UNFOLDING BANGKOK-Living Old Building
Living Old Building ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ 4 พื้นที่กรุงเทพฯ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จากมาตรการปิดประเทศและเมือง รวมทั้งข้อจำกัดในการเดินทางท่องเที่ยวของประเทศต่าง ๆ โดยหนึ่งในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบคือกรุงเทพฯ เมืองหลวงที่เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวอันดับต้น ๆ ของโลก หลังโควิด-19 คลี่คลาย กรุงเทพฯ จึงพร้อมกลับมาเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน 2565 เป็นต้นไป พร้อมมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของมหานครเปี่ยมเสน่ห์ที่คุณอาจยังไม่เคยสัมผัสมาก่อน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกรุงเทพมหานคร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) จัดกิจกรรมนำร่องในกรุงเทพฯ ภายใต้โครงการ “UNFOLDING BANGKOK เปิดประสบการณ์ใหม่กรุงเทพมหานคร” ใน 3 ธีมหลัก ได้แก่ Hidden Temple ท่องวัดลับ I Living Old Building ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ I Greeting Benjakitti เที่ยวสวนป่ากลางเมือง
งาน UNFOLDING BANGKOK จะจัดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2565 - กันยายน 2566 พร้อมเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวในพิกัดต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอประเทศไทยและวัฒนธรรมไทยในมิติที่น่าสนใจและร่วมสมัย อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านการจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่าง ๆ ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยวกรุงเทพฯ ให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ
LIVING OLD BUILDING
ย้อนรอยอาคารประวัติศาสตร์ 4 พื้นที่กรุงเทพฯ
4 กุมภาพันธ์ - 2 เมษายน 2566
ค้นพบเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์ที่ข้ามผ่านกาลเวลา ย้อนการเกิดขึ้นของอาคารและพื้นที่โดยรอบ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ในย่านเก่าให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ คืนความมีชีวิตให้กับอาคารเก่าอันทรงคุณค่า ผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์ที่ออกแบบมาให้สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมของอาคาร ทั้งศิลปะจัดวาง นิทรรศการ ทัวร์แบบเจาะลึกในพื้นที่
1. การประปาแม้นศรี
4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566
แยก “แม้นศรี” มาจากชื่อของ หม่อมแม้น ผู้เป็นหม่อมห้ามในสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช (หม่อมห้าม หมายถึง สตรีสามัญที่เป็นภรรยาของเจ้านาย) ที่ท่านทรงโปรดอย่างมาก เมื่อหม่อมแม้นถึงแก่อนิจกรรม ได้มีการจัดพิธีอย่างยิ่งใหญ่ และสร้างสะพานข้ามคลองด้านถนนบำรุงเมืองขึ้นใหม่เพื่อให้ขบวนพิธีผ่านได้ สะพานนั้นจึงได้ชื่อว่าแม้นศรี และกลายเป็นสี่แยกแม้นศรีมาจนถึงปัจจุบัน
‘ประปา’ แห่งแรกของสยาม
การประปาสยามจัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2452 และเปิดกิจการในปี พ.ศ.2457 จากที่สมัยก่อนชาวพระนคร (สยาม) ต้องดื่มน้ำจากแม่น้ำลำคลอง ซึ่งต้นน้ำมาจากจังหวัดเพชรบุรี ที่ขนถ่ายมาเก็บสำรองไว้ในโอ่ง เมื่อรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จประพาสยุโรป ทรงเห็นว่ากรุงเทพฯ ควรมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและใช้อย่างถูกสุขลักษณะ จึงโปรดให้นายเดอลาม โฮเตียร์ ช่างผู้ชำนาญการประปาจากฝรั่งเศส มาวางแผนการประปาของกรุงเทพฯ และเปิดกิจการในปี พ.ศ. 2457 โดยเริ่มจากการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาสู่คลองขุด ตั้งแต่จังหวัดปทุมธานี ผ่านคลองบางหลวงเชียงราก คลองรังสิต คลองบางเขน คลองเปรมประชากร และคลองสามเสน และนำน้ำมากักเก็บไว้และผ่านกรรมวิธีตามแบบยุโรปเพื่อให้ได้น้ำปราศจากเชื้อโรคที่โรงกรองน้ำสามเสน จากนั้นนำน้ำมาพักเก็บไว้ที่ถังประปาตำบลแม้นศรี เพื่อแจกจ่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปใช้อุปโภคบริโภคทั่วกรุงเทพฯ
คืนความมีชีวิตให้กับ ‘ประปา’ ด้วยงานดีไซน์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับ Urban Ally จัดกิจกรรมชุบชีวิตการประปาเก่า โดยจัดแสดงการออกแบบแสงสว่างทางสถาปัตยกรรม ในชื่อ 32°F โดย FOS Design Studio อันเป็นการออกแบบแสงสว่างจากจุดเยือกแข็งของน้ำอยู่ที่ 32 องศาฟาเรนไฮต์ (°F) ที่สะท้อนแนวคิดการกระเพื่อมของน้ำและสภาวะโลกร้อน ณ ประปาแม้นศรี ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (ฺBangkok Design Week 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.00 - 21.00 น.
