เปิด Landscape วงการภาพยนตร์และซีรีส์ไทย จากงาน Content Lab 2024 Open House
ความสำเร็จของโครงการ Content Lab สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ที่เริ่มขึ้นในปี 2566 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - สิงหาคม เพื่อเป็นแพลตฟอร์มผลักดัน “อุตสาหกรรมคอนเทนต์ไทย” ให้ “ขายได้” ยกระดับให้ก้าวสู่ตลาดสากล นำมาสู่การที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA จัดทำโครงการ Content Lab 2024 สร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ดันไกลสู่สากล ขึ้นอย่างต่อเนื่องในปีนี้
ก่อนจะเริ่มคอร์สเรียนแบบเข้มข้นที่ออกแบบโดยเฉพาะ เพื่อพัฒนาทักษะนักสร้างสรรค์ภาพยนตร์และซีรีส์ไทยระดับ Mid-Career CEA ได้จัดกิจกรรม Content Lab 2024 Open House เพื่อแนะนำโครงการโดยละเอียด พร้อมจัดเวทีเสวนาถึงภาพรวมของวงการภาพยนตร์และซีรีส์ไทย ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญของวงการมากถึง 14 ท่าน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ ห้อง Virtual Media Lab ชั้น 4 โดยคุณอินทพันธ์ุ บัวเขียว รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวเปิดงาน Content Lab 2024 Open House
นอกจากโครงการ Content Lab 2024 แล้ว CEA ยังคงมีเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างสรรค์คอนเทนต์เพิ่มอีกหลายโครงการในปีนี้ เช่น โครงการ Content Lab: Newcomers ใน 3 ภูมิภาคของประเทศ, โครงการ Content Lab: Advanced Scriptwriting สำหรับการยกระดับทักษะนักเขียนบทมืออาชีพ, โครงการ Content Lab: Animation สำหรับนักสร้างสรรค์กลุ่มแอนิเมชัน เป็นต้น
สำหรับเสวนาเปิดตัวโครงการ Content Lab 2024 Open House ในครั้งนี้ มีทั้งหมด 4 เซสชั่น ที่ชวนนักสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทยมาแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองแบบอัดแน่น จาก 14 วิทยากรตัวจริงในแวดวงคอนเทนต์ไทย และเตรียมความพร้อมทักษะที่จำเป็นสู่การยกระดับพลังการปั้นโปรเจ็กต์ภาพยนตร์และซีรีส์ ให้สร้างสรรค์ น่าสนใจ มีเนื้อหาคุณภาพสูง และตอบโจทย์ตลาดสากลมากกว่าที่เคย
ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Content Lab
และรับชมวิดีโองานเสวนาย้อนหลังได้ที่ YouTube: CreativeEconomyAgency
Session 1: Everything you need to know about Content Lab 2024! ทุกเรื่องต้องรู้เกี่ยวกับโครงการ Content Lab 2024
วิทยากรโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้จัดทำหลักสูตรและผู้ดำเนินการโครงการ และ พิมพกา โตวิระ ผู้ดำเนินการโครงการ
คุณอาทิตย์ อัสสรัตน์ ผู้จัดทำหลักสูตรและผู้ดำเนินโครงการ กล่าวว่าในปีนี้ Content Lab 2024 จะปรับเนื้อหาและหลักสูตรให้เหมาะกับคนทำงานในระดับ Mid-Career มากยิ่งขึ้นทั้งในสายภาพยนตร์และซีรีส์ โดยผู้สมัครจะต้องสมัครเข้ามาเป็นทีมพัฒนาโปรเจ็กต์ (Creative Team) โดยไม่ต้องระบุตำแหน่ง แต่มีอย่างน้อย 1 คนในทีมที่มีประสบการณ์การทำงานอย่างน้อย 5 ปี และเน้นไปที่โปรเจ็กต์ที่จะสามารถพัฒนาต่อไปในเชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของกลุ่มผู้ผลิตที่จะเข้ามาฟัง Pitch และทำ Business Matching ในช่วงท้ายของโครงการ โครงสร้างของหลักสูตรในปีนี้จึงจะประกอบไปด้วยการ Lecture ผ่าน Case Study จากผู้มีประสบการณ์การทำภาพยนตร์หรือซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จโดยตรง เพื่อที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมเห็นถึงแนวทางในการพัฒนาโปรเจ็กต์ให้ประสบความสำเร็จจากกรณีศึกษาจริง รวมถึงทักษะที่ผู้ผลิตจำเป็นต้องรู้สำหรับการพัฒนาโปรเจ็กต์ อย่างเช่นวิชา Project Development for Producers, Sales and Distribution และ How to Pitch นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้พัฒนาโปรเจ็กต์ผ่านการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัวในช่วง 1 on 1 Mentor Session และพัฒนาบทของตัวเองต่อในช่วง Writer’s Room จนออกมาเป็น Pitch Deck ที่พร้อมสำหรับการขายโปรเจ็กต์ต่อไป
ทางด้านคุณพิมพกา โตวิระ ผู้ดำเนินโครงการ Content Lab 2024 กล่าวเพิ่มเติมว่า “ไอเดียของหลักสูตรในปีนี้ คือการมองว่าทำยังไงให้ Creative Team สามารถผลักดันโปรเจ็กต์ของตัวเองให้ออกมาดีที่สุด และทำให้โปรเจ็กต์แข็งแรงสำหรับการทำ Business Matching เหมือนกับที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์และซีรีส์ในระดับสากลปฏิบัติจริง”
Session 2: Where do the great ideas come from? ไอเดียที่ดีมาจากไหน?
