Creative Excellence Awards 2024
การประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567
(Creative Excellence Awards 2024)
กลับมาอีกครั้งกับการประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 (Creative Excellence Awards 2024 หรือ CE Awards 2024) จัดโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีภารกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขา ประกอบด้วย 1) งานฝีมือและหัตถกรรม 2) ดนตรี 3) ศิลปะการแสดง 4) ทัศนศิลป์ 5) ภาพยนตร์ 6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง 7) การพิมพ์ 8) ซอฟต์แวร์ 9) การโฆษณา 10) การออกแบบ 11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม 12) แฟชั่น 13) อาหารไทย 14) การแพทย์แผนไทย 15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทย
CEA เล็งเห็นความสำคัญของการประยุกต์ใช้ “ความคิดสร้างสรรค์” ของทั้งนักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ ธุรกิจ ชุมชน หน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ ในการออกแบบและสร้างสรรค์สินค้า บริการ กิจกรรม หรือโครงการ ที่สร้างคุณค่า (Value Creation) และก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวก (Impact) ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม สู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนอย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงจัดการประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 เพื่อเชิดชูและส่งเสริมบุคคลหรือองค์กรดังกล่าว โดยงานจัดขึ้นในวันอังคารที่ 29 ตุลาคม 2567 เวลา 17.30 - 21.00 น. ณ โรงแรมคาเพลลา กรุงเทพฯ
Creative Excellence Awards 2024 มีการมอบรางวัลทั้งหมด 3 หมวด จำนวน 15 รางวัล โดยมีผลงานที่รับรางวัล 18 ผลงาน ประกอบด้วย
หมวดที่ 1 Creative City Awards
รางวัลเมืองสร้างสรรค์ เพื่อเชิดชูการพัฒนา ฟื้นฟู อนุรักษ์พื้นที่ และการจัดกิจกรรมที่มีการนำสินทรัพย์ และอัตลักษณ์ เช่น ประเพณี วัฒนธรรม อาหาร สถาปัตยกรรม มาร้อยเรียงเรื่องราวร่วมกับการนำเสนอภายในพื้นที่ ผสานกับการใช้กระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงานในพื้นที่อย่างยั่งยืน แบ่งเป็น 5 รางวัล ทั้งหมด 6 ผลงาน
1.1 Creative Festival Award
รางวัลสำหรับกิจกรรมหรืองานเทศกาลสร้างสรรค์ที่มีการนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี และอาหารภายในพื้นที่มาประยุกต์ใช้ เพื่อหวังผลกระทบเชิงบวกต่อย่าน ชุมชน หรือพื้นที่นั้น ๆ มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: การท่องเที่ยวเมืองเก่าอันดามัน มาเเต่ตรัง (Trang Renown)
เจ้าของผลงาน: สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรัง ร่วมกับจังหวัดตรังและเทศบาลนครตรัง และกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน
นักสร้างสรรค์: สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดตรังและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน, บริษัท ดี ซิกซ์ตี้ ทรี จำกัด, ศูนย์มิตรเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, กลุ่ม Urban Seeker, กลุ่ม Backyard Trang Cinematic, กลุ่มหัวบอน, บริษัท ดีไซนด์ คิท จำกัด, บริษัท ฟูมสตูดิโอ, บริษัท ไลท์ อิส สตูดิโอ จำกัด และ กุลกานต์ คุรุรัตน์, บริษัท แปลน ครีเอชั่นส์ จำกัด, Hop Production และ ปกรณ์กานต์ ทยานศิลป์