ข้อมูลเพิ่มเติม
www.urbanally.org
2. หอประติมากรรมต้นแบบ
4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566
ค้นพบเสน่ห์ของอาคารประวัติศาสตร์ที่ข้ามผ่านกาลเวลา ผ่านกิจกรรมงานออกแบบแสงสีเชิงสถาปัตยกรรม เพื่อเล่าประวัติศาสตร์ของงานต้นแบบอนุสาวรีย์ชิ้นสำคัญในประเทศไทย ภายในพื้นที่หอประติมากรรมต้นแบบ กรมศิลปากร ซึ่งเป็นพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงประติมากรรมรูปต้นแบบผลงานของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี และลูกศิษย์ ในชื่อ 1985°F ออกแบบโดย FOS Design Studio ภายใต้เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2566 (ฺBangkok Design Week 2023) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 18.00 - 21.00 น.
“หอประติมากรรมต้นแบบ” โรงปั้นสอนงานและทำงานประติมากรรมแบบตะวันตกแห่งแรกในสยาม เป็นสถานที่ปั้นงานต้นแบบอนุสาวรีย์ชิ้นสำคัญในประเทศไทย ซึ่งผลงานหลายชิ้นเกิดจากฝีมือการปั้นหล่อและออกแบบของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี เช่น พระบรมราชานุสาวรีย์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ดอนเจดีย์ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งทั้งหมดล้วนมีจุดกำเนิดที่โรงประติมากรรมแห่งนี้ทั้งสิ้น
ไฮไลต์ที่หอประติมากรรมต้นแบบไม่ได้มีเพียงต้นแบบงานสร้างอนุสาวรีย์ชิ้นใหญ่ แต่ยังรวมถึงต้นแบบอนุสาวรีย์ชิ้นอื่น ๆ รวมทั้งงานปั้นหุ่นต้นแบบพระรูปของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ผู้ได้รับเชิดชูว่าเป็นนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม ซึ่งผลงานชิ้นนี้ถือเป็นงานแรกของอาจารย์ศิลป์ และเป็นงานทดสอบฝีมือเพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่เหล่าข้าราชการไทย
ข้อมูลบางส่วนจาก
www.facebook.com
ข้อมูลเพิ่มเติม
www.urbanally.org
www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2023/program/51939
www.facebook.com
3. สถานีรถไฟหัวลำโพง
18 - 26 มีนาคม 2566
เฉลิมฉลองครบรอบ 126 ปีการรถไฟแห่งประเทศไทยในวันที่ 26 มีนาคม 2566 ไปพร้อมกับการเปิดมุมมองใหม่ที่เปี่ยมเสน่ห์ของสถานีรถไฟหัวลำโพง พื้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพงสุดคลาสสิกแห่งนี้เคยเป็นชุมทางของการเดินทางจากผู้คนทั่วประเทศมายังกรุงเทพมหานคร ที่แม้ปัจจุบันจะลดความคับคั่งลงเหลือเพียงการเดินรถไฟไม่กี่สาย แต่สถานีรถไฟหัวลำโพงยังคงมีความสำคัญในฐานะอาคารทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งด้านสถาปัตยกรรม และความทันสมัยด้านระบบคมนาคมของประเทศไทย
บทบาทที่เปลี่ยนไปของสถานีรถไฟหัวลำโพง จึงเป็นโอกาสในการทดลองปรับพื้นที่ของสถานีรถไฟให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับการส่งเสริมสถาปัตยกรรม การเรียนรู้และสันทนาการของผู้คน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงได้ร่วมกับ Lighting Designers Thailand ที่มาร่วมออกแบบแสงไฟ (Lighting Installation) เพื่อช่วยสร้างเรื่องราวและขับเน้นความงดงามของสถาปัตยกรรม พร้อมกับจัดการแสดงดนตรีที่ได้รับการคัดสรรมาให้สอดคล้องกับการที่สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นชุมทางของคนเดินทาง
สามกิจกรรมหลัก “Living Old Building” สถานีรถไฟหัวลำโพง
1. THE WALL 2023
โดย Lighting Designers Thailand และ DecideKit
การจัดแสดงไฟ (Lighting Installation) แบ่งออกเป็น 3 พื้นที่ โดยมีช่วงเวลาการจัดแสดงตั้งแต่ 19.00 - 22.00 น. ดังนี้
- 1st Scene: The Door
กระจกทรงโค้ง ณ บริเวณประตูทางเข้าสถานีรถไฟที่เป็นแลนด์มาร์กของสถานีเมื่อถูกมองจากด้านนอก ถูกนำมาใช้เป็นฉากเริ่มต้นในการเดินทางเพื่อเข้าสู่พื้นที่ภายใน ภายใต้ธีม The Door อันสะท้อนจินตนาการของผู้คนสู่ก้าวย่างใหม่ของการเดินทางที่กำลังจะเกิดขึ้น
- 2nd Scene: The People
ภายในโถงอาคารของสถานีรถไฟในส่วนที่พักคอยของผู้โดยสารที่เรียบง่าย ได้รับการออกแบบแสงให้เป็นพื้นที่สำคัญ ให้ “ผู้คน” ที่มานั่งเล่นได้เห็นเสน่ห์ของสถานีรถไฟหัวลำโพงในมุมมองใหม่ พร้อม ๆ กับรับชมการแสดงดนตรี และชื่นชมความงามของอาคารประวัติศาสตร์แห่งนี้
- 3rd Scene: The Emotion
บริเวณชานชาลา พื้นที่แห่งการพบปะและจากลา เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่แสงไฟจะช่วยสร้างอารมณ์ร่วมในการพบและจากลาของผู้คนในอดีต ที่เคยโดยสารรถไฟหัวรถจักรไอน้ำที่ผ่านกาลเวลามาตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
2. ดนตรี ความบันเทิงของคนเดินทาง
เพลงลูกทุ่ง ลูกกรุง หมอลำ ร็อก ฮิปฮอป และแจ๊ส ล้วนเป็นเพื่อนเดินทางของผู้คน รายชื่อของวงดนตรีที่มาจัดแสดงจึงอยู่บนแนวคิดของความหลากหลาย สอดคล้องกับความเป็นสถานีหัวลำโพง โดยจะจัดแสดงระหว่างวันที่ 18 - 19 มีนาคม และ 24 - 26 มีนาคม เวลา 16.00 - 22.00 น.
