วิถีเมือง “เชียงใหม่” ต้นแบบเมืองสร้างสรรค์ภาคเหนือ
แนวคิดเรื่อง “เมืองสร้างสรรค์” หรือ Creative City เกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2531 (ค.ศ. 1988) ในประเทศออสเตรเลีย โดย David Yencken นักธุรกิจผู้หลงใหลในการอนุรักษ์แหล่งมรดกชาวอังกฤษที่ย้ายถิ่นฐานมาอาศัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย แนวคิดเมืองสร้างสรรค์นี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ด้านการวางผังเมือง อันเน้นย้ำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างเมือง ประชาชนผู้อยู่อาศัย และสร้างประสบการณ์ความพึงพอใจของสถานที่นั้น ๆ
ย้อนกลับไปในช่วงราวปลายยุคทศวรรษที่ 70 และต้นทศวรรษที่ 80 ในประเทศอังกฤษเริ่มมีการศึกษาเกี่ยวกับมูลค่าทางด้านเศรษฐกิจและความดึงดูดด้านวัฒนธรรม กล่าวถึงความสำคัญของวัฒนธรรมอันมีผลต่อคุณภาพชีวิต การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และการสร้างงานแก่ผู้คน โดยหัวใจสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานวัฒนธรรม ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ การวางแผนบนฐานวัฒนธรรม และ ทุนทางด้านวัฒนธรรม
ปัจจัยสองสิ่งนี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการออกแบบเมือง งานสถาปัตยกรรม และสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมด้านศิลปะและการท่องเที่ยว ต่อมาแนวคิดนี้ได้ถูกศึกษาและพัฒนาโดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และสหภาพยุโรป (EU) โดยในปี พ.ศ. 2547 ยูเนสโกได้ก่อตั้ง เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ The UNESCO Creative Cities Network (UCCN) มีเป้าหมายเพื่อประชาสัมพันธ์ความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกและร่วมกันสร้างกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ในบริบทประเทศไทย มีการกล่าวถึงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้จำแนกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ “มรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ ศิลปะ สื่อ และงานสร้างสรรค์และออกแบบ” โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างมาก และในปี พ.ศ. 2548 สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) ผลักดันให้เกิดการจัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ” หรือ TCDC ซึ่งปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนเป็น “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์” (องค์การมหาชน) หรือ CEA อันกลายมาเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเป้าประสงค์หลัก คือ เพื่อพัฒนาและส่งเสริมบุคลากรสร้างสรรค์และธุรกิจไทย ให้นำนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ยกระดับสินค้าและบริการของไทย ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีสากล
ต้นทุนของความสร้างสรรค์
เมื่อการขับเคลื่อนไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลข
อุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจแสดงการเติบโตของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในช่วงปี พ.ศ. 2553 - 2559 มีอัตราเติบโตแบบทบต้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 5.61 โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีมูลค่ามากที่สุด คือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รองลงมาเรียงตามลำดับ คือ อุตสาหกรรมอาหารไทย โฆษณา และแฟชั่น มูลค่าของอุตสาหกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบนฐานความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมและทรัพยากรของประเทศที่ก่อรูปและพัฒนามาเป็นเวลายาวนานจนเกิดความสร้างสรรค์เฉพาะตน