วิทยากร: ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งสตูดิโอคำม่วน, สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ธี่หยด, อมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบทซีรีส์ Analog Squad, สุรศักดิ์ ป้องศร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ สัปเหร่อ
ดำเนินการเสวนาโดย: พวงสร้อย อักษรสว่าง
ในหัวข้อเสวนา “Where do great ideas come from ไอเดียที่ดีมาจากไหน?” วิทยากรทั้ง 4 ท่านได้ให้ความเห็นจากประสบการณ์ของตนเอง ว่าไอเดียที่ดีนั้นจะต้องมาจากเรื่องที่ให้แรงบันดาลใจแก่เรา ทำให้เราเห็นภาพ จินตนาการออก และอยากนำไปสื่อสารให้คนอื่นสามารถเชื่อมโยงกับประสบการณ์ที่เรามีกับมันได้ “ไอเดียที่ดีมาจากสิ่งที่เราเข้าใจมันมากที่สุด และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เห็นไอเดียนั้นในหลายมิติ สามารถมองในมุมที่คนอื่นไม่ได้มอง แล้วตีแผ่มันออกมาให้คนเข้าใจในมุมที่หลากหลายมากขึ้นได้ แม้แต่กับเรื่องธรรมดา ๆ ก็ตาม” คุณสุรศักดิ์ ป้องศร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ สัปเหร่อ กล่าว หลังจากยกตัวอย่างเรื่องภาพยนตร์ ไทบ้าน ที่ต้องการจะทำภาพยนตร์ให้คนดูได้เห็นวัฒนธรรมอีสานผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ในมุมที่แตกต่างจากภาพจำของอีสานแบบเก่าในสื่อ
ขณะเดียวกันการนำเทรนด์ที่เกิดขึ้นในกระแสสังคมมาพัฒนาเป็นไอเดีย ก็เป็นสิ่งที่ควรพึงระวัง คุณอมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบทซีรีส์เรื่อง Analog Squad กล่าวเพิ่มเติมว่า “เทรนด์นั้นมาไวไปไว แต่กระบวนการทำหนังกว่าจะเสร็จอย่างน้อยใช้เวลาเป็นปี เทรนด์ที่เราจับมามันอาจตกยุคไปแล้ว ไม่สร้างความรู้สึกร่วมให้กับคนดู เพราะเป็นสิ่งที่เรารู้แค่ผิว ๆ ไม่ได้รู้ลึก ถ้าเราไม่มีความรู้เกี่ยวกับมัน เราก็ถ่ายทอดออกมาไม่ได้ หัวใจสำคัญของหนังหรือเรื่องเล่าคือความเป็นมนุษย์ แต่เทรนด์มันเปลือกไปกว่านั้น”
คำถามต่อมาคือเรื่องของการนำไอเดียที่มีอยู่แล้วในสื่ออื่น เช่น หนังสือ เว็บกระทู้ หรือการ์ตูน มาพัฒนาต่ออย่างไรให้น่าสนใจ คุณสรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์ ผู้เขียนบทภาพยนตร์ ธี่หยด ที่ประสบความสำเร็จจากการนำเรื่องเล่ายอดนิยมในกระทู้พันทิปมาพัฒนาเป็นบทภาพยนตร์ ให้ข้อสังเกตว่าเราต้องหาประเด็นที่คนอื่นยังไม่รู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นมานำเสนอใหม่ให้คนสนใจให้ได้ และสิ่งที่ต้องเสริมเพิ่มคือเรื่องที่มาที่ไปของตัวละครในเรื่อง ไปจนถึงจุดเผชิญหน้าของตัวละครว่าจะใช้วิธีใดในการแก้ปัญหา “Content is King but Context is God. บริบททางสังคมสำคัญมาก ปัจจุบันถ้าผีสิงเราจะกลัว แล้วมีความเชื่อแบบวาทกรรมเดิมว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่หรือเปล่า ในยุคนี้คนอาจจะรู้สึกอยากเอาคืนมากกว่า เราเลยถอดวาทกรรมเดิม แล้วปรับให้เข้ากับความเชื่อของคนแบบใหม่”
