Molam Crossover หมอลำโคตรซิ่ง เปลี่ยนหมอลำให้ล้ำสมัย

“หมอลำ” เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมบันเทิงที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโควิด-19 เพราะหมอลำหนึ่งวงประกอบด้วยผู้คนหลายร้อยชีวิต มากที่สุดกว่า 300 ชีวิต และยังต้องอาศัยการเคลื่อนย้ายวงไปจัดแสดงตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ หมอลำหลายวงมีคิวการแสดงยาวตลอดทั้งปี วงที่มีชื่อเสียงมากหน่อยต้องจองคิวกันถึงข้ามปี แต่เมื่อโควิด-19 บุกประเทศไทย ธุรกิจหมอลำก็ถูกเเช่เเข็งไปโดยปริยาย ทีมงานหมอลำจำนวนมากจึงตกงาน ทำให้ต่างต้องพากันดิ้นรนปรับตัวเพื่อความอยู่รอด บ้างก็หันไปทำงานประจำ บ้างก็ผันตัวไปทำเกษตรช่วยครอบครัว 

“Molam Crossover” โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA สาขาขอนแก่น เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2564 (Isan Creative Festival 2021) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม - 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ถูกคิดและพัฒนาขึ้นเพื่อแนะเเนวทางให้ผู้คนในอุตสาหกรรมหมอลำพลิกวิกฤตโควิด-19 ให้กลายเป็นโอกาส ด้วยการต่อยอดเพลงพื้นบ้านหมอลำไปสู่ผลงานชิ้นใหม่ ๆ ทั้งยังเป็นการขยายฐานกลุ่มผู้ฟังให้เพิ่มขึ้น กระทั่งเกิดเป็นเเนวทางสร้างสรรค์หลัก ๆ จำนวน 5 รูปเเบบ ประกอบด้วย

1. ตลกหมอลำออนไลน์

“ตลกหมอลำ” อีกหนึ่งการแสดงที่ผู้ชมต่างตั้งตารอดู Molam Crossover ช่วยยกระดับการเเสดงตลกหมอลำให้มีมาตรฐาน สร้างที่ยืนในวงการให้ใหม่ ที่ไม่ใช่เเค่ในภาคอีสาน แต่เป็นในระดับประเทศเเละระดับโลก วิธีการคือผลักดันให้ตลกและหมอลำไปอยู่บนโลกออนไลน์ ด้วยการไลฟ์และอัดคลิปวิดีโอเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียอย่าง Tiktok และ YouTube นำทัพโดยศิลปินรุ่นเก๋า “พ่อจิ๋ว-ระเบียบวาทะศิลป์” เเละศิลปินดาวรุ่ง “ยายหาฟ้าสะท้าน” นำเสนอวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของคนอีสาน ผสานเข้ากับ “ผญา” หรือกลอนลำที่เข้าถึงง่าย สนุกสนาน เต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ 


2. ขยายฐานแฟนคลับ

เนื่องจากฐานเเฟนเพลงหรือผู้ชมหมอลำกระจายอยู่ทั่วอีสาน การที่หมอลำไม่สามารถเดินทางไปแสดงได้เหมือนเดิม ทำให้แฟน ๆ เงียบหายอย่างเห็นได้ชัด การสร้างสรรค์ผลงานโดยนำเพลงหมอลำไปต่อยอดร่วมกับดนตรีเเนวอื่น ๆ จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยเพิ่มฐานผู้ชมและเเฟนคลับ ทั้งยังเป็นการผลักดันให้หมอลำก้าวข้ามขีดจำกัดของการเเสดงได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น 

หมอลำเดิร์น

โปรเจกต์จากกลุ่มนักดนตรีสร้างสรรค์รุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดอยากผลักดันให้หมอลำล้ำสมัยเหนือกาลเวลา ด้วยการอิมโพรไวส์ลำกลอนที่มีจังหวะโจ๊ะ ๆ เร็ว ๆ ผสมผสานเข้ากับเสียงแคน พิณ ซอ กลอง ฆ้อง เรียกได้ว่าฉีกกฎการเล่นดนตรีหมอลำแบบเดิม ๆ โดยเรียกสิ่งนี้ว่า “ลำเดิร์น” (ลำเดิน + โมเดิร์น) ความทันสมัยแต่มีความเป็นหมอลำ นำไปสู่การสร้างจินตนาการทางเสียงเพลงในมิติใหม่ ๆ ที่อาจไม่คุ้นเคย แต่รับรองว่าถูกใจคนฟัง สนุกแน่นอน! 


หมอลำ Symphony Orchestra

ไอเดียสร้างสรรค์สุดบรรเจิดจากกลุ่มนักร้องหมอลำ พวกเขาเลือกจะหยิบวิถีชีวิตเกษตรกรรมของคนอีสานที่หมุนเปลี่ยนไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน มาเล่าด้วยลำเดินและลำเพลิน โดยใช้เครื่องดนตรีอีสานเล่นในแนวดนตรี Symphony Orchestra ขับเร้าอารมณ์ของผู้ฟังไปตามเนื้อเพลงและเสียงดนตรีอันทรงพลัง

 

3. เข้าถึงง่ายขึ้น

โจทย์ของการทำให้หมอลำเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น คือการปรับรูปเเบบในการนำเสนอให้เข้าถึงง่าย ทันยุคทันสมัย ผ่านการร้องเเละเล่นที่สนุกสนาน เเต่ยังรักษาอัตลักษณ์เเละเเก่นเเท้ของหมอลำเอาไว้

หมอลำนักทดลอง 

รูปแบบคล้ายกับการทดลองหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ โดยหยิบวิธีการเล่าเรื่องของหมอลำที่มีจุดประสงค์เดิมคือการเผยแพร่ข่าวสารหรือความเป็นไปในสังคม ผ่านการประพันธ์กลอนลำ ทำนองทางสั้น ผสานกับเครื่องดนตรีตะวันตก ร้อยเรียงจังหวะ การเดินคอร์ด การผสานเสียง จนออกมาเป็นหมอลำร่วมสมัย สามารถเข้าถึงผู้คนได้ทุกเพศทุกวัย
 


หมอลำ Power Ranger

อีกตัวอย่างของการปรับวิธีการเล่าเรื่อง คือการเล่าผ่าน MV ประกอบในรูปเเบบของ หมอลำ Power Ranger หรือขบวนการของกลุ่มศิลปินหมอลำที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสนุก โดยพวกเขาขอทำหน้าที่ส่งมอบความสุขความสนุกเหล่านั้นให้คนดูด้วยเสียงเพลง ช่วยคลายความเศร้า ความกังวล เสริมสร้างกำลังใจในการต่อสู้กับความแปรผันต่าง ๆ ที่แสนจะวุ่นวายในทุกวันนี้ 



4. รักษาฐานเเฟนคลับให้เหนียวแน่น

คนดูมีพฤติกรรมอย่างไร หมอลำในโปรเจกต์ Molam Crossover ก็ควรปรับตัวตามนั้น เพราะจากการสำรวจฐานแฟนคลับหมอลำ พบว่าส่วนใหญ่ใช้โซเชียลมีเดีย หมอลำจึงต้องหันไปสร้างความสัมพันธ์ในแพลตฟอร์มโซเชียล เช่น การไลฟ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ เพื่อพูดคุยกับเเฟนคลับให้หายคิดถึงเเละจะได้ไม่ลืมกัน เพราะเพียงแค่ชวนทานข้าวง่าย ๆ ก็ดูจะถูกอกถูกใจบรรดาแม่ยกอยู่ไม่น้อย นอกจากนี้ การทำคลิปสั้น ๆ เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของพระเอกนางเอกหมอลำ ก็สามารถสร้างยอดวิวได้ถล่มทลาย หรือจะเป็นการฝึกความสามารถพิเศษใหม่ ๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้แฟนคลับ ทั้งยังเป็นการสร้างสรรค์โชว์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นบนเวทีในครั้งต่อ ๆ ไปได้

Live พูดคุยกับเเฟนคลับ 
การเเสดงออนไลน์จากที่บ้าน


5. สร้างประสบการณ์รับชมเเบบใหม่ 

การนำเทคนิคเเละนวัตกรรมมาต่อยอดเพื่อสร้างประสบการณ์ในการรับชมการเเสดงที่เเปลกใหม่ไม่เหมือนใคร ตามเเนวคิดหมอลำโฮโลเเกรม การเเสดงภาพสามมิติบวกกับการเเสดงหมอลำหน้าเวที ช่วยประหยัดจำนวนนักแสดง เลี่ยงการรวมตัวกัน เเต่ยังคงความสนุนสนานในรูปเเบบของหมอลำไว้อย่างครบถ้วน ปลอดภัยทั้งนักแสดงเเละผู้ชม 


ชุดแดนเซอร์นั้นสำคัญไฉน

นอกจากนี้ อีกหนึ่งประสบการณ์การรับชมที่เเปลกใหม่คือการพัฒนาชุดเเดนเซอร์ให้มีความล้ำสมัยเเละอลังการ ด้วยการรังสรรค์ชุดสีส้มจากดอกจานหรือดอกทองกวาว ประดับด้วยลูกปัดสีทองละเมียดที่เป็นตัวแทนของรวงข้าวสีทอง ทั้งสององค์ประกอบเป็นสัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ของฤดูเก็บเกี่ยวในหน้าหนาว ยิ่งผสานเข้ากับแสงไฟแอลอีดีก็ยิ่งสร้างความโดดเด่นและสนุกสนานให้กับแดนเซอร์เมื่ออยู่บนเวที โดยไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้าย ชุดแดนเซอร์ LED โดดเด่นสุดครีเอตนี้ยังช่วยส่งเสริมความคล่องตัวในการเเสดงบนเวที เเละมีความคงทนสำหรับการใช้ในงานเเสดงตลอดทั้งปีอีกด้วย 


5 แนวทางสร้างสรรค์ กับการต่อยอดสู่นิยามใหม่ของการแสดงหมอลำ

5 เเนวทางสร้างสรรค์ข้างต้นสามารถนำไปสู่การต่อยอดเเละปรับตัวของอุตสาหกรรมหมอลำได้จริง โดยมีรายละเอียดของกิจกรรมดังนี้ 

1. การเเสดงตลกออนไลน์ ปัจจุบันมียอดรับชมถึง 1.2 ล้านวิว 
https://youtu.be/w56g6deJS0k

2. ประสบการณ์ใหม่ ไฉไลกว่าเดิม 
https://youtu.be/pKrjQsuCvYQ

3. การ Crossover ระหว่างศิลปิน 
-    เมื่อตลกหมอลำมาพบกับนักดนตรีอีสานคลาสสิก จึงเกิดเป็นผลงานเพลงเเนวใหม่ เเละการสร้างเครือข่ายสร้างสรรค์ของอุตสาหกรรมหมอลำ 
https://youtu.be/QcoRWFdD5hU
-    เกิดการ Crossover ศิลปินระหว่างรุ่น พ่อจิ๋ว-ระเบียบวาทะศิลป์ เเละ ยายหาฟ้าสะท้าน ศิลปินหมอลำดาวรุ่ง 
https://youtu.be/82AKghrWrsk

4. การเผยเเพร่ผลงานสู่ระดับโลก 
-    หมอลำ All Thidsa นำเพลงหมอลำล้ำสมัย จากโครงการ Molam Crossover ไปเเสดงในงาน Performance and Discussion of Morlam in the Post Covid-19 (ประเทศไทย-ประเทศไต้หวัน) จัดโดย College of Music, Mahasarakham University เเละ Jim Thompson
https://fb.watch/a5dUazH5eq

5. ศิลปินดังผู้ครองใจเเฟนคลับได้อย่างเหนียวเเน่น 


6. ศิลปินมีรายได้จากผลงานใหม่ ๆ ที่ได้รับการพัฒนา
นอกจากจะปรับมาแสดงทางออนไลน์แล้ว คลิปวิดีโอไลฟ์สไตล์ของศิลปินหมอลำที่เผยแพร่บนยูทูบ ยังกลายเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้อีกทาง เช่น คลิปเมนูแปลก…ยายหาฟ้าสะท้าน พ่อจิ๋ว-ระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งล่าสุดมียอดวิวสูงถึง 1.2 ล้านครั้ง 

แม้โควิด-19 จะเปลี่ยนวิถีของศิลปินและนักสร้างสรรค์ไปเป็นอย่างมาก แต่หากเลือกที่จะไม่ยอมหยุดแช่แข็ง และค้นหาทางปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง ย่อมก่อให้เกิดผลงานสร้างสรรค์ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน โครงการบ่มเพาะเพื่อสร้างโอกาสให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรมหมอลำ หรือ Molam Crossover นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่นำเสนอศักยภาพ สร้างโอกาสในการขยายตลาดกลุ่มผู้ชมและผู้ฟังเพลงหมอลำให้กว้างและหลากหลายยิ่งขึ้น CEA สาขาขอนแก่น มุ่งหวังว่าท้ายที่สุดแล้ว อุตสาหกรรมหมอลำจะไม่ได้เติบโตอยู่แค่ในภาคอีสานหรือประเทศไทย แต่จะต้องขึ้นไปอยู่ในเวทีสากลในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมของโลก

มาร่วมค้นหาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งรวมถึงอุตสาหกรรมความบันเทิงอีสานซึ่งจัดเป็น Soft Power อันทรงพลังของภูมิภาค กับงานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 (Isan Creative Festival 2022) ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 6 มีนาคม 2565 ภายใต้ธีม Think Link Things วิเคราะห์ เชื่อมโยง ทุกสรรพสิ่ง ผ่านการจัดกิจกรรมมากมายทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ภายใต้อัตลักษณ์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ อุตสาหกรรมความบันเทิงอีสาน (Isan Entertainment) การเชื่อมโยงและรวบรวมภาคีเครือข่ายนักสร้างสรรค์ทั่วภาคอีสาน (ISAN Regional) และโมเดลการสร้างมูลค่าเพิ่มของเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) วิเคราะห์ เชื่อมโยง ทุกองค์ประกอบเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันอีสานสู่การเป็นภูมิภาคสุดสร้างสรรค์มากกว่าที่เคย

ติดตามความเคลื่อนไหวของเทศกาลได้ที่ : 
www.Isancreativefestival.com
FB/IG : Isancreativefestival