BOOST/PLAY/MEASURE: Creative Tech for Fitness Experience

การออกกำลังกายที่ผสานเทคโนโลยีและเสริมสร้างความสนุกให้กับเกมกีฬาและการออกกำลังกาย กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก และมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้ร่วมกับ FabCafe Bangkok จัดทำโครงการส่งเสริมทรัพยากรบุคคลด้านการออกแบบเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมกีฬา (Design & Technology Program) เพื่อเร่งดำเนินการสร้างธุรกิจใหม่และห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) สำหรับขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย ผ่านการออกกำลังกายเสมือนจริง (Immersive Fitness) ภายใต้ชื่อโครงการ BOOST/PLAY/MEASURE การออกแบบเทคโนโลยีเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในการออกกำลังกาย ซึ่งจัดขึ้นระหว่างเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2566 

กระบวนการทำงานของโครงการนี้ เป็นการเฟ้นหากิจกรรมในชีวิตประจำวันที่ช่วยให้เราได้ขยับ และ BOOST ร่างกาย เชื่อมต่อกับความคิดสร้างสรรค์ เปลี่ยนการ BOOST ให้เป็นการ PLAY รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อช่วยเรื่อง MEASURE ประเมินผลการเล่น พร้อมสร้างแรงจูงใจให้ผู้คนทั้งสายแอ็กทีฟและผู้คนทั่วไปมองว่าการออกกำลังกายเป็นเรื่องสนุก และไม่หยุดที่จะออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างผลลัพธ์เปี่ยมประสิทธิภาพด้านสุขภาพและกีฬา

โครงการฯ เปิดรับผู้เข้าร่วมและจัด 3 กิจกรรม ดังนี้

1. กิจกรรมให้ความรู้ก่อนลงมือทำ 
24 มีนาคม 2566 

2. การออกแบบเชิงทดลอง (HACKATHON)
1 - 2 เมษายน 2566

3. กิจกรรมพัฒนาต้นแบบ VR Fitness ด้วย Immersive Technology 
เมษายน - พฤษภาคม 2566
 

รายละเอียดของไอเดีย แนวคิด การพัฒนา ตลอดจนการประเมินผลของทั้ง 4 โปรเจ็กต์ ประกอบด้วย 

01  Lakorn Chatri ผสานวัฒนธรรมกับการออกกำลังกาย

โปรเจ็กต์ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะพื้นบ้านอย่างละครชาตรีแบบดั้งเดิมในชุมชนนางเลิ้ง ที่ต้องการสืบทอดองค์ความรู้ จึงมองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการอนุรักษ์สินทรัพย์ทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) ของชุมชนที่นับวันจะค่อย ๆ สูญหายไป พร้อมกับครูกัญญา ทิพโยสถ ผู้เป็นครูนางรำอาวุโสคนสุดท้าย โดยได้เก็บภาพท่ารำต้นแบบและปรับท่วงท่าให้คล้ายการออกกำลังกายแบบยืดกล้ามเนื้อ (Stretching) ด้วยอุปกรณ์อย่าง VR Controller ตามจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อเลียนแบบการร่ายรำให้ถูกต้อง โดยใช้ถุงมือต้นแบบสีขาวที่ดูเป็นมิตรต่อผู้ใช้ เพิ่มลูกเล่นด้วยการเติมชายระบายเล็ก ๆ เพื่อให้เข้ากับท่วงท่า ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของเอก ทองประเสริฐ เจ้าของแบรนด์แฟชั่น Ek Thongprasert 

เมื่อนำต้นแบบมาทดลองประเมินความสามารถในการออกกำลังกาย ด้วยการใช้ท่าวิหคเหินที่วางแขน 7 ระดับ ทั้งหมด 4 รอบ นับเป็น 1 เซ็ต ใช้เวลา 2 นาที 20 วินาที ผู้ใช้จะต้องออกกำลังกายอย่างน้อย 4 เซ็ตต่อวัน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 9 นาที 20 วินาที จึงจะตอบโจทย์การออกกำลังกายตามคำแนะนำของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ 
Styly Link: https://bit.ly/3LC4aLu 

