Virtual Media Lab ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน
เปิดประสบการณ์ครั้งใหม่ล้ำจินตนาการที่ผสานโลกจริงและโลกเสมือน ไปกับ Virtual Media Lab ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน ยกระดับคอนเทนต์สร้างสรรค์ไทย ด้วยการผสานศาสตร์ศิลป์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA
แรงบันดาลใจจาก Virtual Economy สู่ Virtual Media Lab
เศรษฐกิจโลกเสมือน (Virtual Economy) เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการลงทุนด้านเทคโนโลยี AR/VR เทคโนโลยีโลกเสมือน เพื่อนำไปสนับสนุนการทำงานของภาคธุรกิจในด้านต่าง ๆ และการนำเทคนิคการถ่ายทำภาพเสมือนจริง (Virtual Production) มาใช้อย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ (Creative Content) สาขาภาพยนตร์ โฆษณา เกม แอนิเมชัน และอีเวนต์ อย่างไรก็ตาม การศึกษาของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA พบว่าปัจจุบันบุคลากรส่วนใหญ่ของไทยยังขาดความรู้ความเข้าใจ พื้นที่และอุปกรณ์ในการสร้างคอนเทนต์สร้างสรรค์ ตลอดจนสินค้าและบริการในโลกเสมือนจริง เนื่องจากเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นทคโนโลยีสมัยใหม่และซับซ้อน ต้องมีการลงทุนสูง ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการใช้เครื่องมือดังกล่าว ซึ่งนับเป็นการเสียโอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือและสร้างผลงานใหม่ ๆ นำไปสู่การเสียโอกาสทางการแข่งขันของประเทศ
CEA ตระหนักถึงการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย (Creative Industries) ที่จำเป็นต้องปรับตัวและประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี จึงได้จัดทำห้องปฏิบัติการ Virtual Media Lab ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาโลกเสมือนจริง” ให้เป็นพื้นที่บ่มเพาะและพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์ ให้สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ กระบวนการคิดเชิงออกแบบ มาบูรณาการเข้ากับเทคโนโลยีในการผลิตคอนเทนต์ใหม่ เพื่อยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ของไทย พร้อมส่งเสริมนิเวศเศรษฐกิจโลกเสมือน โดย CEA ได้จัดงานแถลงข่าวเปิดห้อง Virtual Media Lab อย่างเป็นทางการในวันที่ 4 ตุลาคม 2566 ทั้งนี้ Virtual Media Lab มีกำหนดเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2566 ตั้งอยู่ที่ชั้น 4 TCDC กรุงเทพฯ
Virtual Media Lab คืออะไร
ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือน ยกระดับคอนเทนต์สร้างสรรค์ไทย ด้วยการผสานศาสตร์ศิลป์และเทคโนโลยี เป็นพื้นที่สนับสนุนพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์สู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจโลกเสมือน (Reskill and Upskill for the Digital and Virtual Economy) เพื่อเป็น Springboard ในการก้าวสู่โลกเสมือน เสริมขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ของไทย
Virtual Media Lab มีประโยชน์อย่างไร
เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในการทดลอง ทดสอบ และเรียนรู้การใช้งาน เพื่อยังประโยชน์ดังต่อไปนี้
1. Upskill and Reskill: พื้นที่บ่มเพาะ ทดลอง ทดสอบ และเรียนรู้การนำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มาผนวกกับการใช้เทคโนโลยี (Technology) เพื่อพัฒนาทักษะฝีมือและสร้างสรรค์ผลงานใหม่ ๆ เข้าสู่อุตสาหกรรม