นอกจากบริบทของสังคม ช่วงเวลาในการเลือกนำเสนอไอเดียก็สำคัญเช่นเดียวกัน คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล ผู้กำกับและผู้ก่อตั้งสตูดิโอคำม่วน เล่าถึงประสบการณ์ในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม ในวันที่สังคมยังไม่คุ้นชินกับวัฒนธรรมของ LGBTQ+ ความกล้าของผู้ผลิตในการผลักดันประเด็นใหม่ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะสามารถสร้างมุมมองใหม่ให้กับสังคมได้ คุณอมราพรเสริมในประเด็นเดียวกันว่า “ไอเดียเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่เราไม่รู้ว่ามันจะงอกหรือไม่งอก เราต้องทำให้มันเป็นต้นก่อน แล้วถึงจะย้อนกลับไปดูให้มั่นใจได้ว่าเมล็ดพันธุ์นั้นมันดีหรือไม่ดี บางเมล็ดดูดีแต่ก็อาจจะปลูกไม่ขึ้น และต้องปลูกให้ถูกที่กับดินที่เหมาะกับมันด้วย”
การสร้างไอเดียหรือเรื่องเล่าต้องอาศัยความเป็นมนุษย์มาเป็นแก่นของการเล่าเรื่องเสมอ คุณสรรัตน์กล่าวว่า “ความเป็นมนุษย์ต้องอาศัยความเข้าใจทั้งชีวิตมาตกตะกอน เราต้องมองหาความจริงแท้ให้เจอ เหมือนสัจธรรมที่สามารถใช้ได้ในทุกยุคทุกสมัย เพราะบางเรื่องเวลาผ่านไปมันอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ความเป็นมนุษย์จึงซับซ้อน มันพูดเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก จิตใต้สำนึก ยกตัวอย่างเช่น ในภาพยนตร์ สัปเหร่อ ที่พูดถึงเรื่องความตาย ซึ่งเป็นภาษาสากล ถึงเราจะเล่าในบริบทของคนอีสาน แต่คนทั่วไปก็สามารถมีส่วนร่วมไปกับมันได้”
จากนั้นวิทยากรทุกท่านได้พูดคุยถึงเรื่องกระบวนการเขียนบท ทั้งแบบคนเดียวและการเขียนร่วมกับคนอื่นเป็นทีม คุณชูเกียรติได้ให้ข้อสังเกตว่านักเขียนบทบางคนชอบทำงานกับตัวเอง บางคนชอบทำงานร่วมกับคนอื่น มีทั้งคนที่โยนไอเดียและคนที่ตั้งคำถาม หัวหน้าทีมจึงต้องหาวิธีที่เหมาะกับรูปแบบการทำงานของคนในทีมด้วย นอกจากนี้ คุณอมราพรเสริมว่าทักษะที่สำคัญของคนเขียนบท คือการเลือกรับคอมเมนต์ให้เป็น ดูว่าอะไรคือคอมเมนต์ที่ใช่แล้วทำงานกับมันต่อ ควรจะมีประเด็นที่ชัดเจนในการคุยบทแต่ละครั้ง ประชาธิปไตยอาจจะใช้ไม่ได้กับการเขียนบท เลยต้องมีการตัดสินใจจากหัวหน้าทีม ที่จะบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เหมาะกับแนวทางของเรื่องที่เรากำลังเล่าอยู่
สุดท้ายวิทยากรทั้ง 4 ท่านได้แบ่งปันประสบการณ์การทำงานเป็นคนเล่าเรื่อง ว่าเป็นอาชีพที่ต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะ ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วเราจะประสบความสำเร็จได้เสมอไป และเป็นงานที่ต้องรับความเห็นจากคนที่หลากหลาย “ไม่ใช่ว่าทุกเรื่องที่เราเล่าจะประสบความสำเร็จ เราต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่มนุษย์ยังต้องการเรื่องเล่าอยู่เสมอ เป็นหนึ่งในงานที่ไม่ได้มีคุณค่าน้อยไปกว่าหมอ เพราะเรื่องเล่าเป็นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ด้วยความเชื่อบางอย่าง เราสร้างเรื่องเล่าไม่ได้เพื่อมอมเมาสังคม แต่เพื่อให้สังคมสามารถเดินต่อไปได้” คุณชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล กล่าวปิดท้ายการเสวนา
Session 3: Is Thai Cinema making a comeback? เทรนด์ภาพยนตร์ไทยในโรงภาพยนตร์กำลังกลับมา?