02  P.A.W. ขยับขาให้น่ารื่นรมย์

โปรเจ็กต์นี้เป็นการรวมไอเดียกันระหว่างการออกกำลังกายขาบนเตียงด้วยท่านอนแบบใหม่ ๆ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ต้องการออกกำลังกายเฉพาะส่วนขา และไอเดียการทำให้การกายภาพบำบัดผู้ป่วยหลังการผ่าตัดสนุกและน่าสนใจขึ้น จากนั้นเป็นกระบวนการคิดออกแบบ Controller และ VR Headset ให้ทำงานสอดประสานกัน ในระดับความยาวของขาที่ไม่เท่ากัน พร้อมพัฒนาเกมโดยสร้างคาแรกเตอร์ให้ผู้เล่นได้จำลองตัวเองเป็นแมว ที่มีพฤติกรรมชอบตะกุยสิ่งของอย่างไหมพรมหรือเส้นด้าย ยิ่งใช้เวลาตะกุย ไหมพรมก็จะเล็กลงจนกระทั่งจบเกม แถมยังสามารถนำแนวคิดนี้ไปผนวกกับความเป็น (แมว) ไทย เพื่อไปพัฒนารองเท้าให้มีหลายสี คล้ายคลึงกับสีของแมวอย่างวิเชียรมาศ สีสวาด หรือขาวมณี ก็ได้ 

สำหรับการประเมินการออกกำลังกาย หากอ้างอิงจากการปั่นจักรยานทั่วไปในเวลา 1 ชั่วโมง ที่ความเร็ว 8 ไมล์ต่อชั่วโมง จะสามารถเผาผลาญได้ 400 แคลอรี และปั่นขา 1 รอบจะได้ระยะทาง 4 เมตร ดังนั้น หากต้องการสร้างกลไกของเกม จะสามารถแบ่งช่วงการปั่นเป็น 24 รอบต่อ 30 วินาที นับเป็น 1 เซ็ต จึงจะเผาผลาญแคลอรีขั้นต่ำได้ 
Styly Link: https://bit.ly/3pdibYu

03  Pao Fire เป่าไฟร์ บริหารปอดให้สนุก

โปรเจ็กต์นี้เริ่มต้นจากไอเดียการพัฒนาการบริหารปอดให้สนุกสนานขึ้น โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักคือเด็กผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (ALS) ที่มีภารกิจการบริหารปอดเป็นประจำ กระบวนการพัฒนาในระยะแรกจึงดึงอุปกรณ์ในชีวิตประจำวันอย่าง “ที่เป่าแตรปาร์ตี้” มาเชื่อมต่อกับระบบ Distance Sensor เพื่อเก็บข้อมูล โดยพัฒนาชิ้นส่วนที่สามารถประกอบกับที่เป่าแตรปาร์ตี้ได้สะดวก ทำความสะอาดง่าย และสามารถเปลี่ยนใหม่ทดแทนได้ในราคาไม่แพง โดยสามารถเล่นเกมการบริหารปอดอย่างสนุกสนานได้เองที่บ้าน ร่วมกับเกมเป่าไฟใส่ไก่ที่วิ่งเข้ามาทุก 6 วินาที เพื่อกระตุ้นให้ผู้เล่นได้หายใจเข้าออกเป็นจังหวะ โดยจำกัดการเป่าที่ 100 ครั้งใน 10 นาที 
Styly Link: https://bit.ly/3AZMcgT 

04  Gyro Ball ต่อยอดการออกกำลังกายข้อให้น่าสนใจ    

จากจุดเริ่มต้นที่ชอบออกกำลังกายกล้ามเนื้อ รวมทั้งต้องการต่อยอดการเล่นเกมและการออกกำลังกายเข้าด้วยกัน ผู้เข้าร่วมโครงการจึงนำ Gyro Ball อุปกรณ์ที่เน้นออกกำลังเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของข้อและเอ็นข้อมือที่มีอยู่ในท้องตลาด มาพัฒนาประกอบกับการนำเกมตกปลาที่มีลักษณะแรงเหวี่ยงหรือแรงต้าน มาเพิ่มให้การออกกำลังกายนี้สนุกสนานยิ่งขึ้น 

