เริ่มแล้ว! ประชุมบอร์ดซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติครั้งแรก นำเสนอแผนขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา
3 ตุลาคม 2566 - นายเศรษฐา ทวีสิน เปิดประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาตินัดแรก เคาะตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ มอบนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม และกํากับการดําเนินงาน ดึงภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน เข้าร่วมเพิ่มเติม พร้อมโชว์ซอฟต์พาวเวอร์ไทยให้นักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาช่วงไฮซีซันนี้ ด้านแพทองธารนําเสนอแผนขับเคลื่อน 3 ขั้น เดินหน้า 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ และการจัดตั้งองค์กร THACCA ตั้งเป้ายกระดับทักษะคนไทย 20 ล้านคน สร้างรายได้ 4 ล้านล้านบาท
แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม และกํากับการดําเนินงาน โดยมีแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน พร้อมด้วยกรรมการเอกชน และผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชน
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ว่าหลังจากที่รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ของ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ และเห็นว่าจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทย ให้เกิดผลสําเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง จึงมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อน ติดตาม และกํากับการดําเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน และมีกรรมการเอกชนจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มาร่วมเป็นกรรมการด้วย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
ทั้งนี้ เพื่อให้การทํางานมีความครอบคลุม เห็นควรให้เพิ่มผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์การมหาชนในระดับปฏิบัติเป็นกรรมการเพิ่มเติม เช่น เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้อำนวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ผู้อำนวยการสํานักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ผู้อำนวยการสํานักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ฯลฯ และยังเห็นชอบให้มีกลไกในระดับปฏิบัติการ เพื่อดําเนินงานผ่านคณะอนุกรรมการของแต่ละสาขาที่จะแต่งตั้งขึ้น โดยมีกรรมการรายสาขาที่อยู่ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แต่ละด้านเป็นประธานอนุกรรมการ
เร่งจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยช่วงไฮซีซัน
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนตุลาคม - ธันวาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ เช่น จีน มาเลเซีย และอินเดีย รวมถึงตลาดระยะไกล เช่น รัสเซีย คาซัคสถาน และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป ทั้งนี้รัฐบาลได้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวสําหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายเฉพาะไว้แล้ว โดยขอให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างมวยไทย และเทศกาลภาพยนตร์ ดนตรี และอาหาร ฯลฯ
ตั้งเป้ายกระดับทักษะคนไทยจํานวน 20 ล้านคน สร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ได้จัดทําแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยจะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และองค์กร Thailand Creative Content Agency (THACCA) โดยมีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจํานวน 20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูงและแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตําแหน่ง สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นําด้านซอฟต์พาวเวอร์ของโลก
นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานกรรมการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
เร่งขับเคลื่อนนโยบาย OFOS และการจัดตั้งองค์กร THACCA ผ่านการดำเนินงาน 3 ขั้น
สําหรับแนวทางการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายตามตามนโยบาย OFOS และ THACCA ได้แบ่งขั้นตอน การดําเนินการเป็น 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นที่ 1 การพัฒนาคนผ่านกระบวนการส่งเสริมบ่มเพาะศักยภาพ โดยจะเฟ้นหาคนที่มีความฝันและอยากทําความฝันนั้นให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุ จํานวน 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครัวเรือน โดยให้แจ้งลงทะเบียนกับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อบ่มเพาะผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ ทั้งด้านทําอาหาร ฝึกมวยไทย วาดภาพศิลปะ ฝึกการแสดง ร้องเพลง ออกแบบ แฟชั่น ฝึกแข่ง e-Sport และอื่น ๆ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
พัฒนา 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ไทย ตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ
ขั้นที่ 2 การพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์สาขาต่าง ๆ ภายในประเทศ 11 สาขา ได้แก่ (1) อาหาร (2) กีฬา (3) เฟสติวัล (4) ท่องเที่ยว (5) ดนตรี (6) หนังสือ (7) ภาพยนตร์ (8) เกม (9) ศิลปะ (10) ออกแบบ และ (11) แฟชั่น โดยกําหนดให้เป็นหน้าที่ขององค์กร THACCA ที่จะถูกจัดตั้งขึ้นในอนาคต โดยจะดําเนินการปรับแก้กฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สร้าง One Stop Service เพื่ออํานวยความสะดวกในการดําเนินการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ พร้อมกับสนับสนุนเงินทุนวิจัยและพัฒนา การสร้างแรงจูงใจด้านภาษี การทลายกรอบบรรทัดฐานเดิมเพื่อให้เสรีภาพแก่ความคิดสร้างสรรค์ การเปิดพื้นที่สาธารณะให้มากขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถแสดงผลงานได้อย่างไร้ขีดจํากัดในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (Thailand Creative & Design Center: TCDC) ในทุกจังหวัด มีการเพิ่มพื้นที่สําหรับ Co-Working Space ที่มีสิ่งอํานวยความสะดวกครบวงจร เพื่อส่งเสริมบรรยากาศการเรียนรู้ การพบปะกันเพื่อริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์ และต่อยอดกลายเป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างมั่นคงตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับประเทศ
ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีโลก
ขั้นที่ 3 การนําอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์รุกสู่เวทีโลก โดยจะเดินหน้าผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศสู่ระดับสากลด้วยการทูตเชิงวัฒนธรรม หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ จะร่วมมือกับภาคเอกชนนําซอฟต์พาวเวอร์ของไทยเผยแพร่สู่ตลาดโลกผ่านยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ด้วยการวิจัยข้อมูลเชิงพฤติกรรม กลยุทธ์การสื่อสาร และการร่วมจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่งสามารถทําได้ทั้งที่เป็นกิจกรรมระดับโลกที่จัดภายในประเทศ และการนําซอฟต์พาวเวอร์ศักยภาพสูงเข้าร่วมกิจกรรมระดับโลกในต่างประเทศ
ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
เป้าหมาย Quick Win ภายในระยะเวลา 100 วัน ออกสตาร์ท 3 ตุลาคม 2566
นางสาวแพทองธาร กล่าวว่า “นับจากวันนี้ รัฐบาลได้เริ่มนับหนึ่งการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศแล้ว และได้กําหนดเป้าหมายระยะสั้นและกลาง คือภายใน 100 วัน หรือ 11 มกราคม 2567 กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองจะพร้อมให้ประชาชนลงทะเบียนแสดงความสนใจเข้ารับการบ่มเพาะ จะมีการปรับปรุงศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ พร้อมกับการปรับเปลี่ยนกฎหมายบางส่วนในระดับกฎกระทรวงหรือพระราชกฤษฎีกา ให้ส่งเสริมและสอดรับกับการดําเนินงานตามนโยบาย และจะร่วมจัด Winter Festival เทศกาลฤดูหนาว กับกรุงเทพมหานครอย่างยิ่งใหญ่”
เป้าหมายภายในระยะเวลา 6 เดือน และ 1 ปี
“สำหรับภายใน 6 เดือน หรือภายในวันที่ 3 เมษายน 2567 จะเริ่มต้นกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคนผ่านศูนย์บ่มเพาะทักษะสร้างสรรค์ พร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติ THACCA เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จะมีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ทั้งประเทศให้เป็นเทศกาลระดับโลก หรือ World Water Festival และจัดงานซอฟต์พาวเวอร์ฟอรัมนานาชาติ เพื่อระดมความคิดสร้างสรรค์ของคนในวงการซอฟต์พาวเวอร์ทั้งระดับประเทศและระดับโลก สำหรับเป้าหมายภายใน 1 ปี หรือวันที่ 3 ตุลาคม 2567 คือกระบวนการบ่มเพาะศักยภาพคน จะสามารถสร้างแรงงานทักษะสูงและแรงงานสร้างสรรค์ ได้จํานวนอย่างน้อย 1 ล้านคน และคาดว่าร่างพระราชบัญญัติ THACCA จะได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาต่อไป รวมถึงการส่งเสริมการจัดเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติและเทศกาลดนตรีนานาชาติ เพื่อสนับสนุนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในสาขาต่าง ๆ ให้ได้ไปร่วมงานในระดับโลก”
อ่านบทสรุปแผนนโยบายและทิศทางการดำเนินงาน รวมทั้งแผนงานจากอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา
นายชุมพล แจ้งไพร คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาอาหาร
นายพิมล ศรีวิกรม์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขากีฬา
นางชฎาทิพ จูตระกูล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาเฟสติวัล
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาท่องเที่ยว
นายวิเชียร ฤกษ์ไพศาล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาดนตรี
นายจรัญ หอมเทียนทอง คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาหนังสือ
หม่อมราชวงศ์เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาภาพยนตร์
นายสิทธิชัย เทพไพฑูรย์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาเกม
นายเสริมคุณ คุณาวงศ์ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาศิลปะ
นายดวงฤทธิ์ บุนนาค คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาออกแบบ
นางสาวกมลนาถ องค์วรรณดี คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ สาขาแฟชั่น
Posted in news on ต.ค. 03, 2023