วิทยากร: นคร โพธิ์ไพโรจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภาพยนตร์ เนรมิตรหนังฟิล์ม, เอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Brandthink, พิทยา สิทธิอำนวย ผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ สหมงคลฟิล์ม, บรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ GDH559
ดำเนินการเสวนาโดย: ก้อง ฤทธิ์ดี
เสวนาหัวข้อนี้เปิดประเด็นด้วยคำถามว่าภาพรวมอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในปี 2023 ที่ผ่านมาเป็นอย่างไร และแนวโน้มความสำเร็จของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร ผู้ร่วมเสวนาทุกท่านให้ความเห็นตรงกันว่าภาพรวมอุตสาหกรรมหนังในช่วงหลังโควิด-19 นั้นเปลี่ยนไปอย่างมาก เนื่องจากต้นทุนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนไป และมีผู้เล่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอย่าง Streaming Platform คุณนคร โพธิ์ไพโรจน์ รองประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภาพยนตร์ เนรมิตรหนัง กล่าวว่า “วงการภาพยนตร์เปลี่ยนทุกไตรมาส คุยกันเป็นปีไม่ได้ ปลายปีที่แล้ว Streaming Platform เข้ามาแข่งขันกันเยอะมาก แต่ต้นปีนี้เหลือผู้เล่นน้อยลง ณ ตอนนี้เลยต้องกลับมาทบทวนกันว่าวงการภาพยนตร์จะไปทางไหน ไม่ใช่แค่ที่ไทยแต่ทั่วโลก วิกฤตสามารถกลับมาได้อีกเสมอ และการทำหนังที่ประสบความสำเร็จก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะประสบความสำเร็จไปตลอด”
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังคงต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมบันเทิงอื่นอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังโควิด-19 ที่ทุกอย่างฟื้นตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอีเวนต์ คอนเสิร์ต หรือแม้กระทั่งสื่อออนไลน์อย่าง YouTube ก็ตาม คุณพิทยา สิทธิอำนวย ผู้อำนวยการฝ่ายขายต่างประเทศ สหมงคงฟิล์ม เสริมว่าแต่ละปีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยผลิตภาพยนตร์เยอะมาก แต่การแข่งขันนั้นสูงมาก เนื่องจากเป็นภาพยนตร์ที่พูดภาษาถิ่น มีคนฟังอยู่จำนวนน้อย เมื่อเทียบกับภาพยนตร์สากลที่มีคนใช้ภาษานั้นเยอะกว่า อีกทั้งภาพยนตร์เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องลงทุนสูง “ค่าตั๋วภาพยนตร์ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ยุคนี้การออกไปดูหนัง 1 ครั้งต้องใช้จ่ายสูงมาก ไม่เหมือนสมัยก่อนที่คนออกไปดูหนังค่าตั๋วไม่ถึงร้อย เดือนหนึ่งคนทั่วไปเลยดูหนังในโรงได้ไม่กี่เรื่อง หนังไทยมีคนสร้างทุกปี แต่คนเลือกที่จะไปดูกันไหม หรือเลือกหนังฝรั่ง หนังญี่ปุ่น มันเป็นการตัดสินใจทางเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องรสนิยม ภาพยนตร์เลยเป็นศาสตร์ที่ยากเพราะเป็นศิลปะ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นพาณิชย์ด้วย” คุณพิทยากล่าว