2. Ecosystem: สร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการศึกษา ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ผ่านโปรแกรมหรือโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการ
3. Inspiration Space: พื้นที่เปิดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความตระหนักรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีโลกเสมือนให้แก่บุคคลทั่วไปให้ได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้
Virtual Media Lab เหมาะกับใครบ้าง
ห้องปฏิบัติการสื่อดิจิทัลและโลกเสมือนนี้ เหมาะกับกลุ่มอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ (Creative Content: ภาพยนตร์ เกม และแอนิเมชัน) ได้แก่
1. นักเรียน นักศึกษา หรือนักออกแบบสร้างสรรค์ (Students & Creative Designers) มุ่งเน้นสาขาคอนเทนต์สร้างสรรค์ โดยต้องการสร้างการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มีการลงทุนสูง เพื่อสนับสนุนให้กลุ่มเป้าหมายดังกล่าวสามารถพัฒนาและต่อยอดคอนเทนต์สู่ระดับนานาชาติได้ต่อไป
2. นักธุรกิจสร้างสรรค์ บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อมในอุตสาหกรรมคอนเทนต์สร้างสรรค์ ที่ต้องการสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ แต่ไม่สามารถเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีที่มีการลงทุนสูง และต้องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ
บริการใน Virtual Media Lab มีอะไรบ้าง
ห้อง Virtual Media Lab ให้บริการเทคโนโลยีทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เปี่ยมคุณภาพ ซึ่งได้มาตรฐานการผลิต Virtual Production ของสตรีมมิงแพลตฟอร์มระดับสากล โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1. Studio Equipment และ 2. Software Engine
1. Studio Equipment
แบ่งเป็น 5 ยูนิต มีอุปกรณ์มากกว่า 20 รายการ ประกอบด้วย Virtual Production Unit LED Full Screen ขนาด 45 ตารางเมตร พร้อมระบบควบคุม, Camera Unit Red Komodo 6K พร้อม Vive Mars Tracker ชุดเครนมาตรฐานสำหรับการถ่ายทำ Dolly Set และระบบ Monitor สำหรับผู้กำกับ, Metaverse Unit อุปกรณ์ VR 4 เครื่อง, Sound Unit และ Lighting Unit พร้อมสำหรับการถ่ายทำ
2. Software Engine
ทางด้าน Software Engine ประกอบด้วย 5 ระบบ ได้แก่ Unreal Engine, Creative Cloud, Blender, Windows 10 Professional และ Davinci Resolve
ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์เหล่านี้จะช่วยยกระดับการถ่ายทำด้วยระบบการผลิตเสมือนจริง (Virtual Production: VP) โดยเป็นการผสมผสานเทคนิคการใช้ VR (Virtual Reality) และ AR (Augmented Reality) ร่วมกับกระบวนจินตภาพคอมพิวเตอร์ (Computer-Generated Imagery: CGI) ผ่านการใช้เทคโนโลยีเกม Unreal Engine นอกจากนี้ยังมีจอแสดงผลแบบ Full LED Screen Virtual Production Studio ขนาด 45 ตารางเมตร ซึ่งสามารถถ่ายทำคอนเทนต์ในรูปแบบ Immersive Experience ที่ตื่นเต้น เร้าใจ และระบบ IN-CAMERA VISUAL EFFECTS (ICVFX) รวมถึงสามารถทำ Post-Production ด้วยระบบ Render ระดับ High Performance ที่ให้ภาพคมชัด
ผลกระทบเชิงบวกที่ CEA ต้องการคืออะไร
1. เป็นพื้นที่บ่มเพาะนักศึกษาและพัฒนาทักษะแรงงานสร้างสรรค์
2. สนับสนุน SMEs ในการลดต้นทุนการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ใหม่
3. เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างระบบนิเวศสร้างสรรค์ของเศรษฐกิจโลกเสมือน รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจและความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ประชาชนทั่วไป
เป้าหมายการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของ Virtual Media Lab
1. เพิ่มบุคลากรทักษะสูงในกลุ่มคอนเทนต์ โดยแรงงานทักษะสูงได้รับการพัฒนาเข้าสู่ตลาดแรงงานสากล
2. เพิ่มคอนเทนต์ที่ตอบตลาดสากลมากขึ้น โดยสร้างคอนเทนต์ระดับโลกด้วยเนื้อหาและรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ
3. ระบบนิเวศที่รองรับการเติบโตเพิ่มขึ้นของนักสร้างสรรค์และนักออกแบบในกลุ่มคอนเทนต์และดิจิทัล
สนใจใช้บริการ Virtual Media Lab ทำอย่างไรได้บ้าง
นักเรียนนักศึกษาที่สนใจเยี่ยมชมหรือใช้บริการ Virtual Media Lab สามารถอ่านเงื่อนไขและลงทะเบียนได้ที่ www.tcdc.or.th/virtualmedialab เข้าใช้บริการได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ในอนาคต CEA ตั้งเป้าให้บริการห้อง Virtual Media Lab สำหรับภาคธุรกิจหรือภาคเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อธุรกิจ ติดตามรายละเอียดบริการเช่าพื้นที่ห้อง Virtual Media Lab ได้เร็ว ๆ นี้ *ทั้งนี้มีค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนค่าสาธารณูปโภค
กิจกรรมประกอบการเปิดให้บริการ Virtual Media Lab
ภายใต้ “โครงการพัฒนาระบบนิเวศสร้างสรรค์เพื่อการพัฒนาโลกเสมือนจริง”
เพื่อเป็นการปูพื้นฐานสู่การใช้บริการห้อง Virtual Media Lab และสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง Virtual Economy และ Virtual Production ในประเทศไทย ที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นในอนาคต CEA จึงได้จัดทำกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการจัดนิทรรศการและงานเสวนา รวมถึงการให้องค์ความรู้เกี่ยวกับโลกเสมือนและเมตาเวิร์สผ่านการนำเสนอคอร์สออนไลน์ เพื่อติดอาวุธความรู้และจุดประกายไอเดียสร้างสรรค์ นำร่องสู่การประยุกต์ใช้ Virtual Media Lab ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
1. นิทรรศการ “CreaTech: The New Reality” พร้อมกิจกรรมเสวนาแบบเอ็กซ์คลูซีฟ
วันที่: นิทรรศการ 4 - 29 ตุลาคม 2566, กิจกรรมเสวนา 7 ตุลาคม 2566
เวลา: 10.30 - 19.00 น. (ปิดวันจันทร์)
สถานที่: TCDC กรุงเทพฯ
เข้าชมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย
ปัจจัยด้านเทคโนโลยีนับเป็นหนึ่งในประเด็นที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality) เทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality) บล็อกเชน (Blockchain) ฯลฯ ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในปัจจุบันที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะหลังการระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ผู้คนต่างต้องปรับตัวให้เท่าทันความผันผวนต่าง ๆ เพื่อปรับตัวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่ขับเคลื่อนไปอย่างรวดเร็ว
ในด้านหนึ่ง การพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยสร้างสรรค์ประสบการณ์ให้แก่ผู้คนได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างโอกาสทางอาชีพเฉพาะด้านและการดำเนินธุรกิจใหม่ไปพร้อม ๆ กัน CEA จึงขอเชิญทุกคนมาเปิดประสบการณ์เทคโนโลยีโลกเสมือนอันไร้ขีดจำกัด ไปกับนิทรรศการ “CreaTech: The New Reality” เมื่อโลกแห่งความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีมาบรรจบกัน จึงเกิดเป็นโลกแห่งความจริงวิถีใหม่ที่พร้อมผสานโลกจริงและโลกเสมือนล้ำจินตนาการเข้าด้วยกัน ผ่านเนื้อหาและรูปแบบประสบการณ์เป็น 3 มิติ ได้แก่ Experience, Explore และ Exchange