งานวิจัยพบว่าควรเล่น Gyro Ball อย่างน้อย 3 นาทีต่อเนื่องกันทุกวัน เป็นเวลา 3 - 4 สัปดาห์ ซึ่งจะช่วยเพิ่ม Grip Strength หรือแรงบีบมือ ได้ถึง 15% ดังนั้นการเล่นเกมจับปลาด้วย Gyro Ball นี้ จะจำกัดกรอบเวลาที่ 3 นาที โดยผู้เล่นต้องจับปลาหรือดึงปลาเข้าฝั่ง 1 ตัว ให้ได้ภายในเวลา 30 วินาที ดังนั้นหากจับครบ 6 ตัว จะเท่ากับจบรอบการออกกำลังกายประจำวัน    
Styly Link: https://bit.ly/3VDc1Ni

ผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ในบทความประกอบโครงการ BOOST/PLAY/MEASURE ทาง 
www.creativethailand.org
BOOST/PLAY/MEASURE เมื่อกีฬาเป็นมากกว่ายาวิเศษ 
รู้จักเทคโนโลยี BIOSENSOR ที่เป็นมากกว่าเครื่องวัดสุขภาพ
เปิดตำราเวิร์กช็อป “ออกแบบให้ร่างกายดี” กับกิจกรรม BOOST/PLAY/MEASURE: Creative Tech for Fitness Experience
ออกกำลังให้สุด Fun เมื่อ “เทคโนโลยี” ผสานพลังกับ “ดีไซน์”
ปิดจบโปรเจ็กต์ BOOST/PLAY/MEASURE: Creative Tech for Fitness Experience กับ 4 ผลงานต้นแบบที่รอการพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์จริงในตลาด Health Tech
 

Project Update

01.05.2566

กิจกรรมพัฒนาต้นแบบ VR Fitness ด้วย Immersive Technology

เมษายน - พฤษภาคม 2566
เริ่มจากการทำความรู้จักและทดลองใช้เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT เชื่อมต่อกับ Alternative Controller ผ่านระบบเซนเซอร์ต่าง ๆ ที่ประกอบกับอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน หรือจะนำ Controller ไปใช้กับการเคลื่อนไหวอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อตอบวัตถุประสงค์ของแต่ละต้นแบบ เพราะทุกการเคลื่อนไหวคือการเผาผลาญแคลอรี การพัฒนาต้นแบบใช้อุปกรณ์สำเร็จรูปอย่าง M5Stack ที่สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นได้ง่าย และใช้ XR Technology จากประเทศญี่ปุ่นที่ชื่อว่า Styly เพื่อสร้าง VR และ AR ที่มีการทำงานไม่ยุ่งยาก 
 

01.04.2566

การออกแบบเชิงทดลอง (HACKATHON)

1 - 2 เมษายน 2566
การระดมสมองโดย Paul Yeh, Creative Technologist จากไต้หวัน โดยใช้โปรแกรม miro ที่สามารถระดมสมองกันแบบเรียลไทม์ โดยแบ่งการออกกำลังเป็น 5 ประเภท คือ Strength, Cardiovascular, Flexibility, Mind และ Functional & Sport Training แล้วจึงแชร์ไอเดียการออกแบบระหว่างผู้เข้าร่วม เพื่อสร้างสรรค์เรื่องราว คุณค่า และพัฒนาโมเดลธุรกิจนั้น ๆ สุดท้ายเป็นการนำเสนอไอเดียจากทั้งหมดกว่า 10 ไอเดีย ซึ่งมีการคัดเลือกให้เหลือ 4 ไอเดีย เพื่อนำไปต่อยอดและพัฒนาต้นแบบต่อไป ได้แก่ Lakorn Chatri, Pao Fire, P.A.W. และ GYRO

24.03.2566

กิจกรรมให้ความรู้ก่อนลงมือทำ

เริ่มด้วยการปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องไบโอเซนเซอร์ (Biosensor) หรือการตรวจวัดทางชีวภาพ โดย ผศ. ดร. จำรัส พร้อมมาศ ที่ปรึกษาคณบดี หัวหน้าสาขาวิจัยไบโอเซนเซอร์และระบบวิเคราะห์รวมระดับจุลภาค มหาวิทยาลัยมหิดล และการทำงานของ Physical Computing โดย TK GearWalker หรือ คุณธณพล กิจมุติ Creative Technologist วิศวกรคอมพิวเตอร์ นักวิจัย วิทยากรรับเชิญ และนักประดิษฐ์ จากสาขา Human-Computer Interaction, Robotic และ AI เพื่อให้ผู้เข้าร่วมโครงการฯ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้เข้ากับการออกแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ Asst. Prof. Kyle Li ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขา Design and Technology จาก Parsons School of Design, New York