ปัจจุบันกลุ่มคนดูในช่วงวัยรุ่นไม่ค่อยมีวัฒนธรรมการออกมาชมภาพยนตร์มากนัก กลุ่มเป้าหมายที่เป็นวัยรุ่นจึงหายไป และความเปลี่ยนแปลงอีกอย่างคือตลาดของต่างจังหวัดที่กลายมาเป็นฐานรายได้สำคัญให้กับภาพยนตร์ไทยสูงมากกว่าในกรุงเทพฯ คุณเอกลักญ กรรณศรณ์ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ Brandthink มองว่าการดึงดูดให้ผู้ชมออกมารับชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์นั้น ภาพยนตร์จะต้องมีคุณสมบัติบางอย่างที่ให้ความรู้สึกต่างจากการรับชมภาพยนตร์ที่บ้าน “สิ่งที่คนดูมองหาคือประสบการณ์ในโรงหนัง หนังที่เข้าโรงส่วนใหญ่ที่ขายได้คือหนังแฟนตาซี หรือแอ็กชันที่สามารถสร้างความรู้สึก Immersive ให้กับผู้ชมได้มากกว่า สังเกตว่าหนังดราม่าคนจะไม่ค่อยดูในโรงแต่จะดูที่บ้าน เพราะฉะนั้นภาพยนตร์เลยต้องตอบโจทย์คนดูเรื่องประสบการณ์ในโรงให้ได้ดี ทำให้เขาสามารถรู้สึกร่วม หลีกหนีจากโลกความเป็นจริงข้างนอก หรือให้ประสบการณ์ใหม่กับเขาได้”
ประเด็นสุดท้ายในการเสวนาคือเรื่องบทบาทของ Streaming Platform ต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ วิทยากรทั้ง 4 ท่านให้ความเห็นว่า Streaming Platform ส่งผลอย่างมากต่ออุตสาหกรรมในช่วงหลัง การรับชมผ่าน Streaming Platform ที่บ้านทำให้ผู้ชมสามารถเปิดรับต่อสิ่งรบกวนได้มากกว่า พฤติกรรมของผู้ชมในปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปตามไลฟ์สไตล์รูปแบบใหม่ เช่น การดูหนังไปด้วยทำอย่างอื่นไปด้วย หรือดูภาพยนตร์ทั้งเรื่องด้วยความเร็วคูณสอง “ในฐานะคนทำหนัง Streaming Platform อาจจะไม่ได้ส่งแค่ผลดีอย่างเดียว เพราะเราไม่ได้ทำเพื่อสร้างคอนเทนต์แค่รูปแบบเดียว เรามีวิธีการเล่าหลายแบบ แต่พฤติกรรมการเสพของคนดูในปัจจุบันที่ต่างกันมันบีบการสร้างสรรค์ของคนทำอยู่เหมือนกัน ทำให้คอนเทนต์ที่จะเป็นที่นิยมมันอาจจะจำกัดอยู่ไม่กี่รูปแบบ แถมสตรีมมิงก็เชื่อในสถิติมาก ๆ ซึ่งพฤติกรรมของคนดูไม่ผิด แต่ถ้าเขาดูในโรงเขาก็จะสามารถซึมซับประสบการณ์และเนื้อหาที่หลากหลายได้มากกว่า” คุณบรรจง ปิสัญธนะกูล ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ภาพยนตร์ GDH599 กล่าว
แต่ในอีกแง่มุม Streaming Platform ก็สามารถเข้ามาเป็นช่องทางรายได้ที่ 2 ให้แก่สตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์ได้ จากที่สมัยก่อนอาจจะเป็น VCD/ DVD ส่งผลให้สตูดิโอผู้ผลิตภาพยนตร์สามารถสร้างภาพยนตร์โดยที่ยังคืนทุนหรือได้กำไรได้ ทำให้สตูดิโอมีแผนรองรับในกรณีที่ภาพยนตร์ไม่สามารถทำกำไรจากการเข้าโรงภาพยนตร์ได้ นอกจากนี้ Streaming Platform ก็สามารถพาภาพยนตร์ไปหาผู้ชมในระดับสากลได้มากยิ่งขึ้น จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโรงภาพยนตร์และ Streaming Platform นั้นก็เป็น Partner กัน การเข้ามาของ Streaming Platform จึงมีทั้งผลดีและผลเสียที่เรายังคงต้องพิจารณากันต่อไปในฐานะผู้ผลิตภาพยนตร์ เพื่อที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์นั้นยังคงความเป็นศาสตร์และศิลป์ พร้อมกับสร้างความยั่งยืนต่อไปได้
Session 4: Can Thai series appeal to the world? ซีรีส์ไทยสู่เวทีระดับโลก เป็นไปได้ไหม?