(1) Experience
เปิดประสบการณ์การรับรู้ความจริงเสมือนผ่าน Digital Art Installation แบบ 4K ที่มาให้สัมผัสในรูปแบบ Immersive Experience ทั้งรูป กลิ่น เสียง พร้อมทั้งชวนทุกคนมาตะลุยโลกเสมือนจริงผ่านเทคโนโลยี Augmented Reality
สถานที่: TCDC กรุงเทพฯ, Meeting Point ชั้น 1 และ Rooftop Garden ชั้น 5
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมประกอบอื่น ๆ ได้แก่
1. Doppelgänger สร้างคู่แฝดโลกเสมือนของคุณ ด้วยเครื่อง 3D Scanner แล้วเดินตามหาตัวคุณคนนั้นใน TCDC กรุงเทพฯ ร่วมกิจกรรมได้ระหว่างวันที่ 13 - 31 ตุลาคม 2566
สถานที่: FabCafe ชั้น 3 TCDC กรุงเทพฯ
หมายเหตุ: มีค่าใช้จ่ายในการร่วมกิจกรรม 550 บาท พร้อมรับเครื่องดื่ม ของที่ระลึก และ QR คู่แฝดขยับได้ ที่สามารถตามไปกับคุณได้ทุกที่ (รับส่วนลด 30% สำหรับคนที่แต่ง Cosplay มาร่วมงาน)
2. พบกับเจ้ากระต่ายหนาม Saw Real Rabbit จาก KAIJU SMUGGLER ที่มาร่วมสร้างประสบการณ์เหนือจินตนาการไปด้วยกัน
สถานที่: Creative Space ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ
(2) Explore
โซนที่จะพาทุกคนมองย้อนกลับไปในอดีต เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจการมองเห็นอนาคตของเทคโนโลยีโลกเสมือน แบ่งเป็น 2 โซน ได้แก่
2.1 CreaTech & Virtual Production Introduction เมื่อความคิดสร้างสรรค์ผสานกับเทคโนโลยี ทำให้เกิดสิ่งใหม่ที่จะมาสร้างสรรค์การใช้ชีวิตและเนรมิตรูปแบบธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม โซนนี้พาไปทำความรู้จักเทคโนโลยีโลกเสมือน พร้อมข้อมูลอินไซด์เกี่ยวกับธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น Art Installation, Music & Entertainment, Animation และ Virtual Production รวมถึงนำเสนอผลงานน่าสนใจจากนักสร้างสรรค์และนักศึกษาไทย
2.2 Virtual Production Kiosk ที่จะให้ผู้เข้าชมได้มีส่วนร่วมในการจำลองการถ่ายทำ Virtual Production และทดลองใช้ระบบการทำงาน Interactive Virtual Screen ด้วยเทคโนโลยี VR และ AR
สถานที่: TCDC กรุงเทพฯ, Creative Space ชั้น 5
(3) Exchange
- งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองแบบเอ็กซ์คลูซีฟเกี่ยวกับ Virtual Production จากเหล่ากูรูชั้นนำของวงการอุตสาหกรรมดิจิทัลสร้างสรรค์ ที่มาร่วมแบ่งปันมุมมอง การเตรียมความพร้อม รวมทั้งฉายภาพให้เห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ในวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ณ TCDC กรุงเทพฯ, Virtual Media Lab ชั้น 4 โดยแบ่งเป็น Business Talk หัวข้อ “Virtual Production โอกาสและการสร้างตลาดทางธุรกิจในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย” เวลา 13.00 - 15.00 น. และ Creator Talk หัวข้อ “การสร้างผลงานสร้างสรรค์บนโลกเสมือน” เวลา 15.00 - 17.00 น.
- งาน Exchange: 48H Virtual Production Filming Contest (Behind the Scene) กิจกรรมเสวนาเจาะลึกเบื้องหลังการแข่งขัน 48H Virtual Production Filming Contest การถ่ายทำภาพยนตร์ภายใน 48 ชั่วโมง ด้วยเทคโนโลยี Virtual Production โดยตัวแทนประเทศไทย 3 ทีม ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศในทวีปเอเชีย ในวันที่ 29 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 - 15.00 น.