การเข้าใจความหมายของอุตสาหกรรม เมือง เศรษฐกิจ และย่านสร้างสรรค์ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป ทั้งยังถูกจำกัดความและให้ความหมายแตกต่างกันไปตามบริบทของพื้นที่ แต่หากมองแบบองค์รวมแล้ว หัวใจสำคัญของอุตสาหกรรม เมือง เศรษฐกิจ และย่านสร้างสรรค์ จำเป็นต้องมีองค์ประกอบหลักอยู่ 4 ประการ คือ “วัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และเมือง” กล่าวคือในบริบทของ “ความสร้างสรรค์” ในระดับประเทศหรือระดับเมือง จำเป็นต้องมี “วัฒนธรรม” อันเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจและสังคม มี “กิจกรรม” ด้านวัฒนธรรมและกลไกการขับเคลื่อนบนฐานวัฒนธรรมให้เกิดอุตสาหกรรมและการกระจายรายได้ มี “ผู้คน” ที่ทำงานสร้างสรรค์และผู้ประกอบการสร้างสรรค์รวมตัวกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และมี “เมือง” ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการลงทุน การผลิตและจำหน่าย เต็มไปด้วยพื้นที่คุณภาพเพื่อประกอบกิจกรรมสร้างสรรค์
เมืองซึ่งเป็นที่ตั้งหรือต้นกำเนิดของเศรษฐกิจสร้างสรรค์จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่ชัดเจน มีวิสัยทัศน์และการบริหารจัดการเมืองที่สนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และองค์ประกอบอีกด้านของเมืองที่น่าสนใจ ก็คือ ย่าน (District) อันเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งหรือการรวมตัวของกลุ่มกิจกรรมจนเกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ โดยลักษณะย่านที่สนับสนุนต่อกิจกรรมสร้างสรรค์ควรเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายด้านกิจกรรม หมายรวมถึงการใช้ประโยชน์อาคาร มีความหนาแน่นสูงและสามารถเข้าถึงได้ด้วยการเดินหรือจักรยาน
ทั้งนี้ ความสร้างสรรค์มิใช่การมีองค์ประกอบครบถ้วนทั้ง 4 ประการเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึง “คุณภาพ” ขององค์ประกอบเหล่านั้นอีกด้วย ซึ่งมักถูกประเมินโดยเกณฑ์ชี้วัดสากล อาทิ เครื่องมือประเมินเมืองวัฒนธรรมสร้างสรรค์ของสหภาพยุโรป (The Cultural and Creative Cities Monitor) อันกล่าวถึง ความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ สิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ อีกเกณฑ์ชี้วัดที่สำคัญ คือ เกณฑ์วัดการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network) ซึ่งจำแนกเมืองสร้างสรรค์ออกเป็น 7 กลุ่ม ภายใต้กรอบการประเมินที่สำคัญได้แก่ การมีพื้นที่และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดกิจกรรมสร้างสรรค์ ให้เมืองเป็น “แหล่ง” รวมนักคิด และ “ผู้ประกอบการสร้างสรรค์” เมืองต้องมีการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีองค์กรสนับสนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และมีกลุ่มนักคิดหรือนักสร้างสรรค์และบุคลากร ทำงานเป็นเครือข่ายในทุกระดับ (ท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติ) โดยเมืองเชียงใหม่ได้รับการประกาศให้เป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ในปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีความโดดเด่นประกอบด้วย การมีงานหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านถึง 9 สาขา มีหน่วยงานการศึกษาและองค์การปกครองในท้องถิ่นเป็นผู้สนับสนุน และมีความพร้อมในการเป็นเมืองสร้างสรรค์มากถึงร้อยละ 80.57
เราปฏิเสธไม่ได้ว่าฐานต้นทุนสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์นั้น เริ่มจากองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมประกอบกับภูมิปัญญาของผู้คน ซึ่งถูกพัฒนาต่อยอดจนกลายมาเป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์อันสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศ และการกระจายรายได้เหล่านั้นกลับเข้าสู่ผู้คน ชุมชน และเมืองผู้เป็นเจ้าของต้นทุนทางวัฒนธรรม องค์ประกอบทั้ง 4 ของความสร้างสรรค์ข้างต้น ล้วนมีความสำคัญเชื่อมโยงกันก่อให้เกิดกลไกในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศ
การวัดผลของความสร้างสรรค์มิได้วัดผลผ่านเพียงมูลค่าตัวเลขที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ หรือการใช้หลักเกณฑ์สากลเท่านั้น แต่จำเป็นต้องมีการวัดผลด้าน “คุณค่า” ของความสร้างสรรค์ร่วมอยู่ด้วย การพัฒนาต่อยอดความสร้างสรรค์จำเป็นต้องเกิดจากความเข้าใจด้านวัฒนธรรมอันแท้จริงเพื่อรักษารากเหง้าอันเป็นต้นทุนสำคัญ กิจกรรมสร้างสรรค์ต้องถูกแสดงผ่านความตระหนักถึงคุณค่าและสาระสำคัญของวัฒนธรรม มีกระบวนการถ่ายทอดและรักษาองค์ความรู้วัฒนธรรมโดยผู้คนที่เข้าใจและเห็นคุณค่าขององค์ความรู้ ภายใต้บริบทสิ่งแวดล้อมเมืองที่มีคุณภาพเอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้กลไกเหล่านี้ยังคงอยู่เกิดการพัฒนาและการปรับตัวตามสภาวะของโลก
การประเมินย่านสร้างสรรค์ เริ่มจากการสำรวจตนเอง
การประเมินหรือการให้ความหมายด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เมือง และย่านสร้างสรรค์ จะถูกจำกัดความและกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินโดยองค์กรนั้น ๆ เพื่อสร้างมาตรฐานในการชี้วัด ซึ่งนับเป็น “เครื่องมือ” หนึ่งที่ช่วยให้เมืองต่าง ๆ สามารถเข้าใจคุณค่าและตระหนักถึงความสำคัญของตนเองได้
ตัวอย่างหลักในการประเมิน “เมืองสร้างสรรค์เชียงใหม่ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน” ภายใต้เกณฑ์จากองค์การยูเนสโก แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการวิจัยและการเรียนรู้หัตถกรรมพื้นบ้าน ทั้งในเชิงอุตสาหกรรม งานนวัตกรรม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ร้อยละ 97) ด้านการสร้างพื้นที่และรูปแบบเมืองที่สามารถใช้งานได้หลายวัตถุประสงค์ (ร้อยละ 96) และด้านการมีความพร้อมด้านแรงงานและบุคลากรสำหรับงานเชิงความรู้ (ร้อยละ 92)
ย้อนกลับไปที่องค์ประกอบสำคัญ 4 ประการของความสร้างสรรค์ อันประกอบไปด้วย วัฒนธรรม ผู้คน กิจกรรม และ เมือง การประเมินองค์ประกอบเหล่านั้นสามารถทำได้ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพขึ้นอยู่กับเป้าหมายในการประเมิน การประเมินเชิงปริมาณตัวชี้วัดมุ่งเน้นปริมาณเชิงตัวเลข ความหนาแน่น และสัดส่วนเป็นหลัก ในขณะที่การประเมินเชิงคุณค่าต้องอาศัยมิติเชิงสังคม ความเชื่อ และผู้คน เข้ามามีส่วนร่วมด้วย
การประเมินไม่ว่าจะด้วยหลักเกณฑ์ใด ๆ ก็ตาม ต่างมีเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาหรือยกระดับความสร้างสรรค์ทั้งด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม เมือง และย่านในพื้นที่ของตน ตัวอย่างเมืองสร้างสรรค์ที่น่าสนใจและเป็นตัวอย่างที่ดีในการยกระดับและพัฒนาหัตถกรรมสร้างสรรค์ คือ “เมืองคานาซาวะ” ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เข้าเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกในปี พ.ศ. 2552 มีงานหัตถกรรมถึง 22 ประเภท และงานหัตถกรรมที่โดดเด่น คือ การผลิตทองคำ งานเครื่องเขิน และ เทคนิคการย้อมผ้าคะงะยูเซน ทั้งยังมีย่านเมืองฮิงาชิ ชายะ อันมีภูมิทัศน์วัฒนธรรมที่สวยงาม
เมืองคานาซาวะมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายในการพัฒนารักษางานหัตถกรรม ประกอบไปด้วย การเชื่อมโยงวัฒนธรรมกับธุรกิจ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อการพัฒนาด้านวัฒนธรรม และการดึงดูดความสนใจในระดับนานาชาติ วิสัยทัศน์ที่น่าสนใจอย่างมาก คือ การตอกย้ำคุณค่าของงานฝีมือในชีวิตประจำวัน (Reconfirmation of the value of crafts in everyday life) เพื่อให้งานหัตถกรรมท้องถิ่นสามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของผู้คน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณค่าเหล่านี้มีความเชื่อมโยงผูกพันกับบุคคลมาเป็นเวลานาน หากแต่การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตทำให้ความสร้างสรรค์หรืองานหัตถกรรมกลายเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องสำหรับคนเฉพาะกลุ่มไป
“คุณค่าทางวัฒนธรรม” หรือ Cultural Significance มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดในการประเมินความสร้างสรรค์ หัวใจสำคัญของการประเมินคุณค่า คือ วัฒนธรรมเหล่านั้นยังมีความจริงแท้ หรือ Authenticity มากน้อยแค่ไหน สามารถประเมินได้จากการปฏิบัติ หรือ Cultural Practices ของผู้คนอันเป็นเจ้าของวัฒนธรรม รวมไปถึงการถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติเหล่านี้ผ่านคนรุ่นหลัง กิจกรรมทางวัฒนธรรมแฝงไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ผ่านการแสดงออก และสิ่งประดิษฐ์เพื่อประกอบ โดยมีผู้สร้างสิ่งประดิษฐ์ คือ ช่าง หรือ สล่า คนเหล่านี้ถือเป็นคลังสมองมีชีวิตที่คอยสร้างสรรค์ ฝึกฝน และถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ตนเองพัฒนาขึ้นสู่คนรุ่นต่อไป สิ่งเหล่านี้ผูกพันกับประวัติศาสตร์ สิ่งแวดล้อมที่เราอยู่อาศัย สังคมที่เราเติบโต
การค้นหาองค์ประกอบความสร้างสรรค์ทั้ง 4 ประการนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก หรือไม่จำเป็นต้องอาศัยหลักเกณฑ์ประเมินสากลอย่างเดียว หากแต่เราสามารถเริ่มจากการตั้งคำถามภายในชุมชนของเราเอง เช่น
- ในละแวกบ้านหรือชุมชนของเรามีวัฒนธรรมเฉพาะตนอันเป็นเอกลักษณ์หรือไม่
- ยังมีการสืบทอดหรือปฏิบัติวัฒนธรรมเหล่านั้นอยู่หรือไม่
- การสืบทอดนั้นทำโดยลักษณะใด
- ใครเป็นผู้มีองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมนั้น และมีการปฏิบัติอย่างไร
- สภาพแวดล้อมในชุมชนลักษณะไหนที่มีลักษณะเฉพาะอันช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมในชุมชน
คำถามเหล่านี้ก่อให้เกิดการพูดคุยถ่ายทอดจากคนรุ่นก่อน การจดบันทึกข้อมูลหรือสามารถทำได้โดยการการบันทึกตำแหน่งคุณค่าลงบนแผนที่ ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “การทำแผนที่วัฒนธรรม” (Cultural Mapping) นำไปสู่การวิเคราะห์และแนวทางการพัฒนา โดยคุณค่าเหล่านี้ คือ ฐานข้อมูลสำคัญของการต่อยอดวัฒนธรรมสู่ความสร้างสรรค์ ผ่านกิจกรรม การออกแบบ และการผลิต อันนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างรู้คุณค่า ความสร้างสรรค์ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม ล้วนต้องอยู่บนพื้นฐานของการรู้และเข้าใจคุณค่าโดยผู้คนในชุมชนและผู้คนในพื้นที่
เมืองเก่าเชียงใหม่ และ ศักยภาพการเป็นย่านสร้างสรรค์
งานวิจัยที่ทำการศึกษาและประเมินเกี่ยวกับเศรษฐกิจและเมืองโดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency : CEA ภายใต้โครงการสำรวจข้อมูลเชิงเศรษฐกิจและศึกษากรอบแนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์จังหวัดเชียงใหม่ มีกรอบการวิจัยเพื่อสำรวจและประเมินสภาพปัจจุบันของย่านเมืองเก่าเชียงใหม่อันนำไปสู่แนวทางการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการประเมิน 3 กระบวนการหลักได้แก่
1) การเข้าใจเครื่องมือในการประเมินและดัชนีชี้วัด ผ่านการทบทวนวรรณกรรมและกรณีศึกษา
2) การสำรวจข้อมูลย่านสร้างสรรค์ อันประกอบไปด้วยการสำรวจกายภาพ (อาคาร สถานที่ ที่ว่าง) เศรษฐกิจ (กิจกรรมในอาคาร) และ สิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ (สิ่งจูงใจ ความหลากหลาย ความสามารถ)
3) การวิเคราะห์ข้อมูลการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ โดยทำการศึกษาชุมชน 13 ชุมชนในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ผ่านเครื่องมือสำรวจ อาทิ ภาพถ่าย แผนที่แสดงข้อมูลกายภาพสร้างสรรค์ และการจัดทำฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์
ผลจากการประเมินพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ พบว่า มีความหลากหลายด้านกิจกรรมที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นย่านสร้างสรรค์ ภายใต้กรอบการพัฒนาย่านสร้างสรรค์ของสหภาพยุโรป ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ด้านความมีชีวิตชีวาทางวัฒนธรรม โดยเมืองเชียงใหม่มีศาสนสถาน อาคารประเภทพิพิธภัณฑ์ และศูนย์วัฒนธรรม ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่กลางหรือพื้นที่สาธารณะในการประกอบกิจกรรมด้านวัฒนธรรม แสดงออกถึงความสร้างสรรค์ทั้งในระดับชุมชนและระดับเมือง ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยเมืองเก่าเชียงใหม่มีจุดเด่น 2 ประการ คือ มีงานที่มีฐานความรู้ด้านงานสร้างสรรค์กลุ่มอาหาร มีสัดส่วน 1 ต่อ 4.5 รองลงมา คือ แพทย์แผนไทย และท่องเที่ยวตามลำดับ ทั้งนี้มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีกระบวนการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพียง 73 กิจกรรม จากทั้งหมด 5,760 กิจกรรม และสุดท้ายคือ ด้านสิ่งแวดล้อมสร้างสรรค์ โดยมีจุดแข็ง คือ ทุนทางการศึกษาและทุนด้านบุคคล พิจารณาจากตัวเลขการสำรวจในพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ราว 2.24 ตารางกิโลเมตร มีจำนวนอาคารทางการศึกษารวมทุกระดับ จำนวน 150 แห่ง เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการใช้งานอาคารทั้งหมดในเมืองเก่าเชียงใหม่ พบว่ามีจำนวนสูงสุด 3 อันดับ คือ อาคารเพื่อธุรกิจการค้า (ร้อยละ 40.88) อาคารที่พักอาศัย (ร้อยละ 35.75) และ ศาสนสถาน (ร้อยละ 8.03)
เชียงใหม่มีศักยภาพสูงในมิติการเชื่อมโยงในระดับท้องถิ่นและนานาชาติ เนื่องจากมีสนามบินนานาชาติเชียงใหม่ที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองเก่า โดยปี พ.ศ. 2561 รองรับผู้มาใช้บริการราว 10.9 ล้านคน ปัจจัยส่งเสริมศักยภาพอีกประการที่สำคัญ คือ คุณภาพขององค์กรปกครองในระดับท้องถิ่น โดยมีเทศบาลนครเชียงใหม่ และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ เป็นกำลังหลักในการสนับสนุนกิจกรรมด้านประเพณีวัฒนธรรม ส่งเสริมกิจกรรมร่วมกับภาคประชาสังคม และการอนุรักษ์คุณค่ามรดกเมืองเชียงใหม่