รายละเอียดผลงาน: เทศกาลท่องเที่ยวสร้างสรรค์ของคนตรัง ที่ปลุกพื้นที่ใจกลางย่านเมืองเก่า ‘ทับเที่ยง’ ของจังหวัดตรังให้กลับมามีสีสันและชีวิตชีวาอีกครั้ง ด้วยการนำเสนอสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม อาหาร สถาปัตยกรรมเก่าแก่อันทรงคุณค่า และหัวใจที่สำคัญที่สุดคือผู้คนในพื้นที่ที่มาร่วมเปลี่ยนเมืองตรังให้ดียิ่งกว่าเดิม เทศกาลฯ จัดขึ้นในปี 2566 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ทั้งการจัดแสดงแสงสีในพื้นที่คริสตจักรตรัง นิทรรศการภาพถ่ายโรงหนังแบบสแตนด์อะโลนด้วยการจัดแสดงรูปแบบร่วมสมัยภายในอาคารสถาปัตยกรรมโรงหนังเก่าและศิลปะจัดวาง (Exhibition & Art Installation) พื้นที่เรียนรู้ทดลองสร้างสรรค์ (Creative Space) พื้นที่พักผ่อนแห่งใหม่ (Pocket Park) ตลาดอาหารสร้างสรรค์และผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Creative Market) รวมถึงกิจกรรมพาชมย่านเมืองเก่า (Old Town Tour)
1.2 Creative Branding Award
รางวัลสำหรับพื้นที่หรือเมืองที่มีการนำอัตลักษณ์มาสร้างความโดดเด่น และมีจุดยืน (Positioning) อย่างชัดเจน ทำให้พื้นที่นั้น ๆ เกิดภาพจำและเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีผลงานที่รับรางวัล 2 ผลงาน
ผลงาน: กิจกรรม “คน ครั่ง คราฟต์” มหกรรมผ้าย้อมสีครั่งลำปาง ครั่งเฟส #1 (“People, Lac, Craft" Activity, Lampang Lac Dyeing Festival Phase 1)
เจ้าของผลงาน: มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาลำปาง
นักสร้างสรรค์: ดร. ขวัญนภา สุขคร
รายละเอียดผลงาน: กิจกรรมที่ส่งเสริมอาชีพให้แก่กลุ่มทอผ้าย้อมสีธรรมชาติจากทั้ง 13 อำเภอของจังหวัดลำปาง เพื่อสร้างอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมใหม่ให้ลำปางเป็น “เมืองหลวงแห่งผ้าครั่ง” พร้อมขับเคลื่อนลำปางให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ (Lampang Learning City) รวมถึงการยกระดับและต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ ลำปางเป็นเมืองที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่หากพูดถึงความโดดเด่นเกี่ยวกับผ้าพื้นเมือง อาจต้องใช้เวลาคิดว่าอะไรคืออัตลักษณ์ของผ้าของลำปาง ดังนั้นชาวลำปางจึงต้องร่วมกันกำหนดภาพอนาคตแห่งผืนผ้า ด้วยการผลักดัน “ผ้าย้อมสีครั่ง” ให้เป็นสีอัตลักษณ์ของลำปาง
ผลงาน: ชุดรูปแบบอัตลักษณ์กรุงเทพมหานคร (Corporate Identity of BANGKOK)
เจ้าของผลงาน: กรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA)
นักสร้างสรรค์: บริษัท ฟาร์มกรุ๊ป จำกัด
รายละเอียดผลงาน: การสร้างป้าย “Bangkok” รูปแบบใหม่บนสกายวอล์กแยกปทุมวัน เพื่อทดแทนป้ายเก่าที่ข้อความเลือนรางและไม่ชัดเจน โดยกรุงเทพมหานคร (Bangkok Metropolitan Administration: BMA) มุ่งหวังที่จะสร้างจุดเช็กอินใหม่ที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงและการนำเสนออัตลักษณ์ใหม่ของกรุงเทพมหานคร การออกแบบป้ายนี้ได้แรงบันดาลใจจากตราสัญลักษณ์ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของเมือง ทั้งทางด้านวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และบรรยากาศที่มีชีวิตชีวา โดยเน้นย้ำถึงความทันสมัยและการใช้สีสันที่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวและการค้า
1.3 Creative Cultural Asset Award
รางวัลสำหรับพื้นที่หรือเมืองที่มีการส่งเสริม อนุรักษ์ และนำสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมในพื้นที่นั้น ๆ มาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ในพื้นที่อย่างลงตัว มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: ไทยฟิต : การออกกำลังกายโดยใช้รำไทย (Thai Fit : Thai Dancercise)
เจ้าของผลงาน: ไทยฟิต สตูดิโอ
นักสร้างสรรค์: ขจิตธรรม พาทยกุล (ครูดิว), มาดาพร น้อยนิตย์ (ครูเฟี๊ยว)