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: www.tcdc.or.th/th/all/events/1905
2. กิจกรรมเสวนาเชิงปฏิบัติการ Virtual Technology for Business Opportunities
กิจกรรมเสวนาเชิงปฏิบัติการ “Virtual Technology for Business Opportunities” ที่จัดขึ้นในวันที่ 23 กันยายน 2566 ณ Virtual Media Lab ชั้น 4, TCDC กรุงเทพฯ เพื่อแนะนำและเจาะลึกการใช้งาน Virtual Media Lab เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์การเติบโตของ Virtual Production ในประเทศไทย รวมถึงพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ด้าน Virtual Production ให้แก่นักเรียนนักศึกษา รวมทั้งผู้ที่สนใจในสายงานอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งหมดนี้เพื่อสร้างโอกาสและความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ทางธุรกิจสำหรับสายงานโปรดักชันให้เติบโตและหลากหลายยิ่งขึ้น
3. คอร์สออนไลน์ทาง CEA Online Academy
คอร์สออนไลน์ที่พร้อมเสิร์ฟความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกเสมือนอย่างเข้มข้น จำนวน 2 คอร์ส ทาง CEA Online Academy แพลตฟอร์มออนไลน์ที่นำเสนอองค์ความรู้ด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดย CEA เพื่อนำพาทุกคนร่วมเดินทางสู่โลกเมตาเวิร์สและโลกของ Virtual Production จักรวาลเหนือจินตนาการที่จะเชื่อมต่อผู้คนผ่านโลกเสมือนจริง สร้างประสบการณ์และโอกาสใหม่ให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์
(1) Introduction to Virtual Production
ทำความรู้จัก Virtual Production (VP) ทะยานสู่โอกาสใหม่ที่หลากหลาย ล้ำจินตนาการ และเป็นไปได้ของการผลิตคอนเทนต์ ผ่านคอร์สออนไลน์ “Introduction to Virtual Production: เพิ่มทักษะและเรียนรู้กระบวนการทำงานของ Virtual Production โดย Virtual Media Lab” ที่พร้อมพาทุกคนไปสำรวจโลกของ Virtual Production การถ่ายทำในระบบเสมือนจริงที่จะมาทลายขีดจำกัดของความสร้างสรรค์ ด้วยการต่อยอดการผลิตคอนเทนต์และผลักดันอุตสาหกรรมการผลิตสื่อให้เติบโตอย่างไรขีดจำกัด สู่การสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นได้มหาศาล
คอร์สนี้เหมาะสำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือนักสร้างสรรค์ ที่ต้องการเพิ่มความเข้าใจการผลิตสื่อด้วยระบบเสมือนจริง (Virtual Production) เรียนรู้การทำงาน ตั้งแต่การออกแบบการถ่ายทำ การใช้โปรแกรม Unreal Engine กระบวนการถ่ายทำ การใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทันสมัยต่าง ๆ ในการถ่ายทำ รวมถึงการสร้างฉาก แสง เสียง เทคนิคพิเศษ ที่ผสานโลกแห่งความเป็นจริง (Real) เข้ากับโลกเสมือน (Virtual) จากผู้มีประสบการณ์จริงในอุตสาหกรรม พร้อมนำเสนอกรณีศึกษามากมายจากทั่วโลกมาให้ได้เรียนรู้กันด้วย
คอร์สนี้เรียนอะไรบ้าง
Ep. 1 Introduction to Virtual Production
Ep. 2 Unreal Engine
Ep. 3 Creator ในโลก Virtual Technology
Ep. 4 The Making of Virtual Production
Ep. 5 Virtual Media Lab
ลงทะเบียนเข้าเรียนได้ทาง
academy.cea.or.th/course/81
ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรับ Certificate จาก CEA เมื่อจบหลักสูตร
(2) Metaverse 101
