เปิดแนวทางการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของ 10 เมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก
สรุปเนื้อหากิจกรรมการบรรยายแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Experience Sharing Session) ภายใต้ธีม “Becoming and Creating Impact as a Creative City” จากงาน Bangkok Creative City Dialogue ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2566 เปิดบทสนทนาว่าด้วยแนวทางการพัฒนาและผลกระทบเชิงบวกของการเป็นเมืองสร้างสรรค์ โดยวิทยากรผู้แทนจากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกทั้ง 10 เมือง 8 ประเทศ ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป ซึ่งจัดขึ้น ณ TCDC กรุงเทพฯ 9:00 - 12:00 น.
ร่วมค้นหาแรงบันดาลใจในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ จากเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ในภูมิภาคเอเชียและยุโรป 10 เมือง เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการพัฒนาและยกระดับเมืองสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นศักยภาพของกรุงเทพฯ ในฐานะเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ ส่งเสริมให้เกิดความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องผ่านโครงการต่าง ๆ รวมทั้งสำรวจความเป็นไปได้ของความร่วมมือระหว่างเมืองเครือข่ายในอนาคต
สำหรับเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกทั้ง 10 เมือง จาก 3 สาขา ได้แก่ การออกแบบ หัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน และอาหาร ที่มาร่วมแบ่งปันข้อมูลในครั้งนี้ ประกอบด้วย
1. Asahikawa City of Design (Japan)
2. Bandung City of Design (Indonesia)
3. Bangkok City of Design (Thailand)
4. Kuching City of Gastronomy (Malaysia)
5. Nagoya City of Design (Japan)
6. Perth City of Crafts and Folk Art (Scotland, United Kingdom)
7. Phetchaburi City of Gastronomy (Thailand)
8. Seoul City of Design (South Korea)
9. Singapore City of Design (Singapore)
10. Wuhan City of Design (China)
1. Asahikawa City of Design (Japan)
หัวข้อ “Diverse Ways to Realize Design City: The Challenge from Northern Hokkaido” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Asahikawa City of Design
“อซาฮิกาวาพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยแนวคิด “ป่าไม้แห่งการออกแบบ (Forest of Design)” และขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Asahikawa City of Design) ในปี 2019 เราใช้การออกแบบเพื่อส่งเสริมศักยภาพของคน ธรรมชาติ และวัฒนธรรม โดยจัดโครงการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ตามแนวคิดป่าไม้ เพื่อบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นต้นไม้แห่งความสุขและป่าที่อุดมสมบูรณ์
โครงการแรกคือต้นไม้แห่งประวัติศาสตร์ (History Tree) ที่แสดงให้เห็นจิตวิญญาณแห่งการบุกเบิก เมืองของเราก่อตั้งขึ้นมาได้เพียง 100 ปีและผ่านการเปลี่ยนแปลงมาหลากหลายรูปแบบ ในส่วนของต้นไม้แห่งอุตสาหกรรม (Industry Tree) อซาฮิกาวามีชื่อเสียงด้านป่าไม้ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์จึงโดดเด่น มีการจัดการแข่งขันการออกแบบเฟอร์นิเจอร์เป็นประจำทุกปี ต่อมาคือต้นไม้แห่งธรรมชาติ (Nature Tree) อาซาฮิกาวะเป็นเมืองที่มี 4 ฤดู จึงมีทิวทัศน์ที่สวยงามตลอดทั้งปี สามารถจัดกิจกรรมได้หลากหลาย สำหรับต้นไม้แห่งภูมิภาค (Region Tree) เราร่วมเป็นพันธมิตรกับเมืองข้างเคียงและรวมตัวกันเป็นภูมิภาคอซาฮิกาวา ที่ทั้งทันสมัย เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและสวนที่สวยงามกว่า 28 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่เมือง
สุดท้ายคือต้นไม้แห่งการศึกษา (Education Tree) เราจัดพื้นที่เมืองให้เป็นวิทยาเขตแห่งการศึกษา งานออกแบบใจกลางเมือง องค์กร พื้นที่นิทรรศการ และกิจกรรมให้ชาวเมืองและนักเรียนนักศึกษาได้ร่วมเรียนรู้ โดยผลสำรวจชี้ให้เห็นว่าผู้เข้าร่วมพึงพอใจกับการจัดงานและมีความตระหนักรู้เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) การออกแบบ และเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UCCN) มากขึ้น”