รายละเอียดผลงาน: รูปแบบการออกกำลังกายที่ผสมผสานเอกลักษณ์ท่วงท่าการร่ายรำแบบไทยและจริตนาฏศิลป์เข้ากับการออกกำลังกายอย่างสร้างสรรค์และร่วมสมัย และยังกระตุ้นการรวมกลุ่มทางสังคม สร้างเสริมสุขภาพทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และจิตวิญญาณ ทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทยไปพร้อม ๆ กัน การออกกำลังกายรูปแบบนี้ยังช่วยแก้ปัญหาด้านระยะห่างระหว่างคนรุ่นใหม่กับศิลปวัฒนธรรมที่มีมากขึ้นในปัจจุบัน จึงนับเป็นการต่อยอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมที่มีอยู่เดิมไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ทั้งยังช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงนาฏศิลป์ไทยได้ง่ายขึ้น และไม่รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวหรือจับต้องไม่ได้
1.4 Creative Regeneration Award
รางวัลสำหรับกิจกรรมหรือโครงการที่มีความโดดเด่นในการพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่ ให้กลับมามีชีวิตชีวา สร้างบรรยากาศใหม่ และส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: กลับมาเยี่ยมกิมหยงอีกครั้ง (Revisiting Kimyong)
เจ้าของผลงาน: บริษัท เดอะ ซิตี้ คอนเน็กซ์ จำกัด
นักสร้างสรรค์: บริษัท เดอะ ซิตี้ คอนเน็กซ์ จำกัด
รายละเอียดผลงาน: นิทรรศการภายใต้เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566 (Pakk Taii Design Week 2023) ที่เชิญชวนทุกคนกลับมาตลาดกิมหยง อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อีกครั้ง โดยนำเสนอเรื่องราวของตลาดกิมหยงผ่านสามยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ตั้งแต่ยุคโรงหนังสู่ยุคการค้าที่รุ่งเรือง จนถึงยุคโรยราจากการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค อีกทั้งยังมีสถานการณ์โรคระบาด รวมถึงบรรยากาศของตลาดที่อาจไม่ตอบโจทย์ค่านิยมความสวยงามในยุคปัจจุบัน
นิทรรศการจัดแสดงงานในรูปแบบการทดลองเชิงพื้นที่สร้างสรรค์ในตลาดกิมหยง (Regenerative Experimental Space) รวมถึงบริเวณโดยรอบ เพื่อค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ และเพิ่มโอกาสในการนำเสนอศักยภาพของพื้นที่และผู้ประกอบการ โดยมุ่งเป้าให้ตลาดกิมหยงกลับมาเป็นแลนด์มาร์กทางการค้าของภาคใต้ และเป็นพื้นที่ที่เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ “ยุคสมัยแห่งการผลิบานในฉากทัศน์ใหม่”
1.5 Creative Tourism Award
รางวัลสำหรับธุรกิจและบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีการนำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ มาประยุกต์ใช้ ผ่านการสร้างประสบการณ์อันมีเอกลักษณ์ สามารถเชื่อมโยงผู้คนกับศิลปะ วัฒนธรรม หรือคุณลักษณะพิเศษของพื้นที่นั้น ๆ ได้อย่างลงตัว มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: โกโกบัส! (Go Go Bus!)
เจ้าของผลงาน: เมล์เดย์
นักสร้างสรรค์: เมล์เดย์
รายละเอียดผลงาน: Go Go Bus! เป็นระบบการขนส่งสาธารณะระดับย่านต้นแบบที่ได้รับการออกแบบให้มีขนาดเหมาะสมกับพื้นที่และใช้พลังงานสะอาด ช่วยให้การเดินทางไปยังแต่ละย่านสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น ทั้งยังแสดงให้เห็นว่าระบบขนส่งรอง (Feeder) ก็สามารถมีระบบการให้บริการข้อมูลที่ดีพร้อมกับตัวรถ และเป็นตัวอย่างให้ขนส่งสาธารณะระดับย่านอื่น ๆ สามารถนำไปเป็นต้นแบบเพื่อพัฒนาและต่อยอดระบบของตนเองได้ Go Go Bus! ยังส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดในเขตพื้นที่เมืองอนุรักษ์ ซึ่งช่วยรักษาบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่ดีภายในเมืองได้อีกทางหนึ่ง
หมวดที่ 2 Creative Business Awards (จำนวน 5 รางวัล)
รางวัลธุรกิจสร้างสรรค์ ที่ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่มีการออกแบบและกระบวนการผลิต ซึ่งเน้นความยั่งยืน คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างคุณค่าเพิ่มในเชิงธุรกิจ ผ่านผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือโครงการ แบ่งเป็น 5 รางวัล ทั้งหมด 7 ผลงาน
2.1 Creative Sustainability Award
รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือโครงการ ที่โดดเด่นด้านการออกแบบหรือกระบวนการผลิต โดยประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ร่วมกับการออกแบบ มุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจที่มีการจัดการทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืน พร้อมลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานที่ได้รับรางวัล 2 ผลงาน
ผลงาน: นวัตกรรมการคืนสภาพโปรตีนจากไข่ขาวเค็มเหลวสู่อาหารมูลค่าสูง (Innovative Protein Recovering from Salted Egg White to High Value Food)
เจ้าของผลงาน: มหาวิทยาลัยนเรศวร และ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักสร้างสรรค์: รศ.ดร. สุดารัตน์ เจียมยั่งยืน, ผศ.ดร. เสาวลักษณ์ รุ่งแจ้ง และ ผศ.ดร. สนธยา นุ่มท้วม
รายละเอียดผลงาน: นวัตกรรมอาหารโปรตีนสูงจากไข่ขาว ที่ใช้กระบวนการพิเศษในการดึงเกลือออกและคืนสภาพให้โปรตีนจากไข่ขาวเค็ม ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีโปรตีนไข่ขาวเข้มข้นขึ้นสูงกว่าไข่ขาวปกติถึง 30% ทั้งนี้เนื้อผลิตภัณฑ์ยังมีเอกลักษณ์ต่างจากผลิตภัณฑ์ไข่ขาวอื่น ๆ ในท้องตลาด โดยเป็นอาหารสุขภาพโปรตีนไข่ขาวสูง 13% ไม่มีไขมันและคลอเรสเตอรอล ปราศจากสารกันเสียและสารปรุงแต่งอาหาร สามารถบริโภคได้ในรูปแบบพร้อมรับประทานหรือเป็นอาหารว่าง หรือใช้ประกอบการทำอาหารเมนูต่าง ๆ นวัตกรรมนี้จึงเป็นประโยชน์ต่อสายรักสุขภาพที่ต้องการโปรตีนสูง ผู้ที่เลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนัก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ต้องบริโภคไข่ขาวในปริมาณมาก เช่น นักกีฬา ผู้ป่วย รวมถึงผู้บริโภคกลุ่มมังสวิรัติและมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น ที่ต้องการลดหรือเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์
ผลงาน: นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก (Niran Eco-Friendly Wreath)
เจ้าของผลงาน: บริษัท บุญเจริญการทอ จำกัด
นักสร้างสรรค์: อรนภัส บุญอนันตพัฒน์
รายละเอียดผลงาน: ปัจจุบันพวงหรีดดอกไม้สร้างขยะหลังเสร็จพิธีงานศพเป็นจำนวนมากและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ การสังเกตและตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวนำมาสู่การสร้างสรรค์ “นิรันดร์ พวงหรีดรักษ์โลก” เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขยะและสร้างทางเลือกการใช้งานใหม่ ๆ ให้กับพวงหรีด โดยหลังจบงานพวงหรีดนี้สามารถแยกองค์ประกอบและนำไปบริจาคเป็นผ้าห่อศพหรือชุดนักเรียนได้ นอกจากนี้กระบวนการทำพวงหรีดยังสร้างรายได้และเพิ่มทักษะให้แก่คนพิการในพื้นที่ของพระประแดง อีกทั้งรายได้ส่วนหนึ่งยังนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคมอีกด้วย
2.2 Creative Transformation Award
รางวัลสำหรับธุรกิจที่โดดเด่นด้านการพัฒนาและยกระดับศักยภาพ ด้วยการประยุกต์ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในด้านต่าง ๆ จนสร้างสรรค์สินค้าหรือบริการที่โดดเด่น เป็นที่จับตามอง มีความสามารถทางการแข่งขันในตลาด และส่งผลกระทบเชิงบวกในวงกว้าง มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: นมถั่วลายเสือ (White Tiger Peanuts Milk)
เจ้าของผลงาน: บริษัท ไวท์ ไทเกอร์ คิง จำกัด
นักสร้างสรรค์: ฐานันต์ แก้วดิษฐ์
รายละเอียดผลงาน: นมทางเลือกที่สกัดจากถั่วลายเสือ GI จากแม่ฮ่องสอน เป็นสินค้าแปรรูปที่พร้อมส่งมอบความอร่อยและสุขภาพที่ดีให้แก่ผู้บริโภคทุกคน ส่วนผสมหลักของผลิตภัณฑ์คือถั่วลายเสือที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GI เครี่องดื่มทางเลือกจากพืชที่เหมาะกับเด็กหรือผู้แพ้โปรตีนจากนมวัวและถั่วเหลือง นอกจากนี้กระบวนการผลิตยังลดการเผาซากข้าวโพดที่ก่อให้เกิดมลพิษ นอกจากนี้ยังนําเปลือกถั่วมาแปรรูปเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าเกษตร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่วัตถุดิบเหลือทิ้งและสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนเกษตรกรจังหวัดแม่ฮ่องสอนอีกด้วย
2.3 Creative Social Responsibility Award
รางวัลสำหรับหน่วยงานหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ที่มีแนวคิดในการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยโดดเด่นด้านการออกแบบกิจกรรมอย่างสร้างสรรค์เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและชุมชน มีผลงานที่ได้รับรางวัล 2 ผลงาน
ผลงาน: อาฟเตอร์คลาส มันนี่ บอร์ด เกม ยูส ทัวร์นาเม้นต์ 2024 (AFTERKLASS Money Board Game Youth Tournament 2024)
เจ้าของผลงาน: โครงการ AFTERKLASS โดย ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
นักสร้างสรรค์: บริษัท เพลย์ ดิจิตอล จำกัด
รายละเอียดผลงาน: โครงการ AFTERKLASS Money Board Game Youth Tournament 2024 เป็นโครงการแรกที่มุ่งเป้าให้ความรู้และทักษะทางการเงินแก่กลุ่มคนเจนซี (Gen Z) วัยแห่งการเริ่มต้นใช้จ่าย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินที่แข็งแรงให้กับคนเจนซี นำไปสู่ความมั่นคงและมั่งคั่งของประเทศในอนาคต โครงการนี้ยังคาดหวังให้กลุ่มคนเจนซีส่งต่อความรู้สู่คนเจนอื่น ๆ ในครอบครัวและผู้คนรอบข้าง ท่ามกลางสถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางสังคมในปัจจุบันที่เต็มไปด้วยมิจฉาชีพ และมีความเสี่ยงด้านการลงทุนที่ผิดพลาดมากขึ้น
ผลงาน: From Kitchen To Chicken And Beyond
เจ้าของผลงาน: โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ
นักสร้างสรรค์: โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ
รายละเอียดผลงาน: ด้วยเล็งเห็นว่าธุรกิจโรงแรมมีส่วนสำคัญในการผลิตขยะออกสู่ชุมชน ส่งผลให้กรุงเทพมหานครต้องใช้งบประมาณสูงถึง 12-13% ของงบประมาณในการจัดการขยะ โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ จึงร่วมกับ แทนคุณออแกนิคฟาร์ม สร้างโมเดล From Kitchen To Chicken And Beyond ขึ้น โดยการใช้หนอนแมลงวันลายในการกำจัดขยะอาหารแบบวันต่อวัน ซึ่งทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์น้อยกว่าการนำขยะอาหารไปหมักเป็นปุ๋ย และส่งต่อหนอนแมลงวันลายไปเป็นอาหารให้กับไก่ออร์แกนิกที่แทนคุณออแกนิคฟาร์ม และนำปุ๋ยมูลหนอนที่ได้จากการเลี้ยงหนอนไปปลูกต้นไม้กินได้เพื่อนำมาปรุงอาหารภายในโรงแรมต่อไป ทั้งหมดนี้ส่งผลให้โรงแรมศิวาเทล กรุงเทพ สามารถบรรลุเป้าหมายการเป็น Zero Food Waste To Landfill Hotel หรือโรงแรมที่มีแนวทางและนโยบายในการลดปริมาณขยะอาหารที่ถูกทิ้งลงหลุมฝังกลบ ในปี 2566
2.4 Creative Collaboration Award
รางวัลสำหรับบุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน จากอุตสาหกรรมที่แตกต่างกัน ที่มาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน กิจกรรม หรือโครงการ เพื่อแบ่งปันความรู้และวิธีการ นำไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: 'ฮ่า' สิบปี ขายหัวเราะ (ขายหัวเราะ 50th HAPPYversary)
เจ้าของผลงาน: ขายหัวเราะ (บันลือ พับลิเคชั่นส์)
นักสร้างสรรค์: ขายหัวเราะ (บันลือ พับลิเคชั่นส์)
รายละเอียดผลงาน: การผลักดันให้ “ขายหัวเราะ” ในฐานะแพลตฟอร์มสร้างอารมณ์ขัน (Humor Agency) ได้ออกไปพบปะและทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมายใหม่ ๆ เพื่อเฉลิมฉลอง “ฮ่าสิบปีขายหัวเราะ” คือจุดเริ่มต้นในการเดินทางส่งต่ออารมณ์ขันและเสียงหัวเราะแบบไทย ๆ ที่หลายคนคุ้นเคย ไปสู่จักรวาลใหม่ ๆ ที่เข้าถึงผู้คนทุกเพศวัย ทุกไลฟ์สไตล์ได้มากขึ้น จุดเด่นของ “ฮ่าสิบปีขายหัวเราะ” คือการคอลแลบระหว่างคาแรกเตอร์กับเรื่องราวของการ์ตูน “ขายหัวเราะ” กับหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นแฟชั่น อาหาร ท่องเที่ยว เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็น Key Message ไหน Brand Persona ใด อารมณ์ขันและตัวละครในจักรวาลขายหัวเราะก็สามารถนำเสนอสิ่งเหล่านี้ออกมาได้อย่างครบถ้วน ทำให้เกิดภาพจำว่าขายหัวเราะยังคงอยู่ในกระแสสังคม Pop Culture ของไทย และปรับตัวเข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ
2.5 Creative Technology Award
รางวัลสำหรับธุรกิจที่โดดเด่นด้านกระบวนการสร้างสิ่งใหม่หรือคิดค้นแนวทางใหม่ ที่ผสานนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเข้ากับความคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมการสร้างอิทธิพลทางวัฒนธรรมของประเทศไทย และมีความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในรูปแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน มีผลงานที่ได้รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: ประสบการณ์ตามหาเมล็ดดอกไม้ดิจิทัลและกิจกรรมระบายสีอินเตอร์แอคทีฟ (Collective Blooms)
เจ้าของผลงาน: บริษัท 27จูน สตูดิโอ จำกัด
นักสร้างสรรค์: บริษัท 27จูน สตูดิโอ จำกัด
รายละเอียดผลงาน: Collective Blooms เป็นกิจกรรมตามหาเมล็ดดอกไม้ดิจิทัลในย่านปากคลองตลาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) ที่จัดขึ้นที่ย่านปากคลองตลาด โดยมีวัตถุประสงค์ในการนำเทคโนโลยีสร้างสรรค์ (Creative Technology) มาใช้ในการสร้างประสบการณ์ที่เชิญชวนให้ผู้คนได้เดินสำรวจย่าน กระตุ้นให้ผู้คนได้เข้าถึงพื้นที่ที่ไม่เคยสังเกตเห็นมาก่อนหรือในบริเวณจุดอับสายตา เพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ทางธุรกิจและการท่องเที่ยวให้เกิดขึ้นในย่านปากคลองตลาด โดยกระบวนการของการดำเนินงานผลงาน Collective Blooms แบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
1) การเก็บเมล็ดดิจิทัล โดยนำแนวคิดของกิจกรรมแรลลี่ในการเก็บ RC มาใช้ในการสร้างประสบการณ์การค้นหาเมล็ดดิจิทัลที่ซ่อนอยู่ในย่านปากคลองตลาด
2) การพัฒนา Interactive Web Application เพื่อเป็นไกด์ในการนำทางผู้ชมไปสู่เมล็ดดอกไม้ต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในย่าน
3) กิจกรรมระบายสีที่อาคารไปรสนียาคาร หลังจากเก็บเมล็ดดิจิทัลแล้ว ผู้เข้าชมสามารถนำเมล็ดดิจิทัลที่เก็บมาไปแลกเป็นเมล็ดกระดาษเพื่อระบายสี จากนั้นก็นำเมล็ดกระดาษไปวางบนกระถางที่ใช้เทคโนโลยี Interactive และใช้ Sensor บัวรดน้ำรดให้ดอกไม้โตขึ้นในรูปแบบที่ไม่เหมือนกัน
หมวดที่ 3 Creative Social Impact Awards (จำนวน 5 รางวัล)
รางวัลพลังสร้างสรรค์เพื่อสังคม สำหรับผลงานที่มีผลกระทบทางสังคมในเชิงสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาทางสังคม โดยต้องสร้างผลกระทบที่ยั่งยืนและเห็นผลได้ชัดเจนในระดับชุมชน จังหวัด หรือประเทศ แบ่งเป็น 5 รางวัล ทั้งหมด 5 ผลงาน
3.1 Creative Community Inclusivity Award
รางวัลสำหรับบุคคล หน่วยงาน องค์กร หรือสถาบัน ที่สร้างสรรค์และส่งเสริมการแก้ไขปัญหาทางสังคม เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วม การเข้าถึงกลุ่มคนที่หลากหลายอย่างทั่วถึง และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีของประชาชน มีผลงานที่รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: ดอยสเตอร์และผองเพื่อน (DoiSter & Co.)
เจ้าของผลงาน: ดอยสเตอร์ โดย เครือข่ายการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
นักสร้างสรรค์: สมภพ ยี่จอหอ และ ดอยสเตอร์
รายละเอียดผลงาน: DoiSter คือทีมทำงานพัฒนาชุมชนที่ทำงานประเด็นกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือเพื่อสื่อสารกับคนภายนอก รวมถึงพัฒนาทักษะและยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนภายในชุมชน Doister เชื่อว่างานคราฟต์ชุมชน เช่น งานผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติ จะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือในการพัฒนาและขับเคลื่อนชุมชน ทั้งยังสามารถสื่อสารวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงได้ จึงได้เริ่มต้นนำร่องส่งเสริมงานคราฟต์ชุมชนกับชุมชนชาวเลอเวือะ บ้านป่าแป๋ (อ. แม่สะเรียง) และชุมชนชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยตองก๊อ (อ. เมือง) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อผลิตภัณฑ์ได้พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าสามารถตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ ในช่วงหลังพ้นวิกฤตโควิด-19 DoiSter ได้นำประสบการณ์จากการทำงานที่บ้านห้วยตองก๊อไปขยายพื้นที่การทำงานมากขึ้น เช่น ที่บ้านเมืองแพม (อ. ปางมะผ้า) และบ้านห้วยฮี้ (อ. เมือง) จังหวัดแม่ฮ่องสอน เกิดเป็นผลงานสร้างสรรค์โดยชุมชน เพื่อชุมชน อย่างแท้จริง ภายใต้ชื่อ DoiSter & Co. หรือ ดอยสเตอร์และผองเพื่อน
3.2 Creative Well-Being Award
รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือโครงการ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดสุขภาวะ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คน มีผลงานที่รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: ของเล่นของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงอายุ “Nifty Elderly” (Decorative Toys for Elderly “Nifty Elderly”)
เจ้าของผลงาน: แคลมป์อิท
นักสร้างสรรค์: รองศาสตราจารย์ พรเทพ เลิศเทวศิริ แบรนด์ “แคลมป์อิท”
รายละเอียดผลงาน: ปัจจุบันประชากรโลกเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย การวางแผนวิจัยและการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของผู้สูงวัยจำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะผู้สูงอายุที่มีพัฒนาการทางร่างกายและความคิดความอ่านที่เสื่อมถอย เบื่อหน่ายชีวิต และไม่เห็นคุณค่าของตนเอง นักออกแบบซึ่งมองเห็นปัญหาของผู้สูงวัยจึงได้นำทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม (Bloom’s Taxonomy) มาเป็นหลักในการประยุกต์ใช้ในการออกแบบ ทฤษฎีกล่าวว่ามนุษย์มีพัฒนาการ 3 ด้าน คือ ด้านสติปัญญาและเหตุผล ด้านร่างกาย และด้านจิตใจ เมื่อนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับการออกแบบ จึงนำมาสู่การสร้างสรรค์ Nifty Elderly ของเล่นและของแต่งบ้านสำหรับผู้สูงวัย เพื่อให้ผู้สูงอายุมองเห็นคุณค่าในตนเอง ช่วยคงสมรรถนะการพัฒนาการทางด้านร่างกายและจิตใจไม่ให้เสื่อมไปตามอายุ ทีมงานได้ออกแบบของแต่งบ้านที่แฝงฟังก์ชันของเล่นไว้ในหนึ่งเดียว เพื่อไม่ให้ผู้สูงวัยรู้สึกคลางแคลงใจเวลาเล่นของเล่น ไม่รู้สึกว่าตนเองเหมือนเป็นเด็ก จึงนับเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เน้นการให้เกียรติและความเข้าอกเข้าใจผู้สูงวัยได้อย่างลงตัว (Empathy Design for Elderly)
3.3 Creative Equality Award
รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือโครงการ ที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน และลดความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ทางสังคม เช่น เพศ วัย ฐานะ ภูมิหลังทางครอบครัว สภาวะทางร่างกาย การเข้าถึงข้อมูล ฯลฯ มีผลงานที่รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการ (Jump Thailand Hackathon 2024)
เจ้าของผลงาน: AIS Academy และ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
นักสร้างสรรค์: AIS Academy
รายละเอียดผลงาน: นวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เกิดจากการแข่งขันของนิสิตและนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อค้นหาไอเดียที่จะสามารถพัฒนาและต่อยอดเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้สูงอายุและผู้พิการในด้านต่าง ๆ เช่น การลดความเหลื่อมล้ำ การสนับสนุนกลุ่มผู้ด้อยโอกาสให้สามารถแสดงศักยภาพในการดูแลตนเองอย่างยั่งยืน ผ่านกระบวนการแข่งขัน Hackathon ภายใต้โจทย์ “เราจะนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและคนพิการได้อย่างไร” นับเป็นกิจกรรมที่ตอกย้ำภารกิจคิดเผื่อ ที่เน้นย้ำว่า นวัตกรรมคือโอกาสแห่งการสร้างความเท่าเทียมของคนไทย
3.4 Creative Education Award
รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือโครงการ ที่นำความคิดสร้างสรรค์มาเป็นเครื่องมือในการให้ความรู้ เพื่อพัฒนาทักษะ ยกระดับมาตรฐานการศึกษา และสนับสนุนให้ทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลด้านความรู้และการศึกษา มีผลงานที่รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: หุ่นชีวิน (Cheewin)
เจ้าของผลงาน: บริษัท นิว อาไรวา จำกัด
นักสร้างสรรค์: ควอลี่
รายละเอียดผลงาน: หุ่นชีวิน โดย ศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ Qualy แบรนด์ผลิตภัณฑ์ดีไซน์ของคนไทย ที่เชื่อในพลังของการออกแบบว่าสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนไปพร้อม ๆ กับการปกป้องโลกให้ดีกว่าเดิม โดยคำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่าในราคาที่จับต้องได้ ได้ร่วมกันพัฒนาชุดอุปกรณ์ประกอบการเรียนรู้การปั๊มหัวใจเพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้นขึ้นมา เพื่อทดแทนหุ่นฝึกที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศซึ่งปัจจุบันมีราคาสูงถึงหลายหมื่นบาท โดยหุ่นชีวินมีราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้วิธีการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (Cardiopulmonary Resuscitation) ได้ง่ายยิ่งขึ้น
3.5 Creative Green Award
รางวัลสำหรับผลิตภัณฑ์ บริการ กิจกรรม หรือโครงการ ที่ช่วยลดคาร์บอนหรือมีแนวคิดของกระบวนการที่มุ่งเน้นการจัดการขยะให้เป็นศูนย์ (Zero Waste) หรือการประหยัดพลังงาน ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ ผลิต และจัดการของเสีย เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานที่รับรางวัล 1 ผลงาน
ผลงาน: ไก่แก้บนรักษ์โลก (Zero Pollution Chicken)
เจ้าของผลงาน: บริษัท บนบาน จำกัด
นักสร้างสรรค์: ถากูร เชาว์ภาษี
รายละเอียดผลงาน: “มูเตลู” ถือเป็นหนึ่งในความเชื่อที่อยู่คู่วิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน และสิ่งที่อยู่คู่กันนั้นคือตุ๊กตาสัตว์แก้บน แต่จะแก้บนอย่างไรให้เป็นมิตรต่อโลกมากยิ่งขึ้น คำถามนั้นนำมาสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ของแก้บนรักษ์โลกที่สามารถย่อยสลายได้ 100% ของบริษัท บนบาน จำกัด สำหรับแนวคิดของผลิตภัณฑ์ “ไก่แก้บนรักษ์โลก” เริ่มต้นมาจาก 3 คีย์เวิร์ด คือ “มูเตลู อีโค ดีไซน์” โดยใช้วัสดุคือกระดาษรีไซเคิลผสมกับเมล็ดพันธุ์ดอกไม้มงคล นำมาอัดขึ้นรูปเป็นตัวไก่ โดยไก่แก้บนเวอร์ชันนี้สามารถย่อยสลายได้หมดภายใน 1 เดือนหลังการแก้บน จึงเปรียบเสมือนว่านอกจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะได้รับของแก้บนไปแล้ว ไก่แก้บนนี้ยังเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้แก่สถานที่ที่ไปทำการแก้บนนั้น ๆ อีกด้วย
รวมผลงานจากงานประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 (Creative Excellence Awards 2024) ดาวน์โหลด E-Catalog
ข่าวประชาสัมพันธ์หรือบทความที่เกี่ยวเนื่องกับ CE Awards 2024
CEA เตรียมจัดงานประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 หรือ Creative Excellence Awards 2024
CEA จัดงานประกาศรางวัลความเป็นเลิศทางความคิดสร้างสรรค์ ประจำปี 2567 (Creative Excellence Awards 2024)
CEA จัดงาน Creative Excellence Awards 2024 เฉลิมฉลองพลังความคิดสร้างสรรค์ไทย
เปิดมุมมองผู้ชนะ CE Awards 2024 เวทีเชิดชูพลังความคิดสร้างสรรค์ ส่งต่อแรงบันดาลใจให้นักสร้างสรรค์ไทย
สำรวจมุมมอง 3 นักสร้างสรรค์ไทย ปลดล็อกศักยภาพซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่เวทีระดับโลก ในงาน CE Awards 2024