ร่วมเดินทางสู่โลกเมตาเวิร์ส จักรวาลเหนือจินตนาการที่จะเชื่อมต่อผู้คนผ่านโลกเสมือนจริง สร้างประสบการณ์และโอกาสใหม่ให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ไปกับ “Metaverse 101: เพิ่มความเข้าใจและเตรียมความพร้อมสู่โลกเสมือนจริง โดย Virtual Media Lab” คอร์สออนไลน์ที่เหมาะสำหรับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือนักสร้างสรรค์ พร้อมพาไปสำรวจความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับจักรวาลเหนือจินตนาการอย่างเมตาเวิร์ส (Metaverse) อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่เข้ามามีบทบาทบนโลกของเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Technology) ผ่านกรณีศึกษาและเทคโนโลยีที่ใช้กันในปัจจุบัน เช่น Virtual Reality (VR), Augmented Reality (AR) นับเป็นพื้นที่ที่สร้างประสบการณ์เชื่อมต่อระหว่างผู้คน มีศักยภาพมหาศาลในการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิต มอบประสบการณ์ใหม่ เพิ่มทางเลือกในการสร้างสรรค์ผลงาน ทั้งยังนำไปสู่การสร้างอาชีพและโอกาสใหม่ ๆ ให้กับกลุ่มธุรกิจ
คอร์สนี้เรียนอะไรบ้าง
Ep. 1 Into the Metaverse
Ep. 2 Digital Twin & Virtual Reality
Ep. 3 Metaverse Development
Ep. 4 Virtual Identity
ลงทะเบียนเข้าเรียนได้ทาง
academy.cea.or.th/course/82
ฟรี! ไม่มีค่าใช้จ่าย พร้อมรับ Certificate จาก CEA เมื่อจบหลักสูตร
ติดตามรายละเอียดและความเคลื่อนไหวของ Virtual Media Lab ได้ที่
Website: www.tcdc.or.th/virtualmedialab, www.cea.or.th
Facebook: www.facebook.com/tcdc.thailand, www.facebook.com/CreativeEconomyAgency
www.facebook.com/changebycea, www.facebook.com/CONNECTBYCEA
ข่าวประชาสัมพันธ์อื่น ๆ
CEA เปิดตัว Virtual Media Lab หนุนนักสร้างสรรค์ไทย ยกระดับคอนเทนต์ สร้างซอฟต์พาวเวอร์ สู่ตลาดสากล
Project Update
Exchange: 48H Virtual Production Filming Contest
วันที่ 29 ตุลาคม 2566 เวลา 13.00 - 15.00 น. มีการจัดงาน Exchange: 48H Virtual Production Filming Contest (Behind the Scene) กิจกรรมเสวนาเจาะลึกเบื้องหลังการแข่งขัน 48H Virtual Production Filming Contest การถ่ายทำภาพยนตร์ภายใน 48 ชั่วโมง ด้วยเทคโนโลยี Virtual Production โดยตัวแทนประเทศไทย 3 ทีม ซึ่งการแข่งขันดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากหลายประเทศในทวีปเอเชีย
ตัวแทนนักศึกษาของประเทศไทยมาจาก 3 ทีม ได้แก่ ทีมนักศึกษา สาขานิเทศศิลป์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, ทีมนักศึกษา สาขาวิชามีเดียอาร์ต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และทีมนักศึกษา สาขา Interactive Digital Arts มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โดยมี 1 ทีมจากประเทศไทยที่สามารถคว้ารางวัล Outstanding Work Award มาครองได้
งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ Virtual Production
Business Talk หัวข้อ "งานเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับ Virtual Production" เวลา 13.00 - 15.00 น. และ Creator Talk หัวข้อ “การสร้างผลงานสร้างสรรค์บนโลกเสมือน” เวลา 15.00 - 17.00 น.
เสวนาเชิงปฏิบัติการ Virtual Technology for Business Opportunities
ภายในงาน มีวิทยากรมากประสบการณ์ ทั้งคุณกอล์ฟ-ปวีณ ภูริจิตปัญญา ผู้กำกับจาก GDH, คุณเชาว์ คณาวุฒิกานต์ ผู้กำกับจาก Player 2 Productions, คุณแอมป์-อโรชา กิตติวิทยากุผล Entertainment Lighting Manager จาก L&E และคุณอู๊ด-ณัฏฐ์วรจิต อุดมลิขิตวงศ์ Co-Founder & Virtual Production Director จาก Real Bangkok มาร่วมให้ความรู้ แบ่งปันไอเดีย เผยมุมมองจากคนทำงานในอุตสาหกรรม และเล่าเรื่องราวจากประสบการณ์จริงในหัวข้อต่าง ๆ ทั้งเรื่องเทรนด์ Virtual Production ในปัจจุบัน, Virtual Production กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่อุตสาหกรรมสื่อ บันเทิง และธุรกิจ, ทักษะแรงงานที่เป็นที่ต้องการในการทำงาน Virtual Production, การเกิดขึ้นของธุรกิจใหม่ ๆ ในสายงานนี้ และการเตรียมความพร้อมในฐานะผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถรองรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว