NFT Conversion Creator Project
ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นวิกฤตที่สร้างผลกระทบต่อทุกคนบนโลก ส่งผลให้วิถีชีวิต กิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ไม่สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นตามปกติได้ การเปลี่ยนแปลงที่ต้องเว้นระยะห่างทางสังคมเช่นนี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่เกี่ยวกับการจัดแสดง การรับชมความบันเทิงต่าง ๆ อย่างไรก็ดี ด้วยเทคโนโลยีและตลาดการเงินดิจิทัลที่ก้าวหน้า กลายเป็นแรงผลักดันไปสู่การปรับตัวของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์บนแพลทฟอร์มดิจิทัลไปอีกระดับ โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยี NFT หรือ Non-Fungible Token ที่นักสร้างสรรค์สามารถแปลงผลงานเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อขายในตลาดใหม่แห่งนี้
การเข้าสู่ตลาดศิลปะดิจิทัล จึงจำเป็นต้องเข้าใจการทำงานของ NFT กล่าวคือ NFT เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะ ไม่สามารถทำซ้ำหรือดัดแปลง ซึ่งจะบันทึกอยู่ในระบบบล็อคเชนที่มีความโปร่งใส สามารถตรวจสอบสิทธิ์ความเป็นเจ้าของได้โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลาง ดังนั้น นักสร้างสรรค์สามารถแปลงผลงานของตนเอง อาทิ งานศิลปะ เพลง ภาพยนตร์ ข้อความ วิดีโอ รูปภาพ หรือสินทรัพย์ทางกายภาพอื่น ๆ (Physical asset) มาเป็นรูปแบบดิจิทัล พร้อมกับสร้างรายได้จากค่าลิขสิทธ์ (Royalty payments) จากการแปลงผลงานของตนเองเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อรักษาความเป็นต้นฉบับ สร้างสภาพคล่องให้กับผลงาน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลที่เป็นทักษะแห่งอนาคต สำหรับนักสร้างสรรค์ไทยในการนำผลงานศิลปะ เพลง ภาพยนตร์ ข้อความ วิดีโอ รูปภาพ และสินทรัพย์ทางกายภาพอื่น เพื่อเข้าสู่ตลาดใหม่ ๆ ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระแส NFT ที่เติบโตขึ้นทั่วโลก เป็นโอกาสสำคัญของนักสร้างสรรค์ไทยที่จะเตรียมตัวให้พร้อม และต่อยอดการพัฒนางานสร้างสรรค์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง จึงเป็นที่มาของการจัดทำโครงการสรรสร้างโอกาสในตลาดดิจิทัลอาร์ตไปกับ NFT ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CEA และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (Thai Digital Asset Association) เพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่นักสร้างสรรค์โดยเตรียมความพร้อมตั้งแต่การให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ NFT ไปถึงขั้นนำผลงานไปขายในตลาดจริง โดยเนื้อหาของกิจกรรม มีดังนี้
1. ปรับ Mindset เปลี่ยนมุมมองต่อสินทรัพย์ดิจิทัล
2. ภาพรวมโครงการ (Project Overview)
3. ภาพรวมของเทคโนโนยีบล็อคเชนและคริปโตเคอเรนซี (Overview of Blockchain technology and Cryptocurrency)
4. Non-Fungible Token
- NFT คืออะไร และประโยชน์ที่มีต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ตลาดสำหรับซื้อขาย NFT (NFT marketplaces)
- วิธีการสร้าง (Mint) NFT จากงานสร้างสรรค์
- วิธีการซื้อ ขาย NFT
- ตัวอย่างกรณีการใช้งาน (Use case) ของ NFT
5. การตั้งค่ากระเป๋าเงินดิจิทัล และการเก็บรักษาอย่างไรให้ปลอดภัย
6. การบริหารจัดการสินทรัพย์ และการบริหารหน้าร้านบนตลาดซื้อขาย
7. การสร้างรายได้จาก NFT
โครงการนี้เปิดรับผู้สมัครที่มีคุณสมบัติเป็นนักสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่ผลิตงาน ได้แก่ 1) ภาพถ่าย 2) Digital Arts 3) งานออกแบบคาแรคเตอร์ และ 4) ดนตรี และมีความมุ่งมั่นที่จะผลิตงานสร้างสรรค์ใหม่ ๆ สนใจเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและ NFT โดยมีระยะเวลาการเรียนส่วนเนื้อหา 3 วัน และติดตามผลจากผู้เชี่ยวชาญโดยสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ตลอดเดือนสิงหาคม 2564
Project Update
NFT Workshop
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA และสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย เล็งเห็นความสำคัญของนักสร้างสรรค์ไทย ในการสร้างความตระหนักรู้เรื่องการสร้างรายได้จากการจำหน่ายผลงานเป็น NFT ให้ได้มากยิ่งขึ้น จึงได้จัด กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ NFT สำหรับนักสร้างสรรค์ (NFT Workshop) ผ่านช่องทางออนไลน์ในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อเพิ่มทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ NFT อย่างปลอดภัย และการบริหารหน้าร้านบนตลาดซื้อขาย NFT เพื่อเป็นช่องทางในการเรียนรู้และเตรียมความพร้อมสู่อีกหนึ่งช่องทางใหม่ ในการสร้างรายได้ให้แก่ศิลปินนักสร้างสรรค์ไทย
กิจกรรมสัมมนานี้มี คุณศุภกฤษฎ์ บุญสาตร์ นายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทยเป็นวิทยากร โดยมุ่งเน้นเรื่องการส่งเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีบล็อกเชนและสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อยกระดับและผลักดันอุตสาหกรรมให้เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
หัวข้อการสัมมนา
- ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีบล็อกเชนและ NFT
- การสร้างทักษะการบริหารจัดการสินทรัพย์ดิจิทัล และการบริหารจัดการหน้าร้านบนตลาด NFT
- การเก็บรักษาสินทรัพย์ดิจิทัล NFT
และในครั้งนี้ทาง CEA ได้สนับสนุนเหล่านักสร้างสรรค์ที่ผ่านคุณสมบัติที่กำหนดทั้งหมด 50 ท่าน (จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 350 ท่าน) เป็นเงินจำนวน 3,400 บาทต่อท่าน ให้เปิดจำหน่ายงานผ่านแพลตฟอร์ม OpenSea เป็นครั้งแรก และเพื่อผลักดันให้เกิดการซื้อ-ขายจริงบนแพลตฟอร์มดังกล่าว