วิทยากร: นพณัช ชัยวิมล ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production GMMTV, ผ่านศึก ธงรบ ผู้อำนวยการอ้ายฉีอี้ ประจำประเทศไทย, ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์, ยศสินี ณ นคร Founder & Showrunner Maker-Y
ดำเนินการเสวนาโดย: ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
เสวนาหัวข้อสุดท้ายได้พูดคุยแนวทางการพัฒนาซีรีส์ไทยให้มีความหลากหลายและคุณภาพในระดับสากล ทางฝั่งของแพลตฟอร์มผู้ผลิต คุณผ่านศึก ธงรบ ผู้อำนวยการ iQIYI ประจำประเทศไทย เชื่อว่าคอนเทนต์ไทยสามารถเติบโตได้มากกว่าตลาดในประเทศ โดยเฉพาะซีรีส์วาย สำหรับ iQIYI ปัจจุบันซีรีส์วายไทยไม่ได้ถูกใช้แค่เพื่อดึงดูดคนไทยเท่านั้น แต่ยังใช้ดึงดูดใจผู้ชมจากประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกได้ด้วยเช่นกัน จนคอนเทนต์จากประเทศไทยถูกบรรจุเข้าไปเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับการบุกตลาดทั่วโลก โดยเฉพาะอเมริกาเหนือที่เป็นตลาดที่น่าสนใจในปัจจุบัน “ตลาดทั่วโลกมีพื้นที่สำหรับซีรีส์วายไทย เพราะซีรีส์วายไทยมีเอกลักษณ์บางอย่างที่ไม่เหมือนใคร เมื่อถูกผลิตออกมาแล้วมันมีอัตลักษณ์ อาจเป็นเพราะความเปิดแบบกดทับ มันมีเสน่ห์ในเรื่องของวิธีการนำเสนอของซีรีส์วาย” คุณผ่านศึกกล่าว
ทางด้านคุณนพณัช ชัยวิมล ผู้อำนวยการฝ่าย Content Production GMMTV ซึ่งเป็นผู้ผลิตซีรีส์ไทยต่อปีจำนวนมาก กล่าวเช่นเดียวกันว่าตลาดซีรีส์ไทยในต่างประเทศถือว่าเติบโตได้ดี ทั้งในฝั่งของเอเชีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และล่าสุดคือตลาดอเมริกาและยุโรป “สำหรับซีรีส์วาย ถ้าย้อนดูตัวเลขเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว เราอาจจะผลิตปีละ 1 เรื่อง กระโดดมาเป็นปีละ 3 เรื่อง ขึ้นมาเป็นปีละ 7 เรื่อง ตอนนี้ก็กลายเป็นครึ่ง ๆ ของการผลิตซีรีส์ทั้งหมด ซึ่ง GMMTV ผลิตซีรีส์ 23 เรื่องต่อปี สัดส่วนตอนนี้ก็กลายเป็น BL (Boy’s Love) ทั้งหมดอยู่ครึ่งหนึ่ง เป็นความเติบโตที่น่าสนใจ” นี่แสดงให้เห็นว่ากลุ่มคนดูในต่างประเทศก็พร้อมที่จะเปิดรับ และสามารถเชื่อมโยงคอนเทนต์จากประเทศไทยกับประเทศของเขาได้เช่นกัน
ประเด็นต่อมาคือแนวทางในการผลิตซีรีส์ให้ตอบโจทย์ทั้งกลุ่มคนดูทั้งในประเทศและต่างประเทศ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ด้านภาพยนตร์ ละคร และซีรีส์ ให้ความเห็นว่าคอนเทนต์ไทยมีอยู่ 2 รูปแบบ คือคอนเทนต์ที่มีความเป็น Local สูงเพื่อตอบโจทย์กลุ่มคนดูในประเทศ และคอนเทนต์ที่มีความสามารถ Travel ในตลาดโลกได้ แต่อาจจะยังไม่ตอบโจทย์กับความคุ้นชินของกลุ่มคนดูในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบการถ่ายทำ การเลือกนักแสดง หรือเนื้อหาของเรื่อง คำถามสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้สามารถยกระดับคนดูให้มาอยู่ในระดับสากลได้มากขึ้น “การเข้ามาของแพลตฟอร์มทำให้คนไทยเข้าถึงคอนเทนต์ต่างประเทศได้มากขึ้น และเข้ามาเจือจางความรู้สึก Thainess ที่คนไทยจะดูแต่งานไทยอย่างเดียวน้อยลง พอคนดูกว้างขึ้นก็ทำให้เขารู้สึกเปิดรับมากขึ้น จึงทำให้ปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นงานที่มีความผสมผสานกัน อาจจะใช้เวลา 5 - 10 ปีในการทำให้เราสามารถหา New Thai ที่ทำให้เราเห็นมุมมองการเล่าแบบใหม่และไปสู่สากลได้มากขึ้น”
ในแง่การปรับตัวเข้าหากันระหว่าง Streaming Platform ที่มีคนดูกลุ่มหนึ่ง กับคนดูโทรทัศน์อีกกลุ่ม ในมุมของผู้ผลิต คุณยศสิณี ณ นคร Founder & Showrunner Maker-Y กล่าวว่ากลุ่มคนดูโทรทัศน์จะเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีอายุ และมีความคุ้นชินกับสื่อแบบเก่า แต่ด้วยเศรษฐกิจและการเข้ามาของแพลตฟอร์ม ผู้ผลิตก็ต้องทำงานให้สามารถออกไป Travel กับแพลตฟอร์มให้ได้ด้วย “สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเลย คือต้องลืมเรื่องเชื้อชาติ อายุ แล้วกลับมาที่หัวใจของความเป็นมนุษย์ ต้องพูดปัญหาคนให้ลึกกว่าเดิม ลึกพอที่จะทำให้คนทั่วโลกเข้าใจ ไม่ว่าเราจะรัก เสียใจ อิจฉา รู้สึกถูกกดทับ เราต้องนำความรู้สึกเหล่านี้มาเล่าให้ลึกขึ้น เมื่อก่อนละครไทยเจอคนโลภ เห็นแล้วก็โลภเลย แต่ในวันนี้เราต้องเข้าไปดูว่าทำไมเขาโลภ เขาเคยผ่านอะไรมา ต้องมีความเข้าใจมนุษย์มากขึ้น” ทางฝั่งผู้ผลิตอย่าง GMMTV หรือ iQIYI ก็เล็งเห็นว่าคอนเทนต์ไทยที่จะสามารถประสบความสำเร็จในต่างประเทศได้ จะต้องประสบความสำเร็จในประเทศก่อน เพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กับการผลักดันคอนเทนต์ไทยสู่สากล
ประเด็นสุดท้ายในการเสวนาคือการผลักดันจากภาครัฐ คุณนพณัชให้ความเห็นว่าคอนเทนต์ที่คนบอกว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยอย่างซีรีส์วาย ที่ผ่านมาภาคเอกชนผลักดันเองมาโดยตลอด จึงเห็นถึงความสำคัญของนโยบายจากภาครัฐที่จะช่วยเข้ามาสนับสนุนซีรีส์ไทย ให้ได้รับการผลักดันให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ม.ร.ว. เฉลิมชาตรี ยุคล ที่เป็นตัวแทนจากภาครัฐ จึงกล่าวว่าปัจจุบันกำลังผลักดันและดำเนินการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใน 4 มิติ ได้แก่
1. ภาครัฐจะต้องจัดการเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับอุตสาหกรรมและสนับสนุนเรื่องงบประมาณ เพื่อพยุงอุตสาหกรรมในช่วงการเปลี่ยนผ่าน
2. ต้องดึงดูดผู้ลงทุนใหม่จากภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้หันมาสนับสนุนอุตสาหกรรมคอนเทนต์ของไทยมากยิ่งขึ้นผ่านนโยบายของรัฐ
3. ต้องสนับสนุนให้ผู้สร้างสามารถเข้าถึงการผลิตที่ดีขึ้นได้ ทั้งด้านคุณภาพงาน มาตรฐานความปลอดภัยในกองถ่าย และการสร้างบุคลากรใหม่ที่มีคุณภาพ
4. การเตรียมความพร้อมให้ผู้ชมสามารถเปิดรับกับคอนเทนต์ที่หลากหลายมากขึ้น ด้วยการทำให้เข้าถึงการรับชมที่ง่ายขึ้น