ผลการประเมินทั้ง 13 ชุมชน ในเขตพื้นที่เมืองเก่าเชียงใหม่ แสดงข้อมูลชุมชนที่มีความโดดเด่นในแต่ละด้านต่างกัน ด้านกิจกรรมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ได้แก่ ชุมชนพระเจ้าเม็งรายสามัคคี ชุมชนหมื่นเงินกอง และ ชุมชนล่ามช้าง ในขณะที่ชุมชนบ้านปิง มีกิจกรรมที่มีการใช้กระบวนการสร้างสรรค์มากที่สุด รองลงมาคือ ชุมชนหมื่นเงินกอง และ ชุมชนพระเจ้าเม็งรายสามัคคี กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทอาหาร มีปริมาณสูงสุดในชุมชนพระเจ้าเม็งรายสามัคคี ในขณะที่ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทแพทย์แผนไทย มีปริมาณสูงสุดในชุมชนล่ามช้าง และ อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทการท่องเที่ยว มีปริมาณสูงสุดใน ชุมชนบ้านปิง ด้านภูมิทัศน์วัฒนธรรมพิจารณาผ่านวัสดุอาคารประเภทไม้พบว่า ชุมชนล่ามช้าง ชุมชนช่างแต้ม และชุมชนพวกแต้ม มีอาคารที่สร้างด้วยวัสดุไม้กระจายตัวอยู่ในชุมชน ข้อมูลด้านหัตถกรรมพิจารณาจากงานหัตถกรรมประณีตศิลป์ปรากฎในพื้นที่ ชุมชนพันอ้น ชุมชนหมื่นเงินกอง ชุมชนเชียงมั่น และ ชุมชนบ้านปิง จำนวนชุมชนละ 2 แห่ง ในขณะที่ชุมชนอื่นปรากฏเพียง 1 แห่ง หรือไม่ปรากฏ
ย่านสร้างสรรค์ และ The New Normal
การศึกษาเกี่ยวกับ “ละแวกบ้านสร้างสรรค์” หรือ Creative Neighborhood โดย Martin Prosperity Institute (MPI) และ University of Toronto ได้ทำการศึกษาสภาพแวดล้อมที่ช่วยกระตุ้นความหลากหลายด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และ ดนตรี โดยทำการศึกษาในพื้นที่เมืองโตรอนโต แวนคูเวอร์ และ มอนทรีออล ประเทศแคนาดา โดยเข้าไปศึกษาคุณลักษณะของเมืองที่มีอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ อาทิ ภาพยนตร์ เพลง สถานีวิทยุ การผลิตรายการทีวี และ งานออกแบบ รวมไปถึงศิลปิน นักเขียน และนักแสดง โดยนำมาเปรียบเทียบกับเมืองที่มีอุตสาหกรรมทางวิทยาศาสตร์ ผลการศึกษาพบว่า ละแวกบ้านสร้างสรรค์ มีคุณลักษณะที่สำคัญประกอบด้วย มีความหนาแน่นสูง มีการใช้อาคารหลากหลายประเภทในพื้นที่เดียวกัน มีเครือข่ายเชิงสังคมขนาดกลางไปจนถึงขนาดใหญ่ สามารถเดินทางได้ด้วยการเดิน หรือการปั่นจักรยาน ขนาดของธุรกิจหรือบริษัทมีขนาดเล็ก แหล่งงานมีการกระจายตัว และเต็มไปด้วยร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ ซึ่งยังทำหน้าที่เป็นพื้นที่ในการทำงานสร้างสรรค์อีกด้วย ความน่าสนใจอีกประการ คือ กลุ่มคนที่ทำงานสร้างสรรค์กว่าร้อยละ 60 ทำงานโดยอาศัยเครือข่ายด้านสังคม โดยละแวกบ้านสร้างสรรค์ที่เต็มไปด้วยกิจกรรมที่หลากหลาย ช่วยสนับสนุนความมีชีวิตชีวาด้านวัฒนธรรม (Cultural Vibrancy) ได้เป็นอย่างดี
หากย้อนกลับไปดูผลการประเมินเมืองเชียงใหม่ด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พบว่าคุณลักษณะเด่นของเมืองเก่าเชียงใหม่ คือ ความหลากหลายของการใช้งานอาคาร มีความหนาแน่นของกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์ เต็มไปด้วยร้านอาหาร บาร์ และร้านกาแฟ ทั้งยังสามารถเดินทางได้ด้วยจักรยาน และการเดินเท้า แม้คุณภาพทางเท้าจะอยู่ในระดับปานกลางและไม่มีทางจักรยานที่เหมาะสม การแทรกตัวของอาคารอยู่ในทุกชุมชน ความผสมผสานระหว่างการอยู่อาศัย การค้าขาย การทับซ้อนของกิจกรรม วัฒนธรรมท้องถิ่นและวัฒนธรรมใหม่ และความหนาแน่นของประชากรสูง ทำให้เมืองเก่าเชียงใหม่มีคุณลักษณะเป็นย่านสร้างสรรค์ไปโดยปริยาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นตัวผลักดันหลักของธุรกิจสร้างสรรค์ ข้อมูลงานวิจัยแสดงจำนวนอาคารธุรกิจร้านค้าคิดเป็นร้อยละ 40.88 แสดงให้เห็นว่าเมืองเก่าเชียงใหม่ได้ปรับเปลี่ยนตนเองเป็นพื้นที่บริการ (Service Station) และมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ด้านการท่องเที่ยว แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เกิดวิกฤตทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และสุขอนามัยของประชากรทั่วโลก เมืองเชียงใหม่ที่เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวกลายเป็นเมืองที่เงียบสงัด ร้านค้าและโรงแรมต่าง ๆ ปิดให้บริการชั่วคราว ผู้คนว่างงานจำนวนมากจากเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก
ในขณะเดียวกัน คนในเมืองที่เคยใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและคลาคล่ำไปด้วยกิจกรรม ได้กลับมาใช้ชีวิตที่เงียบสงบและเนิบช้า เมืองสะอาดขึ้นจากปริมาณขยะที่ลดลง ชุมชนกลับมามีความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นจากกิจกรรมประกอบอาหารเพื่อช่วยเหลือกัน สิ่งเหล่านี้สะท้อนภาพที่หายไปจากเมืองเก่าเชียงใหม่เป็นเวลานาน ก่อให้เกิดคำถามที่ว่า คุณลักษณะการเป็นย่านสร้างสรรค์ของเมืองเก่าเชียงใหม่สามารถช่วยเหลือเกื้อกูลกันอย่างไรในภาวะวิกฤตนี้ และหลังจากวิกฤตความเป็นย่านสร้างสรรค์ของเมืองเก่าเชียงใหม่จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร
วิถีคนในเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างกะทันหัน ความมั่นคงทางอาหารและสุขอนามัยกลายเป็นเรื่องสำคัญภายใต้วิกฤตนี้ เมื่อเมืองไม่มีนักท่องเที่ยว เหลือเพียงผู้คนดั้งเดิมที่อยู่อาศัย การพึ่งพาอาศัยเพื่อช่วยเหลือกันกลายเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เมืองเก่าเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลางในการแจกจ่ายอาหารเพื่อช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบ ศาสนสถานเป็นพื้นที่คอยช่วยเหลือยามวิกฤต ชุมชนในพื้นที่เมืองเก่าเริ่มพึ่งพาอาศัยตนเองเพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ ธุรกิจในพื้นที่โดยเฉพาะร้านอาหารเริ่มปรับตัวเน้นการรองรับผู้อยู่อาศัยในเมืองมากกว่านักท่องเที่ยว เกิดธุรกิจขนาดเล็กที่เน้นการสร้างรายได้ให้ร้านอาหารหรือตลาดท้องถิ่นเพื่อรองรับวิถีที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนคุณลักษณะของย่านสร้างสรรค์ในเมืองที่ทำหน้าที่แตกต่างออกไปจากสภาวะปกติ
ความสามารถของเมืองในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง หรือ Urban Resilience กลายเป็นความท้าทายที่สุดในช่วงหลังเกิดวิกฤต รูปแบบการใช้ชีวิตแบบ New Normal ทำหน้าที่เสมือนตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เมื่อ “การพึ่งพาอาศัยกันของผู้คนในเมือง” ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญของการอยู่รอด ธุรกิจอาจจำเป็นต้องหันมาพึ่งพากำลังการซื้อจากผู้คนภายในเมือง อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ประเภทอาหารอาจต้องปรับเปลี่ยน เน้นอาหารเพื่อสุขภาพ ธุรกิจสร้างสรรค์ต้องเกิดจากพื้นฐานความจำเป็นด้านสุขอนามัย เมืองจากพื้นที่บริการสำหรับนักท่องเที่ยว อาจต้องปรับเปลี่ยนตนเองให้เป็นแหล่งผลิตอาหารปลอดภัย พื้นที่ในเมืองต้องสนับสนุนกิจกรรมด้านสุขภาพและไม่เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุด คือ ในห้วงวิกฤตนี้ ธุรกิจสร้างสรรค์ได้เริ่มวางแผนหรือปรับตัวอย่างไร และการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบความสร้างสรรค์ทั้ง 4 ประการ คือ วัฒนธรรม กิจกรรม ผู้คน และเมือง จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางไหน เรื่องนี้ยังคงต้องอาศัยเวลาในการพิสูจน์ต่อไป
ดาวน์โหลดภาพ Infographic - Creative City