CEA ขานรับนโยบายภาครัฐกระจายองค์ความรู้สร้างสรรค์ทั่วประเทศ จัดตั้ง TCDC แห่งใหม่ 10 จังหวัด สร้าง ‘โอกาส’ ดึง ‘คนรุ่นใหม่’ พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ฐานราก
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ประกาศแผนยุทธศาสตร์เดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของไทย หนุนศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์และทุนทางวัฒนธรรม ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เกิดคุณค่าทางเศรษฐกิจและศักยภาพพร้อมแข่งขันสู่เวทีโลก ผ่านศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) 10 จังหวัด พร้อมเชื่อมโยงทุกภาคส่วน ตอบโจทย์นโยบายภาครัฐ ซอฟต์พาวเวอร์ "1 ครอบครัว 1 Soft Power" หรือ "OFOS" อย่างเป็นรูปธรรม โดยมี ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ คุณแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ผู้แทนหน่วยงานขับเคลื่อน TCDC แห่งใหม่ทั้ง 10 จังหวัด กรรมการและผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และบุคคลสำคัญจากหลายภาคส่วน ให้เกียรติร่วมงาน
คุณแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า “ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ คือรากฐานสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ‘ทุนมนุษย์’ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) จึงเป็นแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์ของคนไทยที่ก่อตั้งขึ้นโดยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเมื่อ 18 ปีก่อน เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมุ่งที่จะ ‘สร้างคน เพิ่มทักษะ’ โดยนโยบายจากรัฐบาลได้เดินหน้าต่อ ผ่านโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC แห่งใหม่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือคนไทย เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้ามาฝึกอบรมที่ TCDC ตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัด จนถึงระดับประเทศ เพื่อยกระดับศักยภาพของตนเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น พร้อมเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสร้าง ‘แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูง’ กว่า 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล สอดคล้องกับนโยบาย ‘1 ครอบครัว 1 Soft Power’ หรือ ‘OFOS’ ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนทั่วประเทศ”
ด้าน นพ. สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลมุ่งผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์อย่างจริงจัง โดยตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มให้ประเทศ 4 ล้านล้านบาทต่อปีภายใน 4 ปี หรือคิดเป็นการเพิ่มรายได้ให้คนไทย 20 ล้านครัวเรือน เฉลี่ย 2 แสนบาทต่อปี (16,000 บาทต่อเดือน) ซึ่งสอดคล้องกับแผนขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ของรัฐบาลที่แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรกคือ ‘ต้นน้ำ’ การสร้างคนด้วยการฝึกอบรมคนไทย 20 ล้านคน จาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ ตามนโยบาย OFOS ของรัฐบาล เพื่อเพิ่มทักษะ ‘Upskill’ และ ‘Reskill’ ให้สามารถต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ไปสู่การสร้างรายได้จริง ส่วนที่สอง คือ ‘กลางน้ำ’ การพัฒนาอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์และยกระดับสินค้าและบริการใน 11 สาขาหลัก เช่น อาหาร กีฬา เฟสติวัล ท่องเที่ยว ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ เกม ศิลปะ การออกแบบ และแฟชั่น และสุดท้ายคือ ‘ปลายน้ำ’ การส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทยออกไปสู่เวทีโลก โดยเน้นการนำความโดดเด่นด้านวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และความสร้างสรรค์ของคนไทยไปสร้างรายได้ในตลาดต่างประเทศ
ดังนั้น การขยาย TCDC อีก 10 แห่งในจังหวัดต่าง ๆ นั้น จึงจัดเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงเป็นช่องทางในการเปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมเหล่านี้ได้เข้าถึงตลาดงานในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ ที่จะช่วยเชื่อมต่อการสร้างรายได้ ตั้งแต่ระดับประชาชนฐานราก ผ่านผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศ จนกระทั่งไปสู่ตลาดโลกในที่สุด
ด้าน ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า CEA พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไทยในฐานะศูนย์กลางเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์ โดยผสานทุนทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ผ่านการส่งเสริมและสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากนโยบายของรัฐบาลสู่ภาครัฐ ด้วยความร่วมมือกับภาครัฐท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และชุมชน เพื่อพัฒนานวัตกรรมบนพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรม กระจายความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมลงสู่ชุมชน สร้างเมืองและชุมชนสร้างสรรค์ทั่วประเทศ
TCDC จะทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ กระตุ้นการเรียนรู้ สร้างโอกาสและแรงบันดาลใจ พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทยสู่ยุคเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปัจจุบันมีสาขาบริการแบบเต็มรูปแบบ 4 แห่งได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา (เตรียมเปิดให้บริการในปี 2568) และในโอกาสครบรอบ 20 ปี
ในปี 2568 TCDC ได้ขยายการจัดตั้งพื้นที่ใหม่เพิ่มอีก 10 แห่งครอบคลุมทั่วประเทศ ในรูปแบบที่ร่วมกับองค์กรหรือหน่วยงานภาครัฐส่วนท้องถิ่น ได้แก่ 1. เชียงราย 2. นครราชสีมา 3. ปัตตานี 4. พิษณุโลก 5. แพร่ 6. ภูเก็ต 7. ศรีสะเกษ 8. สุรินทร์ 9. อุตรดิตถ์ และ 10. อุบลราชธานี พร้อมยกระดับการให้บริการด้วยการใช้เครื่องมือใหม่ “Creative Lab” เป็นพื้นที่ปฏิบัติการเพื่อยกระดับสินค้าและบริการ กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม และพัฒนาทรัพยากรทางวัฒนธรรมในท้องถิ่นสู่ตลาดในระดับประเทศและระดับสากล
“เราเชื่อว่า TCDC แห่งใหม่จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาแรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูงกว่า 20 ล้านคนทั่วประเทศตามเป้าหมายของรัฐบาล ที่จะเป็นเสมือนฟันเฟืองสำคัญในการสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ ยกระดับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และส่งเสริมศักยภาพทุนทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของท้องถิ่นให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ดร. อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย
Posted in news on มิ.ย. 26, 2024