนี้คือการสร้างคุณค่าและมูลค่าจากทุนทางวัฒนธรรมและทักษะสร้างสรรค์ทั้งในมิติชุมชนและสังคม มิติเชิงพาณิชย์ (Utilization for Community & Commercial Sectors) สร้างกำลังคนและเครือข่ายทำงานสร้างสรรค์ในระดับพื้นที่ สร้างความร่วมมือกับภาค Demand Side (พื้นที่/ชุมชน/สถานประกอบการ) หน่วยงานผู้ให้ทุน (Funding Agency) และ Stakeholders ต่าง ๆ ตลอดจนสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ในระดับสถานศึกษาและย่านสร้างสรรค์ (Creative District) ในระดับพื้นที่/จังหวัด และสร้างเวทีในการนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ทั้งในระดับพื้นที่ ระดับชาติ และระดับนานาชาติ

ผู้สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวโครงการฯ เพิ่มเติม ได้ที่ Facebook: สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา

สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ตั้งแต่วันนี้ - 20 กุมภาพันธ์ 2568 ได้ที่: https://shorturl.at/k7owM

Posted in news on ก.พ. 13, 2025