Date | On Stage | Duration (hrs.) | Band |
Sat 18 Mar |
17.00 - 18.00 19.00 - 20.10 20.20 - 20.40 21.00 - 22.00 |
1.00 1.10 0.20 1.00 |
ศิลปินพื้นบ้านล่องน่านร่วมสมัย I Contemporary Folk Artist Long Nan Makaohang: หมาเก้าหาง Flower.far ทรงคือ RIDDIM I Songkhue RIDDIM |
Sun 19 Mar |
17.00 - 18.00 18.00 - 19.45 20.00 - 21.00 |
1.00 1.45 1.00 |
Pro Musica สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา I Princess Galyani Vadhana Institute of Music Foxy |
Fri 24 Mar |
18.00 - 19.00 19.00 - 21.00 21.00 - 22.00 |
1.00 2.00 1.00 |
Duriyasith Srabua & Friends วงสุนทราภรณ์ I Suntaraporn Southern Boys |
Sat 25 Mar |
18.00 - 19.00 19.00 - 20.00 20.00 - 22.00 |
1.00 1.00 2.00 |
รองแง็งสวนกวี I Ronggeng Suan Kawee E-san Fusion “Swing Dance at Hua Lamphong Railway Station” by The Stumbling Swingout & Jelly Roll Dance Club |
Sun 26 Mar |
16.00 - 18.00 18.00 - 19.00 19.00 - 20.00 20.00 - 21.00 |
2.00 1.00 1.00 1.00 |
บางกอกระบำสุ่ม: Bangkok Random Dance วงสะบัด (โครงการพัฒนาเพลงลูกทุ่ง) I Sabad (Luk Thung Music Development Project) Dr. Pathorn's Kitasewi HED |
3. Special Activities
กิจกรรมพิเศษอื่น ๆ มากมายให้คุณได้สัมผัส ไม่ว่าจะเป็นการจัดแสดงขบวนรถไฟพิเศษ การจัดแสดงโมเดลรถไฟจำลอง ทัวร์เพื่อทำความรู้จักหัวลำโพงมุมใหม่ ไปจนถึงลิ้มชิมรสเมนูอาหารสุดพิเศษจากชุมทางต่าง ๆ และป๊อปอัปคาเฟ่
ข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook: Creative Economy Agency
4. วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์
25 มีนาคม - 2 เมษายน 2566
ทางเข้าที่เป็นตรอกแคบในซอยสำราญราษฎร์ เป็นที่ตั้งของ “วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์" ซึ่งเป็นวังเดิมของพระองค์เจ้าสวัสดิประวัติ พระโอรสในรัชกาลที่ 4 และเป็นราชเลขาส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต้นราชสกุล "สวัสดิกุล ณ อยุธยา" ตั้งอยู่ในชุมชนวังกรมพระสมมตอมรพันธุ์ สภาพภายนอกของวังยังสวยงามและไม่ได้เปิดใช้งาน ทว่าชุมชนรอบวังยังคงดำเนินชีวิตตามปกติ โดยส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพเย็บผ้าเหลืองเป็นจีวรและสบง รวมทั้งจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ ตาลปัตรใบลาน
สถานที่ตั้งที่ค่อนข้างลับตาทำให้ “วังกรมพระสมมตอมรพันธุ์" เป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่ถูกซุกซ่อน ดังนั้น จึงเป็นโอกาสอันดีที่ Urban Ally และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้นำพื้นที่แห่งนี้มาเปิดให้ได้ชมความงามและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และชุมชนโดยรอบ ที่เคยเป็นแหล่งผลิตเครื่องสังฆภัณฑ์ใหญ่ของกรุงเทพฯ ก่อนที่จะย้ายออกมาบริเวณเสาชิงช้า
ข้อมูลเพิ่มเติม
Facebook: Creative Economy Agency / Urban Ally
เกี่ยวกับ UNFOLDING BANGKOK