Ryoju Hamada
Senior Advisor at Asahikawa Focal Point
Asahikawa City of Design
Professor, Asahikawa Kosen College, Japan National Institute of Technology
2. Bandung City of Design (Indonesia)
หัวข้อ “From Bottom-Up Initiatives to Community Resilience” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Bandung City of Design
“บันดุงตั้งอยู่ในพื้นที่ชวาตะวันตกของประเทศอินโดนีเซีย มีผู้คนอาศัยอยู่ราว 50 ล้านคน เพราะฉะนั้น ในวันที่เราเข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Bandung City of Design) ในปี 2015 เราจึงคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในเชิงสร้างสรรค์กับเมืองของเรา และเลือกที่จะมีโครงสร้างการทำงานแบบล่างขึ้นบน จากประชาชนสู่ระดับนโยบาย
บันดุงมีผลงานสำคัญที่สนับสนุนการเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ ที่หลากหลาย เช่น การจัดกิจกรรม Design Thinking for Government หรือการนำหลักคิดเชิงออกแบบมาใช้ทำเวิร์กช็อประหว่างภาครัฐและภาคประชาชน เพื่อค้นหาหนทางแก้ไขปัญหาของเมือง กิจกรรมเปิดพื้นที่ให้คนในชุมชนได้แสดงผลงานและขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ของชุมชน เช่น Bandung Design Biennale 2017
สำหรับด้านยุทธศาสตร์ มีการออกแบบระบบนิเวศสร้างสรรค์ วางกรอบการทำงาน กำหนดหลัก 10 ประการในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย พร้อมพัฒนาระบบฐานข้อมูลดัชนีชี้วัดการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ เรายังมีโครงการที่เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแผนต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่ปี 2020 - 2030 และการจัดทำแผนดำเนินการพร้อมเผยแพร่ในงาน Bali Creative Economy Roadmap 2022 ฯลฯ ส่วนในปี 2023 นี้ จะมีงานสำคัญ 2 งานด้วยกัน ได้แก่ The Future of Creative Economy และ Bandung Design Biennale 2023 เพื่อต่อยอดการพัฒนาในด้านต่าง ๆ”
Dwinita Larasati
Expert Board
Bandung Creative Economy Committee
3. Bangkok City of Design (Thailand)
หัวข้อ “Transforming Bangkok with Design and Creativity” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Bangkok City of Design
“กรุงเทพฯ นับเป็นเมกะซิตี้ที่เต็มไปด้วยความท้าทายในด้านต่าง ๆ และต้องอาศัยการออกแบบเข้ามาช่วย เพื่อนำสินทรัพย์ที่มีมาพัฒนาให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ ดึงดูดการลงทุน และน่าท่องเที่ยว ทั้งยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
การออกแบบแบ่งเป็นหลายประเด็น ประเด็นแรกคือการออกแบบเมือง (Designing the City) กรุงเทพฯ พยายามผลักดันและแก้ปัญหาของเมืองอยู่เสมอผ่านหลาย ๆ โครงการ เช่น การปรับพื้นที่คลองโอ่งอ่าง ที่นอกจากจะสวยงาม น่าอยู่ขึ้นแล้ว ยังสร้างเม็ดเงินทางเศรษฐกิจ ประเด็นที่ 2 คือการออกแบบชุมชน (Designing Communities) เราทำการทดลองเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของชุมชน เช่น พื้นที่สาธารณะและการเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวเข้าด้วยกัน ประเด็นถัดมาคือการออกแบบความมั่งคั่ง (Designing Wealth) ประเทศไทยมีนักออกแบบอยู่ประมาณ 1 ล้านคน และกว่าครึ่งก็อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เราจึงพยายามใช้ความสามารถของกลุ่มคนเหล่านี้ มาช่วยขับเคลื่อนการธุรกิจที่แปลกใหม่และยั่งยืน
ต่อมาคือการออกแบบเมืองสีเขียว (Designing Green City) กรุงเทพฯ ให้ความสนใจและพัฒนาพื้นที่สีเขียวอย่างต่อเนื่อง เราได้เห็นสวนสาธารณะและโครงการลดมลพิษจากระบบขนส่งสาธารณะแบบไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น ประเด็นสุดท้ายคือการออกแบบภาพจำ (Designing of Branding) ผ่านกิจกรรมหรืออีเวนต์ต่าง ๆ ที่นำเสนอผลงานออกแบบของไทย อย่างเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ (Bangkok Design Week) ซึ่งอยู่ใต้ร่มของการออกแบบเพื่อให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าจดจำ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 6 และทุก ๆ ปีเราก็มีผลงานจากเทศกาลฯ ที่เกิดขึ้นจริง เช่น การทดลองออกแบบป้ายรถเมล์ที่มีต้นแบบจัดแสดงในงานและติดตั้งใช้งานจริงไปแล้วกว่า 1,000 จุด หรือการจัดแสดงแสงสีเพื่อเปิดโอกาสให้พื้นที่ที่ขาดโอกาส ดึงดูดให้ผู้คนเดินเข้าไปตามตรอกซอกซอยจนเกิดเป็นจุดหมายใหม่ในการท่องเที่ยว
อีกประเด็นสำคัญคือการทำระบบฐานข้อมูล Creative City Index ที่จัดทำขึ้นเพื่อผู้กำหนดนโยบาย นักสร้างสรรค์ นักท่องเที่ยว และชุมชนเอง โดยเราเริ่มต้นจาก 5 เมืองหลัก จนถึงวันนี้ได้ขยายออกไปกว่า 33 เมือง ผ่านเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ประเทศไทย (Thailand Creative District Network: TCDN)”
Pichit Virankabutra
Deputy Director
Creative Economy Agency
4. Kuching City of Gastronomy (Malaysia)
หัวข้อ “Community Building to Create Impact as a Creative City” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Kuching City of Gastronomy
“เมืองกูชิงเป็นเมืองหลวงและเมืองที่มีประชากรมากที่สุดของรัฐซาราวัก ประเทศมาเลเซีย ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1820 โดดเด่นในฐานะเมืองแห่งการค้า การแลกเปลี่ยน ศิลปวัฒนธรรม และความหลากหลายทางเชื้อชาติ การเป็นเมืองการค้าและเมืองที่มีความหลากหลายสูงนี้เอง ทำให้วัฒนธรรมอาหารของเมืองมีความหลากหลาย และเป็นที่มาของการขึ้นทะเบียนในฐานะเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาอาหาร (UCCN - Kuching City of Gastronomy) ในปี 2021
สำหรับความท้าทายในการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ สาขาอาหาร มีหลายประเด็นที่เราต้องช่วยเหลือและผลักดันให้ดีขึ้น ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะเรื่องวัฒนธรรม แต่ยังหมายรวมถึงงานด้านเกษตรกรรมด้วย ตัวอย่างสำคัญคือการส่งต่อภูมิปัญญาในการเพาะปลูกส่วนผสมให้คงคุณภาพและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ไปยังคนรุ่นใหม่ สำหรับการทำงานในอีก 4 ปีข้างหน้า เป้าหมายเบื้องต้นของเราคือการเป็นศูนย์กลางทางความสร้างสรรค์ สาขาอาหาร สร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคีและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และสร้างการรับรู้ให้กับเมือง โดยโครงสร้างการทำงานจะต่างจากเมืองบันดุงตรงที่ของเราเป็นระบบจากบนลงล่าง เราเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน และตั้งเป้าที่จะแก้ไขปัญหาของเมือง โดยเริ่มต้นจากกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นของคนในชุมชนและอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนจัดกิจกรรมถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก
สิ่งสำคัญที่สุดคือการทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนเข้าใจตรงกัน มองเห็นเป้าหมายเดียวกัน และพร้อมที่จะทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเครื่องมือด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ประเภทต่าง ๆ โจทย์สำคัญอยู่ที่การเลือกใช้รูปแบบที่เหมาะสมกับโครงสร้างการทำงานแบบบนลงล่าง”
Karen Shepherd
Strategic Director
UCCN Kuching City of Gastronomy
5. Nagoya City of Design (Japan)
หัวข้อ “Streaming Heritage | Between the Plateaus and the Sea” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Nagoya City of Design
“นาโกย่ามีประชากร 2 ล้าน 3 แสนคน ถือเป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นและใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศญี่ปุ่น เราเข้าร่วมเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาการออกแบบ (UCCN - Nagoya City of Design) ในปี 2008 ด้วยวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการ ได้แก่ การบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม และการสร้างเครือข่ายทางวัฒนธรรมร่วมกับ UCCN ตัวอย่างที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ คือโครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการออกแบบของนักศึกษา ชื่อ “Granag Project” ระหว่างเมืองกราซของออสเตรียและเมืองนาโกย่าในปี 2012
สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และสังคมให้ยั่งยืนในฐานะเมืองสร้างสรรค์นั้น เรามุ่งเน้นการสืบทอดสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมและนำมาพัฒนาต่อยอด นี่คือหลักคิดเบื้องหลังกิจกรรม Streaming Heritage ซึ่งนำเสนอศิลปวัฒนธรรม การผสมผสานประวัติศาสตร์เข้ากับความร่วมสมัยในรูปแบบของศิลปะการจัดวาง กิจกรรมสัมมนาแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ตลอดจนศิลปะการแสดงผสานเทคโนโลยี เพื่อกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมของเมือง
การจัดงาน Streaming Heritage มีศูนย์กลางที่แม่น้ำขนาดเล็กที่ไหลผ่านเมืองนาโกย่า ซึ่งเป็นแม่น้ำสำคัญด้านการค้าขายและขนส่งในอดีตที่ผู้คนเริ่มจะหลงลืม กิจกรรมนี้จึงช่วยกระตุ้นให้ผู้คนกลับมาเห็นความสำคัญของแม่น้ำสายนี้เช่นกัน ผลงานที่นำเสนอในงานนั้นหลากหลาย ทั้งการแสดงศิลปะโบราณ การแสดงแสงสีเสียง การแสดงภาพแอนิเมชันประกอบดนตรี ฯลฯ สำหรับครั้งล่าสุดในปี 2022 เราได้เพิ่มกิจกรรมความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เช่น งานศิลปะร่วมกับประเทศออสเตรเลีย หลังจากที่การระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง”
Eriko Esaka
Program Director
Nagoya, UNESCO City of Design Organizing Committee
6. Perth City of Crafts and Folk Art (Scotland, United Kingdom)
หัวข้อ “Perspectives from Perth and Dundee, UK” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Perth City of Crafts and Folk Art
“เพิร์ธเป็นเมืองขนาดเล็กในสกอตแลนด์ ที่มีประชากรเพียง 15,000 คน และมีความเป็นเมืองชนบทสูง เราขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (UCCN - Perth City of Crafts and Folk Art) ในปี 2021
นิยามของคำว่าหัตถกรรมของเพิร์ธไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะหัตถกรรมพื้นบ้านหรือการเย็บปักถักร้อยเท่านั้น แต่หมายรวมถึงผลงานทำมือรูปแบบต่าง ๆ ครอบคลุมงานศิลปะไปจนถึงเครื่องดื่มพื้นบ้าน งานคราฟต์ของเราจึงเปี่ยมไปด้วยวิถีชีวิตของผู้คน เพิร์ธเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ทั้งยังเป็นเมืองการค้าในอดีต มีจุดเด่นทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวอยู่ที่ประมาณ 5.5 ล้านคน งานคราฟต์ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมจึงส่งเสริมและสอดรับกับการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
เพิร์ธวางแผนที่จะสร้างศูนย์วัฒนธรรมแห่งใหม่เร็ว ๆ นี้ และจัดทำโครงการต่าง ๆ เช่น Reimagine the High Street ที่มีเป้าหมายในการพลิกพื้นถนนสายการค้าให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง หรือการใช้ศิลปะเพื่อการตกแต่ง อย่างการออกแบบป้ายอักษรไฟ ที่นอกจากจะสวยงามแล้ว ยังให้ความส่องสว่าง เพิ่มความปลอดภัยให้กับพื้นที่และกระตุ้นการท่องเที่ยว เรายังส่งเสริมให้ศิลปินทำงานในสตูดิโอที่บ้านและให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมผลงานตามวิถีชีวิตของคนท้องถิ่นได้ นอกจากนี้ รัฐบาลของสกอตแลนด์ยังร่วมกับหน่วยงานด้านการท่องเที่ยวในการพัฒนาฐานข้อมูลที่เรียกว่า Scotland’s UNESCO Trail ที่ระบุตำแหน่งสถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดยยูเนสโก พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของสถานที่นั้น ๆ เผยแพร่ให้ทุกคนได้ใช้งานในอนาคต”
Anna Day
Cultural Public Programme Manager
Perth & Kinross Council
7. Phetchaburi City of Gastronomy (Thailand)
หัวข้อ “Phetchaburi Creative City of Gastronomy - Knowledge Exchange on Becoming and Creating Impact as a Creative City” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Phetchaburi City of Gastronomy
“เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่โดดเด่นด้านอาหาร เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาอาหาร (UCCN - Phetchaburi City of Gastronomy) ในปี 2021 เราต้องเตรียมพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งการบรรจุแผนขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์เข้าไปในแผนยุทธศาสตร์จังหวัด การสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนให้ทำงานสอดรับกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ การผสานอาหารเข้ากับวัฒนธรรมด้านอื่น ๆ ด้วยการออกแบบเพื่อส่งเสริมซึ่งกันและกัน และการสร้างเครือข่ายเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนการเป็นเมืองสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
การที่เพชรบุรีเป็นสมาชิก UCCN ทำให้ผู้คนในจังหวัดเกิดความตื่นตัวและสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับเมืองสร้างสรรค์และเกิดความภูมิใจในสินทรัพย์ของจังหวัดมากขึ้น ทั้งยังทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ ยินดีและกระตือรือร้นที่จะให้การร่วมมือในโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เรายังต่อยอดให้กับอาหารและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ด้วยการออกแบบและบอกเล่าเรื่องราวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างศักยภาพด้านการแข่งขัน
ทั้งหมดนี้ล้วนส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด สร้างประโยชน์ให้ทั้งระบบ ไม่จำกัดเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตาม การเป็นเมืองสร้างสรรค์ยังมีความท้าทายที่ต้องจัดการ นั่นคือการทำให้ชุมชนเติบโตอย่างยั่งยืนและอยู่ได้ด้วยตัวเอง และทุกอำเภอต้องสามารถสร้างความโดดเด่นด้านอาหารและความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองได้ในอนาคต”
Wanpen Mungsri
Vice Governor of Phetchaburi Province
8. Seoul City of Design (South Korea)
หัวข้อ “For Sustainable Life” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Seoul City of Design
“ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าโซลเป็นเมืองแห่งการออกแบบก็เช่น ทงแดมุนพลาซ่า (Dongdaemun Design Plaza) ที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด-19 เราคิดหาวิธีไม่ให้พื้นที่ถูกปิดและคืนความคึกคักให้กับพื้นที่หลังจากนั้น จึงใช้นวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาช่วยและจัดกิจกรรม Seoul Light Show ขึ้น จนกลายเป็นงานประจำปีสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2019 ทางด้านโซลอัปไซคลิงพลาซ่า (Seoul Upcycling Plaza) มีภารกิจหลักในการคิดหาวิธีในการนำวัสดุต่าง ๆ กลับมาใช้ใหม่ โดยปลูกฝังให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาขยะคือปัญหาของทุกคน และการนำพลาสติกกลับมาใช้ใหม่หรือสร้างคุณค่าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ศูนย์บ่มเพาะการออกแบบแห่งโซล (Seoul Design Incubating Center) จัดตั้งขึ้นเพื่อเปิดพื้นที่ให้นักออกแบบรุ่นใหม่เข้ามาพูดคุยและใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนเข้าอบรมในหลักสูตรเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นต่าง ๆ
ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ (UCCN - Seoul City of Design) เรามีหลักการด้านการออกแบบของโซล 5 ประการ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกแบบ ได้แก่ การออกแบบด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathetic Design) การออกแบบเพื่อทุกคน (Inclusive Design) การออกแบบเพื่อการส่งเสริม (Contributive Design) การออกแบบเพื่อการปรับตัว (Resilient Design) และการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) ตัวอย่างโครงการที่สอดคล้องกับหลักการทั้ง 5 ประการนี้ คือการจัดประกวดไอเดียด้านความยั่งยืน Seoul Design Award for Sustainable Life เพื่อส่งเสริมแนวคิดเมืองสำหรับทุกคน เราต้องการให้ผลงานสร้างสรรค์เหล่านี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทุกที่ทั่วโลก ไม่จำกัดเฉพาะที่โซล เพื่อร่วมเผยแพร่แนวคิดการสร้างเมืองที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน”
Ayoung UM
Team Leader
Seoul Design Foundation
9. Singapore City of Design (Singapore)
หัวข้อ “Loveable Singapore Project” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Singapore City of Design
“สิงคโปร์มีโครงการ Loveable Singapore Project ซึ่งดำเนินงานมาสักพักแล้ว เรามองว่าพลเมืองที่มีความสุข (Happy Citizens) คือพลเมืองที่ปรับตัวได้ดีและอยู่ในเมืองที่ปรับตัวได้ดีเช่นกัน เมื่อพลเมืองปรับตัวได้ดี เมืองก็จะสามารถผ่านพ้นอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้
เราส่งต่อความรักให้เมืองผ่าน 4 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือการยินดีต่อความรักที่ได้รับ (Appreciating Love) เช่น กิจกรรมให้ผู้คนร่วมบริจาคสิ่งของแห่งความทรงจำไปจัดแสดงในตึกรามบ้านช่องที่เก่าแก่ เพื่อให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของมรดกเหล่านี้อีกครั้ง ปัจจัยที่ 2 คือการส่งต่อความรัก (Giving Love) เช่น การทำเวิร์กช็อปด้านการออกแบบในชุมชน โดยให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็นว่ารักและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงเรื่องอะไร ต่อมาคือการรังสรรค์ความรัก (Creating Love) เช่น กิจกรรมที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 อย่างกลุ่มแรงงานต่างชาติที่อาศัยร่วมกันในชุมชนเล็ก ๆ ที่มารวมตัวและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน สุดท้ายคือความรักแบบไม่คาดหวัง (Unexpected Love) คือการสร้างบรรยากาศแห่งความสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับการออกแบบในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ผู้คนทุกวัยได้ใช้พื้นที่ร่วมกัน
ในอนาคตสิงคโปร์มุ่งเน้นการกระตุ้นให้เมืองเกิดความสร้างสรรค์ ผ่านโครงการอย่าง School of Community Bootcamp ที่เป็นการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ นักออกแบบ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ให้เข้าร่วมเสนอแนวคิดในการแก้ปัญหาหรือส่งเสริมความสร้างสรรค์ในด้านใดด้านหนึ่ง ทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้หน่วยงานนั้น ๆ ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงมากยิ่งขึ้น”
Kelly Tan
Deputy Director
Market Development, Design Singapore Council
10. Wuhan City of Design (China)
หัวข้อ “Urban Renewal: Old City, New Life” โดยวิทยากรผู้แทนจาก Wuhan City of Design
“อู่ฮั่นเป็นเมืองขนาดใหญ่ในมณฑลเหอนาน ประเทศจีน ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 3,500 ปี และขึ้นทะเบียนเป็นเมืองสร้างสรรค์ สาขาการออกแบบ (UCCN - Wuhan City of Design) ในปี 2017 ด้วยแนวคิด Old City, New Life มีเป้าหมายในการเปลี่ยนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบโดยมีพลเมืองเป็นศูนย์กลาง โครงสร้างการดำเนินงานของอู่ฮั่นเป็นแบบบนลงล่าง มีลำดับหน่วยงานทำหน้าที่ที่ชัดเจน
หลังเข้าเป็นสมาชิก UCCN เรามีการกำหนดแผนการและแนวนโยบายที่ชัดเจน โดยหันไปมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมการออกแบบแบบองค์รวม ให้คนในแวดวงต่าง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทั้งแฟชั่น อีสปอร์ต แอนิเมชัน ดนตรี และอาหาร โดยมีการออกแบบด้านวิศวกรรมเป็นตัวนำทาง รัฐบาลได้ออกนโยบายกระตุ้นแรงจูงใจต่าง ๆ เพื่อดึงให้บุคคลทั่วไปนำเสนอโครงการและมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการจัดอบรมให้กับนักออกแบบรุ่นใหม่กว่า 5,000 คนในแต่ละปี ทั้งยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ในรูปแบบการประชุมและเทศกาลที่หลากหลายอย่างต่อเนื่อง เช่น Wuhan Design Biennale ที่ผสมผสานวัฒนธรรมเข้ากับเทคโนโลยี ผสานเมืองเก่าเข้ากับวิถีชีวิตใหม่ โดยมีผู้เข้าร่วมจากประเทศเครือข่ายต่าง ๆ มากมาย
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมมือระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ทั้งโครงการแลกเปลี่ยน โครงการอบรม นิทรรศการ การประกวด และเวิร์กช็อปต่าง ๆ ในอนาคตเราจะยังคงดำเนินโครงการที่เคยทำไว้อย่างต่อเนื่อง แต่จะมุ่งเน้นคุณภาพให้มากขึ้น เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมการออกแบบ รวมถึงการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์ของอู่ฮั่นมากยิ่งขึ้น”
Ivy Yao
Communication Officer
Wuhan Design Industry Promotion Centre